การอบรมครั้งประทับใจที่สุด

ในชีวิตการทำงาน คุณเคยผ่านการอบรมมาแล้วกี่ครั้ง..

แล้วในการอบรมทั้งหมด ครั้งไหนที่คุณประทับใจมากที่สุด?

ระหว่างที่คุณกำลังนึก ผมขอเล่าการอบรมครั้งที่ประทับใจมากที่สุดให้ฟัง..

ย้อนไปเมื่อปี 2006 หรือเมื่อ 14 ปีก่อน ณ ออฟฟิศใจกลางกรุงเทพฯ

“วันนี้เราจะมาอบรมกันนะคะ” พี่แหม่ม HR Manager กล่าวเปิด
“การอบรมครั้งนี้มีผู้เรียนแค่ 10 คน คือทุกคนที่นั่งในห้องนี้”
“คอร์สนี้ดีมาก ทุกคนในที่นี้ผ่านการคัดเลือกมาแล้วว่าควรเข้าอบรมจริง ๆ ขอให้ตั้งใจ และทำตามกฎของวิทยากรนะคะ”
พี่แหม่มพูดแล้วยิ้ม
“กฎอะไรครับพี่แหม่ม?” ผมยกมือถาม
“เดี๋ยวให้วิทยากรอธิบายดีกว่าค่ะ ขอเสียงปรบมือต้อนรับคุณหลุยส์ค่ะ” พี่แหม่มผายมือไปยังชายร่างสูงโปร่งที่เดินเข้ามา
ผมหันหน้าไปตามทิศที่พี่แหม่มชี้ ผงะทันที เพราะชายสูงโปร่งคนนั้นเป็นฝรั่ง!

“ซา-หวัด-ดี-คับ” คุณหลุยส์กล่าวทักทายเป็นภาษาไทย และนั่นคือภาษาไทยคำเดียวในคอร์ส

10 คนที่เข้าอบรม บางคนเก่งภาษาอังกฤษ แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ แม้เราสื่อสารภาษาอังกฤษพอได้ แต่ไม่ได้คล่อง พอต้องอบรมเป็นภาษาอังกฤษ ทุกคนมองหน้ากันเลิ่กลั่ก

“เราจะอบรมกันเป็นภาษาอังกฤษนะคะ ถือเป็นการฝึกภาษาอังกฤษไปในตัว” พี่แหม่มพูดยิ้ม ๆ

คุณหลุยส์บอกตั้งแต่เริ่มว่าเพื่อให้การอบรมมีประสิทธิภาพ ขอตั้งกฎ 5 ข้อ
5 ข้อที่ว่าคือ

  1. ห้ามเข้าห้องสายแม้แต่วินาทีเดียว
  2. ห้ามลุกออกจากห้อง และห้ามเดินไปมาระหว่างอบรม
  3. ห้ามคุยกันเอง ถ้าจะคุยให้กับคุณหลุยส์เท่านั้น
  4. ห้ามนำคอมพิวเตอร์เข้าห้องอบรม (คอร์สนี้ไม่ต้องใช้คอมพ์)
  5. ห้ามใช้โทรศัพท์ และห้ามมีเสียงโทรศัพท์ดังแม้แต่กริ๊งเดียว

เจอกฎแบบนี้ก็เหวอสิครับ!

“แล้วถ้าทำไม่ได้ล่ะคะ?” พี่แก้ว ผู้เก่งกาจภาษาอังกฤษที่สุดในห้องยกมือถามแทนน้อง ๆ
คุณหลุยส์ยิ้มกว้างแล้วตอบว่า ถ้าทำไม่ได้ ต้องจ่าย 100 บาท/ครั้งที่ฝ่าฝืน

อ่านไม่ผิดหรอกครับ 100 บาท/ครั้งที่ฝ่าฝืน
แปลว่าทุกครั้งที่ทำผิดกฎ ต้องจ่าย 100 บาท
ทำผิดกฎ 5 ครั้ง จ่าย 500 บาท!

จากนั้นคุณหลุยส์ก็ยกโถแก้วคล้ายอ่างปลาทองขึ้นมาใบหนึ่ง บอกว่าถ้าใครฝ่าฝืนกฎให้จ่ายเงิน 100 บาทลงในโถนี้ ถ้าวันนั้นไม่มีใครฝ่าฝืนกฎเลย คุณหลุยส์จะจ่ายเงิน 1,000 บาทลงไปแทน พอจบคอร์สเราจะนำเงินนี้ไปทำบุญ แล้วก็วางโถปลาทองไว้โต๊ะหน้าสุด

“ถ้าลูกค้าโทรมาจะทำยังไงคะ?” พี่แก้วถามต่อ
ให้โทรกลับช่วงเบรก ถ้าเป็นสายด่วนจริง ๆ อนุโลมให้รับสายนอกห้องได้ แต่กฎยังเป็นกฎ ต้องจ่าย 100 บาท/ครั้งที่รับสาย

แปลว่าถ้ารับสาย 3 ครั้ง ต้องจ่าย 300 บาท!

