The Last Lecture: หนังสือที่คุณต้องอ่าน

คุณเคยอ่านหนังสือเรื่อง The Last Lecture ไหมครับ?

IMG_1612

ถ้าเคย ลองเมนต์คุยกันใต้บทความนี้หน่อยไหมครับ ว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้ ^__^

ถ้าไม่เคย ผมอยากให้คุณแวะร้านหนังสือใกล้บ้าน มองหาหนังสือเล่มนี้ ถ้าพบบนชั้นวาง รีบคว้าและซื้อกลับมาอ่านเลย

ทำไมผมถึงอยากให้คุณอ่านหนังสือเล่มนี้น่ะหรือครับ?

ให้ผมเล่าความรู้สึกเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ให้ฟังละกัน

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้มาปีกว่าแล้ว ตอนไปร้านหนังสือไม่ได้ตั้งใจซื้อด้วยซ้ำ ตั้งใจซื้ออีกเล่มนึง พอเจอหนังสือที่ต้องการแล้ว ขณะที่เดินไปจ่ายเงินก็เดินผ่านชั้นวาง เหลือบไปเห็นหนังสือเล่มนี้ คุ้นๆมีคนเคยบอกว่าดี ก็เลยหยิบเพิ่มมาอีกเล่มนึงและนำไปจ่ายเงิน

พอกลับถึงบ้านก็เก็บเข้าชั้นวางหนังสือ และวางอยู่อย่างนั้นจนลืมไปแล้วว่าเคยซื้อมา

(ใครมีนิสัยแบบผมบ้าง ^^)

ช่วงปลายปี 2017 ผมจัดเรียงหนังสือบนชั้นวางที่บ้าน บางเล่มที่อ่านแล้ว (หรือคิดว่าคงไม่ได้อ่าน) ก็นำไปบริจาคที่มูลนิธิกระจกเงา จัดไปจัดมาจนเจอหนังสือเล่มนี้ กอปรกับอยากอ่านหนังสือแนวเสริมพลังบวกให้ตัวเอง เลยคิดว่าฟ้าคงบอกให้เราควรอ่านหนังสือเล่มนี้เสียที

และนั่นคือการตัดสินใจที่ดีมาก นี่คือหนึ่งในหนังสือดีที่สุดที่ผมเคยอ่าน!

เดอะลาสต์เลกเชอร์ คือบันทึกการเลกเชอร์ครั้งสุดท้ายของคุณแรนดี เพาช์ (Randy Pausch)

ทำไมถึงเป็นเลกเชอร์ครั้งสุดท้ายน่ะหรือครับ?

เพราะคุณแรนดีป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย ก่อนจะเลกเชอร์ครั้งนี้ คุณหมอบอกว่าเขาจะมีอายุอีกเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น !

ถ้าคุณมีอายุอีกเพียง 3 เดือน คุณจะมาเลกเชอร์ที่มหาวิทยาลัยไหม?

คนส่วนใหญ่คงอยากใช้เวลาที่เหลืออยู่กับครอบครัว แต่คุณแรนดีกลับยอมสละเวลามาเลกเชอร์ และเค้าทุ่มเทเวลากับเตรียมเนื้อหาเพื่อเลกเชอร์ครั้งนี้มาก

คุณอาจคิดว่าคุณแรนดีอายุสัก 60 แต่ไม่ใช่เลย คุณแรนดีอายุเพียง 47 ปี มีลูก 3 คน ลูกคนโตของเขาเพิ่งอายุ 6 ขวบ ลูกคนสุดท้องเพิ่งอายุ 18 เดือนเท่านั้นเอง ตอนนั้นชีวิตของเขากำลังรุ่งสุดๆ

เขาบอกว่าลูกๆยังเด็ก น่าจะยังมีความทรงจำกับเค้าน้อย ยิ่งลูกคนเล็กยิ่งไม่ต้องพูดถึง เลยอยากให้การเลกเชอร์ครั้งนี้เป็นบันทึกการสอนลูก เมื่อลูกๆโตขึ้น จะได้มีเลกเชอร์นี้คอยชี้แนะแนวทาง

และถ้าเลกเชอร์ครั้งนี้ได้รับการยอมรับ ลูกๆของเขาจะได้ภูมิใจ

แล้วเลกเชอร์เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร?

