{Book Review} The Power of Output

ช่วงนี้ผมค่อนข้างหงุดหงิดกับตัวเอง

คือรู้สึกว่ามีงานออกมาน้อยมาก ทั้งที่ใส่เวลาไปไม่น้อย
ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งรู้สึกหงุดหงิด รู้สึกไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

เวลาหงุดหงิด ผมชอบไปร้านหนังสือ เจอหนังสือชื่อ “The Power of Output”

คุ้น ๆ ว่าเคยฟังรีวิวจากพ็อดแคส Mission to the Moon

ตอนแรกกะไม่ซื้อ แต่พอรู้ว่าผู้เขียนคือคุณ ชิออน คาบาซาวะ ผมหยิบไปจ่ายเงินเลย

ทำไม?

เพราะคือผู้เขียนหนังสือชื่อ “เทคนิคอ่านให้ไม่ลืม ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ” ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมชอบมาก

พอซื้อมา แค่เปิดอ่านไม่กี่หน้าก็รู้สึกชอบทันที ทั้งที่ฟังรีวิวมาแล้ว

การอ่านกับการฟังรีวิวไม่เหมือนกัน

สิ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือ โทน หรือ อารมณ์ที่สัมผัสได้จากผู้เขียน
เนื้อหาเดียวกัน แต่อารมณ์ที่ถ่ายทอดไม่เหมือนกัน การรับสารของผู้อ่านก็ไม่เหมือนกัน

สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นเป็นพิเศษ ก็คือผู้เขียน

ทำไม?

เพราะผู้เขียนเป็นคนที่

  • ส่ง E-Magazine ทุกวันเป็นเวลา 13 ปี
  • โพสต์ Facebook ทุกวันเป็นเวลา 8 ปี
  • อัปโหลดคลิปลง YouTube ทุกวันเป็นเวลา 5 ปี
  • เขียนหนังสือทุกวัน อย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง เป็นเวลา 11 ปี
  • ออกหนังสือปีละ 2-3 เล่ม ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี (ออกมาแล้ว 28 เล่ม)
  • เปิดสัมมนาใหม่ ๆ ทุกเดือน เดือนละอย่างน้อย 2 ครั้ง ติตต่อกันเป็นเวลา 9 ปี

บ้าไปแล้ว!

ดูแล้วน่าจะเป็นพวกบ้างาน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่หลับไม่นอน
แต่ไม่ใช่เลย
ผู้เขียนทำทั้งหมดนี้โดย

  • ไม่ทำงานหลัง 6 โมงเย็น
  • ดูหนังอย่างน้อยเดือนละ 10 เรื่อง
  • อ่านหนังสืออย่างน้อยเดือนละ 20 เล่ม
  • ไปฟิตเนสสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง
  • ไปดื่มสังสรรค์อย่างน้อยเดือนละ 10 ครั้ง
  • ไปเที่ยวต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 30 วัน

เฮ้ย! ไม่ใช่คนแล้ว!!

เค้าทำได้ยังไง?

คำตอบก็คือ Output

Output คืออะไร?

ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจ ต้องอธิบายคู่กับคำว่า Input

Input คือ การนำข้อมูลเข้าสู่สมอง
Output
คือ การนำข้อมูลออกสู่โลกภายนอก

ถ้าอธิบายให้เห็นภาพ
Input คือ ฟัง และ อ่าน
Output คือ พูด และ เขียน

และ Output ยังรวมถึง การลงมือทำ

เช่น การดูหนัง การอ่านหนังสือ การฟังบรรยาย พวกนี้ถือเป็น Input

การเล่าหนังที่ดูให้เพื่อนฟัง การเขียนรีวิวหนังสือที่อ่าน การนำสิ่งที่อ่านไปปฏิบัติจริง พวกนี้ถือเป็น Output

ข้อแตกต่างสำคัญระหว่าง Input และ Output คือการขยับร่างกาย

การทำเอาต์พุต ไม่ว่าจะเป็น การพูด การเขียน ต้องใช้ประสาทสั่งการและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความจำของกล้ามเนื้อ

ถ้าความจำกล้ามเนื้อจำได้ครั้งนึง จะไม่มีวันลืม เหมือนขี่จักรยาน ถ้าขี่ได้ ก็จะขี่ได้ตลอดชีวิต

กฎพื้นฐานของ Output

กฎพื้นฐานของเอาต์พุต คือ ต้องสร้างเอาต์พุตอย่างน้อย 3 ครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์ หลังได้รับข้อมูล

“บ้าหรือเปล่า ใครจะไปทำได้?”

