แอ็คชั่นแพลนอันดับ 1 หลังการทำเวิร์คช็อปทุกครั้งคือ!!

Training
Training

คุณเคยทำเวิร์คช็อปภายในบริษัท เพื่อระดมสมองแก้ไขปัญหาบางอย่างไหมครับ? เช่น

  • ทำไมยอดขายจึงตก?
  • ทำอย่างไรจึงจะแตกต่างจากคู่แข่งได้?
  • เหตุใดจึงมีของเสียในการผลิตเพิ่มขึ้น?

สิ่งที่ได้จากเวิร์คช็อปก็คือ “แอคชั่นแพลน” ใช่ไหมครับ?

แอ็คชั่นแพลนอะไรครับที่ต้องมีทุกครั้ง ไม่ว่าคุณทำเวิร์คช็อปเรื่องใดๆก็ตาม?

เทรนนิ่ง!!!

คุณเจอแอ็คชั่นนี้แพลนนี้เหมือนผมหรือเปล่าครับ..

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เข้าเวิร์คช็อปเยอะมาก แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมต้องมีเจ้าเทรนนิ่งนี่เป็นแอ็คชั่นแพลนทุกครั้ง

เพราะว่าคนเราขาดความรู้บางเรื่องหรือเปล่า?

มันเป็นเช่นนั้นทุกครั้งจริงหรือครับ…

มันอาจจะเป็นเช่นนั้นจริงๆก็ได้ครับ แต่ผมอยากให้คำนึงถึงคำถาม 3 ข้อนี้ครับ

1. เกิดการเปลี่ยนแปลงกับพนักงานตำแหน่งนั้นๆหรือไม่?

หากตำแหน่งนั้นๆเกิดการเปลี่ยนแปลงพนักงาน เช่น รับพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน หรือ มีพนักงานที่ย้ายจากแผนกอื่นเข้ามาทำงาน โดยที่พนักงานคนนั้นไม่มีความรู้มาก่อนเลย เทรนนิ่งคือแอ็คชั่นแพลนที่ถูกต้องแล้วครับ นอกจากจะทำให้พนักงานมีความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้พนักงานมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นด้วย

ในทางตรงข้าม ถ้าพนักงานทั้งหมดคือพนักงานเดิมที่มีประสบการณ์หลายปีแล้ว คงต้องนำข้อ 2, 3 มาพิจารณาด้วย

2. เกิดการเปลี่ยนแปลงกับกระบวนการนั้นๆหรือไม่?

มีอะไรใหม่ๆเข้ามาในขั้นตอนการทำงานหรือเปล่า เช่น

  • เครื่องจักรใหม่
  • สินค้าใหม่
  • ขั้นตอนการทำงานใหม่

ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อให้เป็นพนักงานเดิมก็อาจปรับตัวไม่ทัน เทรนนิ่งก็ควรเป็นแอ็คชั่นแพลนนึงที่ต้องทำครับ

แต่ถ้าพนักงานก็คือพนักงานเดิมที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว และไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในกระบวนการต่างๆ ลองมามองคำถามที่ 3 ครับ

3. ถ้าเทรนนิ่งแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ จะทำอย่างไรต่อไป?

นี่คือคำถามที่เราอาจมองข้ามไปหลังได้แอ็คชั่นแพลนเรื่องเทรนนิ่ง โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า ควรถามคำถามนี้ทุกครั้ง เพราะเท่าที่เจอมา เทรนนิ่งไม่ใช่คำตอบเสมอไป…

จากประสบการณ์ของผมแล้ว ถ้าคำตอบของคำถามข้อ 1 และข้อ 2 คือ “ใช่” ส่วนใหญ่ปัญหาถูกแก้ไขไปนานแล้วครับ ไม่ต้องถึงขั้นนำมาทำเวิร์คช็อปหรอกครับ ยิ่งองค์กรใหญ่ๆที่นำระบบ ISO9001 เข้ามาใช้ ย่อมต้องมีระบบเทรนทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว

เพียงแต่เหตุผลที่เจ้าเทรนนิ่งมักเป็นส่วนหนึ่งของแอ็คชั่นแพลนทุกครั้งเพราะ

ทำได้ง่ายที่สุด และเป็นรูปธรรม

ยิ่งถ้าเป็นการเทรนภายในองค์กรยิ่งง่าย เพราะค่าใช้จ่ายแทบไม่มี

แต่…

เทรนนิ่งคือการเกาถูกที่คันหรือไม่?

หรือ มันเป็นการเกาเพราะอยากให้ต้องเกาอะไรซักอย่าง!!

