เรียนเอ็กเซลที่ไหนดี?

อยากเรียนเอ็กเซล เรียนที่ไหนดีพี่?

27713125_s

รุ่นน้องหลายคนถามผมด้วยคำถามนี้เสมอ

ถ้าวันนี้ มีรุ่นน้องถามผมอีก ผมขอตอบด้วยเรื่องราวนี้แทนครับ…

วันนี้เป็นวันที่ผมสนุกกับการสอน เรียกได้ว่า น่าจะเป็นคลาสที่สนุกที่สุดแล้ว ตั้งแต่เคยสอนมา

ทำไมล่ะ?

เพราะว่าคนที่เรียนคลาสนี้ทั้งหมด ทำงานคล้ายงานที่ผมทำอยู่ตอนนี้ หรือก็คืองานในฟิลด์ FP&A (Financial Planning & Analysis) นั่นเอง

คลาสวันนี้ ผมปรับรูปแบบการสอนให้เป็นเชิงเวิร์คช็อป คือเน้นทำเคส ถ้าเคสไหนต้องใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ หรือฟีเจอร์ที่ผู้เข้าอบรมไม่คุ้นเคย ผมจะอธิบายให้ฟังถึงวิธีการใช้คร่าวๆ ไม่ลงรายละเอียด แต่เน้นความเข้าใจว่า ทำไมต้องทำแบบนี้มากกว่า

สอน 5 เคส ในเวลา 2 ชั่วโมง!

เคสที่ใช้ก็คืองานที่ผมเคยทำมาก่อนในอดีต หรืองานที่ผมทำอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง ด้วยความที่ว่าทำงานคล้ายกัน ผู้เข้าอบรมจึงเข้าใจกระบวนการต่างๆได้ไม่ยากนัก หรือเข้าใจว่าทำไมต้องทำแบบนี้ (คิดว่างั้นนะ ^_^)

เช่น มีเคสนึงคือเรื่องการวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) จุดคุ้มทุนของโครงการ หลักๆก็คืออธิบายโมเดลการคำนวณ และนำ Data Table กับ Scenario Manager มาใช้

ผมอธิบายว่า””

วิเคราะห์ความอ่อนไหว 1 ตัวแปร หรือ 2 ตัวแปร ใช้ Data Table ตอบโจทย์ที่สุด แต่ฟอร์แมตการใช้งานอาจทำให้งงๆนิดหน่อย ถ้าจับหลักได้ Data Table ก็คือเรื่องง่ายๆ

ถ้าวิเคราะห์มากกว่า 2 ตัวแปรใช้ Scenario Manager ขั้นตอนอาจดูเยอะหน่อย แต่ไม่ยาก

อยากให้ใช้ Name Box หรือ Name Manager ตั้งชื่อสมมติฐาน เพื่อจะได้แสดงค่าสมมติฐานในรีพอร์ตของ Scenario Manager ไปเลย ไม่งั้นรีพอร์ตจะแสดงค่าเป็นชื่อเซลล์แทน เช่น $B$3, $B$4 ชวนให้งงงวยยิ่งนัก

ใครสนใจสามารถดูตัวอย่างได้ที่นี่ครับ Workshop4_DataTable_ScenarioManager_150912

ที่ผมสนุก เพราะแววตาหลายๆคนกำลังนึกว่าจะเอาไปใช้ในงานไหนได้บ้าง หรือถ้าเอาไปใช้ในงานก่อนหน้านี้ คงประหยัดเวลาไปอักโข

ในฐานะของคนสอน นี่แหละครับคือความสุข ^_^

สุขใจที่ผู้เข้าอบรม “คิดตาม” หรือ “คิดแย้ง” ในสิ่งที่สอน

กระตุ้นต่อมอะไรบางอย่างให้พวกเขา

และสัมผัสได้ว่า พวกเขาน่าจะได้อะไรกลับไปไม่น้อย (ถ้านำไปฝึกใช้ในการทำงานจริงนะ..)

จากประสบการณ์การสอนหลายๆคลาส ทำให้ผมซึ้งในกฎข้อนึงว่า

โจทย์ตัวอย่างคือสิ่งสำคัญ

นี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจว่า จะนำฟีเจอร์หรือฟังก์ชันนี้ไปใช้ตอนไหน หรือทำไมต้องใช้สิ่งนี้

ใช้โจทย์ตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจว่า จะเอาไปใช้ในงานแบบใด ไม่ใช่ ใช้โจทย์ตัวอย่างเพื่อให้รู้ว่าเขียนสูตรอย่างไร

หาฟีเจอร์ที่เหมาะกับโจทย์ ไม่ใช่หาโจทย์ที่จับฟีเจอร์นั้นยัดเข้าไปได้

ในฐานะคนสอนแล้ว ต้องหาโจทย์ตัวอย่างก่อน แล้วคิดว่าโจทย์แบบนี้ต้องใช้อะไรมาช่วยบ้าง ในทางปฏิบัติแล้ว การหาโจทย์ที่เหมาะสมคือสิ่งที่ยาก และสิ่งยากกว่านั้นคือจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ไหม

