วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเอ็กเซล

คุณทราบไหมครับว่าจริงๆแล้ว “วัคซีน” ไม่ใช่ยา แต่คือเชื้อโรคที่ถูกปรับสภาพแล้ว!

ลดความรุนแรง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเจ้าเชื้อตัวนั้นขึ้นมาเอง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักเล็กน้อย

แต่ภูมิคุ้มกันนั้นจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต

ผมเพิ่งนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับการสอนเอ็กเซล ผลการรักษาเป็นอย่างไร

ลองอ่านจากเรื่องราวนี้ครับ

ExcelVaccine_151115

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรรับเชิญ สอนเรื่องการใช้เอ็กเซลจัดการข้อมูลให้กับโรงงานแห่งหนึ่ง

โรงงานที่ว่าก็คือโรงงานของบริษัทที่ผมทำงานนั่นเอง

พี่คนหนึ่งขอให้มาช่วยสอนตั้งแต่ปีที่แล้ว กว่าจะได้สอนจริงก็เมื่อวานนี้เอง แหะๆ ^_^”

ด้วยผมเองห่างหายจากการทำงานในโรงงานระยะหนึ่งแล้ว และเคยมีประสบการณ์ว่าไม่ควรนำตัวอย่างเรื่องการวิเคราะห์ยอดขายไปสอนคนทำงานด้านการผลิต

เพราะเค้าอาจไม่คุ้นเคยกับข้อมูลนั้น

จึงคิดว่าครั้งนี้ต้องเปลี่ยนสไตล์การสอน ตัวอย่างที่ใช้ต้องใกล้เคียงกับงานที่เค้าทำอยู่ หรือเป็นงานปัจจุบันเลยยิ่งดี

ผมจึงขอไฟล์งานที่ทำอยู่จริงมาศึกษาก่อน กะว่าสอนเสร็จ คนเรียนก็เอาไปใช้ต่อได้เลย

แว่บแรกที่เห็นข้อมูล ผมย้ายมือจากปุ่มคีย์บอร์ดมากุมขมับซ้ายขวาของตัวเอง

ท่าทางงานนี้จะไม่ง่ายอย่างที่คิดเสียแล้ว

เพราะไฟล์ที่ส่งมา เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ 3 in 1 !!

คำว่า 3 in 1 ไม่ใช่กาแฟนะครับ แต่คือ การฟีเจอร์ริ่ง ข้อมูลอินพุต ตารางคำนวณ และรีพอร์ต อยู่ในตารางเดียวกันแบบเบ็ดเสร็จ

(ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับรูปแบบ 3 in 1 นี้ไว้แล้ว สามารถอ่านรายละเอียดได้ ที่นี่)

ด้วยความที่ว่าทุกสิ่งอย่างถูกผสมคลุกเคล้าอยู่ในตารางเดียว

การปรับฟอร์แมตหรือเปลี่ยนมุมมองการวิเคราะห์ ต้องใช้ ความขยัน + อัตโนมือ เท่านั้น

นึกภาพออกเลยว่าคนทำงานต้องใช้เวลาและหงุดหงิดกับสิ่งเหล่านี้มากแค่ไหน

ผมจึงออกแบบตารางการเก็บข้อมูลใหม่ แยกรีพอร์ตออกจากข้อมูล

ปัญหาอีกอย่างนึงก็คือ

ผมไม่ทราบว่า พื้นฐานของแต่ละคนเป็นอย่างไร?

