ทำงานเป็น Regional ดีไหม? [ep.2]

“โอ้โห เพิ่งรู้ว่าพี่ทำงานหนักขนาดนี้” น้องอุ้ยอุทาน

“งานหนักยังพอไหว แต่จากนี้ไปมันให้พี่รู้สึก “เฮ่” มากเลย” ผมยิ้มแห้ง

อะไรทำให้ “เฮ่” ขนาดนั้น?

(ใครยังไม่ได้อ่าน ep.1 คลิกที่นี่)

[3. ตาม ตาม ตาม]

งาน Regional คือการดูแลประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

ดูเหมือนยิ่งใหญ่ แต่ข้างในไม่มีอำนาจอะไรเลย

ทำไม?

Regional คือคนกลางระหว่างโกลบอล (บางบริษัทเรียกคอร์ปอเรท (Corporate) กับประเทศ (บางที่เรียกโลคอล (Local) หรือเอนติตี (Entity))

ลองนึกภาพว่าบริษัทมีการดำเนินงานใน 50 ประเทศทั่วโลก จะให้บริษัทแม่ติดต่อ 50 ประเทศโดยตรงก็กระไร ไหนจะไทม์โซนที่ต่างกัน

บริษัทแม่จึงแบ่งประเทศต่าง ๆ ออกเป็น Region

(เพิ่มเติม: โดยทั่วไปมักแบ่งเป็น 4 region

APAC: Asia Pacific
EMEA: Europe, Middle East & Africa
NA: North America
SA: South America

ทั้งนี้ขึ้นกับมุมมองของแต่ละบริษัท)

แล้วตั้งทีมรีจินอล (Regional) ขึ้นมาช่วยดูแลประสานงานใน region นั้น ๆ

ผมใช้คำว่า “ช่วยดูแลประสานงาน” เพราะทีมรีจินอลไม่มีอำนาจสั่งการอะไรเลย

ยกตัวอย่างงาน Regional Finance ละกัน

Finance Manager ของประเทศต่าง ๆ มีหน้าที่ดูแลงานภายในประเทศ เช่น ตั้งหนี้ คำนวณต้นทุน ปิดงบการเงิน

ลำพังแค่งานภายใน พวกเค้าก็ทำไม่ค่อยจะทันแล้ว

ไหนจะต้องมาตอบคำถาม หรือส่งตัวเลขต่าง ๆ ให้กับทีมริจินอล

พวกเค้ามองว่างานพวกนี้ไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ซ้ำยังเป็นการเพิ่มงาน เสียเวลา กลับบ้านช้าอีกต่างหาก

มามองในมุมของรีจินอลบ้าง

เมื่อโกลบอลมีคำถาม หรือต้องการทำโปรเจกต์อะไร ก็จะส่งคำถามมาที่รีจินอล

ถ้าตอบได้ ทีมริจินอลก็จะตอบเลย

แต่ถ้าตอบไม่ได้ ทีมรีจินอลก็ต้องถามไปยังประเทศต่าง ๆ แล้วประมวลผลคำตอบส่งให้ทีมโกลบอล

(ผมใช้คำว่า “ประมวลผล” ไม่ใช่ “รวบรวม” เพราะจะอธิบายในข้อ 4)

ปัญหาของทีมรีจินอลคือ มีข้อมูลน้อยกว่าที่โกลบอลต้องการ

เช่น โกลบอลต้องการรู้ว่า ถ้าวัตถุดิบตัวนี้มีราคาเพิ่มขึ้นหนึ่งร้อยดอลลาร์ต่อกิโลกรัม จะส่งผลกระทบกับกำไรในไตรมาสถัดไปเท่าไร?

การจะตอบคำถามนี้ จำเป็นต้องรู้ว่าไตรมาสถัดไปมีแผนการผลิตอย่างไร ต้องใช้วัตถุดิบนี้ในสัดส่วนเท่าใด สต็อกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนี้มีมากแค่ไหน วางแผนจะขายสินค้านี้จำนวนเท่าใด รวมถึงคาดเดาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า

ที่จำเป็นต้องรู้เยอะขนาดนั้น เพราะต้องคำนึงถึง Inventory Change
(ขอไม่อธิบาย inventory change เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นวิชา Costing 101)

ข้อมูลลึกขนาดนี้ ทีมริจินอลไม่มีทางเข้าถึงได้ ต้องถามจาก Finance Manager ของประเทศนั้น ๆ

และแม้จะเป็น Finance Manager พวกเค้าก็ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ทันที ต้องสร้าง financial model ขึ้นมาคำนวณ

ใช่, มันเป็นการเพิ่มงาน และไม่ใช่งานที่ทำแป๊ปเดียวเสร็จ

พวกเค้าจึงไม่ให้ความสำคัญ (Priority) กับงานที่รีจินอลร้องขอ

แปลว่า พวกเค้าจะส่งไม่ทันตามเดดไลน์ที่ผมแจ้งไว้

มีเพียงญี่ปุ่น และสิงคโปร์เท่านั้นที่ส่งทัน

ส่วนประเทศอื่นน่ะเหรอ? ต้องตามจิกอย่างเดียว

จิกยังไง?

เบาสุดก็ส่งอีเมลเตือน

ถ้าอีเมลเตือนแล้วยังไม่ส่งก็แชตถาม

ถ้าแชตถามแล้วไม่ตอบก็โทรไปคุย (ใช่, โทรไปต่างประเทศนั่นแหละ)

ถ้าโทรคุยแล้วยังไม่ได้ ก็ต้องแจ้ง Regional Director ให้ช่วยตาม

(ส่วนใหญ่จะถึงแค่สเต็ปโทรคุย)

เหตุผลที่ต้องทำงานให้ตรงกับไทม์โซนของประเทศต่าง ๆ เพราะต้องตามจิกงานนี่แหละ

ใช่, มันไม่สนุกเลย 😭

[4. ถาม วิเคราะห์ สับขาหลอก]

เมื่อตามจิกจนได้ข้อมูลมาแล้ว คราวนี้ก็นำข้อมูลของประเทศต่าง ๆ มารวมกัน

ดูเหมือนจะง่าย แต่ไม่ใช่

เพราะตัวเลขมักจะสูง (หรือต่ำ) เกินจริงไปมาก

เช่น เคสที่ต้องการรู้ผลกระทบจากการขึ้นราคาวัตถุดิบ

ในฐานะที่เป็นริจินอล ผมก็ต้องคาดเดาว่ามีสินค้าอะไรที่ได้รับผลกระทบบ้าง แนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างไร แล้วก็คำนวณตัวเลขคร่าว ๆ

สมมติผมคำนวณตัวเลขได้หนึ่งล้านเหรียญ

แต่พอเอาตัวเลขจากประเทศต่าง ๆ มารวมกัน ผลกระทบกลายเป็นสองล้านเหรียญ!

ตัวเลขห่างกันเท่าตัว ถ้าไม่ใช่ผมผิด ก็เค้าผิด!

ผมจึงต้องตรวจเช็คตัวเลขของแต่ละประเทศว่าสมเหตุสมผลหรือเปล่า

บ่อยครั้งที่พบว่าตัวเลขบางประเทศสูง (หรือต่ำ) เกินไป ต้องถามกลับไปว่าตัวเลขนี้ใช่หรือเปล่า

“เออ ไอลืมตรงนั้นไป ฝากยูแก้ให้หน่อยนะ” คือคำตอบที่ได้รับ

แม่.. แอ้ง 💢💢

หลายครั้งเป็นทางผมที่ผิด เพราะไม่รู้ว่าทางประเทศนั้นเพิ่งปรับแผน

เช่น ตอนแรกกะจะผลิต 1,000 ตัน แต่สินค้านี้มีแนวโน้มขายดีมาก เลยปรับแผนเป็น 2,000 ตัน

แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ เวลาถามเรื่องผลกระทบ บางประเทศจะชอบตีเผื่อไว้ก่อน

ทำไม?

เพราะถ้าแจ้งกับรีจินอลว่าผลกระทบสูง แล้วพอไตรมาสถัดไปตกเป้า จะได้โบ้ยว่าเป็นผลกระทบจากวัตถุดิบขึ้นราคา

แต่… โกลบอลไม่ยอมรับกับผลกระทบที่สูงขนาดนั้นหรอก

(ตอนผมทำงานรีจินอลใหม่ ๆ เจอ Finance Manager เก๋า ๆ สับขาหลอกบ่อยมาก)

ถ้าส่งตัวเลขไปว่าสองล้านเหรียญ ทีมโกลบอลจะไม่ยอมแน่นอน และต้องถามต่อว่ายูมีแผนอะไรที่จะดึงตัวเลขพวกนี้กลับมา

ผมก็ต้องคาดเดาว่าโกลบอลต้องถามแบบนี้ (เพราะประชุมตอนสี่ทุ่มกับพวกเค้าบ่อยจนรู้แกว) จึงถามประเทศต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าเลยว่า ถ้ายูคิดว่ามีผลกระทบขนาดนี้ ยูมีแผนสำรองที่จะดึงตัวเลขกลับมายังไง

และเมื่อยิงคำถามนี้ไป พวกเค้าก็จะดึงเช็ง ตอบช้าเหมือนเดิม

แล้วก็วนกลับมาที่ข้อสาม ตาม ตาม ตาม…

คำว่า “เฮ่” มีความหมายทั้งในเชิงบวกและลบนะครับ

สองอีพีนี้พูดในมุมเชิงลบ ยังไม่ได้พูดเชิงบวกเลย

ถ้าใครชอบ หรืออยากอ่านอีพีถัดไป รบกวนคอมเมนต์ใต้โพสต์หน่อยนะครับ

ถ้ามีคอมเมนต์เกิน 50 เดี๋ยวจะมาเล่าต่อใน ep.3 ครับ 😀

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.