โจทย์ที่เหมาะสมคือโจทย์ที่มีความซับซ้อนในระดับหนึ่ง ถ้าโจทย์เบสิคเกินไป คงไม่สามารถทำให้คนเรียนเห็นภาพได้ ถ้าโจทย์ซับซ้อนเกินไป คนเรียนก็จะงง

การที่คนเรียนจะเห็นภาพได้ คนเรียนเองก็ต้องมีประสบการณ์ หรือเจอปัญหาติดขัดหงุดหงิดใจในอดีตมาบ้าง

พอเจอคนเรียนที่เข้าใจในสิ่งที่สอน ผมจึงสนุกไปด้วย

และคิดว่าคนเรียนก็น่าจะสนุกกับผมเหมือนกัน (หวังว่าคงไม่คิดเข้าข้างตัวเองนะ แหะๆ ^_^)

ที่พูดมาทั้งหมด ก็เพื่อตอบคำถามว่า ถ้าเราต้องการเรียนเอ็กเซลเพื่อตอบโจทย์ของเรา เราต้องหาข้อมูลว่า

“เราเรียนกับใคร?”

คนสอนมีประสบการณ์ทำงานในแบบที่คุณกำลังประสบอยู่หรือเปล่า?

นั่นก็คือ เราคงต้องทำการบ้านด้วยว่า คนสอนมีความถนัดในงานแบบใด ถ้าเขาหรือเธอมีประสบการณ์ทำงานที่ตรงกับเราแล้ว เวลาเราถามคำถาม แม้ว่าเราจะเรียบเรียงผิดถูก สลับลำดับไปบ้าง แต่คนสอนจะเข้าใจเพราะ

เค้าเคยเจอมาแล้ว!

และเค้าพอจะเดาๆได้ว่าเราน่าจะเจอปัญหาแบบใด

สำหรับประสบการณ์ของผมเอง คือการเป็นนักวิเคราะห์ (Analyst) เชิงการขาย การตลาด หรือบัญชีการเงิน ดูเผินๆเหมือนจะกว้าง

แต่… ถ้าให้ผมไปสอนโจทย์ทางด้าน

  • จัดการข้อมูลในห้องแล็ป
  • วางแผนการซ่อมบำรุง
  • วางแผนการจัดรถขนส่ง

ผมคงไม่สามารถหาโจทย์ที่เหมาะสม หรือเข้าใจข้อติดขัดบางอย่างที่ผู้เรียนกำลังประสบได้ เพราะผมมีประสบการณ์เหล่านี้จำกัด ที่เคยมีบ้างก็คือเพื่อนร่วมงานมาถามเท่านั้น

การใช้เอ็กเซลให้มีประสิทธิภาพนั้น คงไม่ใช่การใช้สูตรหรือเขียนโค้ดให้คำนวณได้รวดเร็วเพียงอย่างเดียว

แต่ต้องรวมถึง…

การออกแบบวิธีเก็บข้อมูลดิบ (ถ้ามีซอฟต์แวร์รองรับ ต้องเอ็กพอร์ตข้อมูลอะไรบ้าง) สร้างตารางคำนวณ ออกแบบรีพอร์ตแสดงผล และเขียนบทวิเคราะห์

มีเพียงวิธีเดียวที่สามารถเข้าถึงสิ่งทั้งหมดนี้ได้ วิธีนั้นก็คือ

ประสบการณ์ตรง

อย่าดูเพียงแค่ชื่อของสถาบันที่สอนเพียงอย่างเดียว แต่ให้ดูประสบการณ์ของคนสอนด้วย

ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าฟิลด์ที่คุณทำงานอยู่เป็นฟิลด์จำเพาะมากๆ คงยากมาก ที่จะหาคนสอนที่มีประสบการณ์ตรงกับคุณได้

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนเก่งเอ็กเซลหลายๆคนไม่ชอบไปเรียนเอ็กเซล เพราะหาคนสอนที่ตอบโจทย์ไม่ได้นั่นเอง

ตอนนี้ความรู้ต่างๆหาได้ง่ายมากทางอินเทอร์เน็ต ถ้าเรารู้ว่า เราต้องการอะไร มีตรรกะชัดเจน การเรียนเอ็กเซลอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลยก็ได้

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า การศึกษาค้นคว้าลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง คือสิ่งสำคัญที่สุด การเรียนเอ็กเซลเป็นเพียงการ “ย่นระยะเวลา” ศึกษาด้วยตัวเองเท่านั้น

ศึกษาแล้ว อย่าลืมนำมาฝึกใช้จริงนะครับ

เอ.. ว่าแต่ผมตอบคำถามหรือเปล่าเนี่ย ^_^

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่าน เพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.