บันทึกประสบการณ์สอน Virtual Training (Power BI)

“ลองสอนแบบ Virtual Training ไหม? ติดวันละสองพันแบบนี้ ไม่รู้ต้องเลื่อนไปถึงเมื่อไร” ภรรยาเอ่ย

“แต่ตอนเปิดรับสมัคร พี่แจ้งว่าเป็นการเรียนแบบสอนสดนะ จะเปลี่ยนเป็นออนไลน์ได้ยังไง?” ผมแย้ง

“ลองถามคนเรียนก่อนไหม เค้าอาจอยากเรียนเร็ว ๆ ก็ได้…”

ผมไม่อยากสอนแบบออนไลน์ เพราะการเรียนออนไลน์ไม่เหมือนประชุมออนไลน์

การเรียนออนไลน์ต้องมีคอมพิวเตอร์สองจอ จอนึงไว้ดูสิ่งที่อาจารย์สอน อีกจอไว้ฝึกปฏิบัติตาม

แถมยังเจอปัญหาเน็ตเนือย เสียงแทรก หมาเห่า รถวิ่ง

เวลาถามก็ไม่สะดวก บรรยากาศก็ไม่ชวนเรียน มันไม่เวิร์ก

แต่ถ้าคิดแบบนี้ ก็ต้องเลื่อนแบบไม่มีกำหนด และคอร์สนี้ (Visualize it with Power BI รุ่น 17) ถูกเลื่อนมาตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2021 แล้ว …

“เอาวะ! ไม่ลองไม่รู้” ผมตัดสินใจสอนแบบออนไลน์ (Virtual Training)

โดยถามความสมัครใจของผู้เรียน

เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไม่มีต้นทุนด้านอาหารกลางวันและอาหารเบรก ผมจึงชดเชยโดยการเพิ่มเวลาเรียนจาก 2 วัน เป็น 3 วัน รวมทั้งเพิ่มเนื้อหาให้เหมาะกับเวลาที่เพิ่มขึ้น

คิดในใจว่า ถ้ามีคนตอบรับสัก 3 คนก็โอแล้ว

สุดท้ายตอบรับ 5 คน

เย้!

ผมตัดสินใจสอนผ่านโปรแกรม MS Team เพราะ G Meet มีปัญหาเรื่องความเสถียร และบางองค์กรก็ไม่ให้ใช้ Zoom

แม้ฟีเจอร์การสอนของ MS Team จะสู้ Zoom ไม่ได้

แต่ MS Team มีข้อดีเรื่องการแชร์ไฟล์ การเก็บข้อมูลถาม-ตอบ แถมยังใช้งานร่วมกับ Power BI ได้ดีมาก ๆ

โชคดีที่ผู้เข้าอบรมทั้ง 5 มีประสบการณ์ใช้ MS Team มาแล้ว ทุกอย่างจึงง่ายขึ้น

ผมเซ็ตอุปกรณ์สอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง

เครื่องนึงสำหรับสอน (Power BI)

อีกเครื่องนึงเอาไว้ดูการแสดงผลใน MS Team (ล็อกอินด้วยอีกแอ็กเคาต์) เพื่อดูว่าผู้เรียนจะเห็นหน้าจออย่างไร มีหน่วงบ้างไหม และที่สำคัญคือเอาไว้ดูสีหน้าของผู้เรียน (ว่าเข้าใจไหม)

ลองทดสอบพบว่าแทบไม่เห็นหน้าผู้เรียนเลย เพราะขนาดจอคอมพ์เล็กเกินไป เลยต่อเข้ากับทีวี 42 นิ้วซะเลย สะใจ ^^

วางทีวีไว้หลังกล้อง จะได้มองกล้อง เห็นการแสดงผล และเห็นสีหน้าของผู้เรียนไปพร้อมกัน

