เส้นผมบังตา “มายาค่าเฉลี่ย”

มีเกมมาให้คิดสนุกๆครับ

คุณคิดว่า ตัวเลขในตารางข้างล่างนี้ มีอะไร “ผิดปกติ” หรือไม่?

AveragedCost_160712

ถ้ามี สิ่งที่คุณคิดว่า “ผิดปกติ” คืออะไร?

หรือ ถ้าต้องนำเสนอข้อมูลนี้ในที่ประชุม คุณจะนำเสนอว่าอย่างไร?

ติ๊กต่อก

ติ๊กต่อก…

(ถ้ายังคิดอยู่ อย่าเพิ่งอ่านบรรทัดต่อไปนะครับ)

หมดเวลา!

ในความคิดของผม ความ “ผิดปกติ” ของตารางนี้ สามารถอธิบายได้ 2 มุมมอง คือ

1 มองในมุมวิเคราะห์ตัวเลข

หลายคนอาจใช้ Sense Of Number แล้วรู้สึกว่า ตัวเลขดูผิดปกติ

เพราะ ต้นทุนต่อหน่วยของซัพพลายเออร์เอสูงกว่าซัพลายเออร์บี ทุกเดือน

ไล่ตั้งแต่เดือน 1 ถึงเดือน 5

แต่ทำไม ตัวเลขสรุปสุดท้ายกลับต่ำกว่า!

(10.69 vs 10.74)

คำถามที่แว่บขึ้นมาคือ

“ตัวเลขผิดหรือเปล่า?”

สำหรับโจทย์ข้อนี้ ตัวเลขไม่ได้ผิดครับ

แต่ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเกิดสิ่งที่เรียกว่า

มายาค่าเฉลี่ย

นั่นคือ ตัวเลขเดือน 1 ถึงเดือน 5 ได้สร้างภาพมายาให้กับสมองของเรา

จนเราเกิดการรับรู้ว่า ต้นทุนต่อหน่วยของซัพพลายเออร์เอ ต้องสูงกว่า ซัพพลายเออร์บี

แต่ถ้าเราลองวิเคราะห์สัดส่วนปริมาณการขาย จะพบว่า

สัดส่วนของเดือน 5 แตกต่างจากเดือน 1-4 อย่างเห็นได้ชัด

กล่าวคือ สัดส่วนปริมาณของซัพพลายเออร์เอ : ซัพพลายเออร์บี เดือน 5 คือ 21:79

ในขณะที่ สัดส่วนเดือน 1-4 อยู่ที่ประมาณ 70:30

แถมเดือน 5 ยังเป็นเดือนที่ต้นทุนต่อหน่วยสูงที่สุด

เจ้า สัดส่วนที่เปลี่ยนไป และ ต้นทุนต่อหน่วยสูงที่สุดในเดือน 5 นี่เอง ที่เป็นตัวพลิกเกม!

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราควรเพิ่มมุมมมองการวิเคราะห์

ต้นทุนต่อหน่วยสะสมของแต่ละเดือน (YTD Cost; YTD = Year-To-Date)

และ สัดส่วนปริมาณการขายของแต่ละเดือน เข้าไปด้วย

หรือแสดงดังภาพข้างล่างครับ

AveragedCost_Solution_160713.pngจะเห็นได้ว่า ต้นทุนต่อหน่วยสะสม (YTD Cost) เดือน 1-4 ของซัพพลายเออร์เอ สูงกว่า ซัพพลายเออร์บี (10.61 vs 10.21)

แต่พอเจอ การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วน และต้นทุนต่อหน่วยสูงที่สุดของเดือน 5 เข้าไป

ต้นทุนต่อหน่วยสะสมของซัพพลายเออร์เอ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 10.61 เป็น 10.69

แต่ ต้นทุนต่อหน่วยสะสมของซัพพลายเออร์บี เพิ่มขึ้นจาก 10.21 เป็น 10.74!!

