อยากเก่ง Excel เริ่มยังไงดี?

“อยากเก่ง Excel ควรเริ่มยังไงดีครับ?”
“อยากเรียน Excel ตั้งแต่พื้นฐานถึงขั้นสูง ควรเรียงลำดับการเรียนยังไงดีคะ?”
“ทำงานด้าน Supply Chain ต้องเรียน Excel เรื่องใดบ้างครับ?”

คือคำถามที่ผมได้รับบ่อยมาก ขอตอบผ่านบทความนี้ครับ ^_^

ในมุมมองของผม การเรียน Excel ควรเรียงลำดับดังนี้
– Cell คืออะไร?
– ตารางคืออะไร?
– Data Type มีอะไรบ้าง?
– วันที่และเวลาใน Excel
– การคำนวณขั้นพื้นฐาน (SUM, COUNT, MAX, MIN)
– การปรับฟอร์แมตเซลล์และตาราง (Border, Color, Alignment)
– การใช้งาน Filter, Sort, Freeze Panes
– การจัดหน้าและการปรินต์ (Page Setup & Print)
– การใช้ Text to Columns
– การใช้ Find, Replace, Go-to
– การใช้ Flash Fill
– การใช้ Remove Duplicates
– การแทรกรูปและวัตถุอื่นๆ (Insert Picture, Shape, SmartArt)
– Custom Number Format
– การออกแบบตารางและฐานข้อมูล
– การอ้างอิงเซลล์ (Cell Reference)
– การสร้างตัวแปรและตั้งชื่อเซลล์ (Define Name, Name Manager)
– ฟังก์ชันเกี่ยวกับตรรกะ (Logical)
– ฟังก์ชันเกี่ยวกับข้อความ (Text)
– ฟังก์ชันเกี่ยวกับการดึงข้อมูล (Lookup & Reference)
– ฟังก์ชันเกี่ยวกับวันที่และเวลา (Date & Time)
– ฟังก์ชันการคำนวณทางคณิตศาสตร์ (Math & Trig)
– ฟังก์ชันการคำนวณทางสถิติ (Statistics)
– ฟังก์ชันการคำนวณด้านการเงิน (Financial)
– การตรวจสอบสูตร (Trace Precedents, Trace Dependents)
– การป้องกันชีตและไฟล์ (Protect Sheet, Protect Workbook)
– เทคนิคการสร้างและตกแต่งกราฟ
– การใช้ Conditional Formatting
– การใช้ Sparklines
– การใช้ Table (Ctrl+T)
– การใช้ Pivot Table
– การใช้ Record Macro และ Form Controls
– การใช้ Goal Seek & Solver
– การใช้ Data Table
– การใช้ What-if Analysis
– การใช้สูตรอาร์เรย์ (Array Formula)
– การใช้สูตรไดนามิกอาร์เรย์ (Dynamic Array Formula)
– การอ้างอิงใน VBA
– การเขียนคำสั่งใน VBA
– การใช้ Function ใน VBA
– การใช้ VBA ร่วมกับโปรแกรมหรือ object อื่น
– การใช้ Power Query
– การจัดการ Query & Connections
– การเขียน M Code ใน Power Query
– การใช้ Variable และ Parameter ใน Power Query
– การใช้ Power Pivot
– เทคนิคการจัดการและออกแบ Data Model
– การเขียน DAX ใน Power Pivot
– การใช้ KPI ใน Power Pivot
– การใช้ Power Query ร่วมกับ Power Pivot

แต่… ถ้าให้เรียนตามนี้ ผมคงเรียนได้ถึงแค่ Data Type แล้วก็เลิกเรียน!

