{Book Review} Finding Sisu: เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว

ผมตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วยเหตุผล 2 ข้อ

ข้อแรก: หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับประเทศฟินแลนด์ ฟินแลนด์คือหนึ่งในประเทศที่ผมสนใจมากที่สุด เพราะได้รับการจัดอันดับว่ามีความสุขและมีการศึกษาดีที่สุดในโลก

ข้อสอง: เป็นหนังสือของสำนักพิมพ์ openbooks กระดาษดีแบบไม่มีที่ติ และถ้าพูดถึงชื่อนี้ก็ต้องนึกถึงคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ยอดนักเขียนในดวงใจ

อาจเป็นเพราะเหตุผลสองข้อนี้ดึงดูดให้ซื้อ แต่ไม่ดึงดูดมากพอให้อ่านทันที จึงโดนหนังสืออื่นหลายสิบเล่มแซงคิว โดน “ดอง” ในชั้นหนังสือที่บ้านมานาน

พอดีลูกชายจอมซนไปรื้อชั้นหนังสือ ผมจึงต้องจัดเก็บใหม่ พบหลายเล่มที่ถูกดองมาเนิ่นนาน หนึ่งในนั้นคือเล่มนี้

ทันทีที่เห็นปก คล้ายเหตุผลสองข้อนั้นกระโจนสู่สายตา กอปรกับเพิ่งอ่านหนังสือเล่มนึงจบ จึงอ่านเล่มนี้ต่อทันที เพราะถ้าไม่อ่านครานี้ อาจไม่ได้อ่านอีกแล้วก็เป็นได้

“ของดีที่ (เกือบ) ถูกมองข้าม” คือนิยามหลังอ่านจบ

หนังสือเล่มนี้เล่าถึง Sisu (อ่านว่า ซิ-สุ) ซึ่งเป็นวิถีของคนฟินน์

จะว่าเป็นวิถีก็ไม่ใช่ วัฒนธรรมก็ไม่เชิง คล้ายเป็นทัศนคติมากกว่า

ซิสุ แปลว่าอะไร?

ถ้าจะหาศัพท์ภาษาไทยที่มีความหมายตรงตัวคงไม่มี แต่ถ้าให้อธิบายก็น่าจะเป็น

ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค คือการใช้ชีวิตที่เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ และก้าวข้ามผ่านสิ่งที่เคยคิดว่าเป็นข้อจำกัด

ใช่ครับ ซิสุ เป็นนามธรรม ถ้าถามนิยามคำนี้กับคนฟินน์ 10 คน อาจตอบได้ 10 แบบ แต่ทั้ง 10 แบบก็มีความหมายคล้ายๆกัน

ผู้เขียนหรือคุณกัตเทีย พันต์ซาร์ (Katja Pantzar) แม้เป็นลูกครึ่งฟินแลนด์ แต่ใช้ชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนโตในแคนาดา เรียกว่าเธอเป็นคนแคนาดาจะง่ายกว่า เธอทำงานด้านบรรณาธิการ และนักข่าวโทรทัศน์ เธอเล่าให้ฟังว่าชีวิตในแคนาดาแม้มีทุกอย่าง แต่เธอไม่มีความสุข และถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า

เธอเห็นการรับสมัครงานบรรณาธิการในฟินแลนด์ จึงคิดว่าเป็นโอกาส น่าจะลองไปทำงานที่นั่นสักสองปี แต่กลายเป็นว่าเธอหลงรักและปักหลักในฟินแลนด์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เธอหลงใหลใน ซิสุ และคิดว่านั่นคือเคล็ดลับที่ทำให้คนฟินแลนด์ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าให้อธิบายซิสุตรงๆอาจไม่เห็นภาพ เพราะซิสุเกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมและเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของคนฟินแลนด์ เธอจึงศึกษาและเล่าซิสุผ่าน 8 เรื่อง ด้วยกันคือ

