“พี่คะ อยากปัดเวลาให้เป็นทุก 15 นาที ต้องเขียนสูตรยังไงคะ?”
จู่ ๆ คุณติ๊บ สาวงามอันดับหนึ่งของบริษัทเดินมาหาผมที่โต๊ะ
“อะ..อะ..ไร..ไร นะครับ” ผมตั้งตัวไม่ติด ไม่เคยอยู่ใกล้เธอขนาดนี้มาก่อน ปกติได้แต่แอบมองระยะ 30 เมตร
“คือติ๊บมีข้อมูลที่เป็นเวลา อยากปัดเศษทิ้งให้เป็นทุก 15 นาที เช่น 9:14 ปัดเป็น 9:00 หรือ 9:24 ปัดเป็น 9:15 ค่ะ”
“อ่ะ..เอ่อ… ค่ะ..คิดว่าได้นะครับ” ผมพยายามคุมสติ
“จริงหรือคะ ทำยังไงคะ?”
“ลองเขียนสูตรแบบนี้ครับ” ผมพยายามทำมือไม่ให้สั่นตอนพิมพ์
=FLOOR(A4,“0:15”)

“ว๊าย! ได้จริงด้วย” คุณติ๊บปรบมือพลางยิ้มกว้าง เพิ่งสังเกตว่าเธอมีลักยิ้มด้วย
“อ่ะ…ครับ” ผมยังคงตื่นเต้น
“เพิ่งรู้ว่าใช้ FLOOR แบบนี้ได้ด้วย ไม่เคยใช้แบบนี้มาก่อนเลยค่ะ”
“จริงๆแล้วเคสนี้เขียนแบบนี้ก็ได้นะครับ”
=FLOOR(A4,1/24/60*15)

เพราะค่าที่แท้จริงของเวลาคือตัวเลข โดย
1 วัน มีค่า = 1
1 ชั่วโมง มีค่า = 1/24 (0.04167)
1 นาที มีค่า = 1/24/60 (0.00069)
ดังนั้น
15 นาที มีค่า = 1/24/60*15 (0.01042)
ฟังก์ชัน FLOOR โครงสร้างคือ
FLOOR( number, significance )
number คือ ตัวเลขที่ต้องการปัด
significance คือ ระดับนัยสำคัญที่ต้องการปัด
ถ้าต้องการปัดในระดับ 15 นาที ก็ระบุ significance เป็น “0:15”
ระบุแบบตรงๆเป็น 1/24/60*15 ก็ได้
แต่ “0:15” น่าจะง่ายกว่าใช่ไหมครับ
“หวาว! ติ๊บเพิ่งรู้เลยนะคะเนี่ย ขอบคุณมากเลยค่ะ”
“ยินดีครับ” พอคุยกันสักพัก ผมเริ่มคุมสติได้ดีขึ้น
“แล้วถ้าต้องการปัดขึ้นให้เป็นทุก 15 นาทีล่ะค่ะ เช่น 9:14 ปัดเป็น 9:15 หรือ 9:24 ปัดเป็น 9:30?”
“ใช้หลักการเดียวกัน แต่เปลี่ยนเป็นฟังก์ชัน CEILING ครับ”
หรือเขียนสูตรเป็น
=CEILING(A4,”0:15″)

“ว๊าย เพิ่งรู้ว่าง่ายขนาดนี้” ท่าทางตกใจของคุณติ๊บน่ารักมาก
“ครับ” ผมนึกคำพูดอื่นไม่ออก แต่ในใจลิงโลด
“เอ… แล้วถ้าไม่ต้องการปัดขึ้นหรือปัดลง แต่ต้องการให้ปัดตามจริงทุก 15 นาที เขียนสูตรยังไงคะ?”
“เช่น ยังไงหรือครับ?”
“เช่น ถ้า 9:22 ปัดเป็น 9:15 แต่ 9:23 ปัดเป็น 9:30 เพราะ 9:23 ห่างจาก 9:15 8 นาที ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของ 15 นาทีค่ะ”
“อ๋อ ถ้าเป็นเช่นนี้ใช้ฟังก์ชัน MROUND ได้เลยครับ”
=MROUND(A4,”0:15″)

