Site icon วิศวกรรีพอร์ต

โครงการนี้ควรลงทุนไหม วิเคราะห์ยังไงดี? (Project Feasibility)

คุณช่วยวิเคราะห์ให้ผมหน่อยว่าควรลงทุนโครงการนี้ไหม?

เคยเจอคำถามแบบนี้ไหมครับ?

ผมคนหนึ่งล่ะที่เคย

คำถามแรกที่แว่บขึ้นในห้วงสมองหลังสิ้นเสียงคำถามคือ

วิเคราะห์ยังไง (วะ)?

และก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงดี …

หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นานจึงพบคำตอบว่า สิ่งที่จะบอกได้ว่าควรลงทุนหรือไม่ก็คือ “ตัวชี้วัด” โครงการ

และตัวชี้วัดที่ว่านี้ต้องเกิดจากการคำนวณ ไม่ใช่จากการ “กะ”

แต่ละบริษัทอาจกำหนดตัวชี้วัดโครงการไม่เหมือนกัน บางบริษัทอาจพิจารณาเป็นสิบตัวก็มี (เรื่องจริง!) แต่ผมเชื่อว่าทุกบริษัทต้องดูตัวชี้วัดพื้นฐาน 3 ตัวนี้แน่นอน นั่นคือ

  1. Payback Period
  2. NPV (Net Present Value)
  3. IRR (Internal Rate of Return)

ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการคำนวณระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) แบบอัตโนมัติไว้แล้ว วันนี้ขอเจาะเฉพาะเรื่อง NPV และ IRR นะครับ

NPV คืออะไร?

NPV ย่อมาจากคำว่า Net Present Value

ขอคำอธิบายแบบภาษาชาวบ้านหน่อย?

NPV คือผลตอบแทน (หน่วยเป็นบาท หรืออาจเป็นเงินสกุลอื่น ขึ้นกับว่ากรอกตัวเลขเป็นเงินสกุลใด) ที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนในโครงการนี้ โดยคิดครอบคลุมทั้ง

พูดง่ายๆคือ คิดสรตะแล้วโครงการนี้คุ้มหรือไม่คุ้ม หรือดูว่า NPV เป็นบวกหรือเป็นลบนั่นเอง!

ถ้า NPV เป็นบวกก็คือโครงการนี้ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินลงทุน ถ้า NPV เป็นลบแสดงว่าผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับน้อยกว่าเงินที่ต้องลงทุนทั้งหมด

ทั้งนี้ต้องพิจารณาผลตอบแทน (%) ที่เราคาดหวังไว้ด้วยนะครับว่าสูงเกินไปหรือไม่ บางครั้งถ้าเราลดความคาดหวังผลตอบแทนลงมา ค่า NPV อาจเป็นบวกก็ได้

แล้ว IRR ล่ะ?

IRR คือ Internal Rate of Return

ขอภาษาชาวบ้านหน่อย?

IRR ก็คือ ผลตอบแทน (%) ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ มองง่ายๆก็คือถ้านำเงินไปลงทุนที่โครงการนี้จะได้ผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์นั่นเอง

โดยปกติแล้วโครงการที่น่าลงทุนต้องมีค่า NPV เป็นบวก และ IRR ต้องมากกว่าผลตอบแทนขั้นต่ำที่เราคาดหวังไว้

เช่น ผลตอบแทนขั้นต่ำที่เรารับได้คือ 10% ถ้า NPV คือ หนึ่งล้านบาท และ IRR คือ 20% โครงการนี้ก็เป็นโครงการที่น่าลงทุน อย่างไรก็ตาม คงต้องพิจารณาตัวชี้วัดอื่นๆด้วยเช่นกัน

ย้ำ! อีกครั้งว่า NPV มีหน่วยเป็นบาท (หรือเงินสกุลอื่น) ส่วน IRR มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ อย่าสับสนนะครับ

ใช้ Excel คำนวณ NPV, IRR ได้ไหม?

ได้แน่นอนครับ สามารถดูตัวอย่างได้จากไฟล์แนบนี้เลย

NPV_IRR_Payback_Calculation_180607

จากไฟล์ตัวอย่าง ผมสร้างการคำนวณ Project Feasibility แบบง่ายๆ และสมมติให้โครงการนี้มีอายุ 10 ปี

ข้อควรระวังของการใช้ฟังก์ชัน NPV กับ IRR คือโครงสร้างของทั้งสองฟังก์ชันไม่เหมือนกัน!

