สมมติคุณเป็น CEO ของบริษัท เห็นตัวเลขในแผน forecast เดือนนี้ไม่ดีเลย ต้องหาทางทำอะไรสักอย่าง
คุณพบว่าสินค้าตัวหนึ่งมีความต้องการในตลาดสูงมาก สามารถขายเพิ่มได้ทันที
แม้ราคาขายไม่สูง แต่ก็สูงกว่าต้นทุนผันแปร คุณจึงสั่งทีมขาย อยากขายเท่าไรขายเลย ขายเกลี้ยงสต็อกยิ่งดี ขอให้ราคาขายสูงกว่าต้นทุนผันแปรก็พอ
สั่งทีมผลิตให้ผลิตเพิ่ม และสั่งห้ามลดยอดผลิตของสินค้าอื่น เทหมดหน้าตัก กะว่ากลยุทธ์นี้จะพลิกฟื้นตัวเลขกลับมาแน่นอน…
พออ่านรีพอร์ตสิ้นเดือน ตาแทบถลนออกจากเบ้า
กำไรลดฮวบ ! น้อยกว่า forecast อีก !!
ทั้งๆที่ขายสินค้าตัวนั้นจนเกลี้ยงสต็อก รวมถึงล็อตใหม่ที่ผลิตเพิ่มด้วย
เช็คกับฝ่ายบัญชีแล้ว ตัวเลขถูกทุกอย่าง
ขายได้ตามราคาที่ตั้งไว้
ต้นทุนการผลิตก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ต้นทุนคงที่ก็เท่าเดิม
ยอดขายของสินค้าอื่นก็เหมือนเดิม
แล้วมันผิดตรงไหน ?
.
.
สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ
ลืมคิดเรื่อง ต้นทุนของสต็อกต้นงวด
แม้ราคาขายจะสูงกว่าต้นทุนผันแปรของสินค้าที่กำลังจะผลิตใหม่ แต่ถ้าต้นทุนของสต็อกต้นงวดสูงกว่าราคาขายและมีจำนวนมากพอ ยิ่งขาย ยิ่งขาดทุน
บางคนอาจงงอยู่ ขออธิบายด้วยตัวเลขเพื่อให้เห็นภาพนะครับ
สมมติว่า
- ราคาขายคือ 100 บาท/ชิ้น
- วางแผนผลิตสินค้าในเดือนนี้ 2,000 ชิ้น
- ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ของสินค้าที่กำลังจะผลิตคือ 90 บาท/ชิ้น
- ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ของสินค้าที่กำลังจะผลิตคือ 20,000 บาท
- ต้นทุนของสินค้าสต็อกต้นงวดคือ 110 บาท/ชิ้น มีสต็อกทั้งหมด 2,000 ชิ้น
เราเห็นว่าราคาขายคือ 100 บาท สูงกว่าต้นทุนผันแปร (90 บาท) แปลว่าขายชิ้นนึงได้กำไร 10 บาท (100 – 90) ต้นทุนคงที่ยังไงก็ต้องเสียอยู่แล้ว งั้นก็ขายเยอะๆเลยดีกว่า ยิ่งขายเยอะน่าจะยิ่งดี
คราวนี้มาวิเคราะห์กัน
ถ้าผลิต 2,000 ชิ้น ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยจะเท่ากับ 10 บาท/ชิ้น (20,000/2,000)
ดังนั้นต้นทุนทั้งหมดของสินค้าที่จะผลิตใหม่คือ 100 บาท (90 + 10)
เมื่อนำมาถัวกับต้นทุนสินค้าสต็อกต้นงวด ต้นทุนสินค้าขายคือ 105 บาท/ชิ้น ( (100*2,000)+(110*2,000) ) / (2,000+2,000)
นั่นแปลว่าขายชิ้นนึงจะขาดทุน 5 บาท (100-105 = -5)
สมมติขายสินค้า 2,000 ชิ้น แปลว่ากำไรจากการขายครั้งนี้คือ -10,000 บาท (2,000 * -5)
สมมติขายสินค้า 3,000 ชิ้น แปลว่ากำไรจากการขายครั้งนี้คือ -15,000 บาท (3,000 * -5)
ต่อให้ขายสินค้าหมดทั้งในสต็อกและผลิตใหม่ หรือก็คือ 4,000 ชิ้น (2,000 + 2,000) กำไรจากการขายครั้งนี้คือ -20,000 บาท (4,000 * -5)
พูดง่ายๆคือ ยิ่งขาย ยิ่งขาดทุน !
จริงๆแล้ว โจทย์ข้อนี้ผมประยุกต์จากเคสในวิชาบัญชีบริหาร และเพิ่มเติมประสบการณ์ส่วนตัวเข้าไป
ขอเล่าย้อนถึงบ่ายวันเสาร์เมื่อหลายปีก่อน ตอนกำลังเรียนบัญชี ฝนตกพรำๆ แอร์เย็นๆ อากาศเหมาะแก่การนอนเป็นที่สุด ผมกำลังสะลึมสะลือเต็มที่ จู่ๆอาจารย์ก็มองหน้าผมและถามว่า
ถ้าบริษัทกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต ราคาขายต่ำกว่าทุน เราควรขายไหม?
