เมื่อได้ยินว่าหนังสือเศรษฐกิจโลก 1,000 ปี เริ่มขาดตลาด ผมรีบกดสั่งซื้อจากลาซาดาทันที วันรุ่งขึ้นกล่องพัสดุก็ถูกวางที่บ้าน
ไม่รอช้า แกะกล่อง แวบแรกนึกว่าหนังสือเกี่ยวกับน้ำมัน เพราะปกมันดำขลับ พอพลิกพบว่ากระดาษดีมาก ฝืดในระดับพอเหมาะ ให้ผิวสัมผัสที่ดี ( เวลาอ่านหนังสือที่กระดาษดี รู้สึกฟิน 😊) แอบติงนิดนึงว่ามีกลิ่นแปลกๆ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากสารเคลือบผิวหรือเปล่า
หลังจากเปิดอ่านคร่าวๆรอบแรก ก็เริ่มอ่านจริงโดยใช้เวลาอ่านเพียงหนึ่งวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามให้เกิด แต่ไม่ค่อยเกิดกับหนังสือเล่มอื่น
“ทำไมถึงอ่านจบวันเดียวน่ะหรือครับ?”
คำตอบง่ายมาก เพราะมันสนุก 😀
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือการขีดแบ่งประวัติศาสตร์ 1,000 ปี ออกเป็น “โซ่” ทั้งหมด 25 ข้อ ทุกข้อร้อยเรียงและส่งต่อเนื้อหาได้อย่างเนียบเนียน
ผมใช้คำว่า “โซ่” เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่าเนื้อหาแต่ละบทคือห่วงโซ่ แต่ละข้อแข็งแกร่ง ชัดเจน แถมทิ้งปมไว้เชื่อมต่อกับข้อต่อไป ในจุดนี้ผู้เขียนหรือคุณลงทุนแมนทำได้ดีมากๆ
แต่ถ้าหากมองลึกลงไปในโซ่แต่ละข้อ แอบสังเกตว่าไม่ได้หล่อมาจากโลหะชนิดเดียวกัน …
คุณลงทุนแมนเริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่ยุคกลาง (ประมาณ ค.ศ. 1100) ซึ่งเป็นยุคหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ยาวมาถึงยุคปัจจุบัน (ค.ศ. 2019)
โซ่ 6-7 ข้อแรกทำได้อย่างยอดเยี่ยม อ่านแล้วแทบวางไม่ลง หยิบจับประเด็นมาเล่าได้อย่างน่าสนใจ หลายอย่างเคยได้ยินผ่านหูแต่เพิ่งรู้ว่าคืออะไร เช่น ยุคมืด สงครามครูเสด Black Death ตระกูลเมดิซี
บางอย่างเคยสงสัยสมัยเด็ก แต่เพิ่งได้คำตอบ เช่น
ถาม1: ทำไมประเทศล่าอาณานิคมถึงมีแค่ 4 ประเทศหลัก คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส
ตอบ: เพราะมีความเป็นรัฐชาติ และพื้นที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก
ถาม2: ทำไมบราซิลถึงเป็นเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ทั้งที่ประเทศอื่นในอเมริกาใต้เป็นอาณานิคมของสเปน?