“แล้วถ้าผู้บริหารโทรเข้ามาจะทำยังไงคะ?” พี่แก้วอาจหาญถามต่อ
“เหมือนกัน ถ้ารับก็ต้องจ่าย 100 บาท/ครั้ง” คุณหลุยส์ตอบแบบไม่ลังเล
คุณหลุยส์ให้ความมั่นใจว่าไม่ต้องกังวลที่จะไม่รับสาย เพราะคุณหลุยส์คุยกับผู้บริหารแล้ว ในสองวันที่อบรมนี้ทุกคนรับสายไม่ได้ และผู้บริหารตอบตกลง

“OK?” คุณหลุยส์ถาม
ใครจะกล้าตอบว่าไม่ล่ะ…

เจอกฎสุดโหดแบบนี้เข้าไป บรรยากาศน่าจะอึมครึมใช่ไหมครับ?

เปล่าเลย บรรยากาศดีมาก เป็นคอร์สสนุกที่สุดเลยก็ว่าได้

ทำไม?

เพราะทุกคนโฟกัส มีส่วนร่วมตลอดการอบรม

ช่วงแรกเราก็ต่อต้าน รู้สึกเหมือนโดนบังคับ ห้ามลุก ห้ามคุย ห้ามรับโทรศัพท์

แต่พอไม่ลุก ไม่คุย ไม่โทร ทำให้จดจ่อ ในหัวก็มีแต่การอบรม

แม้คุณหลุยส์จะออกกฎสุดโหด แต่เวลาสอนเค้าไม่โหดเลย เค้าใจดี เค้าตลก เค้าสนุก เค้ามีมุขดึงความสนใจพวกเราได้ตลอด

เค้าพยายามกระตุ้นให้ถาม ตอนแรกพวกเราก็ไม่กล้าถาม (เพราะภาษาอังกฤษไม่ดี) เค้าก็กระตุ้นให้พูด พูดผิดก็แก้ให้ หรือถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษแกรมมาไทยที่เค้าฟังไม่เข้าใจ พี่แก้วก็ช่วยแปลอังกฤษเป็นอังกฤษให้

พอมีคนพูด ทุกคนในห้องต้องฟัง (เพราะห้ามคุยกันเอง) คนพูดจะสัมผัสถึงการได้รับความสำคัญ ต่อให้พูดผิดก็กลายเป็นเรื่องตลก ทุกคนจึงผ่อนคลาย กล้าพูด แม้แต่คนที่อ่อนภาษาอังกฤษอย่างผมก็กล้าพูด

ด้วยความที่มีแค่ 10 คน คนที่นั่งไกลสุดอยู่เพียงแถวสาม ทุกคนจึงใกล้ชิดกับผู้สอน พูดคุยถามตอบกันสนุกมาก รู้ตัวอีกทีคือเวลาเบรก

ช่วงเบรก ทุกคนช่วยกันดูนาฬิกา คอยเตือนกัน เพราะถ้าไปสายวินาทีเดียวคือ 100 บาท

พอกลับมาหลังเบรก คุณหลุยส์ก็สอนต่อ เค้ามีพลังงานมากจริง ๆ ส่งผ่านพลังถึงพวกเรา พวกเราก็ได้พลังและทัศนคติดี ๆ จากเค้า

มีใครโดนปรับ 100 บาทไหมน่ะหรือ?

มีครับ มีหลายคนด้วย บางคนโทรหาลูกค้าช่วงเบรกแล้วคุยนาน เข้าช้า ก็จ่าย 100 บาท
มีคนนึงลืมปิดเสียงโทรศัพท์ แล้วบังเอิญโทรศัพท์ดัง ฮากันทั้งห้อง เค้าก็ตัดสายทิ้งแล้วเดินไปจ่าย 100 บาทโดยดุษฎี
มีครั้งนึง CEO โทรมา ต้ดสายทิ้งไม่ได้ พี่คนนั้นก็เดินไปจ่าย 100 บาท แล้วรับสายข้างนอก กลับมาก็ยิ้มแบบเขิน ๆ

