{Book Review} ประวัติศาสตร์ที่เราลืม ๑

นี่คือหนังสือประวัติศาสตร์ที่อ่านแล้ววางไม่ลง!
ไม่ใช่กาวติดมือ แต่เพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนคล้ายมีคนเล่าให้ฟัง มีบทพูด มีบทบู๊ มีบทพรรณนา
แค่ย่อหน้าแรกก็ประทับใจแล้ว

กริชกระชับมือ ฝีเท้าไร้สุ้มเสียง ห้องบรรทมของรายาเงียบสงัด ไม่มีผู้ใด เขากำลังจะก้าวต่อไป เมื่อปรากฏทหารยามคนหนึ่ง ชายถือกริชชะงักวูบ ครู่หนึ่งมหารยามก็เดินผ่านไป เขารออีกครู่หนึ่งก็ย่องเข้าไป ใจเต้นระทึก

เฮ้ย! นี่หนังสือประวัติศาสตร์จริงหรือเนี่ย

ประวัติศาสตรที่เราลืม ๑ คือชื่อหนังสือเล่มนั้น
หนา 255 หน้า ภาพประกอบเยอะมาก กะด้วยสายตาไม่น่าน้อยกว่า 100 รูป
ใช่ ! มีภาพประกอบเกือบทุกหน้า

การจัดวางภาพ การร้อยเรียงตัวอักษร การเรียบเรียงหน้าหนังสือ เนียนกริบราวภูษาไร้ตะเข็บ สวยงามราวงานศิลป์ก็มิปาน

ผู้ถ่ายทอดงานศิลป์นี้ก็มิใช่ใคร คุณวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของรางวัลซีไรต์สองสมัยนั่นเอง

หนังสือประกอบด้วย 21 บท แต่ละบทมีเรื่องราวจบในตัว บางบทมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกัน

หยิบยกเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์มาเล่าให้ฟัง
จะว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารก็ไม่ใช่ เพราะรายละเอียดที่ให้เกินคำว่า เกร็ด ไปมาก อ่านสนุกวางไม่ลง

ผมชอบทั้ง 21 บท แต่ถ้าพูดถึงบทที่ประทับใจสุดๆมี 3 บทคือ

1 เสด็จเตี่ย

ผมได้ยินคำว่า “เสด็จเตี่ย” มานานแล้ว
จำได้ว่าตอนได้ยินครั้งแรก ตอนนั้นไปเที่ยวกับเพื่อน ได้เจอรูปปั้นของท่าน ผมก็ไหว้ตามประสานักท่องเที่ยวที่ดี เพื่อนเล่าเรื่องของท่านให้ฟัง แต่ก็รู้แบบงูๆปลาๆ

มารู้จากหนังสือเล่มนี้ว่า เสด็จเตี่ย หมายถึง พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ของรัชกาลที่ 5
(ผมมีความรู้เรื่องราชาศัพท์ที่จำกัด เกรงว่าอาจใช้ผิด ขออนุญาตเล่าเรื่องของท่านในภาษาของประชาชนทั่วไปนะครับ)

ทำไมคนถึงนับถือท่านน่ะหรือครับ?

ท่านเป็นหมอ และเป็นพระบิดาของทหารเรือไทย

หมอ ทหารเรือ เกี่ยวกันได้ยังไง?

ในวัยสิบสาม ท่านมีความเจ็บแค้นเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (ฝรั่งเศสยึดดินแดนไทย) ท่านเห็นบิดาเศร้าโศกพระทัยใหญ่หลวง เหตุการณ์นี้ฝังลึกลงในจิตใจของเด็กน้อย

ครั้นมีโอกาสศึกษาต่อในยุโรป ท่านจึงเลือกศึกษาวิชาทหารเรือในอังกฤษ เพราะกองทัพเรืองอังกฤษแข็งแกร่งที่สุดในโลก

เมื่อกลับมาเมืองไทย ท่านก่อตั้งโรงเรียนนายเรือ ออกแบบหลักสูตร เพิ่มเติมวิชาแขนงต่างๆ เช่น ดาราศาสตร์ เรขาคณิต ตรีโกณมิติ พีชคณิต อุทกศาสตร์
(เพิ่งรู้ว่าทหารเรือเรียนเยอะขนาดนี้ !)

แล้วท่านเป็นหมอได้ยังไงน่ะหรือครับ?