ต้นทุนต่อหน่วยสะสมของซัพพลายเออร์บี จึงพลิกขึ้นมาสูงกว่า ซัพพลายเออร์เอ

อย่างไม่มีปีขลุ่ย ทรัมเป็ต และแซ็กโซโฟน (แถมให้ ^^)

เพื่อให้เห็นภาพ อาจแสดงด้วยกราฟ แบบนี้ครับ

Average_YTDAverage_Graph_160713.jpg

ความชันของกราฟ YTD Supp B ขึ้นสูงปรี๊ดในเดือน 5 จนแซงกราฟ YTD Supp A ซะงั้น

เรื่อง “มายาค่าเฉลี่ย” นี้ เราคาคงต้องอธิบายเป็นประเด็นแรก ตั้งแต่ตอนนำเสนอ

ไม่งั้นคนฟังจะไม่เชื่อถือตัวเลข

และคิดว่า สิ่งที่เรากำลังจะพูดต่อไปนั้นผิด

เพื่อให้อธิบายง่ายขึ้น เราอาจใช้กราฟด้านบน ประกอบการนำเสนอก็ได้ครับ

อ้อ! สำหรับสูตรการคิดต้นทุนต่อหน่วยสะสม เราใช้แนวคิดค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average) และ ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) เข้ามาช่วยคำนวณ

สามารถเขียนสูตรได้ง่ายๆ แบบนี้ครับ

MovingAverageFormula_160713.png

สมมติว่า เรากำลังใส่สูตรในเซลล์ F11 ซึ่งเป็นต้นทุนต่อหน่วยสะสมของเดือน 1-2

สูตรคือ

=SUM($E7:F7)/SUM($E3:F3)

หรือก็คือ

= ยอดซื้อสะสม (บาท)/ ปริมาณสะสม (กิโลกรัม)

เราต้องใส่ ดอลลาร์ไซน์ ($) ไว้หน้า $E7 และ $E3 เพื่อล็อคไม่ให้คอลัมน์ E เลื่อน เวลาลากสูตรไปทางขวา

จากนั้นก็ก็อปปี้สูตรไปทางขวา และลงล่างโลด

ไม่ต้องเขียนสูตรใหม่นะครับ ^__^

ทำไมต้องคิดค่าเฉลี่ยแบบนี้ด้วยล่ะ? คิดค่าเฉลี่ยสะสมจากค่าเฉลี่ยเลยไม่ได้หรือ?

ถ้าเราคิดค่าเฉลี่ยสะสม จากค่าเฉลี่ยของแต่ละเดือน เลย

เช่น ใส่สูตรค่าเฉลี่ยสะสมของซัพพลายเออร์เอ เดือน 1-5 เป็น

=AVERAGE(E9:I9)

ถ้าเราคิดแบบนี้ เรากำลังตั้งสมมติฐานว่า ปริมาณการซื้อของแต่ละเดือนเท่ากัน โดยไม่รู้ตัว!!

แต่โจทย์ข้อนี้ ปริมาณการซื้อของแต่ละเดือนไม่เท่ากันเลย

ด้วยความที่ ปริมาณการซื้อต่อเดือนไม่เท่ากันนี่เอง เราจึงต้องคำนวณโดยการใช้ยอดรวมสะสมทั้งหมด

หรือก็คือใช้หลักการของ Weighted Average นั่นเอง

ถ้ามองอีกมุมนึง อาจเขียนสูตร Weighted Average ค่าเฉลี่ยสะสม ของซัพพลายเออร์เอ เดือน 1-5 ได้เป็น

=SUMPRODUCT($E9:I9,$E3:I3)/SUM($E3:I3)

นั่นคือการนำปริมาณการซื้อ (kg) เข้ามาถ่วงน้ำหนักนั่นเอง

แล้วทำไมไม่บอกแต่แรกว่า ให้คิดต้นหน่วยต่อหน่วยสะสมด้วยล่ะ?

