ผมเป็นแฟนหนังสือของพี่แท็ป (รวิศ หาญอุตสาหะ) พอเห็นหนังสือเล่มใหม่วางขาย ก็หยิบไปจ่ายเงินแบบไม่ต้องคิด
“Unstructured วิธีคิดไร้กระบวนท่า” คือชื่อที่อยู่บนหน้าปก
ตอนต่อแถวรอจ่ายเงิน เพิ่งสังเกตว่าเป็นของสำนักพิมพ์ KOOB ซึ่งเจ้าของคือพี่เอ๋ นิ้วกลม ยิ่งเป็นการการันตีคุณภาพ
กลับมาบ้านพลิกอ่านพบว่ากระดาษดีมาก ฟอนต์สวยงามขนาดกำลังดี จัดหน้าเนียนตา ในมุมของคนอ่าน กระดาษดี รสสัมผัสดี ฟอนต์ดี เวลาอ่านฟิ้น ฟิน
ผมไม่มีความรู้เรื่องเนื้อกระดาษ แต่รสสัมผัสที่ได้คล้ายกับหนังสือจากสำนักพิมพ์ Openbooks จำได้ว่าพี่แท็ปเองก็เป็นแฟนของ Openbooks และเคยเอ่ยชมคุณภาพของกระดาษ เดาว่าน่าจะอยากให้หนังสือของตัวเองตีพิมพ์ด้วยกระดาษแบบนี้เช่นกัน
สไตล์การเขียนของพี่แท็ปเป็นแนวบทความสั้นจบในตอน เริ่มด้วยการชวนคุย มีเรื่องเล่าแฝงแง่คิด และจบด้วยคำคมของผู้มีชื่อเสียง ถ้าเคยอ่านเล่มอื่นก็จะพบว่าเป็นแนวนี้ คล้ายเป็น ‘ลายเซ็น’ ไปแล้ว
การเขียนสไตล์นี้มีข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีคืออ่านง่าย สนุก ประทับใจ ข้อเสียคือถ้าเรื่องเล่าไม่สนุก หรือชวนคุยในโทนทึม ๆ บทความจะดูแกน ๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับช่วงต้นของหนังสือ
“พี่แท็ปฟอร์มตก” คือความรู้สึกหลังอ่านได้ประมาณ 90 หน้า
คือไม่ได้แย่ แต่ไม่ค่อยประทับใจ โทนที่ผู้เขียนส่งมาคล้ายเป็นแนวเลคเชอร์มากกว่าชวนคุย พอโทนมาแบบนี้ มู้ดมันก็แข็ง ๆ
แต่พอผ่าน 90 หน้าแรก หรือเข้าสู่ Part 2 “เพราะเราเป็นโค้ชของใครบางคนเสมอ” พี่แท็ปเริ่มกลับมาท็อปฟอร์ม และมาพีคตอน Part 3 “คุณกำลังเล่าเรื่องอะไรให้ตัวเองฟัง” โทนที่ส่งออกมาเริ่มผ่อนคลาย เรื่องเล่าเริ่มมีสีสัน
บทความนึงที่ผมชอบอยู่ในส่วนนี้ชื่อว่า “Restart/ On-Off/ Format”
เปิดด้วยมุกตลกของเด็กวิดวะที่ชอบแซวกันว่าถ้าคอมพ์แฮงก์ให้ลองแก้ไข 3 ดาบ
ดาบแรก: รีสตาร์ต
ดาบสอง: ถ้ารีสตาร์ตไม่หาย ให้ปิดแล้วเปิดใหม่
ดาบสาม: ถ้าปิดแล้วเปิดใหม่ไม่หาย ให้ฟอร์แมตวินโดว์ไปเลย!
