{Book Review} Productivity Hacks: สูตรโกงของคนเก่งงาน

“สูตรโกงของคนเก่งงาน” แค่ชื่อหนังสือก็น่าสนใจแล้ว

“Emily Price” ชื่อคนแต่งไม่ค่อยคุ้นหู

พอพลิกอ่านพบว่าเขียนเทคนิคเป็นข้อ ๆ มีทั้งหมด 541 ข้อ!

“มีตั้ง 500 ข้อ ถ้าโดนสัก 10 ก็ถือว่าคุ้มแล้ว” ผมคิดแบบนี้แล้วหยิบไปจ่ายเงิน

หนังสือฝรั่งแนวนี้ส่วนใหญ่มักเขียนเป็นแนวคิด หรือยกเรื่องราวประกอบ

แต่เล่มนี้เขียนแหวกแนว บอกเลยว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ (สไตล์คล้ายหนังสือญี่ปุ่น)

จุดที่ทำได้ดีคือสรุปเทคนิคเป็นหมวดหมู่ หมวดหมู่ที่เขียนได้เห็นภาพคือ เทคนิคการทำ to-do list, การทำงานแบบ work from home และเทคนิคการเดินทางบนเครื่องบิน

[เทคนิคการทำ To-do List]

เขียนเรื่องส่วนตัวลงไปด้วย!

ควรเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำ (To-do List) ขึ้นใหม่ในแต่ละวัน (อาจเขียนตั้งแต่คืนก่อนก็ได้) ควรเขียนทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวผสมกัน แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม เช่น เติมน้ำมัน จ่ายค่าบัตรเครดิต

การเขียนเรื่องเล็กน้อยดูเหมือนเสียเวลา แต่เรื่องเล็กน้อยพวกนี้แหละคือเครื่องกระตุ้นชั้นดี เพราะเมื่อทำเสร็จ หรือได้ขีดฆ่าว่าทำแล้ว เราจะมีแรงจูงใจ พร้อมลุยรายการอื่นต่อ

ดูให้แน่ใจว่าทุกสิ่งที่เขียนสามารถทำได้จริงและทำได้หมดภายในวันนั้น

อันนี้ผมเห็นด้วยมากเลยนะ เวลาร่าง to-do list ผมมักเกิดไอเดียบรรเจิด เขียนทุกอย่างรวมถึงงานที่ดองมาหลายวัน เขียนเสร็จแล้วรู้สึกว่าถ้าทำได้ตามนี้จะสุดยอดมาก

ใช่, สุดท้ายก็ไม่เสร็จ แล้วก็ยกยอดไปวันถัดไป

พอวันนี้ทำไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ทำไม่ได้ แล้วก็เข้าสู่วงจรอุบาทว์ สุดท้ายก็เลิกทำ to-do list แล้วสรุปว่า to-do list ไม่เวิร์ก

สิ่งสำคัญมันอยู่ตรงนี้ เขียนแล้วต้องทำให้ได้

ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ให้ซอยเป็นเรื่องย่อย ๆ การเขียนเป้าหมายใหญ่เกินไปทำให้สมองท้อและไม่อยากทำ

ระหว่างวัน ถ้ามีงานอื่นเข้ามาแทรก และงานนั้นสามารถทำให้เสร็จภายใน 2 นาที ให้ทำงานนั้นเลย ไม่ต้องจดเพิ่มใน to-do list เพราะกว่าจะจดเสร็จ เราอาจจะทำงานนั้นเสร็จไปแล้วก็ได้

แต่ถ้ากำลังทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง ควรปิดการสื่อสารและปิดการแจ้งเตือนทุกอย่าง เพราะถ้าเจอสิ่งรบกวน (รวมถึงงานแทรกที่ทำเสร็จได้ใน 2 นาที) ก็ต้องเสียเวลากลับมารวบรวมสมาธิใหม่ ทำให้ใช้เวลามากกว่าเดิม ดีไม่ดีอาจพาลไม่อยากทำงานงานนั้นต่อแล้ว

[เทคนิคการทำงานแบบ wok from home]

ห้ามใส่ชุดนอนทำงาน!

