“อยากเก่งเหมือนอาจารย์จัง ต้องทำยังไงครับ”
“คุณจะเอาอะไรมาแลกครับ?” ผมตอบยิ้ม ๆ
“ยะ.. ยังไงนะครับ?” ลูกศิษย์ถามกลับด้วยความงุนงง
ถ้าให้ผมในตอนนี้ประเมินความเก่งของตัวเองตอนเริ่มทำเพจใหม่ ๆ จาก 10 คงให้แค่ 3
แปลว่าตอนเริ่มทำเพจไม่เก่งเลย?
เปล่า ตอนนั้นคิดว่าตัวเองเก่งมากด้วยซ้ำ
แต่การทำเพจทำให้ต้องศึกษาเพิ่ม ทำให้รู้ว่ามีสิ่งที่ยังไม่รู้ สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าต้องรู้ และสิ่งที่รู้แต่เข้าใจผิดอีกมากมาย
พูดง่าย ๆ คือการทำเพจทำให้เก่งขึ้น
หรือถ้าพูดให้ชัดกว่านั้นคือ การเขียนบทความทำให้เก่งขึ้น
แต่.. การเขียนบทความมีต้นทุน
ต้นทุนอะไร?
ต้นทุนที่ว่าก็คือเวลา เพราะการเขียนบทความนึงใช้เวลาเฉลี่ย 5 ชั่วโมง ยังไม่นับรวมเวลาที่ต้องศึกษาและค้นคว้าข้อมูล
แล้วเอาเวลามาจากไหน?
ปกติคนเรามีความสมดุลของการใช้เวลาในแต่ละวัน ทุก ๆ ชั่วโมงถูกจับจองไว้ด้วยกิจวัตรหรือกิจกรรมบางอย่าง ดังนั้นการที่จะมี 5 ชั่วโมงงอกขึ้นมา แปลว่าต้องมีอะไรหายไป
การจะหาเวลาในระยะสั้นนั้นไม่ยาก แค่ลดเวลาไถมือถือ ลดเวลาอ่านข่าวดราม่า ลดเวลาแช็ตกับเพื่อน เท่านี้ก็มีเวลาเพิ่มขึ้นแล้ว
แต่การจะหาเวลาในระยะยาวมันไม่เหมือนกัน มันคือการเปลี่ยนนิสัย มันคือการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเลิกทำอะไรบางอย่าง
สำหรับผมคือบอลและเกม
เพื่อน ๆ รู้ว่าผมบ้าบอลมาก สมัยก่อนผมซื้อหนังสือพิมพ์สตาร์ซ็อกเกอร์ทุกวัน อ่านทุกคอลัมน์ ทุกตัวอักษร ใช้เวลาอ่านวันละ 2-3 ชั่วโมง
ช่วงหลังเปลี่ยนมาอ่านในเน็ตแทน นั่งไล่อ่านจากหลายเว็บทั้งไทยและเทศ อ่านแล้วก็คุยกับเพื่อนเป็นฉาก ๆ
นักฟุตบอลคนนี้ชื่ออะไร เล่นตำแหน่งอะไร เล่นให้สโมสรใด ทีมชาติอะไร อายุเท่าไร ผมรู้หมด
เกมที่ชอบคือ FM (Football Manager) ติดเข้ากระแสเลือด วางแผนลองแท็กติกแปลก ๆ ลองซื้อนักเตะคนนั้นคนนี้ ลองคุมทีมนั้นทีมนี้ รู้ตัวอีกทีก็เช้า อาบน้ำ แต่งตัวไปทำงาน
อีกเกมที่เล่นคือ Fantasy Premier League เกมนี้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาเล่นสัปดาห์ละไม่กี่นาที แต่สำหรับผมใช้เวลาหลายชั่วโมง วางแผนซื้อ-ขายนักเตะล่วงหน้าหลายสัปดาห์ วิเคราะห์ตารางการแข่งขันของแต่ละทีม อ่านบทความวิเคราะห์นักเตะคนนั้นคนนี้ ดูสถิตินักเตะทุกคนในพรีเมียร์ลีก
สัปดาห์นึงดูบอล 4-5 คู่ เตะดึกแค่ไหนก็ดู ไม่ใช่ทีมที่เชียร์ก็ดู (เชียร์ทีมนิวคาสเซิล) อยากดูฟอร์มนักเตะ อยากดูการวางแท็กติกของผู้จัดการทีม