ตอนมีใครจ่าย 100 บาท มันเหมือนเรื่องฮานะ คุณหลุยส์ก็แซวประมาณว่าสงสัยคนนี้อยากทำบุญ

สุดท้ายมีเงินค่าปรับประมาณสามพันบาท คุณหลุยส์เติมให้อีก 1,000 และมอบเงินนี้กับพี่แหม่ม (HR) เอาไปทำบุญในนามบริษัท

จบคอร์ส พวกเราทั้งสิบคุยกันและลงความเห็นตรงกันว่าคอร์สนี้ดีมาก มากจริง ๆ ตอนที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ ยังจำบรรยากาศตอนนั้นได้เลย แม้ผ่านมา 14 ปีแล้วก็ตาม

===================
วันที่ผมกระโดดเข้าสู่โลกของการเป็นวิทยากร ผมอยากนำกฎ 5 ข้อของคุณหลุยส์มาใช้ แต่สำเหนียกว่าทักษะการพูดยังห่างชั้นกับคุณหลุยส์ การใช้กฎแบบนี้ถ้าวิทยากรไม่เก่งพอจะทำให้ผู้เข้าอบรมต่อต้าน จึงพูดในเชิงขอความร่วมมือแทน

แต่สิ่งที่แอบหยิบมาใช้คือเรื่องจำนวนคน ผมมีความเชื่อมั่นในคลาสขนาดเล็ก จึงกำหนดจำนวนผู้เข้าอบรมสูงสุดที่ 12 คน

“12 คนเองหรือคะอาจารย์” คือคำถามที่ได้รับจาก HR ทุกบริษัท

พอเจอเงื่อนไขนี้ บริษัทที่เชิญผมเป็นวิทยากรกว่าครึ่งก็ถอย

บริษัทส่วนใหญ่มักจัดอบรมแล้วอยากให้มีผู้เข้าอบรมเยอะ ๆ เพื่อให้ต้นทุนต่อหัวถูกกว่าการส่งไปเรียนข้างนอก ขนาดคลาสมาตรฐานคือ 30 คน

แต่ถ้าว่ากันตามตรง การอบรม 30 คน มีได้ “อะไร” จริง ๆ กี่คน

โดยธรรมเนียมคนไทย มาก่อนนั่งหลัง มาหลังนั่งหน้า คนนั่งหน้าคือคนมาสาย และคนมาสายก็มักไม่ตั้งใจ เดี๋ยวโทรศัพท์ดัง เดี๋ยวตอบอีเมล เดี๋ยวเดินเข้า-ออก

พอมีคนเดินเข้า-ออก บรรยากาศมันก็ไม่ได้ คนที่นั่งหลังก็คิดว่าเข้า ๆ ออก ๆ ได้ ก็เลยเข้า ๆ ออก ๆ มั่ง สุดท้ายคลาสนั้นก็พัง

ต้นทุนต่อหัวถูกจริง แต่ทิ้งเงินลงน้ำ วิทยากรได้เงิน แต่บริษัทไม่ได้อะไร

เงื่อนไข 12 คนทำให้บริษัทส่วนใหญ่ถอย แต่ก็มีหลายบริษัทที่เดินหน้าต่อ และการอบรมก็เกิด

แม้ผมพูดเก่งสู้คุณหลุยส์ไม่ได้ แต่ผมก็นำเทคนิคของเค้ามาใช้ คือการสร้างบรรยากาศที่ดี กระตุ้นให้คนถาม ให้ความสำคัญกับทุกคำถาม

ด้วยความที่คลาสเล็กคนจึงกล้าถาม พอมีผู้กล้าคนแรก คนที่สอง คนที่สามจะตามมา ซักพักก็ถามกันเกรียวกราว บรรยากาศก็สนุก รู้ตัวอีกทีคือเวลาเบรก ม้นส์ทั้งคนเรียนและคนสอน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากมากในคลาสขนาดใหญ่

กฎทั้ง 5 ของคุณหลุยส์ แท้จริงแล้วมีเพียงจุดประสงค์เดียวคือ

FOCUS

เมื่อโฟกัส เราจะอิน เราจะสนุก เราจะมีส่วนร่วม และนั่นคือคอร์สที่ประทับใจไม่รู้ลืม ..

เล่าถึงตอนนี้ คุณนึกการอบรมครั้งประทับใจที่สุดออกหรือยังครับ
นึกออกแล้ว อย่าลืมเล่าสู่กันฟังนะครับ ^_^

=====================
ถ้าคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่โดยคลิก Like เฟซบุ๊กเพจวิศวกรรีพอร์ต
อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อนเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.