“เก่ง Excel ไปก็เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย”
คือคำพูดที่ผมพรั่งพรูให้พี่คนหนึ่งฟังเมื่อหลายปีก่อน ขณะกำลังตัดพ้อชีวิตการทำงานของตัวเอง
พี่คนนั้นตบไหล่ข้างขวาเบาๆ และบอกว่า
เก่ง Excel + X = ดาวรุ่งของบริษัท
“หา X เจอหรือยัง?”
“X คืออะไร” ผมถามกลับพร้อมหันขวับไปด้านขวาทันที
คือ “นำไปใช้” พี่คนนั้นตอบสั้นๆ
“นำไปใช้ยังไง?” ผมถามต่อโดยใช้เวลาเพียง 0.1 วินาทีหลังสิ้นคำตอบนั้น
พี่ตบไหล่ขวาเบาๆอีก 2-3 ที และตอบว่า
“นั่นคือโจทย์ที่เราต้องตีให้แตก”
หันมายิ้มให้ แล้วลุกจากไปอย่างหล่อ
ปล่อยให้ผมนั่งงงอยู่ตรงนั้นคนเดียว…
.
ผ่านมาหลายปี หลายบริษัท หลายตำแหน่ง ผมนำเรื่องนี้มาคิดต่อ ให้คำตอบกับต้วเองว่า
X คือการนำความเก่งเอ็กเซลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง
เพื่อให้บริษัทยากที่จะหาคนมาแทนเรา และให้มูลค่าเพิ่มนั้นเป็นที่ต้องการในตลาดงาน
การนำไปใช้หรือมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มี 3 สิ่งนี้
1 ความชำนาญเฉพาะด้าน (อย่างน้อย) 1 ด้าน
เอ็กเซลเป็นโปรแกรมที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกหน่วยงานของบริษัท ไม่ว่าตอนนี้เราจะทำงานในแผนก
- การผลิต
- ซ่อมบำรุง
- คุณภาพ
- การตลาด
- บริการลูกค้า
- บัญชี
- จัดซื้อ
- เอชอาร์
- ไอที
หรือแผนกใดๆก็ตาม
เราต้องเป็นผู้ชำนาญการในงานนั้นๆให้ได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเรียนจบสาขานั้นโดยตรง
หลายๆตำแหน่งในบริษัทก็ไม่ได้มีสอนที่มหาลัยใดอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือการย่อยประสบการณ์จริงต่างหาก
ถ้าเรามีความชำนาญการในงานที่เราทำอยู่ เราจะ “สร้างงาน” ขึ้มมาเองได้
รู้ว่าควรจะทำอะไรโดยไม่ต้องให้ใครมาบอก หรือรอหัวหน้ามาสั่ง
อีกนัยหนึ่งก็คือ “ทำงานเชิงรุก” นั่นเอง
พอเราทำงานเชิงรุก นั่นแปลว่าเรากำลังทำงานที่คนอื่นอาจคาดไม่ถึง และกำลังสร้างคุณค่าให้กับตัวเองในสายตาคนอื่น
เอ็กเซลคือเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวิเคราะห์และพัฒนางานให้ดีขึ้น
คนส่วนใหญ่ใช้เป็นแต่ดึงความสามารถออกมาได้ไม่ถึง 20% ด้วยซ้ำไป
ตีให้แตกว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ให้งานปัจจุบันดีขึ้นอย่างไร
และถีบตัวเองให้โดดเด่นขึ้นมาจากหน่วยงานที่เราทำอยู่
2 การรู้จักธรรมชาติของธุรกิจ
พอเราเป็นผู้ชำนาญการในหน่วยงานของเราแล้ว เราต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานของเราจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหน่วยงานของเราอีกต่อไป การทำอะไรแต่ละอย่างจะมีผลกระทบกับแผนกอื่นๆเสมอ
คล้ายเป็นห่วงโซ่คล้องกันไปมา บางข้อก็ต่อตรง บางข้อก็ไขว้กันจนเป็นปม
