{Book Review} Manchester is Red

ผมไม่ใช่แฟนแมนยู แต่เป็นแฟนเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง

พอรู้ว่าคุณวิศ (วิศรุต สินพงศพร) เจ้าของเพจออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อ Manchester is Red จึงกดสั่งซื้อแบบไม่ต้องคิด

ผมซื้อหนังสือของคุณวิศทุกเล่ม ทั้งเล่มที่เป็นผู้เขียนและเล่มที่เป็นผู้แปล นี่คือเล่มที่ห้า

หนังสือถูกส่งถึงหน้าบ้านในอีกไม่กี่วัน แกะออกพบว่าถูกแพ็คมาอย่างดี แถมมีที่คั่นหนังสืออีก 3 อัน

เปิดอ่านสัมผัสแรกก็ชอบแล้ว เพราะกระดาษดีตั้งแต่หน้าปกจนถึงเนื้อใน มีกลิ่นแบบที่ไม่ค่อยเจอ ทุกสัมผัสให้ความรู้สึกสาก ๆ กำลังดี เวลาเปิดหน้าถัดไปทำได้สะดวก (ในแง่ของคนรักหนังสือ ถือเป็นฟีลลิงที่สำคัญ)

กระดาษแอบบางไปนิด ให้ความรู้สึกเหมือนขาดง่าย แต่ในแง่ของรูปเล่มก็พอเข้าใจได้ ถ้ากระดาษหนาหนังสือจะยิ่งหนา แค่นี้ก็หนานิ้วนึงแล้ว

หนังสือมีทั้งหมด 424 หน้า ถ้าเป็นอัตราปกติ คงใช้เวลาอ่านอย่างน้อย 10 วัน แต่ผมอ่านแค่ 3 วันก็จบแล้ว

ทำไม?

เพราะมันสนุก

ช่วงกลางวันผมอ่านได้แบบแป๊ป ๆ แต่กลางคืนพอลูกหลับแล้ว เปิดโคมไฟหยิบมาอ่านต่อที่โต๊ะจนดึกดื่น ไม่เจอฟีลแบบนี้กับตัวเองมานานแล้ว

อีกส่วนเพราะมีภาพประกอบเยอะ เป็นภาพวาดทั้งหมด (ไม่แน่ใจว่าเพราะเรื่องลิขสิทธิ์หรือเปล่า) สวยทุกภาพ และเพราะภาพวาดนี่แหละให้ความรู้สึกว่าคลาสสิก

หนังสือแบ่งเป็น 2 ยุค คือยุคของเซอร์ แมตต์ บัสบี้ (Sir Matt Busby) และยุคของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Ferguson) สองกุนซือผู้พาแมนยูสู่ความยิ่งใหญ่

(จริง ๆ ควรเขียนว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ แมนฯ ยูไนเต็ด แต่ขอเขียนสั้น ๆ เป็นที่รู้กันว่า แมนยู นะครับ ^^)

เซอร์ แมตต์ บัสบี้ คุมทีมตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (1945) เค้าสร้างทีมขึ้นมาใหม่ โดยเน้นผู้เล่นที่มาจากอคาเดมี่ของสโมสร ให้ความเชื่อมั่นในผู้เล่นอายุน้อย และผู้เล่นอายุน้อยเหล่านั้นก็ตอบแทนความไว้วางใจจนคว้าแชมป์ลีกสองฤดูกาลติดในปี 1955-56 และ 1956-57

จริง ๆ ควรจะได้แชมป์ลีก 3 ฤดูกาลติดด้วยซ้ำ แต่สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะโศกนาฏกรรมที่มิวนิค

เครื่องบินที่พานักเตะชุดใหญ่และสตาฟกลับมาจากการแข่งขันยูโรเปี้ยนคัพเกิดอุบัติเหตุ จนทำให้นักเตะในทีมเสียชีวิตเกือบหมด รวมถึงดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ (Duncan Edwards) ผู้เล่นที่ได้รับการคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะที่ดีที่สุดของโลก

โชคดีที่เซอร์ แมตต์ รอดมาได้แบบปาฏิหาริย์ แต่ก็อาการหนักและเกือบเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

คุณวิศเล่าเรื่องโศกนาฏกรรมที่มิวนิคได้ดีมาก ๆ ปูเรื่อง เร้าอารมณ์ กระแทกกระทั้น และแลนดิ้งได้สวยแบบไม่มีที่ติ

ด้วยความที่รายละเอียดเยอะ จึงแบ่งออกเป็น 7 ภาค แต่ละภาคเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะภาค 4 อ่านแล้วน้ำตาซึม ตัวสั่นเทา สงสารผู้เสียชีวิตจับใจ

ภาค 4 ว่าดีแล้ว ภาค 6 ที่เป็นเรื่องราวของดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ ก็ดีไม่แพ้กัน สงสารพ่อแม่และว่าที่ภรรยาของดันแคนมาก (ขนาดตอนเขียนรีวิว ผมยังน้ำตารื้นขึ้นมาเลย) ถ้าเค้ารอดชีวิต อาจกลายเป็นนักเตะที่ดีที่สุดเทียบเคียงกับเปเล่แห่งบราซิลก็เป็นได้

