งานมีขา กับ งานไม่มีขา

“วันที่ไม่มีสอน อาจารย์ทำอะไรครับ?”

ผมยิ้มทุกครั้งที่ได้ยินคำถามนี้

คนถามคือลูกศิษย์ที่มาเรียนกับผม ลองเดาไหมครับว่าคนถามทำงานอะไร ระหว่าง

ก. วิศวกรฝ่ายผลิตในโรงงาน
ข. เจ้าของกิจการขนาดเล็ก

ใช่, คำตอบคือ วิศวกรฝ่ายผลิตในโรงงาน

ตัดภาพมาอีกคำถามนึง

ผมลาออกจากงานประจำมาสอนแบบ Full Time ห้าปีแล้ว เมื่อนัท (เพื่อนสมัยมหาลัย) รู้ว่าผมลาออกมาสอนเต็มตัว สิ่งที่นัทถามคือ

“ทำไมคนเค้าถึงมาเรียนกับเมิงวะ?”

ลองเดาไหมครับว่านัททำงานอะไร?

ใช่, คุณตอบถูกอีกแล้ว นัทเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก

สังเกตไหมครับว่าสองคนนี้ตั้งคำถามต่างกัน

ทำไมสองคนนี้ถึงตั้งคำถามต่างกัน?

เพราะบริบทของสองคนนี้ไม่เหมือนกัน

คนที่ทำงานเป็นวิศวกรการผลิตในโรงงาน ทุก ๆ วันจะมีออเดอร์มารอให้ทำเสมอ ต้องผลิตสินค้าอะไร ต้องผลิตเท่าไร ปล่อยของเสียได้แค่ไหน

ผมเรียกงานแบบนี้ว่า “งานมีขา”
เพราะงานมีขาเดินมาหาเรา ต่อให้ไม่อยากทำก็ต้องทำ ไม่งั้นงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แต่สำหรับนัทผู้เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ออเดอร์ทุกอย่างต้องหาเอง ต้องกระเสือกกระสนเอง ต้องตีฆ้องร้องป่าวเอง

ผมเรียกงานแบบนี้ว่า “งานไม่มีขา”
เพราะงานไม่มีขาเดินมาหาเรา ถ้าไม่หา ก็ไม่มา
และถ้างานไม่มา ก็แปลง่าย ๆ ว่าไม่มีเงิน

ใช่, จะมองว่างานธุรกิจส่วนตัว งานฟรีแลนซ์ (Freelance) เป็นงานไม่มีขาก็ได้ เพราะคนที่ทำงานแบบนี้ต้องเป็นฝ่ายเดินไปหางาน

และงานก็ไม่เคยมีมากอง ทุกสิ่งอย่างต้องหาเองทั้งหมด

งั้นงานมีขาก็น่าจะดีกว่า ดูมั่นคงกว่าใช่ไหม?

ใช่, ถ้ามองในแง่ของความมั่นคง

แต่.. ถ้ามองในแง่ของผลตอบแทน งานไม่มีขา มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

ขอตอบในมุมของงานวิทยากร ซึ่งเป็นงานที่ผมทำอยู่ละกัน

ค่าตอบแทนของงานวิทยากรหนึ่งวัน สูงกว่าเงินเดือนทั้งเดือนของเด็กจบใหม่เสียอีก

น่าอิจฉาเนอะ เดือนนึงทำงานไม่กี่วันก็อยู่ได้แล้ว

แต่.. งานไม่ได้มีทุกวัน บางเดือนมีสิบวัน บางเดือนมีห้าวัน บางเดือนไม่มีเลย และบางครั้งไม่มีงานติดต่อกันหลายเดือน

ใช่, มีความผันผวนสูงมาก

กลับมายังคำถามที่ว่า วันที่ไม่มีสอน อาจารย์ทำอะไร?

คำตอบของคำถามนี้ คือคำตอบเดียวกับที่นัทถามว่า “ทำไมคนเค้าถึงมาเรียนกับเมิงวะ?”

คำตอบคือ ทำให้ตัวเองมีคุณค่า

ฟังดูนามธรรมใช่ไหม

ถ้าตอบให้เห็นภาพคือ ทำอะไรก็ได้ให้เราดีขึ้น เก่งขึ้น สร้างประโยชน์กับผู้คนได้มากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น

  • ศึกษาหาความรู้
  • ทดลองให้แตกฉาน
  • นำสิ่งที่ทดลองมาเผยแพร่โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
  • ศึกษาต่อไปให้ลึกขึ้น แล้วเผยแพร่ผลงานให้ดีขึ้น
  • สนุกกับสิ่งที่ทำ และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป

ถ้าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ คนที่ได้รับประโยชน์จะหาทางตอบแทนในทางใดทางหนึ่ง

และนั่นคือการทำให้งานไม่มีขางอกขาแล้วเดินมาหาเรา

ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า งานมีขาดีกว่า หรือ งานไม่มีขาดีกว่า

ทุกสิ่งอย่างมีข้อดีและข้อเสียในตัว

งานจะมีขาหรือไม่ ไม่สำคัญ แค่เรามีวินัย และทำสิ่งตรงหน้าให้ดีที่สุดก็พอ

จริงไหมครับ 😀

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

2 thoughts on “งานมีขา กับ งานไม่มีขา

  1. ชอบอ่านบทความของอาจารย์มากค่ะ
    ไม่เคยได้มีโอกาสเรียนด้วยแต่ได้นำความรู้ไปใช้หลายครั้งแล้วจากเพจที่แชร์ไว้ ขอบคุณมากและมันผลิดอกออกผลจริง ซึ่งเราก็มีอาชีพเหมือนลูกศิษย์ของอาจารย์ ชื่นชม นับถือน้ำใจและขอขอบคุณมากที่แชร์ความรู้ที่ดีๆให้เป็นวิทยาทานกับคนอื่นๆค่ะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.