1 การว่ายน้ำหน้าหนาว

คนฟินน์มีวัฒนธรรมว่ายน้ำหน้าหนาวมาอย่างยาวนาน

คำว่าหน้าหนาวคือหน้าหนาวจริงๆ อย่าลืมว่าฟินแลนด์คือประเทศในยุโรปเหนือ มีพรมแดนติดกับรัสเซีย และเป็นบ้านเกิดของคนที่ทุกคนในโลกรู้จัก นั่นคือ ซานตาคลอส

ดังนั้นเรื่องความหนาว ไม่ต้องพูดถึง

การว่ายน้ำหน้าหนาว คือการว่ายในน้ำที่มีอุณหภูมิ 0-4 องศาเซลเซียส

อ่านไม่ผิดหรอกครับ ศูนย์องศาเซลเซียส !!

การว่ายน้ำหน้าหนาวใช้เวลาสั้นมาก ประมาณ 30-60 วินาที (แน่ละ ถ้านานกว่านั้นได้แข็งตายแน่) คุณกัตเทียเล่าให้ฟังว่า พอลงน้ำไป คล้ายมีเข้มร้อยพันเล่มทิ่มแทงทั่วร่าง เจ็บปวดสุดแสนทรมาน แต่พอผ่านจุดนี้ไป ร่างกายจะรู้สึกสบาย คล้ายปลดเปลื้องบางสิ่งอย่าง จนรู้ตัวอีกที เธอก็เป็นนักว่ายน้ำหน้าหนาวไปแล้ว

แน่นอนว่าการว่ายน้ำในอุณหูมิจุดเยือกแข็งนั้นไม่สนุก ต้องใช้ซิสุอย่างมาก แต่ถ้าทำได้ เราจะรู้สึกว่าสามารถทำสิ่งอื่นได้ คล้ายกับทำสิ่งนี้ได้แล้ว ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้

นอกจากข้อดีในเชิงจิตวิทยาแล้ว ยังมีผลวิจัยว่ามีข้อดีกับร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า พายุฮอร์โมน เพราะกระตุ้นฮอร์โมนความสุขหลายตัวให้ทำงาน เช่น

  1. เอ็นดอร์ฟิน (ยาแก้ปวดตามธรรมชาติของร่างกาย)
  2. เซโรโทนิน (รักษาสมดุลทางอารมณ์)
  3. โดพามีน (สารสื่อประสาทที่ช่วยควบคุมระบบการให้รางวัลและระบบความพึงพอใจของสมอง)
  4. อ็อกซิโทซิน (ฮอร์โมนแห่งความรัก)

นอกจากเกิดพายุฮอร์โมนแล้ว ยังบรรเทาความเครียดและกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วย

แม้มีข้อดีมากมาย แต่ถ้าให้ว่ายน้ำอุณหภูมิศูนย์องศาเซลเซียส ผมคงต้องทำใจนานทีเดียว ^^

2 ซาวน่า

ผมเพิ่งทราบว่า Sauna (ซาวน่า) เป็นภาษาฟินแลนด์ และเป็นวัฒนธรรมของคนฟินน์นานนับพันปีแล้ว

ตัวเลขที่น่าสนใจมากคือ ฟินแลนด์มีประชากรประมาณ 5.5 ล้านคน จำนวนซาวน่าที่มีคือ 3.3 ล้านแห่ง !!

คงไม่ต้องบรรยายว่าคนฟินน์ไปซาวน่าบ่อยขนาดไหน ^_^

เวลาเข้าซาวน่าเรามักใส่ผ้าเช็ดตัวกันใช่ไหมครับ แต่คนฟินน์เค้าไม่ใส่อะไรเลย !