หัวข้อของเลกเชอร์เรื่องนี้คือ

“ทำความฝันวัยเด็กของคุณให้เป็นจริงได้อย่างแท้จริง”

ความฝันวัยเด็กของคุณแรนดีมีอะไรบ้างน่ะหรือครับ?

มี  6 ข้อครับ คือ

  1. ล่องลอยอยู่ในแรงโน้มถ่วงเท่ากันศูนย์
  2. ได้เล่นในทีมอเมริกันฟุตบอลอาชีพ
  3. เป็นนักเขียนให้หนังสือสารานุกรมโลกสักหนึ่งหัวข้อ
  4. เป็นกัปตันเคริ์ก แห่งสตาร์เทร็ค
  5. ชนะรางวัลเป็นตุ๊กตาสัตว์
  6. เป็นนักจินตนาการสร้างสรรค์แห่งวอลท์ ดีสนีย์

คุณห็นความฝัน 6 ข้อของคุณแรนดี แล้วคิดว่าเขาน่าจะทำงานเกี่ยวกับอะไรครับ?

ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่าคุณแรนดีน่าจะทำงานทางด้านภาษาหรือสังคมศาสตร์ เพราะหนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องด้านการสร้างแรงบันดาลใจ และการยกระดับจิตวิญญาณความคิด คนเขียนก็น่าจะมาแนวๆนั้น

แต่ไม่ใช่เลย คุณแรนดีคือศาสตราจารย์ด้านคอมพิวเตอร์

เค้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ !

หรือจะเรียกว่าเค้าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวิทยาการด้านโลกเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) ก็มิผิด

พอผมอ่านประวัติแล้ว อึ้งเลย ไม่อยากเชื่อว่าคนที่ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ ด้านที่ต้องใช้ตรรกะสูง จะมีจิตวิญญาณความคิดละเอียดอ่อนถึงขนาดนี้

และความฝันทั้ง 6 ข้อที่ดูเหมือนบ้าบิ่นและไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลยนั้น เค้าทำให้เป็นจริงอย่างแท้จริงได้ถึง 4 ข้อ

มี 1 ข้อที่ทำไม่ได้ และอีก 1 ข้อที่ทำได้แบบอ้อมๆ (ขอไม่เฉลยว่าอะไรนะครับ)

คุณแรนดีเล่าให้ฟังว่า เขาไม่ได้ลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้เอง คุณเจฟฟรีย์ ซาสโลว์ ช่วยเค้าเขียน

คุณเจฟฟรีย์คือหนึ่งในผู้ฟังการบรรยายครั้งนั้นด้วย และได้ทำงานร่วมกับคุณแรนดีเพื่อทำหนังสือเล่มนี้ให้สมบูรณ์มากขึ้น

นั่นคือพอจบการบรรยายครั้งนั้นแล้ว ทุกเช้าที่คุณแรนดีปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกาย เขาจะโทรศัพท์คุยกับคุณเจฟฟรีย์เพื่อเล่าประสบการณ์อื่นๆให้ฟัง เพื่อให้คุณเจฟฟรีย์เรียบเรียงและเพิ่มเติมลงไป จนทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์

ผมชอบคำนิยมของคุณวนิษา เรซ (หนูดี) ผู้แปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยมาก เธอเขียนไว้ว่า

“ถ้าใครมีโอกาสได้สัมผัสหนังสือเล่มนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้อ่านจะไม่เติบโตขึ้นทางปัญญาและจิตวิญญาณ ช่วยไม่ได้เลยที่จะไม่รักพ่อแม่และคนใกล้ตัวมากขึ้น และหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่จะคิดวางแผนเรื่องลูกๆให้รอบคอบกว่านี้ เป็นหนังสือที่ใครๆก็ต้องอ่าน เพราะเกิดเป็นมนุษย์ก็มีสองเรื่องหลักๆที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความตาย และการใช้ชีวิต”

ผมไม่เคยอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ แต่คิดว่าคุณหนูดีแปลหนังสือเล่มนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม การใช้คำ การร้อยเรียง การต่อประโยค เธอทำได้แนบสนิทไร้รอยต่อ ทั้งๆที่เธอไม่ใช่นักแปลมืออาชีพ คือความโชคดีของคนไทยที่ได้คุณหนูดีมาแปลหนังสือเล่มนี้ ขอชื่นชมคุณหนูดีมากๆครับ