ทำไม?
เพราะการเรียนพื้นฐานเป็นเรื่องน่าเบื่อมาก (ขีดเส้นใต้คำว่า น่าเบื่อมาก) และตอนเรียนจะรู้สึกว่าไม่ได้อะไร เพราะไม่รู้จะเอาไปใช้ยังไง

ในชีวิตจริง โจทย์ที่เจอไม่ได้ใช้แค่ความรู้พื้นฐาน ไม่ได้เจอโดยเรียงลำดับจากง่ายไปยาก
ตรงกันข้าม เจอตั้งแต่ยาก แล้วก็ยากมาก
บางครั้งเจอโจทย์ Level 5 แล้วก็ Level 9
บางครั้งเจอโจทย์ Level 8, Level 2, Level 7 แล้วตบด้วย Level 10

บางคนอาจมองว่า ต้องเริ่มตั้งแต่พื้นฐาน ถ้าพื้นฐานแน่น จะทำอะไรมันก็ง่าย ซึ่งผมเห็นด้วย 100%
แต่ปัญหาคือ
ตอนเรียนพื้นฐาน เราจะเข้าใจจริง ๆ หรือเปล่าว่าทำไมพื้นฐานนี้สำคัญ?

งานที่ต้องทำสามารถรอจนเรามีความรู้พร้อมทุกอย่าง แล้วค่อยเริ่มได้หรือเปล่า?

สำหรับผม การเรียน Excel ไม่มีลำดับ ไม่มี step 1-2-3-4
ไม่เคยเรียงลำดับว่าควรศึกษาอะไรก่อน-หลัง รู้แค่ว่าต้องการผลลัพธ์แบบนี้ต้องทำยังไง แล้วก็ลุย !

นี่คือวิธีเรียน Excel ที่ไม่ถูกต้อง แต่นี่คือวิธีที่ทำให้ผมทำงานได้ และสนุกกับการหาความรู้เพิ่มเติม

ผมเน้นที่ output เป็นหลัก จินตนาการว่าต้องการได้ผลลัพธ์หน้าตาแบบนี้ แล้วก็ลุย
ถ้าทำไม่ได้ก็ถาม Google ศึกษาตอนนั้นเลย ศึกษาแบบผ่านๆ เน้นแค่ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ
แน่นอนว่าต้องใช้เวลา แต่สุดท้ายมันจะได้เอง ได้แบบเลือดสาดกระซ่านกระเซ็น ผสมถึกความทุยกำลังสาม

ด้วยวิธีนี้ (จริงๆไม่ควรเรียกว่า “วิธี” ด้วยซ้ำไป) ช่วงแรกจะโอเค แต่สักพักจะพบว่ามีปัญหา สิ่งที่เคยศึกษามองข้ามบางจุด ซุกปัญหาที่มองไม่เห็น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร จึงต้องศึกษาจุดนั้นให้ลึกขึ้น กลับมายังพื้นฐาน กลับมายังจุดเดิมที่เคยศึกษาแบบผ่านๆ

พบว่าพื้นฐานเรื่อง Data Type ยังไม่แน่น ก็เลยกลับมาศึกษาใหม่ ทำให้เข้าใจว่า วันที่และเวลาคือตัวเลขแบบหนึ่ง

พบว่าพื้นฐานเรื่อง Custom Number Format ไม่แน่น ก็เลยกลับมาศึกษาใหม่ ทำให้เข้าใจว่า แสดงตัวเลขเป็นหลักพันได้ไม่ต้องหารพัน

สุดท้ายแล้วเราจะกลับมาที่พื้นฐานเอง แม้ตอนแรกจะเคยมองว่าน่าเบื่อมาก แต่วันนี้เราจะให้ความสำคัญ และตระหนักว่าทำไมสำคัญ …

กลับมาที่คำถามแรก
“อยากเก่ง Excel เริ่มยังไงดี?”

เริ่มได้ 2 แบบ

1. เริ่มเรียนตามลำดับที่ผมเขียนในช่วงแรก นั่นคือลำดับที่ควรจะเป็น คุณจะมีพื้นฐานแน่น แต่คุณอาจจะเบื่อซะก่อน

2. เริ่มจากงานที่คุณทำอยู่ตอนนี้นี่แหละ ทำไป ถึกไป ศึกษาไป ติดตรงไหนก็ถาม Google อยากรู้ลึกขึ้นก็อ่านหนังสือ อ่านไม่รู้เรื่องก็ลงเรียนคอร์สที่เกี่ยวข้อง

อย่าคิดเยอะ ถ้าคิดเยอะจะไม่ได้เริ่มสักที

อยากเก่ง เริ่มเลย เริ่มวันนี้เลยครับ ^__^

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่โดยคลิก Like เฟซบุ๊กแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านด้วยนะครับ ^__^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.