คุณช่วยวิเคราะห์ให้ผมหน่อยว่าควรลงทุนโครงการนี้ไหม?
เคยเจอคำถามแบบนี้ไหมครับ?
ผมคนหนึ่งล่ะที่เคย
คำถามแรกที่แว่บขึ้นในห้วงสมองหลังสิ้นเสียงคำถามคือ
วิเคราะห์ยังไง (วะ)?
และก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงดี …
หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นานจึงพบคำตอบว่า สิ่งที่จะบอกได้ว่าควรลงทุนหรือไม่ก็คือ “ตัวชี้วัด” โครงการ
และตัวชี้วัดที่ว่านี้ต้องเกิดจากการคำนวณ ไม่ใช่จากการ “กะ”
แต่ละบริษัทอาจกำหนดตัวชี้วัดโครงการไม่เหมือนกัน บางบริษัทอาจพิจารณาเป็นสิบตัวก็มี (เรื่องจริง!) แต่ผมเชื่อว่าทุกบริษัทต้องดูตัวชี้วัดพื้นฐาน 3 ตัวนี้แน่นอน นั่นคือ
- Payback Period
- NPV (Net Present Value)
- IRR (Internal Rate of Return)
ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการคำนวณระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) แบบอัตโนมัติไว้แล้ว วันนี้ขอเจาะเฉพาะเรื่อง NPV และ IRR นะครับ
NPV คืออะไร?
NPV ย่อมาจากคำว่า Net Present Value
ขอคำอธิบายแบบภาษาชาวบ้านหน่อย?
NPV คือผลตอบแทน (หน่วยเป็นบาท หรืออาจเป็นเงินสกุลอื่น ขึ้นกับว่ากรอกตัวเลขเป็นเงินสกุลใด) ที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนในโครงการนี้ โดยคิดครอบคลุมทั้ง
- เงินลงทุนทั้งหมด
- ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต
- ผลตอบแทน (%) ที่คาดหวัง (WACC: Weight Average Cost of Capital)
พูดง่ายๆคือ คิดสรตะแล้วโครงการนี้คุ้มหรือไม่คุ้ม หรือดูว่า NPV เป็นบวกหรือเป็นลบนั่นเอง!
ถ้า NPV เป็นบวกก็คือโครงการนี้ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินลงทุน ถ้า NPV เป็นลบแสดงว่าผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับน้อยกว่าเงินที่ต้องลงทุนทั้งหมด
ทั้งนี้ต้องพิจารณาผลตอบแทน (%) ที่เราคาดหวังไว้ด้วยนะครับว่าสูงเกินไปหรือไม่ บางครั้งถ้าเราลดความคาดหวังผลตอบแทนลงมา ค่า NPV อาจเป็นบวกก็ได้
แล้ว IRR ล่ะ?
IRR คือ Internal Rate of Return
ขอภาษาชาวบ้านหน่อย?
IRR ก็คือ ผลตอบแทน (%) ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ มองง่ายๆก็คือถ้านำเงินไปลงทุนที่โครงการนี้จะได้ผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์นั่นเอง
โดยปกติแล้วโครงการที่น่าลงทุนต้องมีค่า NPV เป็นบวก และ IRR ต้องมากกว่าผลตอบแทนขั้นต่ำที่เราคาดหวังไว้
เช่น ผลตอบแทนขั้นต่ำที่เรารับได้คือ 10% ถ้า NPV คือ หนึ่งล้านบาท และ IRR คือ 20% โครงการนี้ก็เป็นโครงการที่น่าลงทุน อย่างไรก็ตาม คงต้องพิจารณาตัวชี้วัดอื่นๆด้วยเช่นกัน
ย้ำ! อีกครั้งว่า NPV มีหน่วยเป็นบาท (หรือเงินสกุลอื่น) ส่วน IRR มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ อย่าสับสนนะครับ
ใช้ Excel คำนวณ NPV, IRR ได้ไหม?
ได้แน่นอนครับ สามารถดูตัวอย่างได้จากไฟล์แนบนี้เลย
NPV_IRR_Payback_Calculation_180607
จากไฟล์ตัวอย่าง ผมสร้างการคำนวณ Project Feasibility แบบง่ายๆ และสมมติให้โครงการนี้มีอายุ 10 ปี
ข้อควรระวังของการใช้ฟังก์ชัน NPV กับ IRR คือโครงสร้างของทั้งสองฟังก์ชันไม่เหมือนกัน!
