คลายปม! ปัญหาการใส่ดอลลาร์ไซน์ $ ใน Excel

“เอ่อ.. ตกลงต้องใส่ $ ไว้หน้าคอลัมน์หรือหน้าแถวนะครับ?”

เทคนิคการใส่ดอลลาร์ไซน์ $
เทคนิคการใส่ดอลลาร์ไซน์ $

นี่คือคำถามสุดฮิตที่ผมได้รับ เวลาสอนเขียนสูตรใน Excel

ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดว่า นี่คือเรื่องที่คนทั่วไปรู้ดีอยู่แล้ว

แต่ความจริงกลับมีเพียง “คนจำนวนไม่มาก” นักที่เข้าใจอย่างถ่องแท้

ซึ่งถ้าใครไม่เข้าใจในจุดนี้ ก็ยากที่จะฝึกวิทยายุทธ์ขั้นต่อไปได้

จริงๆแล้วเรื่องนี้ง่ายมากครับ

Where where is where where…

ไหนๆก็ไหนๆ (ผมเก่งภาษาอังกฤษใช่ไหมครับ ^^) วันนี้ขออธิบายหัวข้อนี้แบบถึงทรวงเลยละกัน

เอาเป็นว่า อ่านแล้วต้องเข้าใจแน่นอน ^__^

การใส่ดอลลาร์ไซน์ ($) มีจุดประสงค์เพื่อ “ล็อค” ไม่ให้ค่านั้นๆเปลี่ยนไปเวลาก็อปปี้ หรือลากสูตร

ไม่ว่าจะลากสูตรไปทางขวา หรือลากสูตรลงด้านล่าง (รวมถึงลากสูตรไปทางซ้าย หรือลากสูตรขึ้นด้านบน)

จริงๆแล้วการใส่ $ ควรใส่โดยการกดด้วยปุ่ม F4 หน้าเซลล์ หรือช่วงข้อมูลที่ต้องการล็อค

ไม่จำเป็นต้องพิมพ์มือเองนะครับ

กด F4 ง่ายและเร็วกว่าเยอะ!

รูปแบบการใส่ $ มีทั้งสิ้น 4 รูปแบบด้วยกัน

เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ขอสมมติว่าเราต้องการใส่ $ หน้าเซลล์ A2 นะครับ

ความเป็นไปได้ทั้งหมดของการใส่ดอลลาร์ไซน์ก็คือ

  • $A$2
  • A$2
  • $A2
  • A2

การกด F4 แต่ละครั้งจะได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน

  • กดครั้งที่ 1 จะได้ $A$2
  • กดครั้งที่ 2 จะได้ A$2
  • กดครั้งที่ 3 จะได้ $A2
  • กดครั้งที่ 4 จะได้ A2

ถ้ากด F4 มากกว่า 4 ครั้ง ก็จะวนกลับมาในรูปแบบเดิม

หรือสามารถอธิบายได้ด้วยรูปนี้

4 รูปแบบการใส่ดอลลาร์ไซน์ $
4 รูปแบบการใส่ดอลลาร์ไซน์ $

แล้วแต่ละแบบมันต่างกันยังไงล่ะ?

เป็นคำถามที่ดีครับ เพราะแต่ละแบบมันไม่เหมือนกันเลย

เทคนิคง่ายๆสำหรับการใส่ดอลลาร์ไซน์คือ

ต้องการล็อคอะไร ใส่ $ ไว้หน้าตัวนั้น

ลองมาดูกันทีละรูปแบบนะครับ

1. $A$2

รูปแบบนี้คือการใส่ $ ไว้ทั้งหน้า A และหน้า 2

แปลว่าล็อคทั้งคอลัมน์และแถว

หมายความว่าไง?