ชีวิตคนเราก็เช่นกัน ถ้าเหนื่อยมากก็นอนพัก หรือไปเที่ยวเป็นการรีสตาร์ตตัวเอง
ถ้าพักแล้วไม่หาย ลอง ‘ปิดแล้วเปิดใหม่’ โดยไปปฏิบัติธรรม
ถ้าไปปฏิบัติธรรมแล้วไม่หาย งั้นก็ต้อง ‘ฟอร์แมตตัวเอง’ โดยเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนนิสัย หรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม
บทความนี้กลมกล่อมมาก ทั้งเรื่องเล่าและแนวคิด คือมันใช่เลย บางทีพักเท่าไรก็ไม่หาย ผ่อนคลายจนหย่อนเป็นท้องช้างก็ยังเหมือนเดิม งั้นเหลือวิธีเดียวคือฟอร์แมตตัวเอง
Part 3 ว่าพีค Part 4 ก็ดีต่อเนื่อง เป็นบทความเชิงให้กำลังใจ บังเอิญผมอ่านส่วนนี้ตอนเช้ามืด อ่านแล้วมีพลังทั้งวัน
ส่วนนี้มีเล่าเรื่องของที่แท็ปที่สร้างซิกซ์แพ็กได้ใน 30 วัน ทั้งที่ตอนนั้นงานของบริษัทศรีจันทร์ก็ยุ่งมาก ต้องอัดพ็อดแคสต์วันละสองตอน เตรียมตัวพูดในทอล์กโชว์ครั้งใหญ่ แถมต้องซ้อมวิ่งมาราธอนโดยมีเป้าหมายคือต่ำกว่า 4 ชั่วโมง ผลคือทำได้ทั้งหมด!
อ่านแล้วสำเหนียกว่าพี่แท็ปทำสิ่งที่ยากมากสำเร็จได้ ผมเองก็ต้องทำสิ่งตรงหน้าให้ได้
Part 5 เป็นเรื่องความสัมพันธ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว อ่านแล้วก็สะท้อนตัวเองที่เอาคำว่า “ทำงาน” มาเป็นข้ออ้างเสมอ
“พ่อทำงานอยู่ลูก” คือประโยคตัดจบเวลาลูกชวนเล่น
บทความเรื่อง “คำสารภาพของคนบ้างาน” แม้เคยฟังในพอดแคสต์ แต่พอละเลียดในเวอร์ชันนี้คล้ายทุกตัวหนังสือเสียดแทงใจ เสมือนเป็น ‘ไฟเหลือง’ ส่งสัญญาณว่าเวลาวัยเด็กของลูกผ่านแล้วผ่านเลย เรียกคืนไม่ได้
คนที่กำลังจะตายไม่มีใครเสียใจที่ทำงานน้อยเกินไป มีแต่เสียใจที่มีเวลาให้คนที่รักน้อยเกินไป …
อันที่จริงหลายบทความเคยฟังมาจากพ็อดแคสต์ของ Mission to the Moon แล้ว แต่พอมาอ่านเวอร์ชันตัวหนังสือมันก็เป็นอีกอารมณ์นึง
ถ้าเปรียบการฟังพ็อดแคสต์เป็นครูสอนในห้อง การอ่านเวอร์ชันหนังสือก็คือการทบทวนก่อนสอบ ส่วนการสอบก็คือชีวิตจริง
ดีใจที่ได้อ่าน และแนะนำให้อ่าน
ขอบคุณพี่แท็ปที่เขียนหนังสือเล่มนี้ แม้ตอนเขียนจะมีภารกิจท่วมท้นก็ยังสละเวลาเขียนจนจบเล่ม Super Productive ตัวจริง เสียงจริง
หืมม์.. ลองแก้ 3 ดาบแล้วคอมพ์ยังไม่หายหรือครับ งั้นลองเอาไปวางหน้าบ้าน รับรองหายแน่นอน ^^
ถ้าคุณชอบการรีวิวหนังสือสไตล์นี้ อัพเดตรีวิวใหม่ได้ในเฟซบุ๊กเพจวิศวกรรีพอร์ต