ผมสะดุ้งพรวด พร้อมกับเอามือขวาปาดน้ำลายที่มุมปาก ไม่รู้จะตอบอะไรดี เลยสะกิดเพื่อนข้างๆให้ช่วยตอบ พบว่าเพื่อนดันหลับเหมือนกัน
อาจารย์ถอนหายใจยาวแล้วบอกว่า
ถ้าราคาขายยังสูงกว่าต้นทุนผันแปร หรือ Contribution Margin (CM) เป็นบวก ก็ควรขาย
เพราะต้นทุนคงที่เป็นต้นทุนที่ต้องเสียอยู่แล้ว ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าราคาขายยังมีกำไรในแง่ของต้นทุนผันแปร ยิ่งขาย ยิ่งขาดทุนลดลง
นี่คือกลยุทธ์การบริหารในสภาวะวิกฤต
แต่…ในชีวิตจริงสินค้ามักมีสต็อก
การพิจารณา Contribution Margin เป็นกลยุทธ์ลดการขาดทุนให้น้อยที่สุด แต่ไม่ได้แปลว่าจะกลับมามีกำไรเป็นบวกเสมอไป
ถ้านำสินค้าในสต็อกมาพิจารณาด้วย อาจกลายเป็น ยิ่งขาย ยิ่งขาดทุน
กลยุทธ์นี้ผิดงั้นเหรอ?
ไม่ผิดครับ เพียงแต่ต้องนำทิศทางของราคาขายมาพิจารณาด้วย
ยังไง ?
ถ้าราคาขายอยู่ในช่วงขาลง ตราบใดที่ราคายังมากกว่าต้นทุนผันแปร ผมคิดว่าเราควรขาย ยิ่งถือสต็อกต้นทุนสูงๆไว้ ยิ่งต้องรีบปล่อยให้เร็วที่สุด ยอมเฉือนเนื้อทิ้งไปเลย
แต่ถ้าราคาขายอยู่ในขาขึ้น อาจต้องยอมกัดฟันถือสต็อกไปจนถึงราคาที่ต้องการ ระหว่างรอควรผลิตสินค้าให้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนคงที่ต่อหน่วย และต้องยอมขายขาดทุนบางส่วนเพื่อให้สต็อกไม่สูงเกินไป รวมทั้งธุรกิจก็ต้องการเงินหมุนด้วย
ฟังดูเหมือนง่าย เอาเข้าจริงใครจะรู้ว่าราคากำลังขาขึ้น และจะขึ้นไปถึงเท่าใด แถมต้องอาศัยสมมติฐานว่าสินค้านั้นมีสภาพคล่องสูง ซึ่งสินค้าทุกตัวไม่ได้เป็นแบบนั้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นบริษัทที่มีวินัยด้านบัญชีสูง ปัญหายิ่งขายยิ่งขาดทุนจะไม่เกิด เพราะต้องปรับมูลค่าของสินค้าในสต็อกให้สอดคล้องกับราคาขายงวดถัดไป หรือศัพท์ทางบัญชีเรียกว่า NRV (Net Realizable Value)
นั่นคือ จะมีต้นทุนมหึมาก้อนนึงยกมาคำนวณใน COGS (Cost of Good Sold) ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นพรวด และต้นทุนก้อนนี้จะถูกยกยอดไปคำนวณทุกๆเดือนจนกว่าสินค้าในสต็อกจะหมด
ในทางตรงข้าม ถ้าราคาขายสินค้างวดถัดไปสูงกว่าต้นทุนสินค้าในสต็อก จะถือว่า NRV เป็นศูนย์
ขอไม่อธิบาย NRV มากกว่านี้นะครับ เดี๋ยวบทความจะยิ่งยาว (นี่ก็ยาวแล้ว)
หลายคนอ่านถึงบรรทัดนี้แล้วอาจแปลกใจว่า
ทำไมถึงยอมขายราคาต่ำกว่าทุน?
เป็นคำถามที่ดีครับ คงไม่มีใครอยากขายของราคาต่ำกว่าทุนแน่นอน แต่ในบางธุรกิจ ราคาขายไม่ได้ขึ้นกับต้นทุน แต่ขึ้นกับราคาตลาด
อ่านไม่ผิดหรอกครับ
ราคาขายไม่ได้ขึ้นกับต้นทุน แต่ขึ้นกับราคาตลาด
บางช่วงราคาตลาดอาจสูงกว่าต้นทุน และบางช่วงราคาตลาดอาจต่ำกว่าต้นทุน
นี่คือความจริงของบางธุรกิจ มักเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนต้นทุนผันแปรสูง อัตรากำไรเบื้องต้น (GP Margin) ต่ำ และราคาตลาดผันผวน
ส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) หรือสินค้าเกษตรแปรรูปบางชนิด เช่น เหล็ก ยางพารา แป้ง น้ำตาล สินค้าพวกนี้ราคาเหวี่ยงมาก เหวี่ยงจนบางครั้งต้องยอมขายราคาต่ำกว่าทุน
ทำไมราคาตลาดถึงเหวี่ยงน่ะหรือครับ?
ถ้าคุณอยู่ในธุรกิจนั้น คุณจะเข้าใจครับ ^__^
.
หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่โดยคลิก Like เฟซบุ๊กแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่าน เพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^__^