เก่งเอ็กเซลไปก็เท่านั้น เงินเดือนไม่เห็นจะขึ้นเลย!!!

17666479_s

เคยมีความคิดแบบนี้แว่บขึ้นในหัวไหมครับ?

ถ้าเคยมี ผมคิดว่า คุณคิดถูกแล้วครับ แต่ถ้าไม่เคยมี ผมก็คิดว่า คุณคิดถูก เช่นกันครับ

หมายความว่าไง งง?

หมายความว่าถ้าเราคิดเช่นนั้น เราก็จะไม่พยายามพัฒนาทักษะ (ขอใช้คำว่าทักษะนะครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่ฝึกกันได้) หรือความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับเอ็กเซลใช่ไหมครับ ทักษะของเราก็จะหยุดชะงักงันไว้ตรงนั้น

และมักจะมี “ข้ออ้าง” ที่ “สมเหตุสมผล” มาสนับสนุนความคิดนั้นเสมอ

ในทางตรงข้าม ถ้าเราคิดว่า การพัฒนาทักษะด้านเอ็กเซล สามารถหาหนทางเพิ่มรายได้ให้เราได้ ผมคิดว่า

คุณคิดถูกแล้วครับ!!

สังเกตดีๆนะครับ ผมใช้คำว่า “หาหนทางเพิ่มรายได้” ไม่ใช่ “เงินเดือนขึ้น”

เลี่ยงบาลีหรือเปล่าเนี่ย ตกลงมันยังไงกันแน่?

เพราะว่าการที่เรามีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ได้มีแปลว่าเจ้านายเห็นเราใช้งานเอ็กเซลเป็นแล้วก็ขึ้นเงินเดือนให้เพียงอย่างเดียวนี่ครับ (ความเป็นจริงอาจไม่เพิ่มเงินเดือนด้วยซ้ำ)

แต่การที่เราเก่งเอ็กเซลเพิ่มขึ้น นั่นแปลว่าเราพัฒนาตรรกะ รวมถึงระบบความคิดไปในตัวด้วย

ผมเชื่อว่าคนเก่งหรือคนชอบเอ็กเซลทุกคนเป็นคนที่คิดเป็นระบบ

เห็นด้วยกับผมไหมครับ? (แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ชอบเอ็กเซลเป็นคนที่คิดไม่เป็นระบบนะครับ)

ถ้าคุณคิดเป็นระบบมากขึ้น คุณจะวิเคราะห์ได้ดีขึ้น และถ้าคุณวิเคราะห์ได้ดีขึ้น คุณก็จะเห็นโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยอาจไม่ต้องเป็นตำแหน่งเดิมหรือหน่วยงานเดิมที่คุณทำอยู่ก็ได้

ผมขอยกตัวอย่างตัวผมเองนะครับ ผมเริ่มต้นทำงานด้วยตำแหน่งเซลล์ (ไม่ใช่ Sales Engineer ด้วย)

หลังจากที่ผมทำตำแหน่งนี้มาประมาณ 2-3 ปี ผมรู้แน่แก่ใจเลยว่า ผมไม่ชอบทำงานตำแหน่งนี้ (ไม่ได้หมายความว่าตำแหน่งนี้ไม่ดีนะครับ เพียงแต่มันไม่เข้ากับนิสัยของผมน่ะครับ)

ด้วยความที่ว่าผมทำงานเป็นเซลล์มาแล้วสองสามปี ถ้าผมกลับไปทำงานเป็นวิศวกร ผมก็ต้องไปแข่งขันกับวิศวกรจบใหม่

เพราะผมไม่สามารถเคลมประสบการณ์การเป็นเซลล์กับอาชีพวิศวกรได้เลย ความรู้ที่เรียนมาก็คืนอาจารย์ไปเกลี้ยงแล้ว แถมต้องไปเริ่มต้นด้วยเงินเดือนประมาณหมื่นกว่าบาทด้วย

ตอนนั้นผมเครียดกับเรื่องนี้พอตัวทีเดียว

แล้วทำยังไงล่ะ?

ตอนผมทำงานเป็นเซลล์นั้น ผมชอบสรุปตัวเลขการขายของตัวเองครับ พอสรุปตัวเลขของตัวเองได้ พี่ๆในทีมก็จะมาขอให้ผมสรุปตัวเลขของตัวเค้าด้วย (น่ารักไหมล่ะ?)

หากใครเคยทำงานกับเซลล์หรือเคยเป็นเซลล์จะเข้าใจดีว่า เซลล์กับรีพอร์ตเป็นของไม่คู่กัน บังเอิญว่าผมชอบทำและผมก็สนิทกับพี่ๆในทีม ก็เลยกลายเป็นคนสรุปรีพอร์ตของทีมไปโดยปริยาย

ผมถือว่าผม “โชคดี” ที่ได้พี่ Financial Analyst คนหนึ่งในบริษัทสอนเอ็กเซลให้

จากคนที่รู้แค่ว่าเอ็กเซลคือการกรอกข้อมูลในตารางและใช้ AutoSum ที่บรรทัดล่างสุด (จริงๆนะครับ!!) ก็เปิดโลกทรรศน์ว่าเอ็กเซลเป็นอะไรมากกว่านั้น ทำให้ผมสนุกกับมัน

อาจเป็นเพราะพื้นฐานคือวิศวกรด้วย (แม้ไม่เคยทำงานเป็นวิศวกรก็ตาม) ก็เลยชอบการคำนวณ ชอบการวิเคราะห์ เลยรู้สึกว่าเราสนุกกับงานแบบนี้ และอยากทำงานแบบนี้

แล้วเกี่ยวอะไรกับการหาหนทางเพิ่มรายได้?