รู้แค่เพียงว่าใช้งานเอ็กเซลทุกวัน

ความท้าทายไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ ขนาดสอนภายในนะนี่ แต่ก็น่าสนุกไปอีกแบบ

และแล้ว วันสอนจริงก็มาถึง…

ผมทดลองการสอนแบบใหม่ นั่นก็คือการสอนแบบฉีดวัคซีนกระตุ้น

เริ่มต้นด้วยการ “ควิซ” หรือการคือการทดสอบย่อยนั่นเอง

ให้ทำเคสง่ายๆ 3 เคส อธิบายคร่าวๆว่าต้องการผลลัพธ์แบบใด แล้วให้คนเรียนลุยกันเอง

ยังไม่สอน สอบก่อน เรียกเอาเสียงฮือฮา (ค่อนไปทาง “ฮือ”) จากคนเรียนไม่น้อย

หนึ่งในเคสคือให้สร้างตารางสูตรคูณ เพื่อทดสอบความเข้าใจของการใช้ดอลลาร์ไซน์

(ผมเคยเขียนเทคนิคการใช้ดอลลาร์ไซน์เรื่อง คลายปม ปัญหาการใช้ใส่ดอลลาร์ไซน์ในเอ็กเซล หากสนใจ คลิก ที่นี่ ครับ)

ส่วนผมยืนสังเกตการณ์ห่างๆอย่างห่วงๆ ^_^

ผลลัพธ์น่ะหรือครับ?

นึกภาพผมเอาโคนนิ้วโป้งขวารูดจากหางคิ้วซ้ายไปคิ้วขวาละกันครับ

มาถึงการสอนบ้าง

จริงๆแล้วหัวใจการสอนแบบฉีดวัคซีนนี้ก็คือ การสอนสไตล์เวิร์คช็อปนั่นเอง

เน้นทำเคส ซึ่งเคสที่ใช้ก็คือไฟล์ที่ผมขอมาศึกษาก่อน และก็คืองานของผู้เรียนบางคน

ถ้าเคสนั้นต้องใช้ฟังก์ชั่นหรือเทคนิคอะไร ก็สอนกันตอนนั้นเลย แซมๆด้วยเทคนิคการใช้คีย์บอร์ดชอร์ตคัตเป็นระยะ

(ผมเคยเขียนบทความเรื่องการใช้คีย์บอร์ดชอร์ตคัตมาบ้าง หากสนใจ คลิก ที่นี่ หรือ ที่นี่)

หรือก็คือใช้เคสเป็นศูนย์กลาง เพื่อดึงเข้าสู่ฟังก์ชั่น และเทคนิคอื่นๆ

ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยวิธีการใช้ฟังก์ชัน แล้วหาตัวอย่างมาประกอบความเข้าใจ

ฟังก์ชันที่นำมาใช้ ก็คือฟังก์ชั่นตอนทำควิซนั่นแหละครับ

นั่นคือจุดประสงค์ของการควิซ เพราะต้องการกระตุ้นให้เห็นประโยชน์ของฟังก์ชั่นนั้นๆก่อน

ถ้าเริ่มด้วยการทำเคสเลย ผู้เรียนจะไม่ “ตระหนัก” ถึงความจำเป็นของการใช้ฟังก์ชั่นนั้นๆ

หรือก็คือจะทำตามที่ผมบอก แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้ฟังก์ชั่นนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผมเจอมาหลายคลาส

ก่อนหน้านี้ เวลาสอนผมมักไม่สนับสนุนให้ใช้ Function Argument Dialog Box

เจ้า Function Argument Dialog Box ก็คือเครื่องมือช่วยเขียนสูตรที่หน้าตาแบบนี้ครับ

Function Argument Dialog Box
Function Argument Dialog Box
ทำไมถึงไม่ให้ใช้ล่ะ สะดวกดีออก?

