ช่วงนี้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงไปเยอะ แล้วมีผลกระทบอะไรกับกำไรไหม?
ลองมาหาคำตอบด้วยกันครับ..
สมมติว่าบริษัทของคุณมีบริษัทแม่อยู่ที่อเมริกา เวลาทำรายงานผลกำไรขาดทุน ต้องรายงานในสกุลเงินดอลลาร์
สัดส่วนการขายสินค้าในประเทศต่อส่งออก อยู่ที่ 80:20 สินค้าที่ส่งออกขายในสกุลเงินดอลลาร์ทั้งสิ้น
สินค้าทั้งหมดถูกผลิตจากเมืองไทย วัตถุดิบทั้งหมดหาซื้อภายในประเทศ และซื้อด้วยเงินบาท
ตอนคุณทำแผน คุณคิดว่าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ คุณคำนวณแล้วได้ผลกำไรประมาณ 1 ล้านดอลลาร์
แต่เอาเข้าจริงเงินบาทอ่อนตัวลงไปที่ 35.5 บาทต่อดอลลาร์
คำถามคือ ถ้าคุณขายได้จำนวนและราคาตามเป้าหมายที่วางไว้ ผลกำไรที่ได้จริง (คิดที่ 35.5 บาทต่อดอลลาร์) จะมากหรือน้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์?
และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ถ้าข้อมูลที่ผมให้ไม่เพียงพอ สามารถสมมติตัวเลขใดๆขึ้นมาได้เต็มที่ครับ
.
.
คำตอบสำหรับโจทย์ข้อนี้ก็คือ…
ผลกำไรในรายงานอาจมากหรือน้อยกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าอัตราส่วนกำไรของสินค้านั้นคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์
ถ้าอัตราส่วนกำไรของสินค้านั้นมากกว่า 20% ผลกำไรในรายงานจะน้อยกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์
ถ้าอัตราส่วนกำไรของสินค้านั้นน้อยกว่า 20% ผลกำไรในรายงานจะมากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์
ทำไมน่ะเหรอครับ?
ขออธิบายดังนี้
สมมติว่ายอดขายสินค้าในประเทศคือ A ยอดขายสินค้าส่งออกคือ B
ต้นทุนทั้งหมดคือ C
สามารถเขียนในรูปแบบสมการได้ว่า
กำไร = (A + B) – C
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผมสมมติว่ากรณีนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายจากการขายและการบริหาร (SG&A) ละกันนะครับ
ในส่วนของ B นั้น อัตราแลกเปลี่ยนไม่มีผลกระทบใดๆ เพราะซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยนจะขึ้นหรือลงยังไง จำนวนเงินก้อนนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับ A นั้น อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวลงจาก 34 เป็น 35.5 บาทต่อดอลลาร์ เวลาเราแปลงเงินบาทเป็นดอลลาร์ ยอดเงินดอลลาร์ที่ได้จะมีค่าลดลง เพราะตัวหารมากขึ้นนั่นเอง
A/34 ยังไงก็มากกว่า A/35.5
ดังนั้นผลกระทบจากค่าเงินบาทจาก A จึงเป็นเชิงลบ
สำหรับ C ซึ่งเป็นต้นทุนนั้น ผลกระทบจะเป็นในเชิงตรงข้าม หรือเป็นเชิงบวก เพราะการที่เงินบาทอ่อนตัวลง เวลาแปลงเป็นดอลลาร์ก็แปลว่าตัวหารมากขึ้น ต้นทุนที่ได้จึงมีค่าลดลง ต้นทุนลดลงก็แปลว่ากำไรมากขึ้น
C/34 ยังไงก็มากกว่า C/35.5
คราวนี้เราต้องเปรียบเทียบว่าผลกระทบในแง่ลบที่ได้จาก A กับผลกระทบในแง่บวกที่ได้จาก C ตัวไหนมากกว่ากัน?
