ตั้งแต่ลาออกจากงานประจำเพื่อมาสอนเต็มตัว ผมก็สอนมาแล้วหลายร้อยคลาส
มีทั้งคลาสที่ประสบความสำเร็จ และคลาสที่ไม่ประสบความสำเร็จ
ที่น่าแปลกก็คือ บางครั้งสอนคลาสนึงแล้วคิดว่าเจอสูตรสำเร็จ ผ่านไปสองวัน สอนคลาสเดียวกันเป๊ะ กลับเละไม่เป็นท่า
เนื้อหาเดียวกัน
คนสอนก็คนเดียวกัน
คนเรียนก็พื้นฐานคล้าย ๆ กัน
ทำไมล่ะ?…
ผมได้ดู TED Talk นึงแล้วชอบมาก นั่นคือ TED Talk ของอาจารย์เกด (ดร. กฤติณี พงษ์ธนเลิศ) ที่ชื่อว่า “ธุรกิจ… ก็มีหัวใจ Heartful Business”
พูดเรื่องการใส่ “ใจ” ลงในสิ่งที่ทำ แม้ในแง่ผลกำไร ไม่ต้องเล่นใหญ่เบอร์นั้นก็ตาม
หลังคลิปจบ ผมคิดว่าได้คำตอบแล้ว ..
ก่อนจะคุยว่าคำตอบคืออะไร มาคุยกันก่อนว่า คลาสที่ประสบความสำเร็จ กับคลาสที่ไม่ประสบความสำเร็จ วัดจากอะไร?
หลายคนอาจใช้วิธีที่แตกต่างกัน บางคนวัดจากแบบประเมิน บางคนวัดจากการสัมภาษณ์หลังเรียน
แต่สำหรับผม วัดจาก “มวลสาร”
“มวลสาร?”
ถ้าให้อธิบายเป็นนิยาม ไม่รู้จะเขียนยังไง ขออธิบายเป็นเหตุการณ์ละกัน
ลองจินตนาการว่าเรากำลังยืนพูดอยู่หน้าชั้น มีคนนั่งฟังเต็มห้อง ทั้งคนที่มองเรา และคนที่ไม่มองเรา
พอพูดไปสักพัก ณ จุด ที่ยืนอยู่ จะสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่าง
คล้ายความกดดัน ความคาดหวัง
คล้ายความเข้าใจของผู้ฟังที่ส่งผ่านสีหน้าและแววตา
คล้ายความรู้สึกที่ขับเคลื่อนบรรยากาศในห้อง
คล้ายบรรยากาศที่ส่งผ่านภาษากาย ไม่ว่าจะเป็น คนที่กำลังจดอย่างตั้งใจ คนที่พยักหน้าตามสิ่งที่เราพูด คนที่สบตาเรา คนที่นั่งเล่นมือถือ หรือคนที่นั่งหลับก็ตาม
ผมเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “มวลสาร”
มวลสาร ไม่มีรูป ไม่มีเสียง แต่มีความหนาแน่น มีอุณหภูมิ และคนสอนจะสัมผัสได้
ถ้าคลาสไหนประสบความสำเร็จ มวลสารจะหนาแน่นและอบอุ่น
แต่ถ้าคลาสไหนไม่ประสบความสำเร็จ มวลสารจะเบาบางและเย็นเยียบ
มวลสารมักสอดคล้องกับผลจากแบบประเมินเสมอ
ถ้ามวลสารดี ไม่ต้องอ่านก็รู้ว่าแบบประเมินต้องดี
แต่มวลสารแย่ เดาได้เลยว่าแบบประเมินต้องแย่ (แล้วก็แย่จริง ๆ)
หลังจากดู TED Talk ของอาจารย์เกด ผมค้นพบว่า มีองค์ประกอบหนึ่งซึ่งถ้ามี คลาสจะประสบความสำเร็จ
แต่ถ้าไม่มี คลาสจะไม่ประสบความเร็จ
องค์ประกอบที่ว่าคือ การเดิน
ใช่! การเดินของผมนี่แหละ
การเดินที่ว่านี้ รวมตั้งแต่
การเดินทักทายผู้เข้าอบรมก่อนเริ่มคลาส
การเดินให้คำแนะนำระหว่างสอน
การเดินพูดคุยระหว่างเบรก
รวมไปถึงอิริยาบทตอนสอน เช่น การยืนอธิบาย การใช้ภาษามือ การวาดรูปประกอบคำอธิบาย
เวลาเดินดูผู้เข้าอบรม จะพบเจอเสียงเหล่านี้เสมอ
“อาจารย์ช่วยดูสูตรตรงนี้นิดนึงได้ไหมคะ?”
“ถ้าจะทำแบบนี้ ต้องคลิกตรงไหนนะคะ?”
“เมื่อกี๊ลองทำตามแล้ว ได้ไม่เหมือนอาจารย์ครับ”
คำถามพวกนี้ คนเรียนมักไม่กล้ายกมือถาม เพราะถามแล้วดูไม่เท่ ไม่คูล
ต้องเดินดูถึงจะเห็น ต้องเดินเข้าไปใกล้ ๆ ถึงจะเปิดใจ
หลายครั้งที่เดิน พบว่าไม่มีใครถาม ไม่มีใครสนใจผมด้วยซ้ำ
แต่พอกลับมายืนที่จุดเดิม พบว่ามวลสารเปลี่ยนไป เริ่มแน่นขึ้น เริ่มอุ่นขึ้น บรรยากาศดีขึ้น..
ความรู้ที่ผมสอนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องของการเขียนสูตร เขียนคำสั่ง ถ้ามองด้วยตรรกะ ไม่มีความจำเป็นต้องเดิน ขอแค่สูตรถูก อธิบายที่มาที่ไปให้คนเรียนเข้าใจก็พอ
แต่ถ้ามองด้วยหัวใจ การเดิน การพูดคุย การสบสายตา อิริยาบท คือการใส่หัวใจ
และเมื่อใส่หัวใจ ใจเชื่อมใจ ความใช่จึงเกิด
การสอนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่การใส่หัวใจนั่นเอง ^_^
ป.ล. ผมเขียนบทความนี้เพื่อเตือนตัวเองครับ
เป็นบทความ ที่ดีที่สุดเท่าที่ผมอ่านมาในปีนี้ ของอาจาร์ย ครับ
.
.
ปล. เพิ่งได้อ่านเป็นบทความแรกของปีนี้ นะครับ จะติดตามต่อไปเรือย ๆ ครับ
ขอบคุณครับ ^_^