{Book Review} How to be an imperfectionist

ผมมีเรื่องจะสารภาพ
ผมเป็นโรค Perfectionist !

ฟังดูเหมือนดี แต่แท้จริงคือร้าย
กลัวความผิดพลาด กังวลกับสิ่งที่จะเกิด หมกมุ่นครุ่นคิด คิดวนไปมาจนทำอะไรไม่เสร็จสักที

คุณเคยมีความคิดแบบนี้หรือเปล่า?
ทำแล้วต้องออกมาดีที่สุด ถ้าทำแล้วไม่ดีไม่ต้องทำ
ถ้าใช่ คุณอาจมีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบโดยไม่รู้ตัว

นิสัยรักความสมบูรณ์แบบบางครั้งไม่ปรากฏตัวตรงๆ แต่ออกมาเป็น ‘ร่างแยก’ 4 ร่างคือ
1. หมกมุ่นครุ่นคิด คิดวนไปมา
2. ต้องการการยอมรับ
3. กังวลต่อความผิดพลาด
4. ผัดวันประกันพรุ่ง

และนั่นคือเหตุผลที่ซื้อหนังสือเล่มนี้
How to be an imperfectionist
หรือชื่อไทยว่า สำเร็จได้ ไม่ต้องรอให้สมบูรณ์แบบ
เขียนโดยคุณสตีเฟน ไกส์
แปลโดยคุณชนิกานต์ แตงน้อย

ตอนนั้นผมกำลังเลือกซื้อหนังสือในร้านนายอินทร์ เห็นชื่อก็สะดุดทันที
พลิกดูคร่าวๆ
“นี่มันกูเลยนี่หว่า” แล้วหยิบหนังสือไปที่เคาท์เตอร์

แค่คำนำก็น่าสนใจแล้ว คุณสตีเฟนเล่าให้ฟังว่า ตอนหาข้อมูลเขียนหนังสือเล่มนี้ เค้าดูรีวิวจากหนังสือใกล้เคียง แต่ดูเฉพาะหนังสือที่ได้สามดาวลงไป
ทำไม?
เพราะจะได้รู้ว่าผู้อ่านต้องการอะไร และอะไรคือความผิดพลาดของหนังสือเล่มอื่น
(เป็นวิธีการหาข้อมูลที่น่าสนใจมาก ถ้าผมจะเขียนหนังสือคงต้องขอยืมมุกนี้ไปใช้ ^_^)

การอ่านวิจารณ์ในเชิงลบทำให้เข้าใจว่า หนังสือฮาวทูแก้ความสมบูรณ์แบบนั้นเน้นอธิบายสัญญาณว่าผู้อ่านรักความสมบูรณ์แบบ แต่ไม่บอกว่าจะแก้ยังไง เค้าจึงเห็นช่องว่างในการเขียน

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 10 บท บทที่ 1-9 มีเนื้อหาจบในตัว อธิบายมุมมองต่างๆ ไล่ตั้งแต่มุมมองจิตใจของคนรักความสมบูรณ์แบบ พิษร้ายของการยึดติดความสมบูรณ์แบบ จนกระทั่งวิธีแก้นิสัยรักความสมบูรณ์แบบ

ที่เจ๋งมากคือบทที่ 10 เพราะสรุปเนื้อหาของทั้ง 9 บท อ่านแล้วรู้เลยว่าผู้เขียนวางโครงหนังสือดีมาก การสรุปบทที่ 10 ไม่ใช่การย่อความ แต่คือการขมวดและคลายปม

งั้นอ่านเฉพาะบทที่ 10 ได้ไหม?
คำตอบคือได้ แต่ไม่อิน สุดท่ายก็จะเป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านแล้วก็ผ่านไป แนะนำให้อ่านทุกบท พออ่านบทที่ 10 แล้วจะรู้สึกครบถ้วนกระบวนพันธ์

คุณสตีเฟนเขียนหนังสือสนุกทีเดียว อ่านแล้วได้ความรู้สึกคล้ายกำลังคุยกับเพื่อนที่มีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบเหมือนกัน (คุณสตีเฟนเป็นอีกคนที่รักความสมบูรณ์แบบ) เค้าไม่ได้บอกว่าตัวเค้าดี ตรงกันข้าม เค้าบอกว่าเคยแย่แค่ไหน บางครั้งก็เล่าประสบการณ์ให้ฟัง เช่น เดินไปทักสาวในฟิตเนสแล้วโดนปฏิเสธ ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับผู้เขียน

