“อยากทำงานเป็น Regional เหมือนพี่ ดูเท่ดีค่ะ” น้องอุ้ยคนงามเอ่ยทัก
“ดูเหมือนเท่ แต่ “เฮ่” มากเลยนะครับ” ผมยิ้มแห้งตอบ
ผมเคยทำงานเป็น Regional Finance ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นงานที่ต้องดูแลประเทศในภูมิภาค APAC รวมทั้งหมด 12 ประเทศ
[APAC คืออะไร?]
APAC ย่อมาจากคำว่า Asia-Pacific หรือก็คือประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชีย และประเทศที่อยู่รอบมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย อาเซียน (ซึ่งรวมถึงประเทศไทย)
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมภูมิภาคนี้ไม่รวมประเทศในแถบตะวันออกกลาง?
ประเทศในแถบตะวันออกกลางมักถูกจัดให้อยู่ในภูมิภาค EMEA (Europe, Middle East, Africa) น่าจะเป็นเพราะเรื่องไทม์โซน (Time Zone) ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน
งานของผมคือดูแลผลการดำเนินงานของทุกประเทศใน APAC ประสานงานกับทีมโกลบอล (Global, บริษัทแม่) และเป็นลีด (Lead) ในการทำโปรเจกต์ (Project) ต่าง ๆ
วัน ๆ ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเลย (แม้จะอยู่เมืองไทยก็ตาม) ต้องสื่อสารภาษาอังกฤษตลอด ทั้งทางอีเมล แชต โทรศัพท์ หรือประชุมทางไกล (Conference Call)
แถมต้องเดินทางบ่อยด้วย ไปสิงคโปร์บ้าง ไปออสเตรเลียบ้าง ไปอเมริกาบ้าง
ดูแล้วเท่เนอะ ได้ใช้ภาษาอังกฤษ บินไปนู่นไปนี่ เวรี่อินเทอร์
ดูเหมือนเท่ แต่ “เฮ่” มาก
ทำไม?
ผมจะเล่าให้ฟังเป็นข้อ ๆ ละกัน
[1. ทำงานวันละ 16 ชั่วโมง]
ด้วยความที่ต้องประสานงานกับประเทศต่าง ๆ จึงต้องทำงานให้ตรงกับเวลาทำงานของประเทศนั้น ๆ
ถ้าเวลาทำงานของทุกประเทศคือ 8:00 – 17:00 น.
ผมต้องเริ่มงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า!
ทำไม?
เพราะเวลาที่ออสเตรเลียเร็วกว่าเมืองไทย 4 ชั่วโมง
ถ้าผมเริ่มงานตอน 8 โมงเช้า เวลาที่ออสเตรเลียคือเที่ยง ผมจะติดต่อเค้าไม่ได้
เวลาของประเทศใน APAC ส่วนใหญ่เร็วกว่าเมืองไทย (เวลาของประเทศไทยคือ UTC+7)
เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เร็วกว่าเมืองไทย 2 ชั่วโมง (UTC+9)
จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เร็วกว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง (UTC+8)
เวียดนาม อินโดนีเซีย เวลาตรงกับเรา (UTC+7)
อินเดีย ศรีลังกา ช้ากว่าเรา 1 ชั่วโมงครึ่ง (UTC+5:30)
แปลว่าผมต้องเริ่มงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาที่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี
และห้ามเลิกงานก่อนหกโมงครึ่ง ไม่งั้นจะเสียโอกาสติดต่องานกับอินเดีย ศรีลังกา
แปลว่าเริ่มงาน 7:00 และห้ามเลิกก่อน 18:30
ดูเผิน ๆ เวลาทำงานคือ 7:00 – 19:00 แต่ไม่ใช่
เพราะต้องประชุมทางไกลกับทีมโกลบอลด้วย
ทีมโกลบอลอยู่ที่อเมริกา เวลาที่นั่นคือ UTC-5 ช้ากว่าเมืองไทย 12 ชั่วโมง
ยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าหนาว (Daylight Saving Time) จะช้ากว่าเมืองไทย 13 ชั่วโมง
แปลว่าถ้าโกลบอลนัดประชุมตอน 9 โมงเช้า เวลาที่เมืองไทยคือ 4 ทุ่ม!