อ่านถูกแล้วครับ เค้าเปลือยร่างกายเข้าซาวน่ากันนั่นเอง (แยกห้องชาย-หญิง)

เค้ามองว่าการนุ่งผ้าเช็ดตัวหรือใส่ชุดว่ายน้ำนั้นทำให้ดูเป็นตัวประหลาด ไม่ใส่อะไรจะง่ายกว่า แถมยังเป็นการแสดงความจริงใจต่อกันและกันด้วย

คนฟินน์นั้นได้ชื่อว่ามีความเสมอภาค การซาวน่าแสดงออกถึงสิ่งนั้น เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใครใหญ่โตมาจากไหน ทุกคนก็นั่งซาวน่าในที่เดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกว่าที่ใครตรงไหน ขณะซาวน่าก็ไม่ใส่อะไรเลย

อาจเป็นเหตุผลทางจิตวิทยาก็ได้ เพราะถ้าเราไม่ใส่อะไร เราก็ไม่มีอะไรต้องปกปิด

ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องซาวน่านานแค่ไหน ขึ้นกับตัวเราเอง คนฟินน์มักพูดคุยระหว่างซาวน่า คุยได้ทุกเรื่อง ซาวน่าจึงกลายเป็นสถานที่ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

3 บำบัดด้วยป่า

คนฟินน์นั้นมีชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ อาจเป็นเพราะมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวสูง จึงพบป่าได้ทั่วไป คนฟินน์มักใช้เวลาในป่า เช่น เดินเล่น เก็บเบอร์รี่ เก็บเห็ด หรือทำกิจกรรมบางอย่าง

คนฟินน์เชื่อว่า

เมื่อยืนในป่า และแหงนหน้ามองต้นไม้ ปัญหาของคุณ จะดูเล็กนิดเดียว

ผมว่ามันจริงมากๆ

มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นคือ

เราควรทำกิจกรรมอะไรกับเด็กๆในป่า?

คำตอบคือ

เราไม่ต้องทำอะไรเลย !
เมื่อเราพาเด็กเข้าไป เด็กๆจะรู้เองว่าควรทำอะไร และเล่นสนุกได้เป็นชั่วโมง ป่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะพัฒนาทักษะกล้ามเนื้อและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้เด็กๆยังสัมผัสกับจุลินทรีย์ต่างๆซึ่งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้พวกเขาอีกด้วย

บางที ผู้ใหญ่ก็คิดมากไป …

นอกจากนี้คนฟินน์ยังชอบใช้เวลาในกระท่อม หรือเรียกในภาษาฟินนิชว่า เมิกกิ มีรายงานวิจัยว่าคนฟินน์กว่า 3 ล้านคนใช้เวลาที่เมิกกิเป็นประจำ ถ้าจำได้ จำนวนประชากรของฟินแลนด์คือ 5.5 ล้านคน สัดส่วนนี้จึงสูงมากๆ

เมิกกิ ของฟินแลนด์นั้นมักตั้งอยู่ริมน้ำหรือในป่า แต่ไม่ใช่กระท่อมสุดหรูที่เราเห็นในหนัง ตรงข้ามกลับเป็นกระท่อมที่เรียบง่ายมากๆ บางแห่งสร้างมาหลายสิบปีหรือหลายร้อยปีแล้ว

เมิกกิบางแห่งไม่มีทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา เพราะเป็นความตั้งใจของเจ้าของที่ต้องการชีวิตที่เรียบง่าย สอดคล้องกับวิถีคนฟินน์ที่ต้องการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ

4 ไดเอ็ตสไตล์นอร์ดิก

คนฟินน์ได้ชื่อว่ามีรูปร่างดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการปลูกฝังเรื่อง สัดส่วนอาหารในจาน แนวคิดนี้ง่ายมากๆ นั่นคือ หนึ่งจานที่กินต้องมี

ผัก ครึ่งหนึ่ง
แป้ง
(มันฝรั่ง ข้าว พาสต้า ธัญพืช) หนึ่งในสี่
เนื้อ
(เนื้อปลา เนื้อหมู ถั่ว เมล็ดพืช) หนึ่งในสี่

วิธีนี้ไม่ซับซ้อนและทำตามได้ง่าย แถมมีประโยชน์อีกต่างหาก

นอกจากแบ่งสัดส่วนอาหารในจานแล้ว ก็ใช้กับการแบ่งสัดส่วนตะกร้าเวลาซื้อของได้ด้วย (ซึ่งสัดส่วนในตะกร้าของผมไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ^^)

