Sense of number คืออะไร? ทำยังไงถึงจะมี?

17820021_s

เคยโดนยิงคำถามว่า “ตัวเลขคุณผิดหรือเปล่า” ระหว่างนำเสนอในที่ประชุมไหมครับ?

แปลกใจไหมครับว่า ทำไมผู้บริหารคนนั้นเพิ่งดูข้อมูลเราเป็นครั้งแรกแท้ๆ

แต่เค้ารู้ว่ามันผิดตรงไหน !

เราเป็นคนทำข้อมูล ยังมองไม่เห็นเลย

สุดท้ายก็โดนยิงตัวพรุนไปตามระเบียบ…

ผมขออธิบายเรื่องนี้ ผ่านการเล่าประสบการณ์(รันทด)ของตัวเองนะครับ T_T

สมัยที่ผมเพิ่งเปลี่ยนแนวจากสายวิเคราะห์การตลาดมาเป็นบัญชีนั้น ผมเจอปัญหานี้แทบทุกวัน

อาจเป็นเพราะงานในสายบัญชี ให้ความสำคัญกับความถูกต้องมากๆๆๆ (ไม้ยมก 20 ตัว)

หลายครั้งโดนยิงตายกลางห้องประชุม ต้องซมซานกลับมาแก้ เพราะตัวเลขมันผิดจริงๆ T_T

ผมพยายามวิเคราะห์ ก็พบว่าความผิดพลาดนั้น เกิดจาก 2 สาเหตุ คือ

  1. เขียนสูตรผิด หรือพิมพ์ตัวเลขผิด (เศร้าโคตร T_T)
  2. ข้อมูลที่ได้รับจากคนอื่นผิด

ผมพยายามอย่างหนักที่จะทำทุกวิถีทาง เพื่อกำจัดสาเหตุแรกทิ้งไป

วิธีที่ใช้ได้ผลคือ สร้างตรรกะ (สูตรเอ็กเซล) เพื่อทดสอบว่า ข้อมูลที่ได้ในแต่ละขั้นถูกต้องหรือไม่

ถ้ามีตรรกะเช่นนี้คอยตรวจสอบ ก็อุ่นใจได้ว่าตัวเลขต้องไม่ผิดแน่นอน

สร้างตรรกะขึ้นมาหลายๆแบบ เขียนสูตรให้เป็นอัตโนมัติทั้งหมด งดงานอัตโนมือทั้งสิ้น

แต่… มันก็แก้ได้เฉพาะความผิดพลาดที่เกิดจากตัวผมเอง

หลายครั้งที่วิธีการของผมถูกต้อง แต่เจ้านายหรือผู้บริหารมองว่าตัวเลขมันแปลกๆ ผมก็ยืนยันว่าวิธีการของผมถูกต้อง

แต่เค้าก็ยืนยันว่าผลลัพธ์มันผิด ขอให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามันผิดตรงไหน ..

เจอแบบนี้เข้าก็แอบเซ็งเล็กน้อยถึงปานกลาง

(ก็เราไม่ใช่เจ้านายนี่ ใช่ซี๊..)

ผมก็เลยตรวจอย่างละเอียดว่ามันผิดจริงหรือเปล่า

ใช่ครับ มันผิดจริงๆ ….

(เศร้ามาก T_T)

หลังจากแก้แล้วก็พบว่า บางครั้งสาเหตุเกิดจากข้อมูลที่ได้รับจากคนอื่นผิด ผมก็บอกเจ้านายว่า

“ความผิดพลาดมาจากข้อมูลของคนอื่นครับ”

แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ

“แล้วทำไมถึงไม่รู้ว่ามันผิด !”

อ้าว! จะรู้ได้ยังไงล่ะครับ

เค้าส่งข้อมูลมา ผมก็ต้องคิดว่าข้อมูลนั้นถูกสิครับ

(ใช่มะ)

แต่.. คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ

“ใช้ Sense Of Number สิ”

มันคืออะไรครับ ไอ้เจ้า Sense Of Number เนี่ย ?

มันคล้ายๆ Sixth Sense หรือเปล่า ?

แล้วมีกันทุกคนไหม ?

ผมถามเจ้านายกลับไปว่า

“นี่ผมต้องตรวจสอบข้อมูลอินพุตทั้งหมดเลยหรือ?”

ผมรับข้ออินพุตจากเพื่อนร่วมงานเป็นสิบคน แค่ตรวจสอบอย่างเดียวก็กินเวลาหลายชั่วโมงแล้ว

ยังไม่ได้รวมเวลาทำงานในส่วนของตัวเองเลย

เจ้านายผมอธิบายว่า

“ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด แต่ต้องสแกนข้อมูล แล้วใช้ Sense Of Number ตรวจสอบดูว่า ข้อมูลนั้นถูกต้องหรือเปล่า”

ในตอนนั้นผมรู้สึกว่า นี่เป็น คำอธิบาย ที่ต้องการ คำอธิบายอีกชั้นนึง…

(ฮ่วย !)

(ใช่ซี๊…)

หลังจากจบดราม่ากับตัวเองไป ผมคิดว่า ถ้าเจ้านายมี Sense Of Number ได้ แล้วทำไมผมจะมีไม่ได้ !