“หวาว! เพิ่งรู้จักฟังก์ชันนี้เป็นครั้งแรกเลยค่ะ”
“MROUND เป็นฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อใช้ปัดค่าแบบ customized จะปัดทุกๆ 30, 50, 75 ยังไงก็ได้ ปรับได้ตามต้องการเลยครับ” ผมส่งยิ้มที่คิดว่าหล่อที่สุดในชีวิต
(สำหรับท่านใดที่สนใจฟังก์ชัน MROUND อ่านรายละเอียดได้จาก บทความนี้ )
“อ้อ! ตอนนี้บริษัทเราใช้ Office 365 แล้ว ผมแนะนำให้ใช้ฟังก์ชัน FLOOR.MATH แทน FLOOR นะครับ”
“ทำไมล่ะค่ะ?”
“เพราะฟังก์ชัน FLOOR อาจจะใช้ไม่ได้ในอนาคตครับ”
“เอ๋!” คุณติ๊บทำท่าแปลกใจ
ถ้าลองพิมพ์ =floor ในเซลล์ใดๆจะได้แบบนี้

สังเกตว่าฟังก์ชัน FLOOR มีเครื่องหมาย warning ที่มุมล่างขวา เพราะฟังก์ชันนี้อาจยกเลิก หรือใช้ไม่ได้ในอนาคต
ทางแก้คือให้ใช้ฟังก์ชัน FLOOR.MATH แทน
หรือจากเคสเดิมก็เขียนสูตรเป็น

ฟังก์ชัน CEILING ก็เช่นกัน ถ้าลองพิมพ์ =ceiling จะได้แบบนี้

ทางแก้คือให้ใช้ฟังก์ชัน CEILING.MATH แทนนั่นเอง

อย่างไรก็ตามฟังก์ชัน FLOOR.MATH และ CEILING.MAT ใช้ได้ตั้งแต่ Excel 2013 ขึ้นไป ถ้าใครใช้ Excel 2010 ก็ใช้ฟังก์ชัน FLOOR, CEILING ดีกว่าครับ
(สำหรับใครที่สนใจฟังก์ชัน FLOOR.MATH, CEILING.MATH และ MROUND อ่านรายละเอียดได้จาก บทความนี้ )
“หวาว! ได้ความรู้เยอะมากเลย ขอบคุณมากนะคะ”
“ยินดีครับ” ผมตอบ พลางได้กลิ่นน้ำหอมจางๆของเธอ
“เดี๋ยวติ๊บไปทดลองเลยดีกว่า ขอบคุณอีกครั้งนะคะ” คุณติ๊บเก็บของแล้วโบกมือบ๊ายบาย
“ยินดีครับ” ผมโบกมือตอบ แม้ในใจไม่อยากให้เธอไปก็ตาม
Excel นี่มันดีจริงๆเลยนะ ^^
สำหรับใครที่สนใจไฟล์ตัวอย่างของบทความนี้ สามารถดาวน์โหลดเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้เลยครับ
หลังอ่านบทความนี้จบ ภรรยาผมถามว่า
“ติ๊บนี่ใคร?”
“ติ๊บเติ๊บอะไร ไม่มี แต่งเรื่องขึ้นมาให้อ่านสนุกเฉยๆ”
“จริงรึ?”
“จริงจริ๊ง!!”
“อย่าให้รู้นะ”
“ก็บอกว่าเรื่องแต่ง จริงจริ๊ง!!”
.
หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่โดยคลิก Like เฟซบุ๊กแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^__^
.
อ้อ! ตอนนี้ผมมีสอนคอร์สออนไลน์กับทาง SkillLane แล้ว ดูรายละเอียดได้จาก ลิงก์นี้ครับ
ขอรบกวนถามครับ ถ้าผมต้องการปัดเศษเวลาที่มีหลายคนหลายเวลา เช่น
1. นายก. 12:45 เป็น 12:30
2. นายข. 12.25 เป็น 12.00