คุณเคยได้ยินคำว่า Dilution Effect ไหมครับ?
ผมได้ยินมาสักพักแล้ว แต่เพิ่งรู้ว่าตัวเองเข้าใจผิดมาตลอด!
จนมาเข้าใจความหมายจริง ๆ เมื่ออ่านหนังสือชื่อ รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง
ก่อนจะคุยถึงหนังสือ มาคุยถึงความหมายของคำนี้ก่อนละกัน
ความหมายที่ถูกต้องคือ
เมื่อมีข้อมูลเพิ่ม สมองของเราไม่ได้บวกข้อมูลนั้นเข้าไป แต่กลับเฉลี่ยกับข้อมูลอื่นแทน
อ่านแล้วงงเนอะ มาดูตัวอย่างละกัน
ลองนึกภาพเรากำลังอ่านบทวิเคราะห์ผลประกอบการของบริษัทเดือนที่ผ่านมา
“ผลประกอบการของเดือนพฤษภาคม 2022 ดีกว่าเดือนที่แล้ว 20% ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 15% และดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 10%”
อ่านแล้วเป็นไงครับ?
รู้สึกว่าเดือนที่ผ่านมามันดีมากเลยใช่ไหมครับ
แต่ถ้าเพิ่มข้อความเข้าไปนิดหน่อย
“ผลประกอบการของเดือนพฤษภาคม 2022 ดีกว่าเดือนที่แล้ว 20% ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 15% ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 10% แต่แย่กว่าเดือนเดียวกันของสองปีที่แล้ว 5%”
รู้สึกเหมือนผมไหม?
ใช่, แค่เพิ่มคำว่า “แย่กว่าเดือนเดียวกันของสองปีที่แล้ว 5%” ทำให้ภาพรวมของเดือนพฤษภาคม 2022 ดูไม่คูล ทั้ง ๆ ที่แย่กว่าแค่ 5% และเมื่อสองปีที่แล้วอาจขายดีมาก ๆ ด้วยเหตุผลพิเศษบางอย่างก็ได้
เมื่อมีข้อมูลเพิ่ม สมองของเราไม่ได้บวกข้อมูลนั้นเข้าไป แต่กลับเฉลี่ยกับภาพรวมทั้งหมดแทน
ลองมาดูอีกตัวอย่างนึง
“เมื่อกินยานี้ทำให้หลับสบายตลอดคืน แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้หัวใจวาย และหลอดเลือดสมองอักเสบ”
อ่านแล้วเราคงหนีห่างยานี้
แต่ถ้าเพิ่มคำพูดเล็กน้อยเป็น
“เมื่อกินยานี้ทำให้หลับสบายตลอดคืน แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้หัวใจวาย หลอดเลือดสมองอักเสบ และคันตามง่ามเท้า”
ใช่, เรากลับรู้สึกว่าผลข้างเคียงของยานี้ไม่ได้รุนแรงเท่าไร เพราะเอาคำว่า “คันตามง่ามเท้า” ไปเฉลี่ยกับ “หัวใจวาย” และ “หลอดเลือดสมองอักเสบ”
นี่แหละคือความน่ากลัวของคำว่า Dilution Effect
เมื่อรู้ความหมายแล้ว จะเอาไปใช้ยังไง?
เอาไปใช้ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะตอนทำสไลด์
ตอนทำสไลด์ (เพื่อพรีเซนต์) เรามักใส่ข้อมูลทุกอย่างลงไป ใส่ให้มากที่สุดเท่าที่พื้นที่สไลด์แผ่นนั้นจะอำนวย ด้วยคอนเส็ปต์ที่ว่า “เหลือดีกว่าขาด”
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลที่น่าจะเกี่ยวข้อง และข้อมูลที่เกี่ยวข้องแบบแฉลบ ๆ ใส่เข้าไปหมด
ถ้าเจอคนฟังพรีเซนต์ที่เก๋า ๆ หน่อย คนพวกนี้ตาไวมาก ขณะที่เรากำลังพรีเซนต์ เค้าจะอ่านข้อมูลที่เราใส่ทั้งหมด และเกิด Dilution Effect
จากข้อมูลที่เคยดี กลับแย่ลงซะงั้น
จากข้อมูลที่เคยร้าย กลับผ่อนคลายซะอีก
ถ้าใครทำพรีเซนต์บ่อย ๆ จะรู้เลยว่า นี่แหละคือแท็กติกที่มือโปรใช้กัน
เวลาพรีเซนต์ข่าวดี พรีเซนต์ง่ายอยู่แล้ว ตัวเลขดี อะไรมันก็ดีไปหมด
แต่พอตัวเลขแย่ อย่าทำให้สไลด์นั้นแย่หมดทุกอย่าง ให้ใส่ข้อดีบางอย่างลงไป แม้ข้อดีนั้นจะเป็นจุดเล็กน้อยก็ตาม
ฟีลลิ่งของคนฟังต่างกัน เพราะเจ้า Dilution Effect นั่นแหละ
“ดูคล้ายเป็นการสับขาหลอก?”