เพราะว่า ถ้าเราใช้เจ้าสิ่งนี้จนคุ้นเคย

เราจะเขียนฟังก์ชันซ้อนฟังก์ชันไม่เป็น

ผมจึงชอบสอนให้เขียนสูตรโดยตรงแบบนี้มากกว่า

TypeFunctionInFormulaBar_151115

ถ้าเราคุ้นเคยกับการเขียนสูตรแบบนี้แล้ว การเขียนฟังก์ชันซ้อนฟังก์ชันก็คือขนมหวาน

อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนหลายคนยังคุ้นเคยกับเจ้า Function Argument Dialog Box อยู่ การให้หักดิบมาเขียนสูตรโดยตรงสร้างความอึดอัดมากเกินไป

ผมจึงต้องแสดงการใช้ Function Argument Dialog Box ในช่วงแรกๆ

ดีใจที่สุดท้ายหลายคนก็หันมาเขียนสูตรโดยตรง ^_^

บรรยากาศการสอนเป็นไปด้วยดี ทุกคนตั้งใจมาก ไม่ยอมพักเบรคกันทีเดียว (ทั้งที่คนสอนอยากพัก)

แต่มีอยู่จุดนึงที่ผมพลาดไป แล้วก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่พลาดแบบนี้..

นั่นคือการสอนใช้ Pivot Table

ผมพยายามสอนเทคนิคการปรับฟอร์แมต เพื่อลดข้อจำกัดของ Pivot Table มากเกินไป จนทำให้ผู้เรียนรู้สึกต่อต้านการใช้ เพราะคิดว่า

จำเป็นต้องปรับฟอร์แมตเยอะขนาดนี้เลยเหรอ

จริงๆแล้ว การสอน Pivot Table ให้กับมือใหม่ ควรเน้นเรื่องข้อดีของ Pivot Table หรือเน้นการใช้งานเบื้องต้นก็พอ

ผมคิดว่าสิ่งนั้นง่ายเกินไป น่าจะหันมาเน้นเรื่องการปรับฟอร์แมตมากกว่า หลายคนไม่ชอบ Pivot Table เพราะคิดว่ามีข้อจำกัดนู่นนั่นนี่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความไม่รู้

แต่การสอนเทคนิคเหล่านี้คล้ายกับการ “ยัดเยียด”

สังเกตจากแววตาผู้เข้าอบรมก็พอจะเดาได้

คงต้องลดเทคนิคในส่วนนี้ลงสำหรับการสอนในคลาสต่อไป ต้องขออภัยนักเรียนทุกคนด้วยครับ

อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว การสอนสไตล์ฉีดวัคซีนครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ

ผู้เรียนเข้าใจว่าทำไมต้องใช้ฟังก์ชันนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องทำเคส

และต้องใช้ฟังก์ชันนึงหลายต่อหลายครั้ง ทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา จนพอจะเดาได้ว่าครั้งต่อไปต้องทำอย่างไร

การสอนสไตล์ฉีดวัคซีนนี้ กุญแจสำคัญอยู่ที่เคส ต้องเป็นเคสที่ผู้เรียนคุ้นเคย ยิ่งเป็นงานปัจจุบันที่ทำอยู่ยิ่งดี

โชคดีที่เป็นการสอนภายในบริษัท การเข้าถึงข้อมูลจึงไม่เป็นอุปสรรค รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้างานของผู้เรียนเป็นอย่างดี

ผลตอบรับจากผู้เรียนถือว่าดีมาก เป็นคอร์สที่น่าจดจำสำหรับผม และสุขใจที่ได้สอน

โดยเฉพาะคำพูดสุดท้ายของน้องคนหนึ่ง ที่พูดก่อนผมจะขึ้นรถกลับกรุงเทพว่า

ถ้าสิ่งที่พี่สอนเรียกว่าเอ็กเซล หนูก็ไม่เคยใช้เอ็กเซลมาก่อน

ความสุขของคนสอนก็คือสิ่งนี้แหละครับ ^_^

ขอบคุณนักเรียนทุกคนที่ตั้งใจ ผมสนุกและได้ประโยชน์จากการสอนครั้งนี้ไม่น้อยไปกว่าพวกคุณเลย

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

2 thoughts on “วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเอ็กเซล

  1. อ่านแล้วต้องย้อนกลับมาดูตัวเองเลยครับ
    “ทุกวันนี้รู้จัก excel รึยัง 555”

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.