มีช่วงนึงที่ท่านมีเหตุให้ออกจากราชการ เดิมทีท่านสนใจวิชาแพทย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงศึกษาวิชาแพทย์อย่างจริงจัง ฝากตัวเป็นศิษย์กับหมอหลายท่าน ทั้งหมอไทย หมอฝรั่ง หมอญี่ปุ่น

ผสมผสานความรู้แพทย์แผนโบราณและแพทย์ตะวันตกเข้าด้วยกัน เข้าป่าเก็บสมุนไพรมาทำยา เปลี่ยนวังของท่านให้เป็นโรงพยาบาล เปลี่ยนห้องทำงานให้เป็นห้องทดลอง มีกล้องจุลทรรศน์ ห้องเคมีสำหรับสกัดยา เปิดรักษาให้กับคนทั่วไป

ท่านเป็นคนแต่งตัวเรียบง่าย ไม่ถือตัว รักษาโรคโดยไม่เก็บค่ารักษา เรียกเพียงค่ายกครูตามธรรมเนียมเท่านั้น
ท่านใช้ชื่อตอนเป็นหมอว่า “หมอพร” ปิดบังฐานะเพื่อให้เข้าถึงทุกคน คนไข้ที่ป่วยหนักมาหาหมอไม่ได้ ท่านก็ไปรักษาให้ถึงที่
ความเมตตาอารีทำให้ชื่อเสียงของหมอพรแพร่ขยาย

เมื่อไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ท่านถูกเรียกตัวเข้าสู่กองทัพเรืออีกครั้ง ท่านเล็งเห็นว่าพื้นที่อำเภอสัตหีบมีชัยภูมิที่ดีมาก และนั่นคือจุดกำเนิดของฐานทัพเรือสัตหีบ

ท่านได้วางรากฐานของกองทัพเรือ พัฒนากองทัพเรือตามแบบตะวันตก ท่านรักและเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชา เหล่าทหารเรือรักท่าน เรียกขานท่านว่า “เสด็จเตี่ย”

ไม่มีใครรู้ว่าสมญานามนี้มาจากไหน อาจเป็นเพราะครั้งหนึ่งท่านเห็นนักเรียนนายเรือขัดดาดฟ้าเรืออย่างเก้งก้าง จึงพูดกับนักเรียนว่า
“อ้ายลูกชายมานี่ เตี่ยจะสอนให้” แล้วขัดดาดฟ้าเรือให้ดูเป็นตัวอย่าง ประหนึ่งบิดาสอนบุตร
(อ่านถึงตรงนี้ แอบขยับมุมปากโดยไม่ตั้งใจ ^_^)

ท่านอุทิศชีวิตให้กับประชาชนและกองทัพเรืออย่างแท้จริง
น่าเสียดายที่มีพระชนมายุเพียง 42 ชันษาเท่านั้น
ในปี พ.ศ. 2536 กองทัพเรือประกาศขนานนามท่านเป็น พระบิดาของทหารเรือไทย

2 หมอบรัดเลย์

ตอนเห็นคำนี้ในแบบเรียนสมัยประถม สารภาพตามตรง ผมอ่านว่า
หมอบ-รัด-เล่
(ใครเผลออ่านเหมือนผม ยกมือขึ้นซะดีๆ ^^)

เราเคยท่องว่า หมอบรัดเลย์คือบิดาแห่งการพิมพ์ของไทย
ว่าแต่… หมอกับการพิมพ์ เกี่ยวข้องกันได้ยังไง?

หมอบรัดเลย์มีชื่อจริงว่า Dan Beach Bradley เป็นชาวอเมริกัน เลื่อมใสศาสนาเป็นอย่างมาก เขาศึกษาวิชาแพทย์เพื่อที่จะทำงานเป็นมิชชันนารี เผยแผ่ศาสนาคริสต์

เขาสมัครเป็นแพทย์มิชชันนารี เข้าสู่สยามประเทศพร้อมกับคณะมิชชันนารีตอนอายุ 31 สมัยรัชกาลที่ 3

ถ้าชื่อหมอบรัดเลย์มีตัว K ผมคงเดาว่าเป็นต้นตระกูลของ Super Doctor K
เพราะหมอบรัดเลย์เชี่ยวชาญการแพทย์ทุกแขนง
ทุกแขนงยังไงน่ะหรือครับ?

