Site icon วิศวกรรีพอร์ต

แบไต๋! เทคนิคสร้างกราฟเทอร์โมมิเตอร์ [Thermometer Chart]

คุณรู้จักกราฟเทอร์โมมิเตอร์ (Thermometer Chart)ไหมครับ?

ไม่รู้จักอ่ะ คือกราฟอะไรเหรอ?

กราฟเทอร์โมมิเตอร์แบ่งกว้างๆได้ 2 แบบ

แบบที่ 1 คือกราฟเทอร์โมมิเตอร์แบบบุลเล็ตต์ (Bullet) หน้าตาประมาณนี้

 

กราฟเทอร์โมมิเตอร์บุลเล็ตต์ ใช้นำเสนอการเปรียบเทียบชุดข้อมูลที่เราสนใจ (เช่น Actual) ว่ามากกว่า น้อยกว่า หรือเท่ากับ ชุดข้อมูลอ้างอิง (เช่น Goal)

กราฟแต่ละแท่งมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ ไส้ปรอท (สีน้ำเงินเข้ม, จากภาพคือ Actual) กับแท่งปรอท (สีฟ้า, จากภาพคือ Goal)

ถ้าไส้ปรอทสูงจนทะลุแท่งปรอทแตก (จากภาพเช่น เดือน Jul, Aug, Nov) แสดงว่า ตัวเลขที่เราสนใจ (Actual) มีค่ามากกว่า ค่าอ้างอิง (Goal)

ในทางตรงข้าม ถ้าไส้ปรอทอยู่ต่ำกว่าขอบแท่งปรอท (จากภาพเช่น เดือน Apr, May, Sep) นั่นแสดงว่า ค่าที่เราสนใจ (Actual) มีค่าน้อยกว่า ค่าอ้างอิง (Goal)

ใครไม่เคยเห็นกราฟนี้มาก่อน อาจงงเล็กน้อยนะครับ ลองมองตามวิธีที่ผมบอก ใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาที รับรองต้องร้องอ๋อ แน่นอน ^^

แบบที่ 2 คือ กราฟเทอร์โมมิเตอร์แบบกระเปาะ หน้าตาประมาณนี้

กราฟเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะ ใช้นำเสนอให้เห็นภาพว่า ค่าที่เราสนใจ (เช่น Actual) มีหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับจุดต่ำสุด (Min) และจุดสูงสุด (Max)

จากภาพ ค่าที่เราสนใจคือ 70%

ค่าต่ำสุดคือ 0% และค่าสูงสุดคือ 100%

กราฟพวกนี้สร้างยังไงเหรอ?

กราฟเทอร์โมมิเตอร์บุลเล็ตต์ และเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะไม่ใช่กราฟมาตรฐานในเอ็กเซลครับ ต้องนำกราฟคอลัมน์ (หรือบาร์) มาปรับแต่งเล็กน้อย

มาดูวิธีสร้างแบบ Step-By-Step กันเลยครับ

อ้อ! แถมวิธีปรับแต่งกราฟให้สวยงามด้วยนะครับ ^__^

กราฟเทอร์โมมิเตอร์บุลเล็ตต์

1 สร้างกราฟคอลัมน์แบบปกติขึ้นมาก่อน

2 ปรับกราฟให้ซ้อนกัน

คลิกขวากราฟที่เราต้องการให้เป็นไส้ปรอท (จากตัวอย่างคือ Actual) เลือก Format Data Seriesเลือก Secondary Axis

3 ปรับแท่งปรอทให้กว้างกว่าไส้ปรอท

คลิกขวากราฟที่ต้องการให้เป็นแท่งปรอท (จากภาพคือ Goal) เลือก Format Data Series

ตั้งค่า Gap Width ให้ต่ำๆ หรือประมาณ 50%

4 ลบแกนตัวเลขด้านขวาทิ้งไป จะได้ไม่ลายตา

คลิกที่แกนตัวเลขด้านขวา (Secondary Axis) กดปุ่ม Delete

เทคนิคหลักๆมีเพียง 4 ข้อครับ ที่เหลือคือการปรับแต่งกราฟให้สวยงาม (แถมให้ ^^)