นอกจากนี้คนฟินน์ยังนิยมปลูกผักกินเอง ถ้าไม่มีพื้นที่ปลูกผักในบ้าน ก็จะมีสวนชุมชมกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ คล้ายกับเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้คนฟินน์เข้ามาปลูกผักและเก็บไปกินได้

คนฟินน์ชอบกินผักที่ตัวเองปลูกหรือเก็บจากป่า มากกว่าซื้อหาจากซุปเปอร์มาร์เก็ต แม้ว่าจะมีขั้นตอนมากกว่า อาจเป็นเพราะมีแนวคิด ซิสุแบบทำมือ (DIY Sisu) และต้องการใช้ชีวิตกับธรรมชาติ

5 การดูแลเด็ก

ฟินแลนด์นั้นได้ชื่อว่ามีสวัสดิการเกี่ยวกับเด็กดีมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่โจษจันกันมากคือ กล่องสำหรับเด็ก (Baby Box) นั่นคือถ้ามีแม่ตั้งท้องจนจะใกล้คลอด ทางการจะส่งกล่องนี้มาให้ คล้ายเป็นของรับขวัญเด็ก

ในนั้นจะมีสิ่งจำเป็นสำหรับการเลี้ยงเด็กทุกอย่าง ไม่มีได้แค่ 5-6 ชิ้น แต่มี 50 ชิ้น !

คุณกัตเทียเล่าให้ฟังว่าเธอไปรับกล่องนี้ที่ไปรษณีย์ตอนท้องแปดเดือน พอแกะกล่องออกมาถึงกับตะลึงไปเลย ทุกอย่างในนั้นได้ใช้จริงๆ มีแม้กระทั่ง กรรไกรตัดเล็บเด็ก แปรงผมเด็ก หนังสือนิทานสำหรับเด็ก แถมอุปกรณ์ส่วนใหญ่ยังทำจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แม่ในฟินแลนด์นั้นลาคลอดได้จุใจถึงหนึ่งปีเต็ม (การลามาตรฐานคือสี่เดือน) เมื่อแม่กลับไปทำงานแล้วฟินแลนด์มีศูนย์ดูแลเด็กเล็ก (Day Care) ที่ดีมากๆ ที่สำคัญคือห่างจากบ้านเพียงห้านาที (แสดงว่ามีจำนวนเยอะมากๆ)

ค่าใช้จ่ายของศูนย์ดูแลเด็กเล็กจะคิดตามสัดส่วนรายได้ของพ่อแม่ และมีเพดานจำกัด คำว่า “เด็กเล็ก” คือเด็กที่มีอายุตั้งแต่ห้าปีลงไป ศูนย์ดูแลที่นี่ไม่ได้แค่เลี้ยง แต่จะสอนเด็กเข้าสังคม เล่น ทำงานศิลปะ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีการใช้โทรทัศน์หรือไอแพด นอกจากนี้ยังมีอาหารให้ด้วย พ่อแม่จึงไม่จำเป็นต้องเตรียมอาหารให้ลูกเลย (อยากให้มีแบบนี้ที่เมืองไทยบ้างจัง ^^)

เด็กในฟินแลนด์จะถูกปลูกฝังให้เล่นกลางแจ้งตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะฝนตก แดดออก หรือหิมะตกก็ตาม ประมาณว่าใส่เสื้อฝน ใส่เสื้อกันหิมะเล่นกลางแจ้งกันเลย

คนฟินน์มีสำนวนว่า

ไม่มีวันที่อากาศไม่ดีหรอก มีแต่วันที่แต่งตัวไม่เหมาะสมเท่านั้น

แนวคิดการเลี้ยงเด็กแบบกลางแจ้งนี้มีในประเทศนอร์ดิกอื่นๆด้วย ผมจำได้ว่าตอนอ่านหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกเชิงบวกวิถีเดนมาร์ก ก็มีแนวคิดนี้เช่นกัน