โครงสร้างฟังก์ชัน NPV คือ

NPV (WACC%, Free Cash Flow Year1: Free Cash Flow Year 10) + Free Cash Flow Year 0

เช่น จากตัวอย่างนี้ สามารถแทนค่าได้เป็น

=NPV(C6,C24:L24)+B24

B24 ในสูตรก็คือ Free Cash Flow ในปีที่ 0 นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า การคิด NPV ต้องนำ Free Cash Flow ปีที่ 0 มาบวกด้วย

โครงสร้างของฟังก์ชัน IRR คือ

IRR (Free Cash Flow Year 0: Free Cash Flow Year 10, Guess Value)

เช่น จากตัวอย่างนี้ สามารถแทนค่าได้เป็น

=IRR(B24:L24,10%)

จะเห็นได้ว่า Free Cash Flow ปีที่ 0 (เซลล์ B24) อยู่ในฟังก์ชัน IRR เลย ไม่ต้องนำบวกเหมือนการคำนวณ NPV

Guess Value ก็คือค่า IRR ที่เราประมาณการณ์เอาไว้

ถ้าเราไม่รู้ล่ะ?

ถ้าไม่ทราบก็ใส่ตัวเลขคร่าวๆ เช่น 10% หรือไม่ต้องใส่ก็ได้ครับ เจ้าตัวนี้มีไว้เพื่อให้เอ็กเซลคำนวณเร็วขึ้น เพราะเอ็กเซลจะสุ่มค่าแล้ว Trial & Error ไปเรื่อยๆ ถ้าใส่ค่าที่ใกล้เคียงตั้งแต่แรก โปรแกรมก็จะคำนวณเร็วขึ้นครับ

ในทางปฏิบัติเราไม่รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า IRR ของโครงการนี้มีค่าประมาณเท่าไร ส่วนใหญ่ผมก็ใส่ 10% บางครั้งก็ไม่ใส่เลยครับ ง่ายดี ^^

ย้ำ! อีกครั้งว่าโครงสร้างฟังก์ชัน NPV กับ IRR ไม่เหมือนกัน คนส่วนใหญ่มักใช้ผิด โดยมักเขียนสูตรเป็น

NPV (WACC%, Free Cash Flow Year 0: Free Cash Flow Year 10)

การใช้ฟังก์ช้น NPV ต้องคิดจาก Free Cash Flow ของ Year 1 นะครับ ไม่ใช่ Year 0 และต้องนำ Free Cash Flow Year 0 มาบวกกับผลลัพธ์ที่ได้จากฟังก์ชัน NPV จึงเป็นค่า NPV ที่ถูกต้องครับ

ส่วนใหญ่เรามักพลาดที่จุดนี้จึงคำนวณ NPV ผิดไปหรือต้องใช้วิธีอื่นที่ยุ่งยากกว่ามาก

อันที่จริงแล้วการคิด NPV และ IRR เป็นเรื่องง่ายมากนะครับ

แต่… สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือ

Assumption (สมมติฐาน)

เรามักให้ความสำคัญกับตัวเลขที่ได้จาก NPV, IRR มากเกินไป จนลืมคิดว่าสมมติฐานที่ใส่ไปนั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไหน

หลายโครงการวิเคราะห์แล้วได้ตัวเลข NPV, IRR, Payback Period สวยหรูแต่เอาเข้าจริงตัวเลขมันไม่เป็นเช่นนั้น

“แพะ” ตัวแรกที่มักเป็นเหยื่อคือ

สูตรผิดหรือเปล่า?

และหลังจากนั้นก็จะมีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นมากมาย

ในฐานะที่เราเป็นคนวิเคราะห์เรื่องนี้ เราต้องตรวจสอบทุกๆสมมติฐานอย่างละเอียดว่ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วโครงการหนึ่งๆมีสมมติฐานเป็นสิบหรือเป็นร้อยตัว

งั้นต้องเช็คทุกสมมติฐานเนี่ยนะ?

ใช่ครับ เราต้องเช็คทุกสมมติฐาน ถ้าพบว่าสมมติฐานใดดูแปลกๆหรือมองโลกสวยมากเกินไป อาจต้องทักท้วงไปยังคนตั้งสมมติฐาน ทั้งนี้อาจต้องวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) ของเจ้าสมมติฐานสำคัญๆด้วย

นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้การคำนวณผิดพลาด และมักจบลงที่ “สูตรผิด”

อย่าเป็นเพียง “คนคำนวณตัวเลข” แต่ต้องเป็น “นักวิเคราะห์” โครงการ

ขอให้ “นักวิเคราะห์” สนุกกับทุกโครงการครับ ^__^

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

Exit mobile version