Site icon วิศวกรรีพอร์ต

4 เหตุผล ดลให้กราฟไม่ปัง

“คุณช่วยทำกราฟที่พร้อมนำเสนอเลยได้ไหม ทำไมต้องให้ผมมาคอยแก้”

นี่คือ “คำทักทาย” ของหัวหน้าในเช้าก่อนวันพรีเซ็นต์ใหญ่ ช่างเป็นคำทักทายไพเราะเพราะพริ้ง ชวนให้อารมณ์ดีเสียจริง

หลังจากนั้นก็วิจารณ์ (ด่า) อีกชุดใหญ่ ผมได้แต่ก้มหน้า ครับ ครับ ครับ อย่างเดียว

แม้ไม่ยินยอม แต่ก็ยอมรับว่ากราฟที่หัวหน้าแก้ให้ดูดีกว่าจริงๆ ไม่แปลกใจว่าทำไมโดนด่า

(แม้ตอนนั้นจะแอบด่าบรรพบุรุษหัวหน้าอยู่ก็ตาม)

ไม่มีใครอยากโดนด่าเพราะสร้างกราฟแล้วดูไม่โปร ทุกคนอยากสร้างกราฟที่โปรที่ปังกันทั้งนั้น

แต่ทำไมกราฟที่เราสร้างถึงไม่ปังล่ะ?…

เวลาผ่านไปหลายปี ผมมีประสบการณ์มากขึ้น ผ่านงานหลายตำแหน่ง พบหลักเหตุผลอะไรบางอย่าง

กราฟจะปังหรือไม่นั้น มี 4 เหตุผลนี้เกี่ยวข้องเสมอ

4 เหตุผลนั้นคืออะไร มาดูกันเลย

1 บอกทุกอย่างในกราฟเดียว

หนึ่งในแนวคิดที่ทำให้กราฟไม่ปังคือ

ต้องการแสดงทุกอย่างในกราฟเดียว

ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนริเริ่มแนวคิดนี้ แต่ไม่คิดว่าแนวคิดนี้ถูก

ถ้าข้อมูลมีแค่ 1-2 ประเภทและเกี่ยวเนื่องกัน การแสดงข้อมูลกราฟเดียวทำให้เห็นภาพรวมและความสัมพันธ์ อันนี้เห็นด้วย 100%

แต่ถ้าข้อมูลมีตั้งแต่ 3 ประเภท การแสดงทุกอย่างในกราฟเดียว นอกจากทำให้กราฟไม่สวยแล้ว ยังทำให้กราฟดู “รก” และไม่สื่อประเด็นอะไรเลย

เช่น ถ้าต้องการแสดงข้อมูล Volume, Sales, GP, Margin ในกราฟเดียว

กราฟที่ได้จะหน้าตาแบบนี้

แว่บแรกที่เห็นกราฟนี้ คุณคิดยังไงครับ?

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก…

ดูไม่รู้เรื่องใช่ไหมครับ

กราฟนี้นอกจากไม่สวย ไม่สื่อ แล้วยังทำให้รู้สึกอึดอัดเวลาอ่านด้วย เพราะมันอ่านยาก

ควรปรับกราฟยังไงน่ะหรือ?

ง่ายมาก แค่แยกข้อมูลเป็น 4 กราฟ แบบนี้ครับ

การแยกกราฟแสดงข้อมูลทีละประเภท ทำให้เห็นเทรนด์ เห็นแพทเทิร์นกราฟที่ชัดเจน แถมอ่านง่ายกว่าแบบแรกอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ยังดูโปรและสวยงามอีกต่างหาก

สมองคนเราไม่สามารถแยกแยะข้อมูลหลายมิติด้วยเวลาอันสั้นได้ การแสดงข้อมูลทุกอย่างลงในกราฟเดียว นอกจากทำให้กราฟดูไม่โปรแล้ว ยังทำให้ผู้ฟังไม่อยากอ่านกราฟนั้นซ้ำ เพราะมันดูยาก

การแยกกราฟทีละข้อมูลอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

2 แสดงทุกองค์ประกอบกราฟ

กับดักแรกที่นักสร้างกราฟมือใหม่มักติดเสมอคือ

แสดงทุกองค์ประกอบลงในกราฟ

เพราะคิดว่า บอกทุกอย่างให้ชัดๆ จะได้ไม่โดนถาม

เช่น สร้างกราฟแล้วได้หน้าตาแบบนี้

แว่บแรกที่เห็นกราฟ รู้สึกยังไงกัน?

“รก” ใช่ไหมครับ

การบอกทุกอย่างลงในกราฟ นอกจากเกิดความซ้ำซ้อนแล้ว ยังทำให้กราฟดูรก

แล้วจะปรับยังไงน่ะหรือครับ?

จากตัวอย่างนี้ อาจปรับง่ายๆเป็นแบบนี้

ดูดีขึ้นกว่าเมื่อกี๊เป็นกองใช่ไหมครับ ^__^

ผมไม่ได้ปรับอะไรเลย แค่ตัดสิ่งเหล่านี้ทิ้ง

ในบางครั้ง ถ้าไม่รู้ว่าจะปรับกราฟยังไง ลองตัดสิ่งที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็นออก กราฟก็สวยขึ้นเป็นกองแล้วครับ ^__^

3 ใช้กราฟผิดประเภท

การสื่อสารด้วยภาพคือการสื่อสารที่ชัดเจนที่สุด

แต่ถ้าข้อมูลของเราเป็นตัวเลขล่ะ จะสื่อสารยังไงดี?

