แว่บแรกที่เห็นชื่อหนังสือ ผมนึกถึงหนังของคุณจา พนม
เลยเอ่ยปากถามคุณรุตม์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ว่า
“ทำไมถึงตั้งชื่อหนังสือว่า ช้างกูอยู่ไหน?”
“ต้องอ่านเอง ถึงจะรู้ครับ” คุณรุตม์ตอบ อมยิ้ม ส่งสายตามีเลศนัย
หลังจากร่ำลากันแล้ว ผมไม่รอช้า เปิดอ่านทันที
แค่คำนำสั้นๆก็ทำเอาอึ้งแล้ว
“ก่อนอื่นเราต้องมีไม้ที่ดีก่อน เมื่อได้ไม้ที่ดีแล้ว เราก็แกะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป”
ผมเงยหน้า หยิบใบเสร็จค่ากาแฟมาคั่น วางหนังสือลง ยกหูถ้วยลาเต้ร้อนขึ้นจิบ แล้วปล่อยล่องลอยความคิด ดำดิ่งห้วงคำนึง …
รู้ตัวอีกทีก็ผ่านไป 20 นาที
ประโยคเดียวตีความได้มากมายจริงๆ
หนังสือแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ
Work – Relationships – Society – Self
แต่ละส่วนมีประมาณ 15 บทความ
บทความที่ชอบมากที่สุดในส่วนของ Work คือบทความแรก
[เรื่องราวของชายผู้ถึงจุดสูงสุดในหน้าที่การงาน]
แค่ชื่อก็ท้าทายให้อ่านเสียแล้ว
และก็สมคำท้าทายจริงๆ
เป็นเรื่องราวของคนจัดหางานที่โทรไปเชิญคนมาสัมภาษณ์
ผู้รับสายปฏิเสธ ให้เหตุผลว่า
“ผมถึงจุดสูงสุดในหน้าที่การงานแล้วครับ”
คนจัดหางานพลิกดูเรซูเมอีกครั้ง
เขาไม่ได้ตำแหน่งสูงสักหน่อย ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งผู้จัดการด้วยซ้ำ
ผู้รับสายอธิบายว่า การไปถึงจุดสูงสุด คือการสนุกกับงานที่ทำในแต่ละวัน เขารักบริษัท มีเพื่อนร่วมงานที่ดี เงินเดือนมากพอ และไม่เคยพลาดเกมการแข่งเบสบอลของลูก หรือวันสำคัญของครอบครัวเลย
เขารู้ดีว่าการขึ้นไปอีกขั้นมีราคาที่ต้องจ่าย ต้องใช้เวลามากขึ้น ต้องเดินทางมากขึ้น ต้องเสียสละมากขึ้น
“มันไม่คุ้มกันครับ” เขาตอบ
บทความนี้ทำให้ผมนึกถึงฟอร์เวิร์ดเมลที่เคยอ่านมานานแล้วเรื่อง ชาวประมงกับนักธุรกิจ
(ลิงค์อ้างอิงสำหรับผู้ไม่เคยอ่าน https://pantip.com/topic/30488191 )
ทุกสิ่งอย่างมีต้นทุนทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งใด และมีความสุขกับสิ่งใด
บางทีเราอาจจะใกล้จุดสูงสุดมากกว่าที่เราคิด …
บทที่ชอบมากที่สุดในส่วนของ Relationships ก็ยังเป็นบทแรกเช่นกัน
[วิธีหาผู้ชายในฝัน]
ชื่อบทท้าทายให้อ่านอีกแล้ว …
และก็ไม่ผิดหวังจริงๆ
เป็นบทความที่สั้นมาก ตัวอักษรรวมกันไม่น่าเกินครึ่งหน้า A4 แต่อ่านแล้วคล้ายโดนตีแสกหน้า งงเผง
พอรู้ตัวก็อมยิ้มให้ตัวเอง
วิธีนี้ใช้หาหญิงในฝันได้ด้วยเช่นกัน
แล้ววิธีที่ว่าคืออะไรน่ะหรือ?