ตอบ2: เพราะสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส (Treaty of Tordesillas) ที่เป็นข้อตกลงระหว่างสเปนกับโปรตุเกส แบ่งโลกนอกทวีปยุโรปออกเป็นสองส่วน โดยยึดเส้นสมมติที่ลากผ่านใจกลางของทวีปอเมริกาใต้เป็นหลัก
พอผ่าน 6-7 บทแรก ผมแอบรู้สึกว่าหนังสือผ่านจุดสูงสุด ค่อยๆสไลด์ตัวลง ยิ่ง 4 บทสุดท้ายทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดทัน แต่อ่านแล้วไม่อินเท่าไร
ปิดหนังสือด้วยความรู้สึกว่ายังไม่สุด เลยนั่งวิเคราะห์ว่าทำไม …
ความท้าทายของหนังสือเล่มนี้คือ จะเล่าเรื่องราว 1,000 ปีเป็นหนังสือ 1 เล่มได้อย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและหินมากๆ
เรื่องราวตั้งพันปี จะขีดแบ่งยังไง ต้องจบในเล่มเดียว แถมเล่มไม่ได้หนาด้วย
ผู้เขียนน่าจะตะลุยค้นคว้าประวัติศาสตร์โลก แล้วเรียบเรียงไทม์ไลน์ (Timeline) ในแบบของตัวเอง การแบ่งช่วงเวลาเป็น 100 ปี (หรือ 10 ปีในบทหลังๆ) ตามลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ทำให้ง่ายต่อการจดจำและเปรียบเทียบ ในจุดนี้ทำได้อย่างยอดเยี่ยม
แต่ผม(เดาเอาเอง)ว่า หนังสือเล่มนี้เขียนโดยคนมากกว่า 2 คน แม้จะกำหนดแนวทางและภาษาในการเขียน แต่การร้อยเรียง การถกประเด็น มุมในการเล่าต่างกัน คุณภาพก็ต่างกัน
ความที่ว่าโซ่แต่ละข้อต้องจบในตัว และไม่ยาวมาก ทำให้รายละเอียดถูกตัดทอน หลายตอนอ่านแล้วสะดุด คล้ายโดนตัดบริบททิ้ง เช่น เหตุการณ์งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน สงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2
หากมองในธีมหลักของหนังสือคือเศรษฐกิจ บริบทของบางเหตุการณ์อาจไม่จำเป็นต้องเล่าละเอียด เพียงเล่าเชื่อมต่อกันให้เป็นเหตุเป็นผลก็น่าจะเพียงพอ เพียงแต่ตอนอ่านมันรู้สึกติดๆนิดหน่อย
เรื่องราวหนึ่งที่ผมคิดว่าขาดหายไปคือ กำเนิดวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือเรื่องราวของคุณอดัม สมิธ บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์ ถ้าผนวกจะสมบูรณ์ขึ้น แต่อาจเป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ไม่ต้องการรวมเนื้อหาส่วนนี้ เพราะเข้าใจยากและมีรายละเอียดที่ค่อนข้างลึก
จุดที่ชอบมากจุดหนึ่งคือ จำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละยุคสมัย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน เวลายกตัวเลขทำให้เห็นภาพชัดเจน แอบติงนิดนึงว่าบางบทพูดถึงตัวเลขเหล่านี้บ่อยเกินไป แม้ทำให้เปรียบเทียบง่าย แต่สูญเสียอรรถรสในการเล่า
สำหรับใครที่เคยอ่านหนังสือเรื่องเซเปียนส์ (Sapiens: A brief history of humankind) คงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับหนังสือเล่มนี้ เพราะเนื้อหาชนกับบางส่วนของเซเปียนส์แบบเต็มๆ
ถ้าพูดในแง่เนื้อหา เซเปียนส์ชนะแบบไม่ต้องคิด แต่ปัญหาของเซเปียนส์คือ คนที่ซื้อแล้วอ่านจบมีกี่เปอร์เซ็นต์?
แต่สำหรับเศรษฐกิจโลก 1,000 ปี ผมมั่นใจว่าเปอร์เซ็นต์อ่านจบสูงกว่าหลายเท่าแน่นอน
“สรุปแล้วน่าอ่านไหมน่ะหรือ?”
ถ้าไม่น่าอ่าน ผมคงไม่อ่านวันเดียวจบ และไม่มานั่งเขียนรีวิวแบบนี้หรอกครับ 😀
“สนุก ฉับไว แห้งไปนิด” คือความรู้สึกของผมกับหนังสือ เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี
.
หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่โดยคลิก Like เฟซบุ๊กแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ 😊
ผมซือหนังสือมาเพราะอ่านรีวิวนี้เลยครับ
หลังจากได้เปิดอ่าน ตอนนี้อ่านคาอยู่บทแรก อ่านไปก็หงุดหงิดไปกับการเว้นวรรค และเว้นบรรทัดที่พร่ำเพื่อมาก ทำเอาอ่านเนื่อหาไม่ต่อเนื่อง ส่วนตัวรู้สึกว่าการเว้นวรรคนี้ทำได้แย่มากๆจริง ปกติแทบจะไม่เคยติชมหนังสือในเรื่องนี้เท่าไหร่ ส่วนเนื่อหารวมขออ่านจบก่อนอาจจะมารีวิวอีกครั้งครับ
ฝากไว้เผื่อ บ.ก.ลงทุนแมนมาเห็น จะเอาไปพิจารณาปรับปรุง