ผู้จัดการทีมจะวางแผนยังไง ขึ้นเกมยังไง เซ็ตบอลยังไง โจมตีแบบไหน ตั้งรับยังไง อีกทีมจะแก้เกมยังไง ดูไปวิเคราะห์ไป สนุกมาก
สำหรับผม ฟุตบอลคือวิถีชีวิต มันเกินคำว่างานอดิเรกไปไกลแล้ว
วันที่นั่งลงคุยกับตัวเองว่าจะเอาเวลาจากไหนมาเขียนบทความ สมองซีกซ้ายชี้ไปที่ฟุตบอล สมองซีกขวาชี้ว่าอย่าเลย นั่นคือวิถีชีวิตของนายนะ
“ลดเวลาอย่างอื่นไม่ได้เหรอ” สมองซีกขวาเสนอ
“ไม่มีอย่างอื่นให้ลดแล้ว ถ้าลดก็ต้องลดเวลาให้ลูก ลูกกับบอล จะเลือกอะไร!” สมองซีกซ้ายยื่นคำขาด
ฟุตบอลจึงถูกแทนที่ด้วยการเขียนบทความตั้งแต่นั้น
ถามว่าสนุกไหม ตอบเลยว่าไม่ การมานั่งหลังขดหลังแข็งเขียนบทความที่ไม่รู้ว่าจะมีคนอ่านหรือเปล่ามันไม่สนุกหรอก บางทีเขียนแล้วโดนลองของ เจอคอมเมนต์แรง ๆ กำลังใจอันน้อยนิดแทบหมดสิ้น
แต่การที่โดนลองของ เจอคอมเมนต์แรง ๆ นั่นแหละทำให้ผมเก่งขึ้น
ถ้าตัดคำพูดแรง ๆ ออกไปจนเหลือแต่แก่น แก่นนั้นทำให้สำเหนียกว่ายังไม่รู้จริง ยังรู้แบบก๊อง ๆ แก๊ง ๆ บางเรื่องก็เข้าใจผิด บางเรื่องก็ไม่รู้เลย ทำให้ศึกษาลึกขึ้น กว้างขึ้น ละเอียดขึ้น
การเขียนบทความคือการสังเคราะห์สิ่งที่มีในหัว ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และการทดลองอะไรบางอย่าง
ศึกษาแล้วเข้าใจแบบนี้ แต่ลองทำแบบนี้ได้ไหม แล้วถ้าทำอีกแบบได้ผลลัพธ์เหมือนกันไหม ถ้าได้เพราะอะไร ไม่ได้เพราะอะไร
การทดลองใช้เวลามากกว่าการอ่าน เพราะเวลาส่วนใหญ่เสียไปกับการทดลองผิด แต่การทดลองผิดนี่แหละทำให้เข้าใจถูก ถ้าไม่ทดลองผิดก็จะไม่เข้าใจถูก (งงไหม?)
จากที่เคยอ่านข่าวบอล เปลี่ยนมาอ่านบทความ Excel
จากที่เคยเล่นเกม เปลี่ยนมาอ่านบทความ Power BI
จากที่เคยนั่งดูบอล เปลี่ยนมานั่งเขียนบทความ
รู้ตัวอีกที บทความกลายเป็นวิถีแทนที่บอลกับเกมไปแล้ว …
นั่นคือ ต้นทุน ที่แลกกับ ความเก่ง
ถ้าให้ถูก ขอเปลี่ยนคำว่า ความเก่ง เป็นคำว่า เก่งขึ้น
ทำไม?
เพราะผมคิดว่าตัวเองยังไม่เก่ง มีอะไรต้องศึกษา มีอะไรต้องค้นคว้า
ยิ่งศึกษา ยิ่งพบว่าไม่รู้ ยิ่งพบว่าตัวเองไม่เก่ง รู้อย่างเดียวว่าโลกเรามีคนเก่ง ๆ อีกมาก และผมอยากเป็นหนึ่งในนั้น
“เมิงไม่รู้เหรอว่าบรูโน่ แฟร์นานเดซย้ายมาแมนยูแล้ว”
“เออ กรูเพิ่งรู้จากเมิงนี่แหละ”
“อย่างเมิงเนี่ยนะไม่รู้?” เพื่อนถามด้วยความแปลกใจ
“เออ อย่างกรูนี่แหละ ถ้ามีใครย้ายทีม บอกกรูด้วยนะ” ผมตอบ
.
Photo Credit: Pixabay