ขอยืมคำพูดคุณรุตม์หน่อย
ต้องอ่านเอง ถึงจะรู้ครับ ^__^
บทที่ชอบมากที่สุดในส่วนของ Society คือ
[ดีหรือเลวขึ้นอยู่กับบริบท]
และเป็นบทที่ผมชอบมากที่สุดในหนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องของ ‘การตีความ’ ด้วย ‘ไม้บรรทัด’ ที่ต่างกัน
– 7-11 เปิดสาขาใหม่แข่งกับสาขาเดิมที่ขายดี
– Amazon บีบบังคับให้ diapers.com ต้องขายกิจการ
– ผู้ชายสมัยก่อนไม่ช่วยเลี้ยงลูก
– คุณหมอที่หายจากการปวดไมเกรนด้วยการสัมผัสของวิญญาณลูกสาวในชาติภพก่อน
– การค้าทาสในยุคล่าอาณานิคม
– การกินเนื้อสัตว์แสนแพงในร้านหรูๆ
เรื่องใดผิด เรื่องใดถูก คงตอบยาก เพราะขึ้นอยู่กับบริบท ค่านิยม วิถีสังคม ของยุคนั้นๆ
สิ่งที่ ‘ถูก’ ในยุคนี้ อาจเป็นสิ่งที่ ‘ผิด’ ในอีกร้อยปีก็เป็นได้
สิ่งที่ ‘ผิด’ ในยุคนี้ อาจเป็นสิ่งที่ ‘ถูก’ ในอีกร้อยปีก็ได้เช่นกัน …
บทที่ชอบมากที่สุดในส่วนของ Self คือ
[โลกนี้คือนิทาน]
ว่าด้วยเรื่องของคอนเซ็ปต์สำคัญที่ได้อ่านจากหนังสือเรื่อง Sapiens: A Brief History of Humankind นั่นคือ “นิทาน” (Myth) หรือก็คือชุดความเชื่อของแต่ละยุคสมัยที่เป็นตัวกำหนดความคิดและการกระทำของเรา
– นิทานทุนนิยม
– นิทานมนุษย์เงินเดือน
– นิทานเจ้าของกิจการ
– นิทานสตาร์ตอัพ
– นิทาน Social Media
– นิทานบิ๊กแบง
– นิทานพรหมลิขิต
เราคงไม่ลงความเห็นว่าเรื่องไหนดีหรือไม่ดี จริงหรือไม่จริง แต่อยากให้มองไปรอบตัวว่าโลกนี้เต็มไปด้วยนิทานอะไรบ้าง และเรากำลังเลือกใช้ชีวิตอยู่ในนิทานเรื่องใด
ถ้าไม่ชอบนิทานที่เรากำลังเล่นอยู่
อย่าลืมว่าเราเปลี่ยนนิทานได้ …
(ลงท้ายบทความคมมากๆ)
.
.
อ่านถึงบรรทัดนี้ คุณคงรู้แล้วว่าหนังสือไม่เกี่ยวอะไรกับช้าง หรือไม่เกี่ยวอะไรกับหนังของคุณจา พนม เลย
แต่เป็นหนังสือเกี่ยวกับชีวิต งาน ความสัมพันธ์ นำเสนอด้วยมุมมองที่เปิดกว้าง
ตอนอ่านไม่รู้สึกว่าคุณรุตม์กำลังให้ข้อมูล แต่คล้ายคุณรุตม์กำลังชวนคุย ชวนถก แบ่งปันประสบการณ์ตรง และประสบการณ์อ้อม
แม้เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มเล็ก แต่ใช้เวลาอ่านไม่น้อยเลย
เพราะอ่านไป วางลง คิดไป อ่านต่อ วางลง คิดใหม่ เป็นแบบนี้จนจบเล่ม
ขอบคุณคุณรุตม์ (อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์) เจ้าของเพจ Anontawong’s Musing ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้
เป็นหนังสือที่ดีมาก
ดีใจที่ได้อ่านเป็นเล่มแรกของปี 2020 ครับ ^__^
ป.ล. ผมเขียนรีวิวหนังสือด้วยความชอบส่วนตัวล้วนๆ ไม่มีส่วนได้เสียแต่อย่างใด
ป.ล.2 ปีนี้ตั้งใจว่าจะเขียนรีวิวหนังสือมากขึ้น เพราะจะได้ตกตะกอนความคิดของตัวเองด้วย ^__^
.
หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟซบุ๊กแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^__^