วอนผู้รู้ ขวนขวาย และปลายทาง

“วอนผู้รู้ดูให้หน่อยค่ะ อยากได้สูตรคำนวณค่าเสื่อมราคารายวัน”
“รบกวนขอสูตรคำนวณค่าจอดรถตามหลักเกณฑ์ในภาพนี้ครับ”
“อยากใส่จำนวนเงินลงไป แล้วให้แยกรายละเอียดตามแบงก์ ต้องทำยังไงใน Excel ครับ?”

ผมเห็นคำถามเหล่านี้ในเฟซบุ๊กกรุ๊ป ขณะจะพิมพ์ตอบ เหลือบเห็นคอมเมนต์แล้วชะงักกึกทันที..

ทำไม?

เพราะคำถามเหล่านี้ไม่ใช่โจทย์จากที่ทำงาน แต่เป็นการบ้าน!

ประมาณว่าอาจารย์ให้การบ้านแล้วคิดไม่ออก เลยมาโพสต์ถามในเฟซบุ๊กกรุ๊ป

มีคอมเมนต์เขียนตอบกันไปมา บทสนทนาประมาณนี้

A: แบบนี้ไม่ถูกนะ การบ้านก็ต้องคิดเองสิ จะมาโพสต์ให้คนอื่นตอบได้ยังไง
B: ไม่เห็นเป็นไรเลย คิดไม่ออกก็โพสต์ถาม ได้คำตอบเหมือนกัน
A: การบ้านควรจะพยายามด้วยตัวเองสิ ถ้าคิดไม่ออกก็ต้องขวนขวาย
B: ถามคนอื่นก็เป็นการขวนขวายแบบนึง สุดท้ายก็ได้คำตอบเหมือนกัน ปลายทางเหมือนกัน

ผมอ่านแล้วติดใจกับ 2 คำ คือ ขวนขวาย และ ปลายทาง

มาเริ่มจาก ขวนขวาย ก่อน

การนำการบ้านมาโพสต์ถามในเฟซบุ๊กกรุ๊ป ถือเป็นการขวนขวายหรือเปล่า?

มองในมุมนึง เจ้าของคำถามน่าจะลองคิดด้วยตัวเองแล้ว แต่คงคิดไม่ออกจริง ๆ น่าจะลองถามเพื่อนที่เรียนด้วยกันแล้ว เพื่อนก็คงคิดไม่ออกเหมือนกัน สุดท้ายไม่รู้จะทำยังไงก็เลยมาโพสต์ถามในเฟซบุ๊กกรุ๊ป

แต่ถ้าลองมองในอีกมุมหนึ่ง เจ้าของคำถามได้พยายามอย่างเต็มที่จริง ๆ แล้วหรือยัง?

ผมคิดว่าเจ้าของคำถามยังไม่พยายามอย่างเต็มที่

รู้ได้ยังไง?

เพราะถ้าลองพยายามอย่างเต็มที่แล้ว วิธีการตั้งคำถามจะดีกว่านี้ เช่น

“ลองเขียนสูตรคำนวณค่าเสื่อมราคารายวันแล้ว แต่พบว่าคำนวณค่าเสื่อมราคาผิดเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ ลองแก้สูตรหลายครั้งก็ยังผิดเหมือนเดิม ควรปรับสูตรยังไงดีคะ?”

“ลองเขียนสูตรคำนวณค่าจอดรถแล้ว ส่วนใหญ่คำนวณถูก แต่ถ้าจอดเกิน 24 ชั่วโมง จะได้ผลลัพธ์สูงกว่าที่ควรจะเป็น สูตรนี้ผิดตรงไหนครับ?”

“ลองเขียนสูตรแยกรายละเอียดตามแบงก์แล้ว แต่แบงก์ 50 ไม่เคยถูกใช้เลย ทั้งที่จริง ๆ แล้วควรถูกใช้เพื่อลดจำนวนแบงก์ 20 และเหรียญ 10 ตรรกะของสูตรนี้มีอะไรผิดหรือเปล่าครับ?”

วิธีการตั้งคำถามคือกระจกสะท้อนความพยายาม

มาคุยกันเรื่อง ปลายทาง บ้าง

ปลายทางในแง่ของนักเรียนคือ คำตอบที่ถูกต้อง

แต่ปลายทางในแง่ของอาจารย์คือ กระบวนการที่ต้องผ่านเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง

สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน

โจทย์บางข้อถูกออกแบบให้ยาก นั่นคือการจะแก้โจทย์ต้องทุ่มเทพลังกาย พลังใจ ทบทวนความรู้เก่า ค้นคว้าเพิ่มเติม ผสมผสานพลิกแพลง ทดลองหลาย ๆ แบบ ซึ่งแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและเวลา

ในมุมมองของอาจารย์นั้น ถ้านักเรียนแก้โจทย์ข้อนี้ได้ แปลว่าเข้าใจ แต่ถ้ายังแก้โจทย์ข้อนี้ไม่ได้ แปลว่ายังมีจุดที่ไม่เข้าใจ
โจทย์จึงคล้ายเป็นด่านที่ต้องผ่านให้ได้

ยังมีปลายทางของอีกคนที่เราอาจมองข้ามไป

ใคร?

คนตอบคำถามในเฟซบุ๊กกรุ๊ป

ปลายทางของคนตอบคำถามคืออะไร?

สิ่งที่คนตอบคำถามต้องการคือ ได้ท้าทายความรู้ตัวเอง และได้ช่วยเหลือผู้อื่น

โจทย์เหล่านี้ ในแง่ของความท้าทายถือว่าน่าสนใจ ตัวผมเองพออ่านโจทย์แล้วรู้สึกคันไม้คันมือ อยากลองหาคำตอบบ้าง

แต่พอรู้ว่าโจทย์เป็นการบ้าน ความรู้สึกท้าทายคันไม้คันมือมันหายไป ยิ่งเห็นวิธีการตั้งคำถาม ยิ่งรู้สึกเศร้าใจ

ยิ่งรู้ว่าหลายคำถามพอได้คำตอบแล้ว เจ้าของคำถามกลับลบโพสต์ทิ้งไป ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าทำไม

“ถามคนอื่นก็เป็นการขวนขวายแบบนึง สุดท้ายก็ได้คำตอบเหมือนกัน ปลายทางเหมือนกัน”

งั้นคำว่า ขวนขวาย และ ปลายทาง ของเราคงไม่ตรงกันแล้วล่ะ …

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.