โครงสร้างฟังก์ชัน NPV คือ
NPV (WACC%, Free Cash Flow Year1: Free Cash Flow Year 10) + Free Cash Flow Year 0
เช่น จากตัวอย่างนี้ สามารถแทนค่าได้เป็น
=NPV(C6,C24:L24)+B24
B24 ในสูตรก็คือ Free Cash Flow ในปีที่ 0 นั่นเอง
จะเห็นได้ว่า การคิด NPV ต้องนำ Free Cash Flow ปีที่ 0 มาบวกด้วย
โครงสร้างของฟังก์ชัน IRR คือ
IRR (Free Cash Flow Year 0: Free Cash Flow Year 10, Guess Value)
เช่น จากตัวอย่างนี้ สามารถแทนค่าได้เป็น
=IRR(B24:L24,10%)
จะเห็นได้ว่า Free Cash Flow ปีที่ 0 (เซลล์ B24) อยู่ในฟังก์ชัน IRR เลย ไม่ต้องนำบวกเหมือนการคำนวณ NPV
Guess Value ก็คือค่า IRR ที่เราประมาณการณ์เอาไว้
ถ้าเราไม่รู้ล่ะ?
ถ้าไม่ทราบก็ใส่ตัวเลขคร่าวๆ เช่น 10% หรือไม่ต้องใส่ก็ได้ครับ เจ้าตัวนี้มีไว้เพื่อให้เอ็กเซลคำนวณเร็วขึ้น เพราะเอ็กเซลจะสุ่มค่าแล้ว Trial & Error ไปเรื่อยๆ ถ้าใส่ค่าที่ใกล้เคียงตั้งแต่แรก โปรแกรมก็จะคำนวณเร็วขึ้นครับ
ในทางปฏิบัติเราไม่รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า IRR ของโครงการนี้มีค่าประมาณเท่าไร ส่วนใหญ่ผมก็ใส่ 10% บางครั้งก็ไม่ใส่เลยครับ ง่ายดี ^^
ย้ำ! อีกครั้งว่าโครงสร้างฟังก์ชัน NPV กับ IRR ไม่เหมือนกัน คนส่วนใหญ่มักใช้ผิด โดยมักเขียนสูตรเป็น
NPV (WACC%, Free Cash Flow Year 0: Free Cash Flow Year 10)
การใช้ฟังก์ช้น NPV ต้องคิดจาก Free Cash Flow ของ Year 1 นะครับ ไม่ใช่ Year 0 และต้องนำ Free Cash Flow Year 0 มาบวกกับผลลัพธ์ที่ได้จากฟังก์ชัน NPV จึงเป็นค่า NPV ที่ถูกต้องครับ
ส่วนใหญ่เรามักพลาดที่จุดนี้จึงคำนวณ NPV ผิดไปหรือต้องใช้วิธีอื่นที่ยุ่งยากกว่ามาก
อันที่จริงแล้วการคิด NPV และ IRR เป็นเรื่องง่ายมากนะครับ
แต่… สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือ
Assumption (สมมติฐาน)
เรามักให้ความสำคัญกับตัวเลขที่ได้จาก NPV, IRR มากเกินไป จนลืมคิดว่าสมมติฐานที่ใส่ไปนั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไหน
หลายโครงการวิเคราะห์แล้วได้ตัวเลข NPV, IRR, Payback Period สวยหรูแต่เอาเข้าจริงตัวเลขมันไม่เป็นเช่นนั้น
“แพะ” ตัวแรกที่มักเป็นเหยื่อคือ
สูตรผิดหรือเปล่า?
และหลังจากนั้นก็จะมีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นมากมาย
ในฐานะที่เราเป็นคนวิเคราะห์เรื่องนี้ เราต้องตรวจสอบทุกๆสมมติฐานอย่างละเอียดว่ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วโครงการหนึ่งๆมีสมมติฐานเป็นสิบหรือเป็นร้อยตัว
งั้นต้องเช็คทุกสมมติฐานเนี่ยนะ?
ใช่ครับ เราต้องเช็คทุกสมมติฐาน ถ้าพบว่าสมมติฐานใดดูแปลกๆหรือมองโลกสวยมากเกินไป อาจต้องทักท้วงไปยังคนตั้งสมมติฐาน ทั้งนี้อาจต้องวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) ของเจ้าสมมติฐานสำคัญๆด้วย
นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้การคำนวณผิดพลาด และมักจบลงที่ “สูตรผิด”
อย่าเป็นเพียง “คนคำนวณตัวเลข” แต่ต้องเป็น “นักวิเคราะห์” โครงการ
ขอให้ “นักวิเคราะห์” สนุกกับทุกโครงการครับ ^__^
.
หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^
รบกวนถามนิดนึงครับ ในส่วนของการหา pay back ที่ทางคุณวิศวกรรีพอร์ต ใช้ function Match ควบคู่ไปกับ Index
รบกวนช่วยอธิบายถึงวิธีการเขียนสูตรนิดนึงได้ไหมครับ พอดีผมแกะสมการไม่ออก
ขอบคุณมากครับ
หาก่อนว่า 0 อยู่ระหว่างปีไหนถึงปีไหน เช่น หลัง 4 แต่ ก่อน 5 เราก็จะรู้แล้วว่าสี่กว่าๆ จากนั้นนำค่า 0 มาคิดสัดส่วนความห่างระหว่างปีที่ 4 กับ 5 โดยใช้หลักบรรญัติไตรยางค์ครับ
ผมเคยเขียนอธิบายไว้ในบทความนี้ครับ
http://wp.me/p5EMZ4-2l
ขอบคุณมากเลยครับผม
ยินดีครับ
ขอถามว่าทำไมใช้เฉพาะ Free cashflow
ถ้ามี debt financing แล้วดอกเบี้่ยต้องนำมาคำนวณไม๊ และการคืนหนี้ค้องใส่ไว้ในการคำนวณหรือไม่
ผมคิดว่าดอกเบี้ยของเงินกู้สะท้อนอยู่ใน WACC (weight average cost of capital) แล้วครับ
สุดยอดเลยครับ ผมนำไปปรับใช้ได้หลายแบบเลย ขอบคุณมากครับ
ดีใจที่เป็นประโยชน์ครับ ^_^
พี่ครับ ค่า IRR สามารถเป็นค่าที่ติดลบได้หรือไม่อ่ะครับ
ได้ครับ
มีคลอสให้ลงเรียนไหมค่ะ
คอร์สเรื่อง Feasibility Study ยังไม่ได้เปิดสอนเลยครับ
ส่วนคอร์สอืื่นๆ มีเปิดเดือนละครั้ง และประชาสัมพันธ์ผ่านทางเพจวิศวกรรีพอร์ต https://www.facebook.com/reportingengineer/ ครับ
ลิงค์ไปหน้าคำนวณ payback period ในบทความ คลิกลิงค์แล้วขึ้น page not found ครับ
แก้ไขลิงค์ให้แล้วนะครับ ขอบคุณที่แจ้งให้ทราบครับ
กรณีที่ cash flowเป็นแบบ monthly cashflow ตั้งเป็นวันสุดท้ายของเดือนทุกเดือน ซึ่งแต่ละเดือนมีสุทธิไม่เท่ากัน
ใช้ irr หรือ xirr คะ ? ตอนนี้กำลังสับสน 2 อันนี้ค่ะ เพราะให้ค่าออกมาไม่เท่ากัน
ถ้าเป็นเคสแบบนี้ใช้ XIRR จะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่าครับ
ขอสอบถามเพิ่มเติมค่า จากคำถามข้างบนค่ะ ถ้าหาก monthly cash flow ไม่ได้ระบุวันที่ จะยังคงใช้เป็น xirr อยู่ไหมคะ
ความแตกต่างระหว่าง 2 สูตรนี้ บนexcel มันต่างกันยังไงคะ สำหรับการทำcash flow เป็นรายเดือน
ถ้าต้องการคำนวณให้ละเอียดโดยให้วันที่หรือจำนวนวันในแต่ละ period มีผลต่อ cash flow ให้ใช้ XIRR
แต่ถ้าไม่สนใจว่าเดือนนั้นมี 28, 30 หรือ 31 วัน ใช้ IRR ได้ครับ
ขอบคุณมากๆๆเลยค่ะ กำลังได้รับโจทย์ให้คำนวณ NPV, IRR และ payback period ของ new project เจอเพจของคุณช่วยชีวิตไว้เลยค่ะ^^
ยินดีครับ
อยากจะขอให้ช่วยแสดงการวิเคราะห์โครงการนี้อย่างละเอียดให้ดูเป็นตัวอย่างแนวทางในการตอบการวิเคราะห์ได้มั้ยคะ
สอบถามครับ..ถ้ากรณีที่โครงการนี้มีเงินกู้ด้วยควรใช้ค่าไหนมาคำนวน NPV และ IRR ครับ
ขอบคุณมากนะคะสำหรับความรู้ดีๆ 🙂
ยินดีครับ
สอบถามครับว่า ในการคำนวณ Free Cashflow =C20+C14+C17-C11-C23 ทำไมจึงต้องเอา C14, C17 มาบวกเข้าไปด้วยครับ ในเมื่อจริงๆแล้ง C20 นั้นมีการลบ C14, C17 ไปแล้วก่อนหน้านั้น (ที่ผมเข้าใจคือ C20 นั้นเป็นการนำ CashIn-Cashout ที่เบ็ดเสร็จแล้ว ขาดก้อแต่ยังไม่นำมาลบ Investment กับ Working Capital เท่านั้น)
ขอบคุณมากๆสำหรับความรู้นะคะ
ยินดีครับ
สุดยอดเลยครับ เป็นวิทยาทานที่ดีมากๆ
ขอสอบถามครับ IRR 52% นี่เป็นตัวเลขที่เป็นไปได้ทางธุรกิจไหมครับ