หมอบรัดเลย์เป็นผู้ทำการผ่าตัดครั้งแรกในแผ่นดินสยาม ตอนนั้นผ่าตัดแขนพระจากเหตุการณ์พลุระเบิด
เคยผ่าตัดก้อนเนื้อออกจากหน้าผากชายผู้หนึ่งสำเร็จ
เคยผ่าตัดต้อกระจก ต้อลม
แถมเป็นผู้ริเริ่มให้ชาวไทยปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ
ถ้าไม่มีหมอบรัดเลย์ ไม่รู้ว่าคนไทยจะเสียชีวิตไปเท่าใด

นอกจากเก่งเรื่องการแพทย์ ยังเก่งด้านภาษาด้วย เป็นผู้ร่างและแปลจดหมายภาษาอังกฤษถวายงาน แถมเป็นล่ามเจรจาการค้ากับฝ่ายตะวันตก

เมื่อสหรัฐฯตัดสินใจยุติการสนับสนุนภารกิจของมิชชันนารีในสยาม คณะมิชชันนารีพากันกลับบ้าน แต่หมอบรัดเลย์เลือกที่จะอยู่ต่อ
ถ้าอยู่ต่อ ก็ต้องมีรายได้ แต่จะมีรายได้ยังไง?

โชคดีที่คณะมิชชันนารีทิ้งแป้มพิมพ์ไว้ หมอบรัดเลย์จึงเริ่มกิจการการพิมพ์เป็นภาษาไทย
ตอนนั้นไม่มีตัวพิมพ์ไทย หมอบรัดเลย์จึงนำตัวพิมพ์จากสิงค์โปร์และอินเดียมาใช้ขั่วคราวไปก่อน
เป็นคนแรกที่หล่อตัวพิมพ์ไทยได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2384
จากนั้นจึงเริ่มพิมพ์หนังสือต่างๆมากมาย ทั้งหนังสือแพทย์ พงศาวดาร ราชกิจจานุเบกษา แถมยังออกหนังพิมพ์แรกของสยาม ใช้ชื่อว่า หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ (Bangkok Recorder)

หมอบรัดเลย์ผลิตงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งตำราเรียนภาษาไทย พจนานุกรม วรรณคดี จึงพัฒนาการศึกษาไทยโดยปริยาย

หมอบรัดเลย์ถึงแก่อนิจกรรมในวัย 69 ทำงานหนักเพื่อแผ่นดินไทยเกือบ 40 ปี แม้เป็นชาวต่างชาติ แต่หัวใจเป็นคนไทย ฝังร่างกายไว้ในแผ่นดินไทย …

3 บุญผ่อง ศิริเวชชะพันธ์

เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมทางรถไฟที่กาญจนบุรีถึงได้ชื่อว่า “ทางรถไฟสายมรณะ” ?

สารภาพตามตรงว่าผมเคยไปเที่ยวทางรถไฟนี้หลายครั้ง แต่ไม่รู้จักที่มา เพิ่งมารู้จากหนังสือว่าทางรถไฟนี้ก่อสร้างโดยทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

จะว่าก่อสร้างโดยทหารญี่ปุ่นก็คงไม่ได้ เพราะคนก่อสร้างคือแรงงานชาวเอเชียกว่า 200,000 คน ญี่ปุ่นตั้งใจบุกเข้าอินเดียให้เร็วที่สุด จึงเร่งสร้างทางรถไฟระยะ 400 กิโลเมตรในพื้นที่หุบเขากาญจนบุรีให้เสร็จภายในหนึ่งปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้

แรงงาน 200,000 คนไม่พอ จึงส่งทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร 60,000 คนมาร่วมด้วย

การก่อสร้างเป็นไปอย่างโหดร้าย งานหนักและอันตราย อาหารไม่เพียงพอ แรงงานเจ็บป่วยจากไข้ป่า อหิวาตกโรค แผลติดเชื้อ บางโรคไม่ถึงตาย แต่ไม่มียารักษา มีคนตายแทบทุกวัน
ผลจากการสร้างทางรถไฟนี้ กรรมกรเอเชียตายราว 70,000 เชลยศึกตายราว 12,000 หรือมีคนตายร่วมแสน เป็นทางรถไฟสายมรณะอย่างแท้จริง

ทหารญี่ปุ่นลงโทษโบยตีด้วยแส้ พวกที่พอทำงานได้ก็ทำกันไป สภาพที่เห็นคือโครงกระดูกเดินได้

มีคนไทยคนหนึ่งมองดูภาพนั้นอย่างเศร้าสลด ชายผู้นั้นชื่อ บุญผ่อง ศิริเวชชะพันธ์

คุณบุญผ่องเปิดร้านค้าริมแม่น้ำแม่กลอง ทุกวันเห็นสภาพแรงงานสร้างทางรถไฟ

เค้าตัดสินใจทำสิ่งที่อันตราย ลอบติดต่อกับหมอที่เป็นเชลยศึก นายแพทย์ Edward ‘Weary’ Dunlop) หรือหมอเวียรี ว่าจะส่งยาและอาหารไปให้