คำตอบคือสื่อสารด้วยกราฟ เพราะกราฟคือการแปลงตัวเลขให้เป็นภาพ

น่าเสียดายที่เราไม่ได้มีการเรียนการสอนเรื่องกราฟอย่างจริงจัง บางคนใช้กราฟเพราะเป็นไฟล์ที่ใช้ต่อๆกันมา ทั้งที่กราฟนั้นอาจไม่เหมาะกับข้อมูลก็เป็นได้

เช่น ข้อมูลยอดขายรายประเทศแบบนี้

ถ้านำเสนอด้วยกราฟวงกลม กราฟจะหน้าตาแบบนี้

กราฟนี้ปังไหม?

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก…

ไม่ได้เรื่องเลยใช่ไหมครับ !

แม้แปลงตัวเลขให้เป็นภาพได้ แต่ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น

เผลอๆการนำเสนอด้วยตารางอาจดูดีกว่าเสียอีก

มีจุดสังเกตนิดนึงคือ การวาง Legend ไว้ที่ด้านขวา มันไม่เวิร์คเลย เพราะการจะอ่านกราฟให้เข้าใจ ต้องหันซ้ายหันขวาไม่รู้กี่รอบ (หันจนหงุดหงิดเพราะจำไม่ได้ว่าประเทศไหนสีไหน)

กราฟนี้จะชัดเจนขึ้น ถ้านำเสนอด้วยกราฟบาร์

แบบนี้ครับ

แค่กราฟเปลี่ยน อารมณ์ก็เปลี่ยนใช่ไหมครับ ^__^

4 ไม่มีตัว “ดึงสายตา”

เส้นบางๆที่กั้นระหว่างกราฟธรรมดากับกราฟที่ดูปัง คือการ “ดึงสายตา”

การดึงสายตา คือการทำให้กราฟมีจุดโฟกัส เห็นกราฟแล้วตั้งคำถามว่า ตรงนี้มีอะไร ผู้พูดอยากจะบอกอะไร

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ทำให้กราฟ “พูดได้”

มาดูตัวอย่างกัน…

กราฟนี้ดูโอเค

แต่ก็ได้แค่ “โอเค” เป็นแค่กราฟธรรมดา ไม่ใช่กราฟที่ดูแล้วโปร ดูแล้วปัง

ปรับยังไงให้กราฟดูแล้วปังน่ะหรือ?

คำว่า “ปัง” ไม่จำเป็นต้องเป็นกราฟไฮโซ สีสันสวยงาม หรูเลิศอลังการอะไรเลย แค่เป็นกราฟที่สื่อความหมายก็พอแล้ว

จากกราฟเมื่อสักครู่ เราแค่ปรับเป็นแบบนี้ ก็ดูปังขึ้นเยอะแล้ว

เห็นกราฟนี้แล้ว มีอะไรแว่บขึ้นมาไหมครับ?

ประเทศไทยอยู่อันดับ 2 ยอด 72

หรือไม่ก็

เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย?

ใช่ไหมครับ

การทำให้กราฟของประเทศไทยเป็นสีน้ำเงิน คือเทคนิคการดึงสายตา

การสร้างกราฟแบบนี้ดูมีสตอรี่ สามารถดึงสู่ประเด็นของผู้นำเสนอได้ง่าย

ตอนนำเสนอ ผู้พูดจะพูดประมาณว่า

“ยอดขายของประเทศไทยจัดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค เป็นรองเพียงอินโดนีเซีย ถือว่า….”

นี่แหละครับ กราฟที่มืออาชีพเค้าทำกัน ^__^

อ้อ! กราฟนี้ผมไม่ได้นั่งเปลี่ยนสีประเทศไทยแบบแมนวล ผมมีเทคนิคครับ

ทำยังไงน่ะหรือ?

ไม่ยากเลยครับ แค่แยกข้อมูลที่ต้องการไฮไลต์ออกมาเป็นซีรีส์นึง แบบนี้

จากนั้นเลือกกราฟแบบ Stacked Bar

กราฟนี้มี 2 ซีรีส์ พอสร้างด้วย Stacked Bar จะได้กราฟ 2 สีที่แยกกันแบบอัตโนมัติเลย แบบนี้

ง่ายสุดๆใช่ไหมล่ะ ^^

จากนั้นเราก็ปรับสี ตัดองค์ประกอบไม่จำเป็น (Legend, Gridline, Chart Title) ออก และเพิ่ม Data Label เข้าไป

ชะแว๊บ!

พอถึงจุดนี้ จะพบปัญหาว่า กราฟแสดงในทิศทางตรงข้ามกับข้อมูลในตาราง

(ในตารางแสดงข้อมูลจากมากไปน้อย แต่กราฟแสดงข้อมูลจากน้อยไปมาก)

นี่คือเรื่องปกติของกราฟบาร์ครับ ถ้าต้องการให้กราฟแสดงข้อมูลในทิศทางเดียวกับตาราง เราต้อง “หมุนแกน”

คำว่า “หมุนแกน” คือ คลิกขวาแกน Y เลือก Format Axis

แล้วเลือกออปชัน Categories in reverse order

เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย

.

การทำให้กราฟ “พูดได้” เป็นเทคนิคที่คนเก่ง ๆ มักใช้กัน เพราะทำให้กราฟดูสะดุด อ่านง่าย คล้ายบอกอะไรบางอย่าง

อยากสื่ออะไร บอกเลย อย่าปล่อยให้คนฟังเดาเอาเอง เพราะคนฟังไม่ใช่ “เชอร์ล็อคโฮมส์”

ขอให้สนุกกับกราฟที่โปรที่ปังกันทุกคนครับ ^__^

.

ใครสนใจกราฟทั้งหมดที่ผมสร้างขึ้นประกอบบทความ ดาวน์โหลดได้ฟรีจากลิงก์นี้ครับ

4ReasonMakeBadGraph_170824

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่โดยคลิก Like เฟซบุ๊กแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^__^

Exit mobile version