ทักษะที่สอนในศูนย์ดูแลเด็กเล็กช่วยเสริมสร้าง ซิสุ ซึ่งก็คือทัศนคติไม่ยอมแพ้เมื่อเผชิญกับความท้าทาย เช่น การเล่นตัวต่อยากๆ การแก้ไขความไม่ลงรอยกับเด็กคนอื่นด้วยการพูดคุยหาทางออก การเก็บจานช้อมส้อมที่ใช้แล้วไปเก็บที่รถเข็นหลังกินเสร็จ การใส่ชุดกันหิมะเอง การประดิษฐ์สิ่งของด้วยตนเอง

เด็กในฟินแลนด์เริ่มไปโรงเรียนตอน 7 ขวบ (ผมเดาว่าน่าจะระดับประถม ฟินแลนด์ก็มีเรียนอนุบาลเช่นกัน แต่เรียนแค่ครึ่งวัน) การศึกษาของฟินแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก คุณภาพของโรงเรียนใกล้กันหมด ดังนั้นโรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนใกล้บ้าน แถมยังเรียนฟรี !! (ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลาย และถ้าเป็นประชากรในสหภาพยุโรปก็แทบจะเรียนมหาวิทยาลัยฟรีเช่นกัน)

ฟินแลนด์เน้นการเล่นอย่างอิสระไม่มีแบบแผน ไว้ใจผู้คน สามารถปล่อยลูกเล่นกลางแจ้งกับเด็กคนอื่นได้เลย

เด็กจะมีสิทธิ 15 นาทีทุกชั่วโมงเรียน นั่นคือทุกๆบทเรียนที่ยาว 45 นาที เด็กๆจะได้พัก 15 นาที สามารถทำอะไรก็ได้ ส่วนมากก็จะไปนอกตึกเรียน

เด็กในฟินแลน์ดจะถูกสอนตั้งแต่เด็กๆว่า คุณต้องทำสิ่งที่เริ่มไว้ให้เสร็จ ไม่ว่างานตรงนั้นจะยากแค่ไหนก็ตาม นั่นก็คือ ซิสุ นั่นเอง

ที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือ ครูทุกคนต้องจบปริญญาโทหรือมากกว่า ! แถมปริญญาโทที่ว่าต้องเรียน 5 ปี !!
การเป็นครูในฟินแลนด์นั้นไม่ง่ายเลย อัตราการแข่งขันสูงมาก แต่ครูจะได้ความไว้วางใจและมีอิสระค่อนข้างมาก พวกเขาจะทำงานในแบบที่ตนเห็นว่าดีที่สุด

คู่มือการศึกษาของฟินแลนด์ มีตอนหนึ่งระบุว่า ในหนึ่งวัน เด็กอายุต่ำกว่าแปดปีควรออกกำลังกายอย่างน้อยสามชั่วโมง !!
ช่วงเวลาดังกล่าวรวมถึงกิจกรรมที่ใช้ร่างกายเบาๆ การออกกำลังกายกลางแจ้งให้ได้เหงื่อ และกิจกรรมที่ต้องใช้พลังร่างกายมาก

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในฟินแลนด์นั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบ ฟินแลนด์ก็มีปัญหาเช่นเดียวกับหลายในประเทศ เช่นโดนตัดงบประมาณ การกลั่นแกล้งและความรุนแรงในโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าเด็กๆใช้เวลาในโลกออนไลน์มากเกินไป

6 การขี่จักรยาน

ฟินแลนด์นั้นเป็นประเทศที่ใช้จักรยานสูงมาก โดยเฉพาะในเมืองเฮลซิงกิ (เมืองหลวง) ที่มีเป้าหมายท้าทายว่าในปี 2025 เขตใจกลางเมืองต้องปลอดรถเกือบทั้งหมด !

มีรายงานนึงในปี 2013 แสดงข้อมูลที่น่าสนใจว่า เฮลซิงกิลงทุนกับจักรยาน 20 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้ให้ผลตอบแทนถึง 8 เท่า !!

แปลว่าลงทุน 20 ล้าน ได้ผลตอบแทน 160 ล้าน

ยังไง?