ต่อ Capture Card (Elgato HD60S) เพื่อนำภาพจากกล้องเข้าคอมพ์

ลองใช้เว็บแคมของคอมพ์แล้วไม่เวิร์ก มุมมันไม่ได้จริง ๆ ใช้กล้องแยกดีกว่า

ใช้ไมโครโฟนแบบไดนามิก (Audio Technica ATR 2100x-USB) เพราะกันเสียงรบกวนได้ดี

แต่ข้อเสียคือไมค์ต้องอยู่ใกล้ปาก (เรียกว่าจ่อปากเลยจะเห็นภาพกว่า) จึงต้องใช้ขาตั้งไมค์

พอใช้ขาตั้งไมค์ก็มีข้อเสีย เพราะเวลาอธิบายแล้วใช้มือประกอบ มือจะไปโดนขาตั้งทุกที

แต่ลองใช้ไมโครโฟนแบบคอนเดนเซอร์แล้ว (ทั้ง Blue Yeti และ Saramonic SR-ULM10) พบว่าเสียงแทรกเยอะมาก หมาเห่า ลูกร้อง มอไซต์วิ่ง ขนาดเสียงแอร์ยังเข้าเลย!

ใช้ไมค์แบบไดนามิกดีแล้ว

ตอนแรกเซ็ตไฟด้วย วางซ้าย-ขวาเลย แต่พบว่าร้อน คงสอนแบบร้อน ๆ ติดต่อกัน 6 ชั่วโมงไม่ไหว แถมภาพที่ออกมาก็ไม่ได้ต่างกันมาก ก็เลยเอาไฟออก ใช้ไฟเพดานและเปิดหน้าต่างก็โอเค

ลองใช้ฉากเขียว (Green Screen) แต่ MS Team มีฟีเจอร์เปลี่ยน Background ด้วย จะใช้หรือไม่ใช้ก็ไม่น่าต่างกัน

ลองทดสอบแบบใช้ฉากเขียวกับไม่ใช้ พบว่าใช้ฉากเขียวแล้วภาพที่ออกมาดูเนียนกว่านิดนึง

ไหน ๆ ก็เอาฉากออกมาแล้ว งั้นก็ใช้ต่อไปละกัน ^^

รวม ๆ แล้วใช้เวลาเซ็ตอุปกรณ์ทั้งหมดเกือบครึ่งชั่วโมง แถมต้องเก็บเข้า-ออกทุกครั้ง

วุ่นวายหน่อย แต่ก็คุ้ม

วันแรกที่สอน (5 มิถุนายน 2021) ตื่นเต้นมาก

ตัวผมเองมีประสบการณ์สอนสดหลายร้อยครั้ง ทำคอร์สออนไลน์ อัดคลิปมาก็ไม่น้อย

แต่พอสอนแบบ Virtual Training มันก็แอบเกร็งเหมือนกัน

ช่วงครึ่งชั่วโมงแรก รู้เลยว่าตัวเองพูดได้ไม่ดี แต่หลังจากนั้น อาการเกร็งคล้ายหายไป เริ่มพูดดีขึ้น จังหวะเริ่มไหลลื่น

ส่วนนึงอาจเป็นเพราะขอให้นักเรียนทุกคนเปิดกล้อง

ในแง่ของผู้สอนแล้ว การที่นักเรียนเปิดกล้องกับปิดกล้องต่างกันเยอะมาก

การเปิดกล้องทำให้ผู้สอนเห็นสีหน้าของผู้เรียน พอเดาได้ว่าเข้าใจไหม

ถ้านักเรียนขมวดคิ้ว ชักสีหน้า ก็เดาได้ว่าตรงนั้นอาจพูดเร็วไป หรืออธิบายไม่ละเอียดพอ ก็กลับมาพูดใหม่ได้

แถมยังทำให้รู้สึกว่าเชื่อมต่อกับนักเรียนได้ด้วย

“มีใครเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์สองจอไหมครับ?” ผมถาม

3 คนยกมือ

1 คนบอกว่ามีคอมพ์เครื่องเดียว แต่มีไอแพดด้วย จึงใช้คอมพ์สำหรับฝึกทำตาม และใช้ไอแพดดูสิ่งที่ผมสอน

อีก 1 คนบอกว่ามีจอเดียว แต่เป็นจอใหญ่ แบ่งจอเป็นซ้าย-ขวา ซ้ายเอาไว้ดู ขวาไว้ฝึกทำตาม

“รอด!” ผมพ่นลมหายใจ

จบเบรกแรกแล้วนึกได้ว่า ลืมกดปุ่ม Record!