แต่ผู้เขียนทำได้ และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

นี่อาจเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนทำทั้ง E-Magazine, Facebook, YouTube ทุกวัน ทั้งหมดนี้คือการทำเอาต์พุต

เดาได้เลยว่าเนื้อหาใน E-Magazine, Facebook, YouTube หรือรวมถึงสัมมนา ก็น่าจะคล้าย ๆ กัน คล้ายเป็นการทำซ้ำ

ผู้เขียนเล่าให้ฟังว่า ถ้าเคยดูหนังหรืออ่านหนังสือเรื่องไหน จะไม่มีวันลืม ให้เล่าตอนนี้ก็ทำได้ เพราะทำเอาต์พุตมาแล้ว 3 ครั้งนั่นเอง

อัตราส่วนที่ดีที่สุดของ Input: Output คือ 3:7

อ่านไม่ผิดหรอกครับ Input 3: Output 7
แปลว่า ต้องใช้เวลาทำเอาต์พุตมากกว่าอินพุต 2 เท่า!

คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผม) ใช้เวลากับ Input มากกว่า Output
หรือ ถ้าพูดกันตรง ๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำเอาต์พุต

สมมติเราอ่านหนังสือเล่มนึงจบ ก็คือจบ พอเวลาผ่านไป เราจะลืมเนื้อหาที่อ่าน เพราะเราไม่ได้ทำเอาต์พุตนั่นเอง

ดังนั้น ถ้ามีเวลา 10 ชั่วโมง
ให้ใช้ 3 ชั่วโมงไปกับการอ่าน
และใช้ 7 ชั่วโมงไปกับการทำเอาต์พุต

เขียน เขียน เขียน

การทำเอาต์พุตแบบพื้นฐาน มี 2 อย่างคือ พูด และเขียน

ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง พูด และ เขียน
การเขียนมีประสิทธิภาพดีกว่า

ทำไม?

เพราะการเขียนช่วยกระตุ้นระบบตื่นตัวเรติคิวลาร์ (RAS: Reticular Activating System) ในสมอง

แล้วยังไง?

เมื่อ RAS ถูกกระตุ้น สมองจะตอบสนองด้วยการตั้งสมาธิแล้วรวบรวมข้อมูลอย่างเต็มที่ ข้อมูลไม่สำคัญจะถูกปล่อยผ่านไป และใช้กำลังสมองจัดการกับข้อมูลสำคัญ

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าอยากจำได้ ให้เขียน!

ผู้เขียนแนะนำว่า การอ่านหนังสือที่ดี ให้เขียนแทรกลงไปในหนังสือ
การเขียนแทรกทำให้เข้าใจเนื้อหาลึกขึ้น และจดจำได้ดีขึ้น

หรืออาจใช้วิธีขีดเส้นใต้ (ขีดไฮไลต์) ก็ได้ แต่ไม่ควรขีดเยอะเกินไป
ถ้าขีดเยอะเกินไปจะไม่รู้ว่าเนื้อหาไหนสำคัญ
หนังสือ 1 เล่ม ขีดเส้นใต้เนื้อหาสำคัญ 3 จุดก็พอแล้ว

3 จุดเนี่ยนะ พอเหรอ?
การอ่านหนังสือแล้วค้นพบสิ่งสำคัญ 3 จุด ถือว่าหนังสือเล่มนั้นคุ้มค่าแล้ว

ควรทำ Output ตอนไหน?

คำตอบคือ ควรทำ Output หลังทำ Input เสร็จทันที!