แม้จะทำงานที่บ้าน ก็ควรแต่งตัวตามปกติเหมือนไปออฟฟิศ

อาจดูติ๊งต๊องหรือไม่จำเป็น แต่การใส่ชุดทำงานทำให้สมองรู้สึกว่าเรากำลังเข้าสู่โหมดทำงาน มีสมาธิและจดจ่อกับงาน

ถ้าชุดนั้นต้องรีด เลือกใส่เสื้อผ้าที่ไม่ต้องรีดก็ได้ แต่ต้องผ่านขั้นตอนการอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า อย่าทำงานทั้ง ๆ ที่อยู่ในชุดนอน

ก่อนจะเริ่มงาน อาจเดินไปซื้อกาแฟสักแก้วก็ได้ การเดินไปซื้อกาแฟคล้ายเป็นการส่งสัญญาณบอกสมองให้เข้าสู่โหมดการทำงาน คล้ายเป็น “พิธีกรรม” ทางจิตวิทยาเพื่อให้สมองตื่นตัว

อย่าทำงานที่บ้านแล้วทำธุระส่วนตัวไปด้วย เช่น เปิดโปรแกรมประชุมออนไลน์แล้วไปพบแพทย์ ถ้าเราทำแบบนั้นตอนทำงานในออฟฟิศไม่ได้ ก็ไม่ควรทำแบบนั้นตอนทำงานที่บ้านเช่นกัน

กำหนดเวลาเลิกงานให้เป็นกิจจะลักษณะ บังคับให้ตัวเอง “กลับบ้าน” เหมือนตอนทำงานปกติ การทำงานที่บ้านไม่ได้แปลว่าต้องหายใจเข้า-ออกเป็นงาน

[สิ่งที่ไม่ชอบ]

ด้วยความที่มีเทคนิคกว่า 500 ข้อ ทำให้รู้สึกไม่โฟกัส ไม่รู้สึกว่ามีโครงใหญ่ หรือมีแกนในการอ่าน

ดูคล้ายเป็นการบอกว่าผู้เขียนใช้เทคนิคอะไรบ้าง ซึ่งบางอย่างก็อ่านแล้วไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ

ผู้เขียนแนะนำให้ใช้แอปพลิเคชันเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่า 30 แอป (ผมไม่ได้นับ แต่คิดว่าไม่น้อยกว่านี้)

โดยส่วนตัวมองว่าการใช้แอปพลิเคชันเยอะ ๆ เป็นการสร้างนิสัยติดมือถือ ซึ่งส่งผลเสียมากกว่าประสิทธิภาพที่ได้จากแอปทั้งหมดรวมกันเสียอีก

ผู้เขียนแนะนำให้เอาโทรศัพท์มือถือไปไว้นอกห้อง (ถ้าต้องทำงานที่ใช้สมาธิสูง) หรือลดเวลาใช้โทรศัพท์มือถือ แต่กลับแนะนำให้ใช้แอปพลิเคชันมากมาย อ่านแล้วรู้สึกย้อนแย้ง

[สรุป]

แม้จะมีเทคนิคมากกว่า 500 ข้อ แต่ไม่ค่อยมีเทคนิคที่ให้ทำให้รู้สึกว้าว บางข้อคล้ายกันมาก ในขณะที่บางข้อกลับขัดแย้ง

เทคนิคส่วนใหญ่พบได้ในหนังสืออื่น (ซึ่งบางเล่มอธิบายเหตุผลทางจิตวิทยาหรือประสาทวิทยาได้ดีกว่า) เพียงแต่จุดเด่นคือหยิบเทคนิคต่าง ๆ มาร้อยเรียงเป็นหมวดหมู่

ด้วยความที่เขียนเป็นข้อ ๆ จึงขาดความต่อเนื่องและลดอรรถรสในการอ่าน แต่มีข้อดีคือใช้เวลาอ่านครั้งละไม่นาน อาจอ่านแป๊ป ๆ ครั้งละนาทีสองนาที แล้วกลับมาอ่านต่อก็รู้เรื่อง (เพราะเนื้อหาไม่ต่อกัน)

การจัดรูปเล่มทำได้ดี เล่มเล็ก พกพาง่าย ยิ่งเนื้อหาเขียนสรุปเป็นข้อ ๆ เหมาะแก่การพกพาไปอ่านข้างนอก อาจอ่านตอนรอหมอ รอแฟน หรือรอไลน์แมนเอาอาหารมาส่งก็ได้

ถ้าคุณกำลังมองหาหนังสือที่อ่านง่าย พกพาง่าย หยิบเทคนิคไปทำตามได้เลย หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์

แต่ถ้าคุณกำลังมองหาหนังสือที่จุดประกายไอเดีย อ่านแล้วเกิดคำถามให้ขบคิด หรือประทับใจจนอยากกลับมาอ่านซ้ำ หนังสือเล่มนี้อาจไม่ทำให้รู้สึกเช่นนั้น

ทั้งหมดนี้คือความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ อ่านแล้วคิดเห็นยังไง หรือใครเคยอ่านแล้วมองอีกมุมนึง ยินดีต้อนรับทุกมุมมองครับ 😀

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.