นั่นคือเหตุผลที่เค้าจ้างเรามาทำงานไงล่ะครับ ^__^

ใครสนใจรายละเอียดการเขียนสูตร หรือวิธีการทำกราฟ สามารถดาวน์โหลดไฟล์ตัวอย่างได้เลยครับ

AveragedCost_160712

.

2 มองในมุมวิเคราะห์ธุรกิจ

ถ้ามองในมุมวิเคราะห์ธุรกิจ อาจเกิดคำถามขึ้นมากมาย เช่น

  • ทำไมเดือน 1-4 ถึงซื้อจากซัพพลายเออร์เอเยอะ ทั้งที่ต้นทุนต่อหน่วยแพงกว่าซัพพลายเออร์บี?
  • ทำไมเดือน 5 ถึงซื้อจากซัพพลายเออร์บีเพิ่มขึ้น? ทั้งๆที่ซื้อจากซัพพลายเออร์เอเยอะกว่ามาตลอด
  • ทำไมยิ่งซื้อ ต้นทุนต่อหน่วยยิ่งสูง? มันควรจะต่อรองได้เพิ่มขึ้นสิ!
  • ทำไมไม่ลองหาซัพพลายเออร์เจ้าอื่นบ้าง?

เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

และคำตอบก็สามารถเป็น

  • เดือน 1-4 ซัพพลายเออร์บีมีของที่พร้อมขายได้น้อยมาก เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนเครื่องจักร
  • เดือน 5 ซัพพลายเออร์บี เปลี่ยนเครื่องจักรเสร็จแล้ว จึงมีของพร้อมขายมากขึ้น
  • ต้นทุนต่อเหน่วยสูงขึ้นทุกเดือน เนื่องจากปัจจัยตามฤดูกาล (Seasonal Impact)
  • ซัพพลายเออร์เจ้าใหญ่ในตลาดมีเพียง 2 เจ้า เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการลงทุนสูง และสัมปทานกับภาครัฐ

ในบางช่วงเวลา ตลาดก็เป็นของผู้ซื้อ

และ ในบางช่วงเวลา ตลาดก็เป็นของผู้ขาย

มีเงินซื้อ ไม่ได้แปลว่า สามารถซื้อได้ทุกครั้งเสมอไป

แล้วเราควรอธิบายมุมมองเหล่านี้กับผู้ฟังไหม?

ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ฟังเป็นใครครับ

ถ้าเป็นคนที่ดูข้อมูลทุกเดือน รู้เรื่องธรรมชาติของธุรกิจอยู่แล้ว ในฐานะคนนำเสนอ เราสามารถข้ามประเด็นเหล่านี้ได้

แต่ ถ้าไม่ใช่คนที่ดูข้อมูลนี้ทุกเดือน หรือมีพื้นความรู้เกี่ยวกับธุรกิจน้อยมาก คงต้องปูพื้นเรื่องธรรมชาติ และการแข่งขันของธุรกิจ

มุมมองเหล่านี้ คือ มุมมองที่สำคัญ มากกว่า มุมมองเชิงตัวเลขเสียอีก!

.

มุมมองเชิงตัวเลข ขอแค่มี Sense Of Number เดี๋ยวก็มองออก

หรือถ้ามีโปรแกรมไฮโซ เรื่องแบบนี้จะถูกวิเคราะห์ออกมาเสร็จสรรพ

แต่มุมมองวิเคราะห์เชิงธุรกิจ เป็นมุมมองที่โปรแกรมไฮโซ(ตอนนี้ยัง)ทำไม่ได้

และนั่นคือ “มูลค่าเพิ่ม” ที่เราเจ๋งกว่าโปรแกรมไฮโซเหล่านั้นครับ ^__^

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

4 thoughts on “เส้นผมบังตา “มายาค่าเฉลี่ย”

  1. ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ น่ะค่ะ
    เป็นกำลังใจให้ ค่ะ

  2. ขอบคุณมากค่ะ สามารถนำมาประยุกต์ในงานปัจจุบันได้ดีมากๆค่ะ

Leave a Reply to วิศวกรรีพอร์ตCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.