ภาค 7 พูดถึง The Flowers of Manchester ซึ่งเป็นบทกลอนรำลึกโศกนาฏกรรม ในหนังสือมีแปลบทกลอนนี้เป็นภาษาไทยด้วย ผมไม่ทราบว่าคุณวิศเป็นผู้แปลเองหรือเปล่า แต่แปลได้ประทับใจมาก หาคำได้เหมาะเจาะ แถมมีสัมผัสคล้องจองในภาษาไทย เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ

เซอร์ แมตต์ เสียใจกับโศกนาฏกรรมครั้งนั้น รู้สึกผิดจนคิดฆ่าตัวตายให้มันจบ ๆ ไป แต่เค้ารู้ว่าถ้าตัวเองล้ม คนอื่นจะล้มตาม จึงแข็งใจกลับมาคุมทีมต่อ

ตอนนั้นแมนยูเหลือนักเตะไม่ถึง 11 คนด้วยซ้ำ ต้องไปดึงผู้เล่นเยาวชนมาเล่นให้ครบทีม ผ่านฤดูกาล 1957-58 แบบทุลักทุเล

แต่ไม่น่าเชื่อว่า จากทีมที่มีนักเตะไม่ครบ จะกลายมาเป็นแชมป์ลีกในอีก 8 ปี

ใช่, พวกเค้าสร้างทีมขึ้นมาใหม่อีกครั้งและกลายเป็นแชมป์ลีกในฤดูกาล 1964-1965 ภายใต้การนำของสามประสาน บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน, เดนิส ลอว์ และจอร์จ เบสต์

ผมเพิ่งทราบว่าทั้งสามคนได้รางวัลบัลลงดอร์ แถมเล่นในทีมเดียวกัน ลองจินตนาการว่า ถ้านักเตะบัลลงดอร์อย่าง เมสซี่ โรนัลโด้ และลูก้า โมดริช เล่นด้วยกัน ทีมนั้นจะสุดยอดขนาดไหน

ซีรีส์โศกนาฏกรรมมิวนิคว่าดีแล้ว ซีรีส์จอร์จ เบสต์ (George Best) กลับดียิ่งขึ้นไปอีก

คุณวิศแบ่งเรื่องราวของจอร์จ เบสต์ ออกเป็น 8 ภาค และเป็น 8 ภาคที่เป็นที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คล้ายพาเราเข้าไปรู้จักกับจอร์จ เบสต์ ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กหนุ่มที่เบลฟาสต์ (ไอร์แลนด์เหนือ) สู่นักเตะบัลลงดอร์ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

อ่านแล้วทำให้รู้สึกว่า กราฟชีวิตของจอร์จ เบสต์ เหมือนภูเขาเอเวอร์เรสต์
คือเริ่มตั้งแต่จุดต่ำสุด เป็นเด็กยากจนที่ไม่มีใครรู้จัก ขึ้นจุดสูงสุดของโลกที่ได้แชมป์ทุกอย่าง และทิ้งดิ่งอย่างไม่มีชิ้นดีในอีกไม่กี่ปี

จอร์จ เบสต์ ได้แชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ และได้รางวัลบัลลงดอร์ตั้งแต่อายุ 22
นักเตะระดับลูก้า โมดริช ยังได้รับรางวัลบัลลงดอร์ตอนอายุ 33 เลย

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ให้คำนิยามจอร์จ เบสต์ว่า
“เลี้ยงบอลเก่งกว่าไรอัน กิกส์ แต่จบสกอร์ได้คมเหมือนอลัน เชียเรอร์”
คิดดูว่าจอร์จ เบสต์ สุดยอดขนาดไหน

เหตุที่ทำให้กราฟชีวิตทิ้งดิ่งก็เพราะแอลกอฮอล์ การติดแอลกอฮอล์ทำให้ขาดซ้อมเป็นว่าเล่น ขาดซ้อมทั้งสัปดาห์เลยก็มี จนผู้จัดการทีมเอือมระอา และถูกเขี่ยจากทีมในท้ายสุด

พอออกจากแมนยูชีวิตก็เข้าสู่ขาลง และจบชีวิตในวัย 59 ปีด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง

คำพูดก่อนตายของจอร์จ เบสต์คือ
“Don’t die like me” (จงอย่าตายเหมือนผม)
สั้น และ สะทกสะท้อน ถึงอัจฉริยะลูกหนังผู้นี้