ผลตอบแทนนี้ไม่ได้มาตรงๆ แต่มาทางอ้อม นั่นคือประหยัดงบด้านสาธารณสุข เพราะคนขี่จักรยานมีสุขภาพดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ แถมยังลดมลภาวะอีกต่างหาก

ผลตอบแทนนี้ถ้าคิดในสหราชอาณาจักรจะสูงขึ้นถึง 1 ต่อ 14

การวางผังเมืองให้ความสำคัญกับทางจักรยานก่อน นั่นคือทางจักรยานเป็นเส้นทางที่สั้น ตัดตรง และสวยที่สุด มักเป็นเส้นทางเลียบน้ำ ทัศนียภาพสวยงาม แต่ถ้าเป็นเส้นทางรถจะอ้อมและไกลกว่า เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนขี่จักรยาน

คนฟินน์ขี่จักรยานกันทั้งปี คำว่าทั้งปีแปลว่าขี่ในทุกสภาพอากาศ ตั้งแต่ -20 องศาเซลเซียสในหน้าหนาว จนถึง 30 องศาสเซลเซียสในหน้าร้อน

นอกจากเหตุผลด้านสุขภาพแล้ว คนฟินน์มองว่าการขี่จักรยานคือการรักษาสิ่งแวดล้อมและสัมผัสกับทัศนียภาพที่งดงามตลอดทาง

อ่านแล้วอยากขี่จักรยานในเมืองเฮลซิงกิขึ้นมาทีเดียว ^__^

7 ขยับเป็นยา

คนฟินน์มีแนวคิดเรื่อง Movement as Medicine หรือแปลไทยว่า ขยับเป็นยา

ถ้ามีอาการเจ็บปวด จะเริ่มรักษาจากการขยับร่างกายก่อน ถ้าไม่หายจะไปนวด ฝังเข็ม หรือทำกายภาพบำบัด แต่จะไม่เริ่มจากการไปหาหมอหรือกินยา

ถ้าไปหาหมอ โดยเฉพาะหมอด้านจิตเวช การรักษาด้วยยาไม่ใช่ทางเลือกแรก คุณกัตเทียเองก็เป็นโรคซึมเศร้า เคยได้รับยาจากหมอในแคนาดา แต่พอมาหาหมอที่ฟินแลนด์ หมอมองว่ายาตัวนั้นมีฤทธิ์เสพย์ติดประเภทหนึ่ง แทนที่จะให้ยาตัวอื่น กลับให้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอื่นก่อน ถ้าไม่ไหวจริงๆถึงจะให้ยาตัวอื่นแทน

นอกจากไม่มองการรักษาด้วยยาเป็นทางเลือกแรกแล้ว คนฟินน์ยังนิยมการออกกำลังแบบไม่ตั้งใจ

เช่น การขี่จักรยาน การทำงานบ้าน การทำสวน หรือแม้กระทั่งการดูแลเมิกกิ อาจเป็นเพราะคนฟินน์มีซิสุ จึงชอบทำทุกอย่างด้วยตัวเอง แม้ว่าการจ้างคนอื่นทำจะสะดวกกว่าก็ตาม

8 Minimalism

มีสำนวนนึงของคนฟินน์กล่าวว่า

คนจนไม่มีสตางค์มากพอที่จะซื้อของถูก

ไม่ได้แปลว่าคนฟินน์นิยมซื้อของแพง แต่คนฟินน์ไม่นิยมซื้อของเพื่อปรนเปรอตัวเอง นิยมซื้อของโดยดูจากประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ชอบซื้อของที่คงทนและใช้ได้นานๆ และไม่ชอบทิ้งของ

การออกแบบสิ่งของเครื่องใช้สไตล์ฟินน์จึงเน้น minimalism หรือเชื่อในแนวคิด less is more

บ้านของคนฟินน์มักไม่ใหญ่โต เน้นการใช้สอยที่พอเพียง แถมคนฟินน์ยังชอบซื้อของมือสองอีกต่างหาก

ในฟินแลนด์ สวนสาธารณะ ทางเท้า และสนามหญ้าหน้าอพารต์เมนต์จะถูกแปลงสภาพกลายเป็นตลาดมือสองกลางแจ้งขนาดมหึมาปีละสองครั้ง ผู้ขายคือคนทั่วไป สามารถตั้งร้านขายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เสื้อผ้า จานชาม หนังสือ หรืออะไรก็ได้ที่ต้องการระบายออก

ฟังดูก็คล้ายๆตลาดจตุจักรบ้านเรานะครับ ^__^

….