สิ่งที่ผมชอบมากจากหนังสือเล่มนี้มี 4 อย่างคือ

1 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแรงจูงใจ

ในการทำอะไรสักอย่าง คนรักความสมบูรณ์แบบจะมี ‘เหตุผล’ เยอะ
ต้องมีนั่นถึงจะทำ ต้องมีนู่นถึงจะทำ ต้องมีอารมณ์ถึงจะทำ
มีความคิดว่า ต้องมีแรงจูงใจก่อน ถึงจะเกิดการกระทำ
หรือ Motivation เกิดก่อน Action

แต่ความจริงแล้วไม่ใช่
แรงจูงใจ เกิดหลัง การกระทำ
หรือ Motivation เกิดหลัง Action !

สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน ต่างกันสุดขั้วเลยก็ว่าได้

ถ้าเริ่มต้นทำแม้เพียงสิ่งเล็กๆ ร่างกายจะรู้สึกดี เกิดแรงจูงใจเพื่อให้ทำสิ่งนั้นต่อ
แต่ถ้ารอให้เกิดแรงจูงใจก่อน สุดท้ายจะไม่ได้ทำอะไรเลย

แปลว่า ถ้าอยากทำอะไร ให้ทำเลย พอทำไปสักพัก ร่างกายจะรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำ แล้วจะเกิดแรงจูงใจให้ทำสิ่งนั้นต่อ

วิธีง่ายๆที่ผู้เขียนแนะนำคือ ถ้าอยากออกกำลังกาย ให้เริ่มจากวิดพื้นวันละ 1 ครั้ง
คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับ วิดพื้นวันละ 1 ครั้ง !

ทำไม?
เพราะถ้าอยากออกกำลังกาย 30 นาที เราจะเกิด ‘เหตุผล’ เช่น
เวลาไม่ได้
สถานที่ไม่ได้
ชุดไม่พร้อม
ร่างกายไม่พร้อม

แต่ถ้าวิดพื้นแค่ 1 ครั้ง คงไม่มีข้ออ้างใดๆ เราสามารถวิดพื้นตรงนี้ตอนนี้ได้เลย
เมื่อวิดพื้นแล้วร่างกายจะรู้สึกดี เกิดแรงจูงใจให้ออกกำลังเพิ่มขึ้น แม้ว่าเวลา สถานที่ ชุด หรืออะไรจะไม่พร้อมก็ตาม

2 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพ

เราถูกสอนกันมาว่า “คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ”
นั่นคือตรรกะที่ถูก แต่สิ่งนี้ได้สร้างนิสัยรักความสมบูรณ์แบบโดยไม่รู้ตัว ยิ่งใส่ใจตรรกะนี้มากเท่าใด สุดท้ายจะไม่ได้ทำอะไรเลยเพราะมัวแต่กังวลเรื่องคุณภาพ

แนวคิดที่ถูกต้องคือ “ปริมาณก่อให้เกิดคุณภาพ”

เน้นปริมาณให้ได้ก่อน แล้วคุณภาพจะมาเอง

ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นได้ขัดเกลาคุณภาพของงานให้ดีขึ้น ไม่ได้แปลว่างานชิ้นสุดท้ายจะดีที่สุด งานชิ้นที่ดีที่สุดอาจเป็นงานชิ้นที่ 2, 5, 7 ก็ได้ แต่ต้องมีปริมาณที่มากพอ

ถ้ามัวใส่ใจคุณภาพ กะทำชิ้นเดียวให้ได้มาสเตอร์พีซ สุดท้ายจะไม่ได้ทำสักที

3 แนวคิด 1 กับ 0

เนื้อหานี้อยู่ในบทที่ 8 และเป็นส่วนที่ผมชอบมากที่สุด

คนที่รักความสมบูรณ์แบบมักมองสถานการณ์แบบ 1 (แย่) ถึง 10 (สมบูรณ์แบบ) วิธีคิดแบบนี้ทำให้กลัวความผิดพลาด และคนเราก็มักทำพลาดกันบ่อยๆ สุดท้ายจึงไม่ได้ทำสักที