มาดูเรื่องราวในยุคของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน บ้าง

ก่อนเซอร์ อเล็กซ์ เข้ามาคุมทีม ฟอร์มของแมนยูลุ่ม ๆ ดอน ๆ
หลังเข้ามาคุมทีม ฟอร์มกลับยิ่งลุ่มดอน จากเดิมเคยจบอันดับ 4 ในลีก
ปีแรกที่คุม จบอันดับ 11
ปีที่ 2 จบอันดับ 2
ปีที่ 3 จบอันอับ 11 (อ่านไม่ผิดหรอก)
ปีที่ 4 จบอันดับ 13 ห่างจากทีมตกชั้นแค่ 5 คะแนน
กำลังจะโดนไล่ออกอยู่แล้ว แต่ได้แชมป์เอฟเอคัพ (1990) เซฟเก้าอี้ไว้ได้ในที่สุด

ปีที่ 5 ได้แชมป์ คัพวินเนอร์คัพ
ปีที่ 6 ได้แชมป์ลีกคัพ
ปีที่ 7 ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก (ฤดูกาล 1992-93)

และนั่นคือจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้พาแมนยูเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก 13 สมัย จากการคุมทีม 27 ปี
เรียกได้ว่าแทบจะเป็นแชมป์ปีเว้นปี (บางครั้งได้แชมป์ 3 ปีติดก็มี)
แถมยังได้แชมป์ยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีกอีก 2 สมัย (ชื่อใหม่ของยูโรเปี้ยนคัพ)
เป็นกุนซือผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล

ในยุคของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน การเล่าเรื่องจะเป็นอีกแบบนึง โดยเล่าผ่านเรื่องราวของนักเตะคนสำคัญหลายคน เช่น

  • อีริค คันโตนา
  • ปีเตอร์ ชไมเคิล
  • รอย คีน
  • ไรอัน กิกส์
  • พอล สโคลล์
  • แกรี่ เนวิลล์
  • เดวิด เบ็คแฮม
  • ริโอ เฟอร์ดินานด์
  • คริสเตียโน โรนัลโด
  • เวย์น รูนีย์

ไม่ได้เล่าเป็นชีวประวัติเจาะลึกแบบจอร์จ เบสต์ แต่เล่าเป็นบางโมเมนต์ของนักเตะคนนั้น ๆ
เช่น ตอนไรอัน กิกส์ เล่าถึงการยิงประตูชนะอาร์เซนอลในศึกเอฟเอคัพ

ตอนแกรี่ เนวิลล์ เล่าถึงการลงสนามครั้งแรก

ตอนริโอ เฟอร์ดินานด์ เล่าถึงการชูถ้วยแชมป์ในฐานะกัปตันทีม

ถ้าอ่านแยกเป็นคน ๆ ผมว่าสนุกนะ แต่พอจับมารวมกัน มันเหมือนไม่ค่อยสุดเท่าไร

ถ้าเปรียบซีรีส์โศกนาฎกรรมมิวนิค กับซีรีส์จอร์จ เบสต์ เป็นบุฟเฟต์นานาชาติ
เรื่องราวของนักเตะในยุคของเซอร์ อเล็กซ์ คล้ายเป็นขนมชุดเล็ก ๆ ในงานเลี้ยงค็อกเทล

คือมันไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่บุฟเฟต์มันอลังการมาก พอมาเจอค็อกเทลเล็ก ๆ เลยรู้สึกเนือย ๆ

อันนี้จะว่าผู้เขียนก็ไม่ได้ เพราะนักเตะคนสำคัญในยุคของเซอร์ อเล็กซ์ มีหลายคน
ถ้าเขียนละเอียดทุกคน หนังสือคงหนาเป็นพัน ๆ หน้า ก็เลยเขียนได้แค่บางเรื่องราวของนักเตะ

มีเขียนเรื่องราวเดี่ยว ๆ ของพาร์ก จี-ซอง, โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ ด้วย ถ้าผมเป็นแฟนแมนยู ก็คงเกิดคำถามว่า
“แล้วไม่มีเรื่องราวของไบรอัน ร็อบสัน เหรอ?”
“ไม่มีเรื่องราวของยาป สตัม เหรอ?”

คือมันยังไม่สุด เหมือนมีอะไรค้างคา
(ไม่รู้คนอื่นคิดยังไง แต่ผมรู้สึกแบบนี้)

แต่ในแง่ของการค้นคว้า ถ้าคะแนนเต็ม 100 ผมให้ 110
เพราะละเอียดมากถึงมากที่สุด

หลายครั้งโพล่งขึ้นมาว่า “รู้ได้ไงเนี่ย?”

น่าจะอ่านหนังสือชีวประวัติของนักเตะและผู้จัดการทีมไม่น้อยกว่า 20 เล่ม
แถมยังมีบทสัมภาษณ์ ข่าว และบทวิจารณ์ดัง ๆ ถ้าลิสต์ข้อมูลอ้างอิง คงยาวเป็นหางว่าวปักเป้าสีแดง

โดยรวมแล้วเป็นหนังสือที่สนุกครบรส เป็นอีกเล่มที่จับแล้วรู้สึก Spark Joy เหมือนกลิ่นอายของหนังสือยังแตะจมูกอยู่เลย

ย้ำ, ผมไม่ใช่แฟนแมนยู แต่ผมชอบหนังสือเล่มนี้ครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.