หลังจากอ่านจบแล้ว ผมคิดว่าคุณกัตเทียเขียนในมุมบวกของคนฟินน์มากไปนิดนึง ทำให้มุมมองอาจไม่กว้างพอ แต่ถ้ามองถึงชื่อหนังสือว่า Finding Sisu ก็ไม่น่าแปลกอะไรที่เธอจะเลือกเขียนในมุมบวก

อย่างไรก็ตาม เธอเขียนถึงมุมเทาๆของคนฟินน์เหมือนกันว่า ถ้าดูจากภายนอก คนฟินน์จะดูเงียบๆ เข้าถึงยาก ไม่ค่อยแสดงออกทางสีหน้า หน้าตาตอนปกติค่อนไปทางเศร้าด้วยซ้ำ แต่ถ้าสามารถเปิดใจได้แล้ว จะพบว่าคนฟินน์นิสัยดี น่าคบหา และมีชีวิตที่เรียบง่าย

ตอนแรกกะเขียนรีวิวหนังสือไม่เกินหนึ่งชั่วโมง แต่ตอนนี้ก็ซัดไปเกือบสี่ชั่วโมงแล้ว ยอมรับเลยว่าตอนเขียนถึงเรื่องซาวน่า เริ่มถามตัวเองว่าจะหยุดเขียนก่อนไหม แต่อาจเป็นเพราะซิสุของผมเองก็ได้ ที่เริ่มแล้วต้องทำให้เสร็จ และถึงตรงนี้ก็น่าจะนับว่าเสร็จแล้ว

ถามว่าหนังสือเล่มนี้อ่านสนุกไหม ไม่ค่อยสนุกหรอก ค่อนไปทางเรื่อยๆมากกว่า แต่อาจเป็นเพราะหลายอย่างถูกจริตของผม ความรู้สึกตอนอ่านคล้ายเจอสิ่งที่ตัวเองค้นหา เลยอ่านจนจบ

มารู้ช่วงท้ายว่าการเขียนหนังสือเล่มนี้นั้น คุณกัตเทียค้นคว้าเยอะมาก หนังสืออ้างอิงร่วมร้อยเล่ม แถมยังสัมภาษณ์ผู้คนอีกนับสิบ ซึ่งแต่ละคนก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ (หลายคนมีคำว่า ศาตราจารย์ นำหน้า)

นอกจากนี้ผู้แปลหรือคุณกัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ ก็สุดยอดมาก มารู้จากตอนท้ายว่าเธอจบมหาวิทยาลัยด้านดิจิทัลที่ฟินแลนด์ (เรียนด้านดิจิทัล แต่ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ !) หลายครั้งเธอเพิ่มเชิงอรรถทำให้อ่านง่ายขึ้น แถมยังวาดรูปประกอบอีกต่างหาก !!

เป็นการเขียนรีวิวหนังสือที่ยาวที่สุดในชีวิต เขียนแล้วไม่รู้จะมีใครอ่านหรือเปล่า แต่ก็ดีใจที่ได้เขียนครับ

ถ้าชอบ แชร์ได้นะครับ ยิ่งมีคนอ่าน คนรีวิวยิ่งมีกำลังใจครับ ^__^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

4 thoughts on “{Book Review} Finding Sisu: เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว

  1. ตอนแรกเข้ามาอ่านเพราะต้องรีวิวหนังสือเล่มนี้ค่ะ แต่พออ่านได้นิดหนึ่งก็ติดหนึบจนมาถึงบรรทัดสุดท้าย ชอบคำที่คัดมาไว้ข้างต้นนะคะ ให้ข้อคิดได้ดีเลย + ขอบคุณค่ะ

  2. ขอบคุณมากครับ กำลังหาข้อมูลมาทำรีวิวเล่มนี้หลังอ่านอยู่เลย

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.