ถ้าผลกระทบจาก A มากกว่า C ผลกำไรที่ได้จะน้อยกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์
ถ้าผลกระทบจาก C มากกว่า A ผลกำไรที่ได้จะมากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์
หรือดูง่ายๆก็ได้ว่า
ถ้า A > C ผลกำไรจะน้อยกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์
ถ้า C > A ผลกำไรจะมากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์
สิ่งที่ทำให้ A > C หรือ C > A ก็คืออัตราส่วนกำไรนั่นเอง
จากอัตราส่วน 80:20 ซึ่งเป็นอัตราส่วนยอดขายในประเทศต่อส่งออกนั้น เพื่อให้เข้าใจง่าย สมมติว่ายอดขายทั้งหมดคือ 100
A = 80
B = 20
นั่นแปลว่า
ถ้า C < 80 (เช่น C = 70) ผลกำไรที่ได้จะน้อยกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์
ถ้า C > 80 (เช่น C = 90) ผลกำไรที่ได้จะมากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์
C = 80 จึงเป็นกุญแจสำคัญของคำตอบข้อนี้
ถ้า C = 80 แปลว่าต้นทุนคือ 80% หรือ อัตราส่วนกำไรคือ 20%
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า
ถ้าอัตราส่วนกำไรมากกว่า 20% (เช่น C = 70, A = 80 หรือ C<A) ผลกำไรที่ได้จึงมีค่าน้อยกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์
ถ้าอัตราส่วนกำไรน้อยกว่า 20% (เช่น C = 90, A = 80 หรือ C>A) ผลกำไรที่ได้จึงมีค่ามากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์
คำถามนี้ถูกโพสต์ลงในเฟสบุ๊คแฟนเพจวิศวกรรีพอร์ต (https://www.facebook.com/reportingengineer) วันที่ 2 กันยายน 2558 มีผู้สนใจร่วมสนุกตอบคำถามเป็นจำนวนมาก
ขอขอบคุณสำหรับทุกคำตอบและทุกความเห็นครับ
จากคำตอบที่ส่งมาทั้งหมด คำตอบที่ถูกใจผมมากที่สุดคือคำตอบจากคุณ Worapong Itthithaneth
ผมประทับใจคุณ Worapong Itthithaneth มากๆ นอกจากตอบถูกแบบเป๊ะๆแล้ว ยังพิสูจน์สมการให้ดูด้วย ผมอ่านแล้วอึ้งไปเลย สุดยอดจริงๆ ขอบคุณมากครับ คุณสร้างสีสันให้กับโพสต์นั้นจริงๆ คำตอบของคุณชัดเจนมาก
คำตอบดังกล่าวคือไฟล์นี้ครับ
THBDepreciatedImpact_Solution_150903_WorapongItthithaneth
สำหรับคำตอบอื่น ส่วนใหญ่ตอบว่า ผลกำไรน้อยกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์ ผมลองอ่านวิธีคิดแล้วพบว่า มีจุดพลาดใหญ่ๆ 3 จุดด้วยกันคือ
- ลืมไปว่าเรากำลังคิดผลกระทบในเชิงเงินดอลลาร์ (ไม่ใช่เงินบาท)
- ลืมไปว่าต้นทุนทั้งหมดเป็นเงินบาท
- คิดผลกระทบจากกำไรโดยตรง ไม่ได้คิดแยกส่วนจากยอดขายและต้นทุน
สำหรับโจทย์ข้อนี้นั้น สิ่งสำคัญคือ
ต้องคิดแยกส่วนยอดขายและต้นทุน
ถ้าเราคิดไปที่กำไรโดยตรงเลย นั่นกำลังแปลว่า
เรากำลังคิดว่าโครงสร้างต้นทุนเหมือนกับโครงสร้างยอดขาย
คล้ายกับว่าต้นทุนเป็นเงินบาท 80% และต้นทุนเป็นเงินดอลลาร์ 20% โดยไม่รู้ตัว…
การที่เราคิดที่กำไรโดยตรง เสมือนว่าผลกระทบค่าเงินบาทต่อยอดขายและต้นทุนเป็นไปในทางเดียวกัน จากโจทย์ข้อนี้จะพบว่าไม่ใช่ เพราะต้นทุนทั้งหมดเป็นเงินบาท ไม่ใช่ 80:20 เหมือนยอดขาย
ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมสนุกครับ ถ้ามีคำถามน่าสนใจอีก จะมีให้ร่วมสนุกกันอีกนะครับ ^_^
.
หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่าน เพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^