การเป็นแค่ผู้ชำนาญการในหน่วยงานของเราคงไม่เพียงพอ เราต้องรู้จักธรรมชาติของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น
- คู่แข่งมีใครบ้าง
- ลูกค้าหลักๆคือใคร
- สินค้าของบริษัทเรามีจุดเด่นจุดด้อยอะไรบ้าง
- ช่วงเดือนไหนขายดี ช่วงเดือนไหนขายไม่ค่อยออก
- ต้นทุนหลักๆเกิดจากอะไร
- ลูกค้าจ่ายเงินแบบไหน บริษัทให้เครดิตกี่วัน
- สินค้าในสต็อกเก็บไว้เยอะแค่ไหน ทำไมต้องเก็บเยอะขนาดนั้น
- ซัพพลายเออร์ให้เครดิตการจ่ายเงินกับเรากี่วัน
- คนที่มีประสบการณ์แบบไหนที่เป็นที่ต้องการของธุรกิจนี้
- เรื่องที่ลูกค้าคอมเพลนส่วนใหญ่คือเรื่องอะไร
และเรื่องอื่นๆอีกมากมายที่ควรรู้
แม้ในตอนนี้จะมีซอฟต์แวร์ใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวัน สามารถคำนวณนู่นนั่นนี่ ออกรีพอร์ตดูดีไฮโซ
แต่บริษัทเราคงไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะซื้อทั้งหมด
และไม่มี “เวลา” มากพอที่จะให้โอกาสลองผิดถูกกับทุกโปรแกรม
สิ่งที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการนำเอ็กเซลมาประยุกต์ใช้นั่นเอง แถมยังเป็นโปรแกรมที่คนส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยกันดี
เพียงแต่ว่าเรา “มองขาด” หรือเปล่า..
3 ทัศนคติที่ดีในการทำงาน
มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมเคยโดนหัวหน้าเตือนอย่างเป็นทางการเรื่องทัศนคติการทำงาน
เพราะผมคิดว่า งานนี้จำเป็นไม่ต้องทำ งานนี้เสียเวลา งานนู้นไร้สาระ
สุดท้ายคืองานไม่เดิน เพราะมัวแต่คิดว่าทำแล้วเสียเวลา
หัวหน้าถามผมสั้นๆว่า
“แล้วจะเอาเวลาไปทำอะไร?”
ผมอึ้งกิมกี่ ไม่สามารถสรรหาคำพูดอะไรมาตอบได้…
หลายคนอาจมีความเป็น “นักสมบูรณ์แบบ” โดยไม่รู้ตัว มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่คน
“นักสมบูรณ์แบบ” ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ตรงกับข้าม นั่นคือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้งานพัฒนาขึ้น
แต่สิ่งนั้นจะไร้ประโยชน์ ถ้าเราไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน
หัวหน้าบอกกับผมว่า
ถ้ายังคิดสิ่งที่ดีกว่าไม่ได้ และปัญหาก็ยังอยู่ งั้นต้องลองทำไปก่อน
ผิดถูกก็แก้กันไป ถ้ามัวแต่คิดโดยที่ไม่ทำอะไรเลย แปลว่าเราตัดสินใจไปแล้ว
คือตัดสินใจว่าจะไม่ทำอะไรเลย!!
และนั่นอาจเป็นการตัดสินใจที่แย่ที่สุดก็ได้
.
อยู่ๆผมก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเฉยๆโดยที่ไม่มีปี่และแซ็กโซโฟน
เจ้า “X” ของแต่ละคนอาจหน้าตาไม่เหมือนกัน
X ของผมอาจหน้าตาไม่เหมือนกับของคุณก็ได้
แล้ว X ของคุณล่ะครับ หน้าตาเป็นแบบใด ^_^
.
หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆได้ที่บล็อกนี้ หรือคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^__^
4 thoughts on “เก่ง Excel + X = ดาวรุ่งบริษัท คุณหา X เจอหรือยัง?”