ทางแก้คือ แทนที่จะมองแบบ 1 ถึง 10 ให้มองเป็น 0 (ไม่ทำอะไรเลย) กับ 1 (ลงมือกระทำ)

แนวคิดนี้สำคัญมาก ถ้าโฟกัสกับการกระทำ เราจะทำ แม้ว่าจะทำแล้วแย่หรือห่วยแตกยังไงก็ตาม อย่างน้อยก็ได้ทำ
แต่ถ้าโฟกัสแบบ 1 ถึง 10 สุดท้ายจะกลัวความผิดพลาดจนไม่ได้ทำอะไรเลย

4 เปลี่ยนสิ่งที่โฟกัส

อย่าใส่ใจผลลัพธ์ ให้ใส่ใจกับความพยายาม

อย่าใส่ใจปัญหา ให้ใส่ใจความก้าวหน้า

อย่าใส่ใจสิ่งที่คนอื่นคิด ให้ใส่ใจว่าเราอยากทำอะไร

อย่าใส่ใจกับความถูกต้อง ให้ใส่ใจการกระทำ

อย่าใส่ใจความล้มเหลว ให้ใส่ใจความสำเร็จ

อย่าใส่ใจเวลา ให้ใส่ใจภารกิจ

มุ่งความสนใจไปที่กระบวนการ อย่าสนใจผลลัพธ์

เวลาตั้งเป้าหมายให้ซอยเป้าหมายใหญ่เป็นเป้าหมายเล็กๆ 1-2-3-4 หรือซอยย่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ตอนทำ 1 ก็ให้มองแค่ 1 อย่าไปมอง 4 เพราะถ้ามอง 4 สุดท้ายจะกลัวนู่นนั่นนี่ ไม่ได้ทำสักที

สิ่งสำคัญคือสร้างนิสัยลงมือทำ ตั้งเป้าหมายให้เล็กแบบที่ทำได้แน่นอน เช่น วิดพื้นวันละ 1 ครั้ง เขียนหนังสือวันละ 1 บรรทัด อ่านหนังสือวันละ 1 นาที
นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมเขียนรีวิวได้จนถึงบรรทัดนี้
ทั้งที่ตอนแรกตั้งเป้าแค่เขียน 1 นาทีเท่านั้น!

คุณสตีเฟนมีข้อแนะนำนึงที่น่าสนใจคือ ให้ทำกิจวัตรเล็กๆน้อยๆไม่เกิน 4 อย่างในเวลาหนึ่งๆ
ผมอ่านแล้วอึ้งเลย เพราะเคยฝึกสร้างนิสัยโดยใช้แอพพลิเคชันชื่อ Done โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเดือนละ 1
เวลาผ่านไปกลายเป็นมี 10 เป้าหมายต่อวัน สุดท้ายก็เลิก …
แอพไม่ได้ผิด ผิดที่ผมสร้างนิสัยเยอะไป

อ่านเล่มนี้จบแล้วหายจากโรครักความสมบูรณ์แบบหรือเปล่า?
ตอบทันทีเลยว่า ไม่
แต่จะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง
อย่างน้อยผมก็เปลี่ยนทัศนคติ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง 1 กับ 0 (อ่านแล้วโดนมาก)
คิดแค่ว่า ทำกับไม่ทำ ไม่ต้องสนใจว่าทำแล้วดีหรือไม่ดี
ถ้าทำมากพอ เดี๋ยวคุณภาพมาเอง

ผมเริ่มเห็นจุดแสงลิบๆที่จะหายจากโรคนี้แล้วล่ะ ^__^

.
หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟซบุ๊กแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^__^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

One thought on “{Book Review} How to be an imperfectionist

  1. มีทั้งข้อดีข้อเสียครับ
    เคยเจอหัวหน้าประเภทนี้แล้ว ลูกน้องเครียดครับ ไม่อยากทำงานด้วย
    ไม่ไหวครับ
    ทางสายกลาง อย่าสุดโต่งครับ
    พระพุทธเจ้า สอนไว้ครับ
    ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูล

    respectfully yours.
    ขอบคุณมากครับ
    Should you have any questions, please do not hesitate to contact back to us.
    กิตติศักดิ์ การุณจิตต์ (HV ดูแล สายงาน IC, ฝ่าย IT)
    Kittisak Karoonchitt
    Tel 061-815-9885

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.