แค่อ่านหนังสือช่วงต้นก็ทำให้ผมน้ำตารื้น คุณคงคิดว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับความตาย คุณแรนดีคงเขียนในเชิงเรียกคะแนนสงสาร แต่ไม่ใช่เลย ไม่มีการเรียกคะแนนความสงสารสักคำเดียวในหนังสือเล่มนี้

ผมชอบประโยคตอนขึ้นต้นเลกเชอร์ของคุณแรนดีที่ว่า

“ถ้าผมไม่ได้ดูหดหู่หรือเศร้าโศกเท่าที่ควร ก็ขออภัยด้วยที่ทำให้คุณผิดหวัง”

(ตามมาด้วยเสียงหัวเราะของผู้ฟัง)

นั่นคือตัวตนของหนังสือเล่มนี้เลย ไม่มีการชวนให้หดหู่หรือเศร้าโศก ตรงกันข้าม กลับชวนให้เรามองโลกแง่ดี ให้เราลองมองย้อนกลับไปในวัยเด็ก เราเคยมีความฝันอะไรบ้าง เราอยากเป็นอะไร ความฝันของเราถูกทิ้งไว้ตั้งแต่ตรงไหน และยังไม่สายเกินไปที่จะทำความฝันให้เป็นจริง

แล้วทำไมผมถึงน้ำตารื้นน่ะหรือครับ?

เพราะผมเสียดายว่า ทำไมคนที่สมบูรณ์เพอร์เฟ็คทั้งในแง่ของความสามารถและจิตวิญญาณถึงได้อายุสั้น ยิ่งได้อ่านเรื่องราวของเขา ยิ่งได้รับรู้ความคิดของเขา ยิ่งทำให้รักเขา

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 6 พาร์ต แต่ละพาร์ตสื่อมุมมองแตกต่างกันออกไป

ผมบอกกับตัวเองว่าจะไม่อ่านหนังสือเล่มนี้รวดเดียวจบ จะค่อยๆอ่าน ค่อยๆคิดตาม หลายครั้งที่อ่านจนจบบท ผมจะวางหนังสือไว้บนตัก ใช้นิ้วกลางมือขวาคั่นหน้าที่อ่านไว้ ทอดความคิดว่าตัวเองก็เคยมีเรื่องราวคล้ายๆแบบนี้ แล้วก็จมลึกในห้วงภวังค์ของตัวเอง

ขอแนะนำว่าคุณควรจะอ่านหนังสือนี้ช้าๆทีละตัวอักษร นึกเปรียบเทียบกับเรื่องราวชีวิต นึกว่าถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร ลองนึกจินตนาการความเป็นตัวตนของคุณแรนดี แล้วคุณจะรักหนังสือเล่มนี้มากขึ้น

คุณแรนดีพูดถึงทั้งข้อดีและข้อเสียของตัวเอง เขาบอกด้วยว่าตัวเขาเป็นคนเอาจริงเอาจัง (ผมอ่านดูแล้วค่อนไปทางก้าวร้าว (Aggressive) เลยทีเดียว) ชอบวางข้าวของระเกะระกะ (จนทำให้ภรรยาของเขาแทบจะกรี๊ด) และชอบแหกกฎ

แต่เค้าเป็นคนมองโลกในแง่ดี ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม และถ้าตั้งใจทำอะไรก็จะทุ่มสุดตัวเพื่อให้ได้สิ่งนั้น

มีคนถามเขาว่า เขาทำอย่างไรจึงสามารถเป็นศาสตราจารย์ได้เร็วกว่าคนอื่นๆ (เขาได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ตอนอายุ 30 ต้นๆเท่านั้น)

เขาตอบว่า ถ้าอยากรู้ความลับ ให้โทรหาเขาที่ห้องทำงานวันศุกร์ตอนสี่ทุ่ม ศุกร์ใดก็ได้ แล้วเขาจะบอกว่าทำอย่างไร

ซึ่งเขาได้บอกแล้ว เคล็ดลับคือการทำงานหนัก (รายละเอียดในตอนที่ 43: การแก้ปัญหาด้วยคืนวันศุกร์)