5 ปรับสีให้เข้ากัน

6 ถ้า Legend (ส่วนที่บอกว่าเป็น Goal, Actual) ดูเกะกะ ลบทิ้งไปเลย

คลิกที่ Legend แล้วกดปุ่ม Delete

7 ใช้ Legend ด้วย Data Table

ถ้าต้องการแสดงตัวเลข ผมไม่แนะนำให้ใช้ Data Label ครับ เพราะจะดูเกะกะ แต่แนะนำให้ใช้ Data Table แทนครับ

8 ปรับ Data Table ให้ดูเนียนตา

คลิกขวาที่ Data Table เลือก Format Data Table

ในส่วน Data Table Options เลือกเฉพาะ Horizontal (ไม่ต้องเลือก Vertical, Outline)

9 ที่เหลือแล้วแต่คุณครับ

สำหรับผม เสร็จแล้วครับ ^__^

มาดูวิธีสร้างกราฟเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งเดี่ยวกันบ้าง

กราฟเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะ

1 สร้างกราฟคอลัมน์แบบปกติขึ้นมาก่อน

ได้กราฟออกมาหน้าตา (ไม่สวย) แบบนี้ครับ

2 กำจัดส่วนที่ไม่ต้องการทิ้งไป

อะไรที่ไม่ต้องการให้มีในกราฟ เช่น

ลบทิ้งอย่าให้เหลือซากครับ

3 ปรับแท่งกราฟให้มีขนาดใหญ่เท่ากับตัวกราฟ (ไม่ต้องมีพื้นที่สีขาวด้านซ้ายและขวา)

ปรับ Gap Width ให้เหลือ 0%

ถ้าทำถูก จะได้หน้าตา (ไม่สวย) แบบนี้ครับ

4 ปรับขนาดให้สมกับเป็นเทอร์โมมิเตอร์

จากข้อ 3 กราฟดูอ้วนๆใช่ไหมครับ ปรับขนาดกราฟให้หุ่นสลิมประมาณนี้ครับ ^^

5 ปรับสเกลตามต้องการ

ถ้าต้องการปรับค่าสเกลสูงสุดของกราฟ เช่น ต้องการปรับสเกลสูงสุดให้มีค่า = 100% ใช้เทคนิคนี้ครับ

ในส่วน Axis Options ปรับค่า Maximum ให้ได้ตามต้องการ เช่น 1 (100%)

ถ้าต้องการปรับ Minimum ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันครับ

จริงๆแล้วเทคนิคสำคัญมีเพียง 5 ข้อ ที่เหลือคือการปรับแต่งให้สวยงามครับ ^__^

6 ปรับแท่งเทอร์โมมิเตอร์ให้เนียน

คลิกขวาที่ตัวกราฟ (Plot Area) เลือก Format Plot Area

ระวัง! ถ้าคลิกแล้วเจอคำว่า Format Data Series แสดงว่าคลิกผิดนะครับ ให้คลิกใหม่ ^^

ในส่วน Border Color เลือกสีขอบแท่งเทอร์โมมิเตอร์ที่ต้องการ

ปรับความหนาของแท่งเทอร์โมมิเตอร์

ในส่วนปรับ Border Styles ปรับ Width ให้ได้ประมาณ 2.5

7 Gridline ดูเกะกะ ลบทิ้งโลด

คลิกที่ Gridline (Vertical Axis Major Gridlines) แล้วกดปุ่ม Delete ครับ

8 ใส่กระเปาะให้เทอร์โมมิเตอร์

เทอร์โมมิเตอร์ต้องมีกระเปาะใช่ไหมครับ แต่ตอนนี้ยังไม่มี งั้นก็จัดให้ซะหน่อย ^^

นำเจ้าวงรีที่เพิ่งสร้างมาต่อท้ายกราฟ ให้ดูเป็นกระเปาะเทอร์โมมิเตอร์ครับ

9 ปรับสีกระเปาะให้ครือๆ

เจ้าวงรีที่เราเพิ่มสร้าง สีสันยังไม่ครือกับเทอร์โมมิเตอร์ของเราใช่ไหมครับ งั้นก็ปรับเล็กน้อยครับ

เลือกสีที่ต้องการ

แนะนำว่า ไม่ต้องมีเส้นขอบ (Border) ครับ

ในส่วน Line Color เลือก No Line

10 ที่เหลือแล้วแต่คุณ

สำหรับผม เสร็จแล้วครับ ^__^

ใครอ่านแล้วงง หรือต้องการเห็นตัวอย่าง สามารถดาวน์โหลดไฟล์ตัวอย่างได้เลยครับ

ThermometerChart_160222

.