ผมจึงคลุกคลีกับงานมากขึ้น ตรวจสอบข้อมูลอินพุตจากเพื่อนร่วมงานมากขึ้น

แน่นอนว่า ใช้เวลาตรวจนาน(โคตร) เพราะผมยังจับเจ้า Sense Of Number นั่นไม่ได้

หลังจากใช้เวลาอยู่นาน(มาก) ผมก็พบวิธีการที่จะสร้างเจ้า Sense Of Number ขึ้นมา

(ตื่นเต้นมาก)

วิธีการนั้นคือ ตรวจสอบว่า

“ตัวเลขที่เห็น” ใกล้เคียงกับตัวเลขที่คาดว่าจะเห็น” หรือไม่

ใช่ครับ มันง่ายๆแค่นั้นแหละครับ

เราต้องมี ตัวเลขที่คาดว่าจะเห็น อยู่ในหัวเสียก่อน

จากนั้นนำ ตัวเลขที่คาดว่าจะเห็น ไปเปรียบเทียบกับ ตัวเลขที่เห็น แล้วดูว่าใกล้เคียงกันหรือไม่

ถ้าใกล้เคียง ก็แสดงว่าตัวเลขนั้น “น่าจะถูก”

(ขอใช้คำว่า น่าจะถูก นะครับ เพราะโอกาสผิดก็มีเช่นกัน)

ถ้าไม่ใกล้เคียง ก็มีความเป็นไปได้ 2 อย่าง คือ

  1. ตัวเลขที่เห็นผิด
  2. ตัวเลขที่คาดว่าจะเห็นผิด

เจ้ากรณีที่สองนี่แหละครับ ที่ผมโดนยิงตอนนำเสนอเป็นประจำ และนั่นก็เป็นผลมาจาก Sense Of Number ของผู้บริหารคนนั้น

ทำยังไงถึงจะมี ตัวเลขที่คาดว่าจะเห็น ในหัวได้?

คำตอบง่ายมากเลยครับต้องฝึก และต้องหาข้อมูลประกอบ

คำว่า ต้องฝึก นั้นหมายรวมถึง ประสบการณ์

ถ้าเราพบตัวเลขนี้บ่อยๆ (เช่น ทุกเดือน) เราต้องจำให้ได้ว่าตัวเลขพวกนี้มีค่าประมาณเท่าไร

และช่วงเวลานั้นมีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจทำให้ตัวเลขพวกนี้ผิดเพี้ยนไป

สมมติว่า เรากำลังรวบรวมตัวเลขผลประกอบการประจำเดือนของบริษัท เราต้องทำการบ้านไปก่อนว่า

โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทเราได้กำไรเดือนละกี่บาท (เช่น 1,000,000 บาท)

ในรอบเดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไร ที่อาจทำให้ผลกำไรของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปบ้าง (เช่น ยอดขายตกตอนต้นเดือน)

เราก็ต้องประมาณการณ์คร่าวๆว่า เจ้ายอดขายที่ตกตอนต้นเดือนมีผลกระทบต่อกำไรเท่าไร  (เช่น 100,000 บาท)

ดังนั้น ตัวเลขที่คาดว่าจะเห็น ก็น่าจะประมาณ 900,000 บาท

แต่ถ้า ตัวเลขที่เห็น มีค่า 600,000 บาท งั้นก็แสดงว่าเจ้า ตัวเลขที่เห็น อาจมีอะไรผิดพลาด

(หากมองอีกมุมหนึ่ง ตัวเลขที่คาดว่าจะเห็น อาจจะผิดพลาดก็ได้)

นั่นแปลความหมายได้ว่า

ตัวเลขตัวใดตัวหนึ่งผิด !

จำเป็นต้องตรวจสอบ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอแนะนำว่า ถ้ายังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ

อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่า ตัวเลขที่เห็น ผิด 

ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์มากแล้ว ก็ขอให้ตรวจสอบก่อน

บางครั้งความผิดพลาดอาจเกิดจาก ข้อมูลประกอบไม่เพียงพอ ก็เป็นได้

(เช่น เราอาจไม่ทราบว่าในเดือนนั้นเครื่องจักรเสีย ต้องหยุดการผลิตไปสองวัน เป็นต้น)

ผมเชื่อว่า Sense Of Number เป็นทักษะ ไม่ใช่เซนส์ที่มีเฉพาะบางคน

ดังนั้น ถ้าเราหมั่นฝึกฝน เตรียมตัวหาข้อมูลประกอบเยอะๆ เพิ่มพูนประสบการณ์ให้ตัวเอง เราต้องมี Sense Of Number แน่นอนครับ

สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ทุกท่านอย่าเชื่อเจ้า Sense Of Number มากเกินไป (อ้าว!) 

ถึงขนาดปักใจว่า ตัวเลขที่เห็นผิด เพราะ

Sense Of Number กับ Ego มันกั้นด้วยเส้นบางๆ

สิ่งที่ผิดจริงๆ อาจเป็นอีโก้ของตัวเราเองก็เป็นได้….

ขอให้สนุกกับการฝึกฝนทักษะ Sense Of Number ทุกคนครับ ^__^

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

4 thoughts on “Sense of number คืออะไร? ทำยังไงถึงจะมี?

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.