หมายความว่า ไม่ว่าเราจะลากสูตรไปด้านขวา หรือลากลงด้านล่าง ค่าที่ได้ก็จะเท่ากับ $A$2 เสมอนั่นเอง

$A$2 ล็อคทั้งแถวและคอลัมน์
$A$2 ล็อคทั้งแถวและคอลัมน์

2. A$2

รูปแบบนี้คือการใส่ $ ไว้หน้า 2 แต่ปล่อยหน้า A ว่างไว้

แปลว่าล็อคเฉพาะแถวอย่างเดียว ไม่ล็อคคอลัมน์

หมายความว่าไง?

หมายความว่า ถ้าเราลากสูตรลงด้านล่าง ค่าที่ได้จะไม่เปลี่ยน หรือก็คือได้ A$2 เหมือนเดิม เพราะ 2 ถูกล็อคไว้แล้ว

แต่ถ้าเราลากสูตรไปทางด้านขวา ค่าที่ได้จะเปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนเป็น D$2 เพราะคอลัมน์ไม่ได้ถูกล็อค

จากประสบการณ์ รูปแบบ A$2 คือรูปแบบที่คนงงกันมากที่สุด จนละเลยการใช้งาน

และมักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการลากสูตรไปก่อน แล้วค่อยแมนวลแก้ในสูตรทีหลัง

ต่อไปนี้ก็ไม่งงกันแล้วใช่ไหมครับ ^_^

A$2 ล็อคเฉพาะแถว ไม่ล็อคคอลัมน์
A$2 ล็อคเฉพาะแถว ไม่ล็อคคอลัมน์

3. $A2

รูปแบบนี้คือการใส่ $ ไว้หน้า A แต่ปล่อยหน้า 2 ว่างไว้

แปลว่าล็อคเฉพาะคอลัมน์อย่างเดียว ไม่ล็อคแถว

หมายความว่าไง?

หมายความว่า ถ้าเราลากสูตรไปด้านขวา ค่าที่ได้จะไม่เปลี่ยน หรือก็คือได้ $A2 เหมือนเดิม เพราะ A ถูกล็อคไว้แล้ว

แต่ถ้าเราลากสูตรลงมาด้านล่าง ค่าที่ได้จะเปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนเป็น $A6 เพราะแถวไม่ได้ถูกล็อคนั่นเอง

$A2 ล็อคคอลัมน์ แต่ไม่ล็อคแถว
$A2 ล็อคคอลัมน์ แต่ไม่ล็อคแถว

4. A2

รูปแบบนี้คือไม่ใส่ $ เลย ไม่ว่าจะเป็นคอลัมน์ หรือแถวก็ตาม

แปลว่า ไม่ล็อคอะไรทั้งสิ้น

หมายความว่าไง?

หมายความว่า ถ้าเราลากสูตรไปด้านขวา ค่าที่ได้ก็จะเปลี่ยน เช่น เปลี่ยนเป็น D2 เพราะคอลัมน์ไม่ได้ถูกล็อค

ถ้าเราลากสูตรลงมาด้านล่าง ค่าที่ได้จะเปลี่ยน เช่น เปลี่ยนเป็น A6 เพราะแถวก็ไม่ได้ถูกล็อค

A2 ไม่ล็อคอะไรเลย
A2 ไม่ล็อคอะไรเลย

.

เป็นยังไงครับ ไม่ยากเลยใช่ไหม

ถ้าคุณอ่านถึงบรรทัดนี้ และตามผมทัน คุณก็สามารถเบียดเสียดเข้าไปใน “คนจำนวนไม่มาก” ที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้แล้วครับ ^_^

ลองนำไปใช้กันดูนะครับ มีประโยขน์มากๆ ได้ใช้ในชีวิตจริงแน่นอน ฟันธง!

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

16 thoughts on “คลายปม! ปัญหาการใส่ดอลลาร์ไซน์ $ ใน Excel

  1. ใน excel ของ Mac กดตรงไหนหรอคะ พอกด f4 แล้วมันกลายเป็นหลับหน้าหลักไปเลย TT

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.