เช่น เมื่อดูหนังหรืออ่านหนังสือจบก็ให้เขียนรีวิว
การเขียนรีวิวทันทีทำให้บทวิจารณ์เฉียบคม เก็บรายละเอียดปลีกย่อย รวมถึงสื่อถึงอารมณ์ในตอนนั้น

เทคนิคการเขียนบทความให้เร็ว

มี 2 อย่างคือ

  1. กำหนดเวลาในการเขียน

    ถ้าไม่กำหนดเวลา เราจะเขียนไปเรื่อย ๆ ทำให้ใช้เวลามากเกินไป
    พอใช้เวลามากเกินไป ครั้งต่อไปก็ไม่อยากทำแล้ว

    ควรกำหนดไปเลยว่าจะใช้เวลาเขียนกี่นาที แล้วทำให้ได้ตามนั้น
    แรก ๆ อาจจะยากอยู่บ้าง แต่ถ้าทำบ่อย ๆ สมองจะได้รับการฝึกฝนจนทำได้ในที่สุด
    (ผมคนนึงล่ะ ที่ยังทำไม่ได้ T_T)
  2. ร่างเนื้อหาแล้วค่อยเขียน

    ถ้าไม่ร่าง พอเขียนไปสักพักก็จะเกิดอาการ “เขียนอะไรต่อดีนะ”
    แทนที่จะใช้เวลากับการเขียน กลับเสียเวลากับการคิด
    การร่างเนื้อหาก่อน (ให้เขียนออกมา อย่าร่างในหัว) ทำให้เขียนบทความเร็วขึ้น 3-4 เท่า
    เหมือนการสร้างบ้าน ต้องมีพิมพ์เขียวก่อน แล้วจึงสร้างตามนั้น

คว้าจับ Aha Moment

คุณรู้จัก “อะฮ้า! โมเมนต์” ไหมครับ?

Aha Moment (Eureka Moment) คือช่วงเวลาที่เราค้นพบหรือเข้าใจอะไรบางอย่าง จนแทบจะร้อง อะฮ้า! ออกมา
ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาทอง

ทำไม?

เพราะเมื่อเกิด อะฮ้า! โมเมนต์ จะมีระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 0.1 วินาทีที่เซลล์ประสาททำงานพร้อมกัน ทำให้เกิดวงจรประสาทใหม่

แล้ว?

เมื่อเกิดวงจรประสาทใหม่ การเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้การเรียนรู้โดยฉับพลันเสร็จสมบูรณ์

แต่วงจรประสาทใหม่มีอายุสั้นมาก ราว 30 วินาที หรือไม่ถึง 1 นาที

ดังนั้น เมื่อเกิด อะฮ้า! โมเมนต์ ควรรีบบันทึกภายใน 1 นาที อาจจะจดใส่สมุด จดใส่โทรศัพท์ หรืออัดเสียงใส่โทรศัพท์ก็ได้ แล้วหยิบไปทำเอาต์พุตต่อ

เหม่อลอย

เทคนิคนึงที่ใช้ทำเอาต์พุตก็คือ เหม่อลอย

เหม่อลอยเนี่ยนะ?

ในทางประสาทวิทยาศาสตร์ ช่วงเวลาที่เหม่อลอย หรือไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ Default Mode Network ในสมองจะทำงานอย่างแข็งขัน

Default Mode Network จะประมวลผลความทรงจำหรือภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ เรียบเรียงและจัดหมวดหมู่
ในช่วงเวลานี้ สมองจะทำงานมากกว่าปกติถึง 15 เท่า

อาจพูดได้ว่า เวลาเหม่อลอยนั้น สำคัญกว่าเวลาที่สมองทำงานเสียอีก!

คนส่วนใหญ่มักมองว่าการเหม่อลอยเป็นเรื่องเสียเวลา จึงใช้เวลาว่างไปกับการเล่นโทรศัพท์ แต่การใช้สมองโดยไม่พักเลยมีผลเสียต่อ Default Mode Network แถมยังทำให้สมองเหนื่อยล้า

ผมอ่านตรงนี้แล้วพยักหน้าหงึก ๆ บ่อยครั้งที่เขียนบทความแล้วติด คิดไม่ออก ผมชอบมองไปนอกหน้าต่าง เหม่อแบบนั้นสักพัก แล้วจู่ ๆ มันก็คิดออกเฉยเลย
เพิ่งรู้ว่านี่คือ Default Mode Network นี่เอง ^_^