ถ้าคุณคิดอย่างนั้น ลองถามคนพรีเซนต์เก่ง ๆ ใกล้ตัวคุณสิครับ ร้อยละร้อยใช้แท็กติกนี้กันทั้งนั้น
คนพรีเซนต์เก่ง ไม่ได้วัดกันตอนพรีเซนต์ผลงานดี แต่วัดกันตอนพรีเซนต์ผลงานแย่ เค้าจะมีวิธีรับมือกับความกดดันและฉุดอารมณ์ในห้องพรีเซนต์ขึ้นมาได้ยังไง
กลับมาที่หนังสือ รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนคือคุณรวิศ หาญอุตสาหะ (ขออนุญาตเรียกว่าพี่แท็ป)
ชื่อนี้น่าจะคุ้นหูหลายคน
ถ้าพูดถึงชื่อนี้ เรามักนึกถึงคำว่า Super Productive เพราะพี่แท็ปเป็นตัวอย่างของ Super Productive ที่ชัดเจนมาก
ผมเป็นแฟนหนังสือของพี่แท็ป อ่านทุกเล่ม เล่มที่ชอบมากคือ “คิดจะไปดวงจันทร์ อย่าหยุดแค่ปากซอย” และ “อย่าปล่อยให้ใครฆ่าวาฬของคุณ”
เรียกได้ว่า ถ้าเห็นหนังสือของพี่แท็ป ผมหยิบไปจ่ายเงินโดยไม่ต้องคิดเลย
แต่เล่มนี้ผมอ่านแล้วไม่ค่อยโดนเท่าไร
คือไม่ใช่ไม่ดี แต่ความรู้สึกตอนอ่านยังสู้เล่มอื่นไม่ได้
อาจเป็นเพราะเล่มนี้ถูกเขียนในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่โควิดเริ่มระบาด เป็นช่วงที่ทุกคนหดหู่ ท้อแท้ คล้ายอยู่ในอุโมงค์แห่งความสิ้นหวัง
พี่แท็ปเองก็โดนผลกระทบเช่นกัน เขียนเล่าให้ฟังว่ายอดขายของศรีจันทร์หายไป 75%
แม้จะโดนปัญหารุมเร้า แต่พี่แท็ปก็ยังเขียนหนังสือต่อเนื่อง (จนกลายเป็นเล่มนี้) อาจเป็นเพราะเขียนในช่วงโควิด โทนของหนังสือจึงดูทึม ๆ อึน ๆ
และด้วยเป็นการหยิบเอาหลายบทความมารวมเล่ม ธีมระหว่างบรรทัดจึงไม่ค่อยชัด
แต่หนังสือของพี่แท็ปก็ยังคงความเป็นพี่แท็ป นั่นคือ อ่านสบาย ๆ ได้แนวคิด รู้ตัวอีกทีก็ปาไปครึ่งเล่มแล้ว
บทที่อ่านแล้วว้าวคือ วิธี “สื่อ” สำคัญไม่แพ้ “สาร” จนเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความนี้ เพราะอยากบันทึก Findings กับ Feeling ที่ได้จากการอ่าน
บทอื่นที่ชอบมากคือ “หุบเขา”, “ตึง-ผ่อน-ตึง” และ “อย่ารีบเชี่ยวชาญเร็วเกินไป”
โดยรวมแล้ว ชอบมากกว่าไม่ชอบนะ
อ่านบทความนี้แล้วคิดเห็นยังไง หรือใครเคยอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ลองคอมเมนต์บอกเล่าเก้าสิบกันหน่อยนะครับ 😊