แล้วจะให้ทำยังไงล่ะ?

สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อคือ เรา “วิเคราะห์สาเหตุ” ได้ตรงประเด็นหรือเปล่า?

ผมเคยเข้าอบรมคอร์สหนึ่งครับ เป็นคอร์สที่ผมคิดว่าดีที่สุดแล้วตั้งแต่เคยอบรมมา นั่นคือคอร์สที่ชื่อว่า

Kepner Tregor
Kepner Tregoe
Kepner Tregoe

ขอเรียกสั้นๆว่า “เคที” นะครับ (ถ้าเป็น เคธี่ นี่คนละเรื่องเลยนะ ^^)

เท่าที่ทราบมา หลักสูตรของเคทีมีหลายโมดูล โมดูลที่ผมชอบมากคือโมดูลเรื่องการหาสาเหตุของปัญหา

ที่ชอบมากเพราะ ในหลักสูตรจะสอนว่า

ห้ามถามคำถามว่า “ทำไม” เพื่อค้นหาสาเหตุ

จะค้นหาสาเหตุ แต่ห้ามถามว่าทำไมเนี่ยนะ!!

ใช่ครับ เพราะเคทีมองว่าการถามว่าทำไม ทำให้ด่วนสรุปสาเหตุ และอาจสรุปสาเหตุผิดไป

ถ้าไม่ถามว่าทำไม แล้วจะถามยังไง?

ให้ถามคำถามที่ขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วย

  • อะไร
  • เมื่อไร
  • ที่ไหน
  • อย่างไร

แต่ต้องถามคำถามเป็นคู่

คู่ยังไง?

ถามคำถามในทำนองว่า ใช่แบบนั้น และ ไม่ใช่แบบนั้น

นี่คือจุดเด่นของเคทีเลยครับ เพราะเค้าให้เราถามคำถามเพื่อทวนสอบตรรกะด้วย เช่น

ปัญหานี้เกิดขึ้นกับอะไร? และ ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นกับอะไร?

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่สาขาไหน? และ เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่สาขาไหน?

สาเหตุของปัญหาที่ถูกต้องจะสามารถตอบได้ทุกคำถาม หรือสอดคล้องกับทุกคำถามนั่นเอง (ถ้าสาเหตุมีเพียงสาเหตุเดียว)

หากใครเคยเข้าอบรม คำถามมาตรฐานที่เคทีให้มาจะมีทั้งสิ้น 11 ชุด หรือ 22 คำถาม (1 ข้อจะมี 2 คำถาม) ขอไม่อธิบายนะครับเพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญา ถือว่าเล่าให้ฟังหอมปากหอมคอ

โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า หากเราระดมคน (ไม่ใช่ “ระดมพล” นะครับ เดี๋ยวจะพากันเข้าห้องน้ำหมด ^^) มาทำเวิร์คช็อปทั้งที อยากให้มี “เครื่องมือ” บางอย่างที่ช่วยให้การทำเวิร์คช็อปนั้นไหลลื่น ไม่ใช่ว่ามานั่นรอบโต๊ะวงรีแล้วถามว่า

ใครมีความเห็นยังไงบ้าง?

ถ้าทำเช่นนั้นอย่าเรียก”เวิร์คช็อป” เลยครับ เพราะมันไม่เวิร์ค!!

สิ่งสำคัญคือต้องเปิดกว้าง รับฟัง และอย่าให้ความคิดของใครบางคนครอบงำความคิดของคนอื่นๆ ส่วนจะนำเครื่องมืออะไรมาใช้ คงขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละบริษัท และคงไม่มีเครื่องมือใดที่ดีที่สุด อยู่ที่ว่าเราจะนำมาใช้แบบไหนกับเรื่องใดมากกว่า

สุดท้ายแล้ว ถ้าเทรนนิ่งเป็นส่วนหนึ่งของแอ็คชั่นแพลนจริงๆ อาจถูกต้องก็ได้ แต่…

เทรนนิ่งต้องไม่ใช่ทางแอ็คชั่นแพลนหลัก

อย่าติด “กับดักทางจิตใจ” ว่าต้องมีแอ็คชั่นแพลนอะไรบางอย่างหลักเวิร์คช็อปจนทำให้หวยออกที่เทรนนิ่งทุกครั้ง

เพราะเทรนนิ่งอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายก็ได้..

เทรนนิ่งทำได้ง่ายที่สุด และเป็นรูปธรรมที่สุด ส่วนจะแก้ไขได้หรือเปล่า

ไม่แน่ใจ…

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.