ฉิบ!!

สารภาพกับนักเรียนว่าลืมกดปุ่มอัด ทำให้กลับมาดูย้อนหลังในส่วนนี้ไม่ได้

“ไม่เป็นไรค่ะ” นักเรียนพูดยิ้ม ๆ

หลังจากนั้น ก่อนเริ่มสอนทุกครั้ง ผมคล้ายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ เช็คแล้วเช็คอีกว่ากดปุ่มเรคคอร์ดหรือยัง T_T

ระหว่างสอนแทบไม่มีคำถามเลย ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะทุกคนปิดไมค์ (เดี๋ยวเสียงแทรก) นานน๊านจะมีคำถามที

ในมุมของผู้สอนแล้วไม่สนุกเลย เพราะเหมือนพูดอยู่คนเดียว ยังดีที่นักเรียนเปิดกล้อง (เพราะขอไว้) พอเดาจากสีหน้าได้ว่าเข้าใจไหม

ส่วนนึงนักเรียนอาจจะเกรงใจ เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้จักกันมาก่อน (มีแค่ 2 คนรู้จักกัน แต่ที่เหลือไม่รู้จักกันเลย) กลัวว่าการถามจะขัดจังหวะ

หรือถ้าใครฝึกทำตามแล้วติดปัญหา จะไม่กล้าแสดงหน้าจอให้อาจารย์ดู และการสลับ Share Screen ก็ใช้เวลาร่วม 20 วินาที ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไม่ถาม

ผมพยายามกระตุ้นให้นักเรียนถามนะ มีเว้นช่วงให้ถามเป็นระยะ แต่ไม่ค่อยได้ผลเท่าไร

จู่ ๆ เกิดปิ๊งไอเดียสอนแบบให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม โดยผมจะถามว่านักเรียนเข้าใจไหม

ถ้าเข้าใจให้กด 1

ถ้าไม่เข้าใจให้กด 9

ปรากฏว่าไม่มีใครกดสักคน!

แป้กสนิท T_T

วันที่สอง (6 มิถุนายน 2021) เริ่มดีขึ้น

อาจเป็นเพราะเริ่มคุ้นเคยกับนักเรียน และนักเรียนเริ่มคุ้นเคยกับอาจารย์ เริ่มกล้าถามมากขึ้น

เวลาฝึกทำตามแล้วติดปัญหา กล้า Share Screen เพื่อให้อาจารย์เห็นปัญหา

บรรยากาศดีขึ้น คำถามมากขึ้น

สุดท้ายคำถามเยอะจนสอนไม่ทันตามแผน เลยเลิกช้าไป 20 นาที

ในมุมของคนสอนแล้วน่าดีใจนะ ^_^

ช่วงท้ายของวันที่สอง ผมแจ้งว่าถ้าใครมีคำถาม หรือมีเคสอยากปรึกษา ให้ทิ้งคำถามไว้ใน MS Team ได้เลย ผมจะหาคำตอบและนำมาเฉลยในวันที่สาม

มีคนทิ้งคำถามไว้ 4 คน

เจอคำถามนึงเกี่ยวกับสูตร DAX ยากมาก ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะคิดออก

โชคดีที่มีเวลาคิด ถ้าคิดสดตอนสอน คิดไม่ออกแน่นอน

วันที่สาม (12 มิถุนายน 2021) สังเกตได้เลยว่าบรรยากาศดีกว่าสองวันแรกมาก

ผมคิด (เอาเอง) ว่าทุกคนเริ่มคุ้นกันแล้ว แม้จะไม่ได้คุยกันโดยตรง แต่การเห็นหน้าผ่าน MS Team มาแล้วสองวัน ทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นคนแปลกหน้า