ส่วนใหญ่แล้วเราจะออกไปแฮงก์เอาต์กับเพื่อนในคืนวันศุกร์ แต่คุณแรนดีไม่ใช่ เค้ายังคงทำงานแม้ตอนนั้นจะเป็นเวลาสี่ทุ่มก็ตาม แถมให้โทรมาศุกร์ใดก็ได้ แปลว่าเค้าทำอย่างนี้ทุกวัน

หนังสือเล่มนี้มีความยาว 219 หน้า (ไม่รวม “คำขอบคุณ” และ “ประวัติผู้เขียน”)

เมื่อผมอ่านถึงพาร์ตสุดท้าย (VI: คำพูดทิ้งท้าย) ซึ่งเริ่มตั้งแต่หน้า 203 ผมน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว พอรู้ตัวก็หยิบทิชชู่มาเช็ด แต่เช็คเท่าไรก็ไม่หมด และน้ำตาไหลพรากเมื่อเขาพูดถึงภรรยา

คุณคงคิดว่าพาร์ตนี้คงเป็นพาร์ตเรียกน้ำตา ถ้าอธิบายเป็นสี คงจะเป็นสีเทาครึ้มๆ อารมณ์บีบคั้น แต่ไม่ใช่เลย อารมณ์ที่ผมสัมผัสได้คือสีขาว และตรงริมขอบเป็นสีออกนวลๆ ครีมๆด้วยซ้ำไป เป็นความรู้สึกที่สว่างมาก ผมร้องไห้เพราะตื้นต้นกับความรักคุณแรนดีมีให้ลูกๆและภรรยา

(แม้กระทั่งตอนพิมพ์ถึงตอนนี้ ผมก็ตัวสั่นเทา เพราะคิดถึงอารมณ์ตอนนั้น)

อาจเป็นเพราะผมมีลูกสาวตัวน้อยหนึ่งคน และลูกชายที่กำลังอยู่ในท้องของภรรยาอีกหนึ่งคน จึงเข้าใจความรู้สึกของคุณแรนดีที่ส่งผ่านในพาร์ตนี้มากเป็นพิเศษ

แต่ผมโชคดีกว่าคุณแรนดี ดังนั้นผมควรจะใช้เวลาและเติมเต็มวัยเด็กของลูกๆให้สมบูรณ์

สำหรับใครที่ไม่ถนัดอ่านหนังสือ สามารถดูบันทึก The Last Lecture ของคุณแรนดีผ่านทางลิงค์นี้ได้เลยครับ

ถ้าเป็นไปได้ อยากให้อ่านหนังสือให้จบก่อนแล้วค่อยดูคลิปนะครับ เพราะเมื่อภาพในจินตนาการตอนอ่านมาบรรจบกับคลิปนี้ มันเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมากๆ ^__^

 

ผมใช้เวลานั่งเขียนบทความนี้กว่า 2 ชั่วโมงโดยไม่มีส่วนได้เสียกับหนังสือเล่มนี้เลย แต่ก็อยากทำ เพราะประทับใจมากๆ

มากถึงขนาดอยากส่งผ่านความประทับใจให้คนอื่นๆได้รับรู้ อยากให้ทุกคนที่ผมรู้จักและไม่รู้จักได้อ่าน

หนังสือเล่มนี้ได้ยกระดับจิตวิญญาณของผมเหมือนที่คุณหนูดีเขียนไว้จริงๆ

และแน่นอนว่าเมื่อลูกๆของผมโตพอ ผมจะแนะนำให้พวกเขาทั้งสองอ่าน ‘เดอะลาสต์เลกเชอร์’ แน่นอน …

 

ถึง…. คุณแรนดี เพาช์

แม้เราไม่เคยเจอกัน แต่ The Last Lecture มีความหมายต่อผมมาก ขอบคุณที่ร้อยเรียงเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา ขอบคุณที่จุดประกายความฝันในวัยเด็กของผม

ขอบคุณอีกครั้งจากใจจริง

บิว วิศวกรรีพอร์ต

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^__^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

3 thoughts on “The Last Lecture: หนังสือที่คุณต้องอ่าน

  1. เดี๋ยวจะลองหาอ่านบ้าง ขอบคุณค่ะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.