กฎเหล็กของการทำ Output

คือ ทำอย่างต่อเนื่อง

หากไม่ทำอย่างต่อเนื่องให้ถึง 3 เดือน ย่อมไม่มีทางสร้างผลสำเร็จที่ชัดเจนได้

ผู้เขียนทำ E-Magazine, Facebook, YouTube ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี
คีย์เวิร์ดคือ ทุกวัน

“แค่คิดว่า ทุกวัน ก็เหนื่อยจนไม่อยากทำแล้ว”

ตอนแรกให้คิดแค่ว่า จะทำ “วันนี้” “ตอนนี้” ก็พอ
อย่าเพิ่งมองไกล เพราะถ้ามองไกล สมองจะยิ่งไม่อยากทำ

เริ่มทำไม่ได้สักที

วิธีแก้ปัญหาก็คือ ลงมือทำไปก่อน

“อ้าว! ก็กำลังมีปัญหาอยู่นี่ไง”

การลงมือทำไปก่อน คือหนทางเดียวในการแก้ปัญหา

ในสมองมีส่วนประกอบที่เรียกว่า Nucleus Accumbens ถ้าส่วนประกอบนี้ทำงานจะทำให้เกิดความรู้สึกตั้งอกตั้งใจ ทำให้สมองอยู่ในสภาพพร้อมทำงาน

พูดง่าย ๆ Nucleus Accumbens คือ สวิตช์ความตั้งใจ
แต่สวิตช์นี้จะไม่ทำงานหากไม่ได้รับการกระตุ้นที่แรงพอ ซึ่งการกระตุ้นนี้ต้องใช้เวลา 5 นาที

ดังนั้น ถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไง ให้เริ่มไปก่อนสัก 5 นาที แล้วสมองจะช่วยเราเองครับ ^_^

สอน สอน สอน

วิธีสร้าง Output ที่ดีที่สุด และส่งผลต่อการพัฒนาตัวเองมากที่สุดก็คือ การสอน

คนที่เคยสอนคนอื่นจะรู้ดีว่า ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้จะสอนคนอื่นไม่ได้

การสอนทำให้เรามองเห็นว่า ตัวเราเข้าใจดีแค่ไหน มีจุดบกพร่องตรงไหน

ถ้าอยากเรียนรู้อะไร ให้ตั้งเป้าไปเลยว่า ต้องศึกษาจนถึงระดับสอนคนอื่นให้เข้าใจได้

แล้วจะสอนใครล่ะ?

ถ้าไม่รู้จะสอนใคร อาจเริ่มจากสอนเพื่อน

ถ้าสอนจนชำนาญแล้ว อาจสอนให้กับคนในบริษัท
หรือถ้าเชี่ยวชาญมากขึ้น อาจสอนจนเป็นวิทยากรมืออาชีพเลยก็ได้

ยิ่งสอน ยิ่งเกิดการพัฒนา
คนที่พัฒนามากที่สุดจากการสอนไม่ใช่ผู้ฟัง แต่คือผู้สอน

อันนี้ผมเห็นด้วยมาก ๆ ระหว่างการสอนจะมีคำถาม จะมีบางมุมซึ่งเราไม่เคยมอง ทำให้เราต้องไปหาคำตอบ และทำให้เราเข้าใจเรื่องนั้นมากขึ้น

ตั้งเป้าแค่ 30 คะแนน

ในแง่ของการเขียนนั้น มือใหม่มักอยากทำผลงานชิ้นโบว์แดง ตั้งเป้าว่าต้องได้ 100 คะแนน
แต่พอทำไปสักพักจะเกร็งจนเขียนไม่ออก

เวลา 80% จะถูกใช้ไปกับการทำดราฟต์แรก เหลือเวลาแก้ไขเพียง 20%
สุดท้ายเวลาก็ไม่พอ ต้องทดเวลาไปเรื่อย ๆ แถมคุณภาพงานก็ไม่ดี

