บทหนึ่งที่ผมชอบมากในหนังสือเรื่อง Sapiens ก็คือบทที่ 19 ว่าด้วยเรื่องของความสุข
ผู้เขียนชวนตั้งคำถามว่า
มนุษย์เราทุกวันนี้ที่มีทุกอย่างพร้อมมูล มีความสุขมากกว่าตอนเป็นพรานป่าในทุ่งหญ้าสะวันนาหรือเปล่า?
การปฏิวัติเกษตรกรรมทำให้พวกเรามีความสุขมากขึ้นจริงหรือเปล่า?
การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้พวกเรามีความสุขมากขึ้นจริงหรือ?
การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ ต้องตอบคำถามที่ว่า
ความสุขเกิดจากอะไร?
เกิดจากวัตถุเงินทอง ….
เกิดจากความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และความคาดหวังของชีวิต …
เกิดจากสภาวะภายนอก และสภาวะภายใน …
มุมมองความสุขแบบหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ คือความสุขในทางพุทธศาสนา
ผมอ่านถึงบรรทัดนี้แล้วสะดุดกึก อ่านต่อ สะดุดทุกย่อหน้า …
ผู้เขียนอธิบายว่า ความสุขในทางพุทธศาสนา คือความรู้เท่าทันจิต
จิตของเราไม่อยู่นิ่ง สั่นไหวในทุกขณะ เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องราวกลับคลื่นในมหาสมุทร เมื่อ 5 นาทีก่อนอาจยินดีปรีดา แต่ตอนนี้กลับโศกเศร้าโศกา
เราจึงไล่ตามความยินดีปรีดา ขณะเดียวกันก็ขับไสความโศกเศร้าโศกา แม้จะทำได้สำเร็จ แต่เพียงไม่นานก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่เคยได้รับรางวัลความยั่งยื่นจากการไล่ตามนั้นเลย ….
แต่ถ้าเรารู้เท่าทันจิต หยุดไล่ตามปรีดา เลิกขับไสโศกา เมื่อนั้นจะเกิดความสงบ และเกิดความสุขที่แท้จริง
แล้วผมเอ่ยเรื่องหนังสือ Sapiens กับความสุขเสียยืดยาวทำไม?
เพียงแค่อยากบอกว่า …
สวัสดีปีใหม่ 2020
ขอให้ทุกคนมีความสุข รู้เท่าทันจิตของตนเองนะครับ
(เกริ่นมายืดยาว ต้องการสื่อแค่นี้แหละ ^__^)
.
อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind