{Book Review} งานที่ใช่ หาง่ายกว่าที่คิด

งานที่ทำตอนนี้ คืองานที่ใช่สำหรับคุณหรือเปล่าครับ?

ระหว่างที่คุณกำลังนึก ขอถามอีกคำถามนึง

คุณคือคนที่ใช่สำหรับงานที่ทำหรือเปล่าครับ?

“งานที่ใช่นั้นมีอยู่จริง แต่เราต้องเป็นคนที่ใช่ให้ได้เสียก่อน”

ผมพบประโยคนี้ในหนังสือ “งานที่ใช่ หาง่ายกว่าที่คิด” อ่านแล้วเหมือนโดนตีแสกหน้า

เรามักมองหางานที่ใช่สำหรับเรา งานนี้เราชอบไหม งานนี้ตอบโจทย์เราไหม งานนี้สร้างแรงบันดาลใจให้เราไหม

แต่อาจลืมไปว่า แล้วเราคือคนที่ใช่สำหรับงานหรือเปล่า…

หนังสือไม่ได้ให้ตอบตรง ๆ แต่ให้ ‘เงื่อนงำ’ ในการหาคำตอบ

ผู้เขียนคือ คุณรุตม์ อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ชื่อนี้บางคนอาจคุ้น ๆ

ถ้าบอกว่าเค้าคือเจ้าของเพจ Anontawong’s Musings ที่เขียนบทความทุกวัน หลายคนคงร้องอ๋อ และน่าจะเคยอ่านบทความของเขามาบ้าง

นี่คือผลงานเล่มที่สามของคุณรุตม์ เป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำให้เราเป็นคนที่ใช่สำหรับงาน

เนื้อหาแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ รู้โลก-รู้งาน-รู้เขา-รู้เรา (ผมเห็นแวบแรกนึกถึงซุนหวู่)

แต่ละส่วนคือบทความเป็นตอน ๆ ส่วนละประมาณ 10 บทความ รวมทั้งหมด 42 บทความ

ผมอ่านแล้วชอบหลายบทความเลยนะ แต่ถ้าจะให้รีวิวทั้งหมดคงไม่ไหว ขอเลือกที่ชอบมาก ๆ มาเล่าให้ฟัง 3 บทความละกัน 😀

[ Burnout เป็นเรื่องหลอกเด็ก ]

ช่วงนี้เราได้ยินเรื่องเบิร์นเอาต์ (Burnout) กันเยอะมาก

เบิร์นเอาต์คืออะไร?

เบิร์นเอาต์คืออาการหมดไฟ หมดพลัง หรือรู้สึกไม่อยากทำงานนั้นแล้ว ซึ่งมักเกิดจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

แต่คุณมาริสซา เมเยอร์ (Marissa Meyer) อดีตผู้บริหารของ Google กลับบอกว่า อาการเบิร์นเอาต์ไม่มีอยู่จริง หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่แบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน

เมเยอร์บอกว่า เบิร์นเอาต์ไม่ได้เกิดจากการทำงานหนัก แต่เกิดจากความไม่พอใจที่เราไม่ได้ทำสิ่งสำคัญบางอย่างต่างหาก!

เธอยกตัวอย่างพนักงานคนนึงในกูเกิล ชื่อเคธี

เคธีต้องประชุมกับเพื่อนร่วมงานต่างประเทศตอนตีหนึ่งเป็นประจำ เมเยอร์เป็นห่วงว่าเคธีจะไหวไหม เคธีบอกว่าสบายมากเพราะเธอชอบงานนี้

แต่สิ่งที่เธอไม่ชอบคือการประชุมตอนเย็นที่มักจะลากยาว จนเธอไปดูลูกซ้อมฟุตบอลไม่ทันต่างหาก

เมื่อรู้อย่างนี้ เมเยอร์จึงขีดเส้นชัดเจนว่าวันใดที่ลูกของเคธีมีซ้อมฟุตบอล เธอจะไม่ยอมให้ใครมารั้งเคธีไว้ในที่ประชุมเด็ดขาด แม้ว่าคน ๆ นั้นจะชื่อเซอร์เก บริน (หนึ่งในผู้ก่อตั้งกูเกิล) ก็ตาม!

เมเยอร์จะเข้ามาตัดบทเซอร์เกทันที บอกว่าเคธีต้องไปแล้ว และให้เคธีตอบคำถามเซอร์เกทางอีเมลแทน

(เฮ้ย! อย่างนี้ก็ได้เหรอ)

กล่าวโดยสรุปคือ เบิร์นเอาต์ไม่ใช่อาการทางกายที่ขาดการพักผ่อน แต่เป็นอาการทางใจที่ขาดสิ่งหล่อเลี้ยงต่างหาก

ผมอ่านประโยคนี้แล้ววางหนังสือลง หยิบกระดาษมาคั่น แล้วคิดตามว่า “จริงแฮะ”

หลายครั้งที่ผมทำงานหนักติดต่อกันหลายวัน กลับบ้านดึก ปะทะคารมกับเพื่อนร่วมงานบ่อยครั้ง เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกแย่ รู้สึกดาวน์ รู้สึกไม่อยากทำงานที่นี่แล้ว

พอมาวิเคราะห์ตัวเอง ที่รู้สึกแย่ไม่ใช่เพราะงานหนัก แต่เพราะกลับมาไม่ทันลูกนอนต่างหาก!

ปกติแล้วช่วงหัวค่ำจะเป็นเวลาเล่นกับลูก ไม่ว่าจะเล่นบล็อกไม้ ต่อเลโก้ หรือเล่นมวยปล้ำก็ตาม

เมื่อทำงานหนักจนกลับมาไม่ทันลูกนอน รู้สึกว่าขาดอะไรไป ทำให้อารมณ์ขุ่นมัว พร้อมจะบวกกับเพื่อนร่วมงานทันทีเมื่อมีเรื่องขัดแย้ง

พอรู้แบบนั้น ผมจึงปรับตัวเองใหม่ ถ้าไม่จำเป็นต้องส่งงานคืนนั้นจริง ๆ ผมจะออกจากออฟฟิศไม่เกินทุ่มครึ่ง งานจะเสร็จไม่เสร็จไม่รู้ แต่ผมต้องกลับบ้าน ได้คุยได้เล่นมวยปล้ำกับลูกก่อน แล้วพอเค้าเข้านอนค่อยเอางานมาทำต่อ

ปัญหาคือ พอเห็นลูกนอน ก็อยากนอนตามลูกน่ะซิ 😁

[ 90% ของงานนั้นน่าเบื่อ ]

เด็กเจนเนอเรชันนี้โตขึ้นอยากเป็นยูทูบเบอร์ เพราะได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก แถมได้เงินอีกต่างหาก

เวลาส่วนใหญ่คงได้ทำสิ่งที่ชอบ มันคงสนุกน่าดู

แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่เลย!

90% ของเวลาหมดไปกับงานที่น่าเบื่อ

ไม่เชื่อเหรอ, ลองถามคนใกล้ตัวที่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบดูสิ เค้าจะตอบว่า 95% ด้วยซ้ำไป

ผมยกตัวอย่างงานของตัวเองละกัน

ตอนนี้ผมทำเพจ ทำช่องยูทูบ และทำธุรกิจส่วนตัวเป็นวิทยากรสอน Excel

เหตุผลที่ทำเพจ ก็เพราะชอบ Excel นั่นแหละ ชอบมากจนอยากศึกษา อยากเขียนบทความ อยากทำคลิปสอน ตอนแรกก็ทำเป็นงานอดิเรก รู้ตัวอีกทีงานอดิเรกนั้นก็กลายเป็นงานประจำ

เวลาผมไปสอนตามบริษัทต่าง ๆ ลูกศิษย์หลายคนมาคุยด้วย บอกว่าอยากเป็นอย่างผม ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ แถมเดือนนึงทำงานแค่ไม่กี่วันก็อยู่ได้สบายแล้ว

ชีวิตดูดี๊ดีเนอะ

แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ 90% ของงานผมโคตรน่าเบื่อ!

ทำไม?

เวลาไปสอนตามบริษัทต่าง ๆ ไม่ใช่ว่าหยิบกระเป๋าไปสอนได้เลย แต่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขายใหม่ (new vendor) ต้องเตรียมเอกสารและผ่านขั้นตอนมากมาย

จากนั้นก็ทำใบเสนอราคา ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี บางครั้งต้องไปวางบิล รับเช็ค แล้วเอาเช็คไปขึ้นธนาคารเอง

เวลาสอนก็เจอนักเรียนไม่ตั้งใจ ถามอะไรก็ไม่ตอบ อยู่ ๆ ก็รับสายแล้วคุยโทรศัพท์เสียงดัง ลุกเข้า-ลุกออกวุ่นวาย

เวลาสอนก็ไม่ค่อยฟัง เอาแต่ตอบแชต สุดท้ายก็ทำตามไม่ได้ ขอให้สอนใหม่อีกครั้ง (ทั้ง ๆ ที่เพิ่งสอนเมื่อกี๊)

เวลาเปิดคอร์สสอนเอง (public course) ก็ต้องลุ้นว่าจะมีคนสมัครเต็มไหม บางคลาสมีคนสมัครไม่กี่คน ก็ต้องจ่ายเงินให้เฟซบุ๊กเพื่อยิงโฆษณา

ยิงโฆษณาไม่ได้แปลว่าจะมีคนมาสมัครเพิ่ม บางคลาสก็ตัดใจ ได้คนแค่ไหน ก็แค่นั้น

แถมคนที่มาเรียน ก็ขอเอกสารไปเบิกค่าใช้จ่ายกับทางบริษัท บางครั้งต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขายใหม่ ต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมาย

ถ้าขอ 10 คน แปลว่าคลาสนั้นคลาสเดียวต้องทำแบบนี้ 10 รอบ

ยังไม่รวมกับงานที่ต้องออกเอกสารใบหักภาษี ณ ที่จ่าย สรุป VAT ซื้อ-ขายของแต่ละเดือน ขอหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทที่ธนาคารกรุงไทยทุกสามเดือน และตอบคำถามทางอินบ็อกซ์เมสเซส

ผมได้รับคำถามทางอินบ็อกซ์วันนึงเยอะมาก ส่วนใหญ่เจอแต่คำถามเดิม ๆ บางคำถามก็อธิบายไม่รู้เรื่อง บางคำถามอ่านดูก็รู้ว่าอาจารย์ให้การบ้านมา และบางคำถามก็แสดงว่าคนถามไม่พยายามด้วยตัวเองเลย แค่ลองพิมพ์ค้นหาในกูเกิลก็ได้คำตอบแล้ว

ใช่, 90% ของงานผมโคตรน่าเบื่อ

แล้วทำไมถึงยังทำงานนี้ต่อ?

เพราะอีก 10% ทำให้ใจฟู

ใจฟูที่ได้มีเวลาศึกษาเทคนิคเชิงลึก ได้สนุกกับการทดลองเทคนิคใหม่ ๆ

ใจฟูที่ได้รับคำขอบคุณจากลูกศิษย์ บอกว่าสิ่งที่สอนทำให้งานง่ายขึ้น ทำงานได้เร็วขึ้น

ใจฟูที่ได้อ่านผลจากแบบประเมิน บอกว่าคอร์สตอบโจทย์ ได้คลายข้อสงสัยที่คาใจมานาน ขอบคุณที่ทำคอร์สดี ๆ ให้เรียน

(คุณรุตม์ไม่ได้เขียนแบบนี้ในหนังสือ แต่ผมอ่านแล้วกระตุ้นให้นึกถึงเรื่องตัวเอง)

“เป้าหมายจึงไม่ใช่การทำงานที่มีแต่เรื่องสนุก เพราะมันไม่มีอยู่จริงหรอก”

“มองหา 10% ของความสนุกในงานของเราให้เจอ และเรียนรู้ที่จะเป็นเพื่อนกับความน่าเบื่อ 90% นั้นให้ได้”

“แล้วเราอาจจะพบว่า งานที่ใช่ นั้นหาง่ายกว่าที่คิด”

สามประโยคสุดท้ายนี้ คุณรุตม์สรุปได้เยี่ยมมากครับ 😊

[ ทำให้งานมีความสุข ]

คุณเคยเห็นคอนเส็ปต์งานที่ใช่ ที่เป็นวงกลมสามวงซ้อนกันไหมครับ

ที่หน้าตาคล้าย ๆ โลโก้ช่อง 7
โดยแต่ละวงเป็น

งานที่เราชอบ
งานที่เราทำได้ดี
งานที่มีประโยชน์กับคนอื่น

คนที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่พาตัวไปเองไปอยู่ในพื้นที่วงกลมสามวงซ้อนกัน นั่นคือ ทำสิ่งที่ชอบ ทำสิ่งที่ทำได้ดี และทำสิ่งที่มีประโยชน์กับคนอื่น

ถ้าเราใช้คอนเส็ปต์นี้ แต่ลองเปลี่ยนโจทย์เป็นความสุขแทนล่ะ?

งานที่เราชอบ คือ สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข
งานที่มีประโยชน์กับคนอื่น คือ สิ่งที่ทำให้คนอื่นมีความสุข
แล้วงานที่เราทำได้ดีล่ะ?

คือ… สิ่งที่ทำให้งานมีความสุข

อ่านไม่ผิดหรอกครับ สิ่งที่ทำให้งานมีความสุข

เมื่องานนี้อยู่ในมือเรา เราทำแล้วมีความสุข ตัวงานเองก็มีความสุข เมื่อส่งต่องานออกไป งานนั้นก็สร้างความสุขให้ผู้อื่น และยังถูกส่งต่อออกไปในวงกว้าง

ผมอ่านบทความนี้แล้วนึกคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่สอนเรื่อง “ทำงาน เพื่องาน”

ตอนอ่านก็ไม่ค่อยเข้าใจคำสอนนี้เท่าไร แต่พออ่านบทความนี้ คล้ายตีความคนละมุม แต่อยู่บนเรื่องเดียวกัน

ถ้างานมีชีวิต สามารถกล่าวโทษหรือกล่าวขอบคุณได้ อยากให้งานกล่าวอะไรกับเรา?

[สรุป]

เนื้อหาในหนังสือมีสิ่งน่าสนใจเยอะ อ่านแล้วจุดประกายไอเดีย จนต้องลุกไปหยิบปากกาไฮไลต์มาขีด และลุกอีกครั้งเพื่อไปหยิบปากกามาเขียนสิ่งที่คิดได้

ข้อเสียที่พอจะนึกออกคือบางบทความสั้นเกินไป บางครั้งยังมีมุมที่น่าชวนคุย หรือเจาะบางประเด็นได้อีก

เข้าใจว่าบทความทั้งหมดถูกรวบรวมมาจากเพจของคุณรุตม์ ซึ่งโพสต์บทความทุกวัน

ด้วยความที่โพสต์ทุกวัน และคนส่วนใหญ่อ่านผ่านมือถือ ทำให้บทความต้องกระชับ หรืออาจเป็นความต้องการของผู้เขียนที่อยากให้บทความถูกอ่านจบภายใน 2-3 นาที

ถ้าอ่านในมือถือ ผมว่าโอเคนะ แต่พออ่านเป็นรวมเล่ม รู้สึกยังไม่ค่อยสุดเท่าไร

อีกจุดนึงที่อยากให้ปรับปรุงคือ ฟอนต์

โดยส่วนตัวคิดว่าฟอนต์ดูแข็ง ขนาดเล็กเกินไป และไม่เข้ากับบรรยากาศของหนังสือ

คือคุณรุตม์เล่าเรื่องสบาย ๆ คล้ายนั่งจิบกาแฟในยามเช้า แล้วเปิดเพลงคลาสสิกคลอเบา ๆ แต่ฟอนต์ที่พิมพ์ออกมาไม่เข้ากับบรรยากาศนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียทั้งหมดถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับคุณภาพของหนังสือ เต็มไปด้วยไอเดีย เปี่ยมไปด้วยทัศนคติที่ดี

เป็นอีกเล่มนึงที่ชอบมาก และอยากให้อ่านครับ 😊

ป.ล. ผมไม่มีส่วนได้เสียกับหนังสือเล่มนี้ครับ

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.