แต่มืออาชีพจะใช้เวลากับดราฟต์แรกเพียง 50% และใช้เวลาอีก 50% สำหรับการแก้ไข

ตั้งเป้าดราฟต์แรกแค่ 30 คะแนน แล้วแก้ไข 3 รอบ
แก้ไขรอบแรกให้เป็น 50 คะแนน
แก้ไขรอบสองให้เป็น 70 คะแนน
แก้ไขรอบสามให้เป็น 90 คะแนน

ถ้าใช้เวลาในการแก้ไขมากพอ จะสร้างผลงานที่มีคุณภาพได้

ผมอ่านตรงนี้แล้วสะอึกกึก เพราะตัวเองเป็นแบบแรกเลย
ชอบตั้งเป้าว่าบทความนี้ต้องปัง กลายเป็นกดดันตัวเอง เขียนไม่ออก ใช้เวลามากไป สุดท้ายแป้ก! T_T

ไม่มีเวลาทำ Output

หลายคนมักจะบ่นว่า อยากทำ Output แต่ไม่มีเวลา

ผู้เขียนแนะนำว่า ลองเริ่มจากทำ Output โดยใช้เวลา 15 นาที

เช่น ตั้งเป้าว่าจะเขียนรีวิวหนังสือภายใน 15 นาที แล้วเขียนให้จบภายใน 15 นาที

ต่อให้งานยุ่งแค่ไหน เวลาแค่วันละ 15 นาทีน่าจะพอหาได้ จริงไหม?

เวลาที่เหมาะกับการทำเอาต์พุตก็คือ ‘เศษเวลา’ เช่น เวลาเดินทาง เวลารอนัดพบ เวลาพักกลางวัน

เครื่องมือที่ดีที่สุดในการทำเอาต์พุตคือ สมาร์ทโฟน

คนส่วนใหญ่มักใช้สมาร์ทโฟนเป็น Input แต่สมาร์ทโฟนนั้นเหมาะกับการทำ Output มาก ๆ เพราะทำตรงไหน เมื่อไรก็ได้

เขียนรีวิวหนังสือ

วิธีฝึกทำ Output ที่ผู้เขียนแนะนำคือ เขียนรีวิวหนังสือ

คนส่วนใหญ่อ่านหนังสือแล้วก็ลืม เพราะอ่านอย่างเดียว เท่ากับทำอินพุตแล้วจบแค่นั้น

เมื่อไม่ทำเอาต์พุต จึงไม่หลงเหลือข้อมูลในความทรงจำ สุดท้ายก็ลืม

“แค่อ่านหนังสือยังไม่มีเวลาเลย แล้วจะทำเอาต์พุตได้ยังไง?”

ถ้าไม่มีเวลาทำเอาต์พุต ให้ลดเวลาทำอินพุตลง

เช่น จากที่เคยอ่านหนังสือเดือนละ 3 เล่ม แล้วไม่ได้เขียนรีวิว
ให้ลดเหลือเดือนละ 1 เล่ม แล้วเขียนรีวิวทุกครั้ง

อันนี้ผมสะดุดหัวทิ่มเลย
ปีที่แล้ว (2020) ผมอ่านหนังสือไป 50 เล่ม แต่ถ้าให้เล่าว่าแต่ละเล่มมีเนื้อหาอย่างไร ผมคงเล่าได้เพียง 10 เล่ม
และ 10 เล่มที่ว่า ก็คือเล่มที่ผมเขียนรีวิว

การเขียนรีวิวไม่ได้แปลว่าไม่มีทางลืม ต้องมีลืมกันบ้าง แต่ถ้ากลับมาอ่านรีวิวที่ตัวเองเขียน จะจำได้ทันที คล้ายหมุนเมมโมรีกลับไปตอนนั้น

อาจเป็นเพราะเขียนรีวิวด้วยภาษาของเรา เรียบเรียงในแบบฉบับของเรา เขียนจากความเข้าใจของเรา พอกลับมาอ่านจึงดึงความเข้าใจนั้นกลับมาได้ทันที

เขียนลงโซเชียลมีเดียและบล็อก

การทำเอาต์พุตที่ดีควรเผยแพร่ให้กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย หรือเขียนลงเว็บบล็อก
การมีคนอ่านทำให้เรามีกำลังใจเขียน ทั้งยังเป็นฟีดแบ็กชั้นดี