ใช่, ผมต้องอยู่รอประชุมกับทีมโกลบอลตอน 4 ทุ่ม กว่าจะประชุมเสร็จก็ห้าทุ่ม
ทำไมไม่กลับบ้านตอนทุ่มนึง แล้วค่อยประชุมจากที่บ้าน?
ดูเผิน ๆ เหมือนจะกลับบ้านตอนทุ่มนึงได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้
เมื่อผมได้รับข้อมูลจากอินเดีย (ที่ส่งมาประมาณ 6 โมงเย็น) ผมก็ต้องนำไปรวมกับข้อมูลจากประเทศอื่น ๆ วิเคราะห์ ทำรีพอร์ต แล้วก็เอาไปพรีเซนต์กับทีมโกลบอล
ใช่, ผมมีเวลาแค่ 3-4 ชั่วโมง ไม่มีเวลาพอที่จะกลับบ้าน
ขนาดเวลากินข้าวยังไม่ค่อยจะมีเลย
ร้านข้าวเย็นที่กินบ่อยที่สุดคือ 7-11 ใต้ออฟฟิศ
ใช่, ให้เค้าเวฟ แล้วเอามากินที่โต๊ะนั่นแหละ
ผมมีกุญแจไขประตูออฟฟิศด้วย เพราะผมคือคนแรกที่มาทำงาน และเป็นคนสุดท้ายที่ได้กลับ
“เฮ่” ไหมล่ะ
[2. วันหยุดที่ไม่ได้หยุด]
ด้วยความที่ต้องทำงานร่วมกับสิบสองประเทศ ผมจึงแทบไม่มีวันหยุดเลย
ทำไม?
เพราะที่เมืองนอกเค้าไม่หยุดวันสงกรานต์
วันพ่อ วันแม่ ไม่หยุด
วันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา ลืมไปได้เลย
ถ้าเค้าทำงาน ผมก็ต้องทำงาน
ถ้าเค้าหยุด ผมก็ไม่ได้หยุด แถมต้องเล็งด้วยว่าประเทศไหนหยุดยาวช่วงใดบ้าง ต้องวางแผนดี ๆ
เช่น จีนกับสิงคโปร์หยุดช่วงตรุษจีนนานมาก ผมต้องรีบเคลียร์งานกับเค้า ก่อนที่เค้าจะหยุด
ญี่ปุ่นมีวันหยุดช่วงโกลเด้นวีก ต้องรีบเคลียร์
อินโดนีเซียมีช่วงรอมฎอน ช่วงนี้เค้าถือศีลอด มีโอกาสหงุดหงิดง่าย ต้องคุยกับเค้าดี ๆ
ถ้าได้หยุดจริง ๆ ก็คงจะเป็นช่วงปลายปี เพราะทีมโกลบอลจะเริ่มลางานตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม ประเทศใน APAC ก็คล้าย ๆ กัน ผมจึงมีโอกาสได้หยุดแค่ช่วงสองสัปดาห์สุดท้าย
วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ค่อยได้หยุด เพราะทีมโกลบอลมักส่งคำถามมาช่วงค่ำวันศุกร์ และต้องการคำตอบภายในวันจันทร์
แปลว่าผมต้องทำงานวันเสาร์
บางครั้งงานเยอะ ทำวันเสาร์ไม่เสร็จ ก็ต้องลากยาวถึงวันอาทิตย์
ผมมาทำงานวันเสาร์บ่อยมาก บ่อยจนรปภ.ของตึกจำหน้าได้
และวันจันทร์ก็ต้องมาถึงออฟฟิศก่อน 7 โมงเช้าเพื่อติดต่องานกับออสเตรเลีย
“เฮ่” ไหมล่ะ…
ตอนแรกว่าจะเขียนสั้น ๆ แต่เขียนไปเขียนมามันมือ ยังไม่ถึงครึ่ง ไม่ถึงช่วงพีกเลย
มีใครอยากอ่านต่อไหมครับ ถ้าชอบหรืออยากอ่านต่อ รบกวนเมนต์ใด้โพสต์หน่อยนะครับ 😀
ถ้ามีคอมเมนต์เกิน 50 ผมจะเขียน ep.2 ต่อครับ 😊
One thought on “ทำงานเป็น Regional ดีไหม?”