ผม “โชคดี” อีกครั้งที่ตำแหน่ง Marketing Analyst ของบริษัทว่างลง ผมจึงรวบรวมความกล้าไปคุยกับเจ้านายเพื่อขอเปลี่ยนตำแหน่ง

ตอนแรกเจ้านายไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าคุณสมบัติของผมไม่พร้อม (หากใครที่เคยทำงานกับเซลล์จะรู้ได้เลยว่า โอกาสเปลี่ยนไปทำ Analyst มันยากมากเพราะทักษะมันอยู่คนละปลาย)

ด้วยความที่ว่าเจ้านายเคยเห็นผมสรุปรีพอร์ตมาบ้างก็เลยให้ “โอกาส” โดยให้เป็นทั้งเซลล์และ Marketing Analyst ไปพร้อมๆกันก่อน

คล้ายๆให้ผมทดลองงานนั่นแหละครับ ถ้าไม่เวิร์คก็ต้องกลับมาเป็นเซลล์อีกครั้ง (ผมไม่ได้หมายความว่า Marketing Analyst ดีกว่า เซลล์นะครับ)

ตอนนั้นเก่งเอ็กเซลอยู่แล้วหรือเปล่า มีพี่ช่วยสอนแล้วไม่ใช่เหรอ?

ไม่ครับ ตอนนั้นท่าไม้ตายของผมคือ VLOOKUP กับ SUMIF ถ้าเป็นท่ายากกว่านี้ผมก็ต้องแมนวลทุกครั้ง แต่ผมก็ “โชคดี” อีกครั้งที่ได้พบกับเพื่อนของผม เจ้าของวลี “VLOOKUP คือฟังก์ชันเบสิค”

จากนั้นมาผมพยายามอย่างมากที่จะพัฒนาความสามารถของตัวเอง ทั้ง Microsoft Excel และ PowerPoint เพื่อสร้างความพร้อมในการเป็นนักวิเคราะห์ที่ดีให้กับตัวเอง รวมถึงต้องพัฒนาทักษะการนำเสนอและการเขียนวิเคราะห์ในรีพอร์ตด้วย

ผม “โชคดี” อีกครั้งเมื่อเวลาทดลองงานของผมหมดลง ผมได้รับงาน Marketing Analyst อย่างที่ผมอยากทำ และนั่นคือจุดเปลี่ยน (Turning Point) ครั้งสำคัญในชีวิตผม

แล้วเกี่ยวอะไรกับการมีรายได้เพิ่มขึ้น?

ในกรณีของผมนั้น ผมมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะค่างาน (Job Grade) ของ Marketing Analyst นั้นสูงกว่าตำแหน่งเซลล์ที่ผมทำอยู่ในตอนนั้น

เรียกได้ถ้าว่าผมทำงานเป็นเซลล์ต่อ ผมคงต้องทำงานอีกหลายปีกว่าจะได้เงินเดือนเท่านั้น (ไม่ได้หมายความว่า Marketing Analyst เงินเดือนเยอะกว่าเซลล์เสมอนะครับ ขึ้นกับโครงสร้างของแต่ละองค์กรด้วยครับ)

ประเด็นมันไม่ได้สิ้นสุดที่ตรงนั้น

เมื่อผมได้ทำงานเป็นนักวิเคราะห์แล้ว ผมรู้สึกว่ามันมี “โอกาส” ที่ผมจะข้ามไปสายงานต่างๆได้มากมาย คล้ายกับว่าผมอยู่ตรงกลางของดาวห้าแฉก

ผมสามารถกระโดดไปตรงไหนก็ได้ สิ่งสำคัญสิงหนึ่งที่ทำให้ผมก้าวไปได้นั่นก็คือทักษะการใช้เอ็กเซลและตรรกะความคิดนั่นเอง

ถ้าสังเกต ผมจะใช้คำว่า “โชคดี” บ่อยครั้ง เพราะกรณีของผมนั้นความโชคดีมันสอดคล้องกับปรัชญาที่คุณ Seneca เคยกล่าวไว้ว่า

“Luck is what happens when preparation meets opportunity”

ถ้าเราไม่ “เตรียมตัว” ตั้งแต่วันนี้ เมื่อโอกาสมาถึง โชคของเราก็ไม่บังเกิดนะครับ

อย่างไรก็ตาม หากวันนี้คุณเป็นผู้บริหารแล้ว โดยส่วนตัวผมมองว่าถ้าคุณมีทักษะถึงขั้นที่สามของ 10 ขั้นวิทยายุทธ์เอ็กเซล แล้ว ทักษะด้านเอ็กเซลอาจไม่ใช่ทักษะเร่งด่วนอะไรที่คุณต้องพัฒนา

สิ่งสำคัญคือวิสัยทัศน์และทักษะเกี่ยวกับคนมากกว่าซึ่งคุณเก่งกว่าผมอยู่แล้ว

แต่การพัฒนาทักษะเอ็กเซลเป็นสิ่งที่ดี ถ้าคุณอยากพัฒนาทักษะนี้ผมก็คิดว่าคุณคิดถูกแล้วล่ะครับ

ขอให้ทุกคน “โชคดี” ครับ ^_^

ขอบคุณ แนวคิดดีๆจากหนังสือเรื่อง 30 วิธีเอาชนะโชคชะตา ของคุณบัณฑิต อึ้งรังษี

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

One thought on “เก่งเอ็กเซลไปก็เท่านั้น เงินเดือนไม่เห็นจะขึ้นเลย!!!

Leave a Reply to 8 เทพอสูรที่ทำให้บทความวิศวกรรีพอร์ตแตกต่างจากหนังสือเอ็กเซล!! | วิศวกรรีพอร์ตCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.