(อันนี้ผมว่าจริงเลยนะ ถ้าไม่มีคนอ่าน ผมก็คงไม่เขียนบทความ ^_^)

การเขียนบล็อกจะมีจุดเลื่อนขั้นครั้งใหญ่เมื่อเขียนบทความได้ 100, 300 และ 1,000 เรื่อง

เมื่อเขียนถึง 100 เรื่อง จะมีคนอ่านมากพอสมควร

เมื่อเขียนถึง 300 เรื่อง บล็อกของเราจะอยู่ในหน้าแรก ๆ ของเสิร์ชเอนจิน

และเมื่อเขียนถึง 1,000 เรื่อง บล็อกของเราจะอยู่ในหน้าแรกของเสิร์ชเอนจิน ทำให้มีคนเข้าชมมากขึ้น

การเผยแพร่ข้อมูลสามารถสร้างรายได้ และทำเป็นอาชีพได้

ทุกวันนี้โลกหมุนเวียนด้วยข้อมูล ทำให้เกิดการแบ่งออกเป็น ผู้รับข้อมูล และ ผู้ให้ข้อมูล

ยิ่งรับข้อมูลมากเท่าไร ยิ่งต้องใช้เงินมากเท่านั้น
ยิ่งให้ข้อมูลมากเท่าไร ยิ่งมีรายได้มากขึ้นเท่านั้น

สิ่งที่ไม่ชอบในหนังสือเล่มนี้

โดยส่วนตัวไม่ชอบชื่อไทยของหนังสือเล่มนี้
“ศิลปะของการปล่อยของ” ผมคิดว่าไม่ตรงกับเนื้อหา

ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับชื่อต้นฉบับ “The Power of Output: How to Change Learning to Outcome” แทบจะเป็นคนละเล่ม

สไตล์การเล่าเรื่องของผู้เขียนยังดูทื่อ ๆ อ่านไม่ค่อยสนุก (หนังสือฮาวทูของญี่ปุ่นเป็นแบบนี้หลายเล่ม) แต่ก็มีข้อดีที่ชัดเจน ตรงประเด็น

เนื้อหาบางส่วนไม่ค่อยเกี่ยวกับ Output โดยเฉพาะบทที่ 2 ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการพูด
คล้ายเขียนอธิบายให้ตรงหัวข้อ แต่ไม่ตรงกับเนื้อหาหลัก
อ่านไปสักพักจะรู้สึกว่า
“แล้วมันเกี่ยวกับการทำเอาต์พุตยังไง?”
แต่ถ้าไม่คิดอะไรมากก็อ่านได้เพลิน ๆ

สรุป

โดยรวมแล้วประทับใจ และนี่คือหนึ่งในหนังสือเล่มโปรด

แม้จะมีสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง แต่ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับทั้งหมด

ขอบอกว่าอ่านจบแล้ว “อิน” มาก

มากขนาดไหน?

ขนาดที่อ่านจบแล้วนั่งเขียนรีวิวทันที (แม้จะใช้เวลา 5 ชั่วโมงก็ตาม)
รู้สึกว่าถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไม่ทำเอาต์พุต จะโดนผู้เขียนมองด้วยหางตา

ทำเอาต์พุตก็สนุกดีนะ ยิ่งทำหลังอ่านจบ รู้สึกฟิน โล่ง คล้ายครบจบกระบวนการ

หวังว่าการรีวิวหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ

ป.ล. ผมรู้วิธีแก้ปัญหาอาการหงุดหงิดของตัวเองแล้วล่ะ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

7 thoughts on “{Book Review} The Power of Output

  1. ขอบคุณสำหรับสรุปครับ รู้สึกประสบปัญหาเดียวกันเลยครับ หลังจากนี้คงต้องหาเวลา output บ้างล่ะ

  2. อ่านสรุปแล้วยิ่งทำให้อยากไปหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมเลยครับ

  3. review ได้ยอดเยี่ยมครับ เรื่อง Output นี้ควรเป็น skill สำคัญหนึ่งเพื่อให้ผองชาวไทยก้าวทันชาติอื่นๆครับ

Leave a Reply to วิศวกรรีพอร์ตCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.