เห็นด้วยกับผมไหมครับว่ากราฟเทอร์โมมิเตอร์สร้างง่ายมาก เพียงแต่ที่ผ่านมา เราไม่รู้เทคนิคเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะใช้กราฟนี้ ลองตอบคำถาม 2 ข้อนี้ก่อนครับ

1 รูปแบบกราฟสอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการนำเสนอหรือเปล่า?

ใครเคยอ่านบทความของวิศวกรีพอร์ตมาบ้าง คงจำได้ว่านี่คือสิ่งที่ผมเน้นย้ำเสมอ เราต้องเลือกกราฟให้เหมาะกับประเด็น ไม่ใช่ปรับประเด็นให้เหมาะกับกราฟ

สำหรับกราฟเทอร์โมมิเตอร์บุลเล็ตต์นั้น คีย์เวิร์ดของประเด็นคือคำว่า มากกว่า น้อยกว่า เท่ากับ

ถ้ามีคีย์เวิร์ดพวกนี้ และต้องการแสดงข้อมูล 2 ชุด กราฟเทอร์โมมิเตอร์บุลเล็ตต์คือทางเลือกที่น่าสนใจครับ

แต่ถ้าคีย์เวิร์ดคือคำอื่น เช่น เทรนด์ ความสัมพันธ์ สัดส่วน ผมคิดว่ากราฟเทอร์โมมิเตอร์บุลเล็ตต์อาจไม่ใช่คำตอบครับ

ถ้าต้องการแสดงว่า ค่าที่เราสนใจ เทียบกับค่าสูงสุด และต่ำสุดแล้ว หน้าตาออกมาเป็นอย่างไร กราฟเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะคือทางเลือกที่ดีครับ

แต่ถ้าต้องการปรับช่วงสเกลระหว่างค่าต่ำสุด ถึง ค่าสูงสุด ให้มีสีแดง เหลือง เขียว อะไรประมาณนี้ กราฟหน้าปัทม์ความเร็ว (Speedometer, Gauge) หรือกราฟบุลเล็ตต์ (Bullet Chart) อาจเป็นกราฟที่เหมาะสมกว่าครับ

กราฟหน้าปัทม์ความเร็วเป็นกราฟมาตรฐานในเอ็กเซลเวอร์ชั่น 2016 ครับ ถ้าตอนนี้เราใช้เวอร์ชั่นอื่น ต้องประยุกต์โดยการใช้กราฟโดนัท (Doughnut Chart) และกราฟวงกลม (Pie Chart) ผสมกันครับ

2 คนฟังรู้วิธีอ่านกราฟหรือเปล่า?

คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับกราฟเทอร์โมมิเตอร์

ถ้าเราไม่มั่นใจว่าคนฟังรู้จักกราฟนี้มาก่อนหรือเปล่า ก่อนนำเสนอ ลองใช้เวลาประมาณ 10 วินาที อธิบายวิธีการอ่านกราฟคร่าวๆครับ

อ้อ! ไม่ต้องเสียเวลาถามนะครับว่า อ่านกราฟนี้เป็นหรือเปล่า (ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครกล้ายกมือ) ใช้เวลา 10 วินาทีอธิบายเร็วกว่าครับ

พอครั้งนี้อ่านเป็น ครั้งหน้าก็สบายแฮแล้วครับ ^__^

.

ขอบคุณเทคนิคดีๆจากหนังสือ Excel Dashboards & Reports แต่งโดยคุณ Michael Alexander & John Walkenbach

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่าน เพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

Exit mobile version