คำถามเริ่มมากขึ้น กล้าแชร์สกรีนเวลาเกิดปัญหา

ช่วงบ่ายเป็นการนำคำถามที่ได้รับมาตอบ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคอร์สนี้

การตอบคำถามที่นักเรียนทิ้งไว้เป็นแท็กติกที่ดีมาก เพราะผมมีเวลาเตรียมตัว กะจังหวะได้ว่าจะอธิบายยังไง เรียบเรียงยังไง หรือนักเรียนอาจจะงงตรงไหน

ในมุมของนักเรียนก็ได้เห็นว่าปัญหานี้แก้ไขยังไง มีกระบวนการยังไง และมีข้อควรระวังอะไร

นักเรียนคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของคำถามก็ได้เจอโจทย์ในอีกมุมนึง ได้เจอเคสใหม่ ๆ ช่วยเสริมความเข้าใจ

มีคำถามใหม่ระหว่างเรียนพอสมควร ไป ๆ มา ๆ เลิกช้าไป 1 ชั่วโมง

ผมสังเกตจากสีหน้า เหมือนทุกคนโอเคกับการเลิกช้านะ

คนเรียนโอเค คนสอนก็ต้องโอเคอยู่แล้ว ^_^

โดยรวมแล้วการสอนแบบ Virtual Training ไม่ได้แย่เหมือนที่คาดไว้

เอาเข้าจริงถือว่าดีกว่าที่คิดเยอะมาก

ผมสรุป (เอาเอง) ว่าการที่ผลลัพธ์ออกมาดี เพราะมีองค์ประกอบ 8 อย่าง

1. นักเรียนตั้งใจ มีสมาธิกับการเรียนตลอด

2. นักเรียนเปิดกล้อง

3. นักเรียนมี 2 จอ จอนึงไว้ดู อีกจอไว้ฝึกทำตาม

4. สอนโดยใช้ 2 จอ จอนึงไว้สอน อีกจอไว้ดูการแสดงผลและสีหน้าของผู้เรียน

5. มีการเจอผู้สอนซ้ำ (เรียนสามวัน) ทำให้เกิดความคุ้นเคย กล้าถาม กล้าแชร์สกรีนเวลาเกิดปัญหา ถ้าเป็นคอร์สแบบวันเดียวจะไม่เกิดสิ่งนี้

6. ใส่ใจผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำชื่อ หน้าตา และเสียงของผู้เรียนให้ได้ ถ้าผู้สอนจำชื่อผู้เรียนได้ รู้ว่าเสียงที่ถามเป็นของใคร ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าผู้สอนใส่ใจ กล้าที่จะพูด กล้าที่จะถาม บรรยากาศดีขึ้น

7. ตัดเสียงรบกวนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น เน็ตต้องแรง ไมค์ต้องชัด ใส่หูฟังขณะสอนเพื่อป้องกันเสียงสะท้อน

8. สอนกลุ่มเล็ก ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่คนเรียนจะยิ่งไม่กล้าถาม เสียงรบกวนจะยิ่งเยอะ รวมทั้งผู้สอนจะจำชื่อและเสียงของผู้เรียนไม่ได้

และนี่คือบทสรุปการสอนแบบ Virtual Training

ขอบคุณมีมี่ ภรรยาผู้กระตุ้นให้เกิดคอร์สนี้

ขอบคุณน้องจอห์นนี่ ผู้ช่วยประสานงานและดูแลความเรียบร้อยต่าง ๆ

สุดท้ายนี้ขอบคุณคุณจู คุณเหมียว คุณแอมป์ คุณอุ๋ม และคุณม็อบ นักเรียนทั้งห้าผู้ตั้งใจเรียนตลอดทั้งสามวัน

ดีใจที่ได้สอนคอร์สนี้ และดีใจที่คนเรียนเป็นคุณครับ ^_^

ป.ล. ตอนแรกกะเขียนบันทึกประสบการณ์สั้น ๆ ไป ๆ มา ๆ กลับยาวซะงั้น ขอบคุณที่อ่านถึงบรรทัดนี้ครับ ^/\^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

One thought on “บันทึกประสบการณ์สอน Virtual Training (Power BI)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.