หมอเวียรีแปลกใจระคนยินดี รู้ว่าเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย และนับถือน้ำใจชายไทยผู้นี้

คุณบุญผ่องพยายามผูกมิตรกับทหารญี่ปุ่น ด้วยความเป็นคนอัธยาศัยดี ทำให้ทหารญี่ปุ่นไว้ใจ ปล่อยให้เข้าออกค่ายเชลยสงครามได้

คุณบุญผ่องเริ่มลักลอบนำอาหาร ยารักษาโรคให้เชลยศึก ซุกซ่อนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ถ่านไฟฉายในเข่งผัก รวมทั้งรับปากส่งจดหมายไปสู่โลกภายนอก

เขารู้ว่าการกระทำนี้เสี่ยงชีวิต ถ้าทหารญี่ปุ่นรู้ เค้าอาจถูกทรมานหรือถูกฆ่าทิ้ง
แต่เค้านิ่งดูดายไม่ได้ ยังคงให้ความช่วยเหลือเชลยศึกอย่างต่อเนื่อง
เค้ากลัวทหารญี่ปุ่นระแคะระคาย จึงให้ลูกสาววัยสิบขวบลอบส่งอาหารและยา เด็กเข้าออกค่ายคงไม่สะดุดตาใคร แต่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ทหารญี่ปุ่นทราบความจริง จึงตอบแทนเค้าด้วยกระสุนยิงหน้าอก !
โชคดีที่รอดตายมาได้

โดนยิงแล้วแทนที่จะเลิก เค้ายังคงลอบให้ความช่วยเหลือเชลยศึกต่อไป จนสงครามยุติ

การกระทำของคุณบุญผ่องและหมอเวียรีทำให้เราเห็นว่า แสงสว่างแห่งเมตตาธรรมจากหัวใจคนสามารถสาดแสงส่องเข้าไปในความมืดมิดได้ เมตตาค้ำจุนโลก และทำให้โลกยังสว่างอยู่

นานสามสิบกว่าปีหลังสงครามจนถึงปีสุดท้ายของชีวิต ทุกช่วงคริสต์มาส บุญผ่องและครอบครัวได้รับบัตรอวยพรจำนวนมากจากอดีตเชลยศึก

สงครามอันเลวร้ายที่สุดก็ยังมีความทรงจำด้านที่ดี

(ย่อหน้านี้ผมคัดลอกมาจากหนังสือ อ่านแล้วน้ำตาซึม ประทับใจมาก งดงามทุกตัวอักษร ไม่สามารถย่อหรือตัดคำใดได้)

คุณบุญผ่อง ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2525 รวมอายุ 76 ปี

นอกจาก 3 เรื่องนี้แล้ว เรื่องอื่นก็สนุก บางเรื่องเคยได้ยินผ่านหู บางเรื่องไม่เคยได้ยินมาก่อน บางเรื่องไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น เช่น
– ขนมหม้อแกง ทองม้วน สังขยา ถูกคิดค้นโดยแหม่มลูกครึ่งชาวโปรตุเกส-ญี่ปุ่น
– คนไทยนำทัพม้าของรัสเซียเข้าต่อกรกับกองทัพเยอรมัน
– อธิบดีกรมตำรวจภูธรคนแรกเป็นคนเดนมาร์ก
– กรรมการสมาคมทางภาษาและวรรณคดีไทยเป็นชาวฝรั่งเศส !
– นายพลต้วนซีเหวินเป็นใคร ทำไมถึงปลูกฝิ่นที่ดอยแม่สลอง?
– ไทยเคยขยายดินแดนไปถึงเชียงตุงในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

สั้นๆเลย ซื้อมาอ่านเถอะ
ไม่ต้องยืมเพื่อน ไปซื้อมาเลย
265 บาท คุ้มกว่านี้ไม่มีแล้ว

ขอบคุณคุณวินทร์ เลียววาริณ สำหรับงานเขียนทรงคุณค่า
ได้ยินว่า คุณวินทร์วางแผนจะเขียนหนังสือชุดนี้ ๔ เล่ม (เล่มนี้คือเล่มแรก) ผมรออ่านเล่ม ๒, ๓, ๔ อย่างใจจดใจจ่อครับ ^__^

ป.ล. ผมไม่มีส่วนได้เสียใดๆกับหนังสือเล่มนี้ เพียงแต่ชอบมากและต้องการบันทึกความทรงจำ

.
หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟซบุ๊กแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^__^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.