{Book Review} Breath ลมหายใจมหัศจรรย์

เราควรหายใจให้น้อยลง
เราไม่ควรหายใจทางปาก
เราควรเคี้ยวอาหารวันละหนึ่งชั่วโมง!

นี่คือสิ่งที่ผมได้จากหนังสือเรื่อง Breath หรือชื่อไทยว่า ลมหายใจมหัศจรรย์

ใช่, มันขัดกับสิ่งที่เรารู้ชนิดหน้ามือกับหลังอุ้งเท้า

คนเราหายใจได้ทั้งทางจมูกและทางปาก หายใจทางจมูกมีข้อดีที่ขนจมูกช่วยกรองสิ่งสกปรก แต่ถ้าดูผลลัพธ์ก็แทบไม่ต่างกัน

แต่ผู้เขียน ซึ่งคือคุณเจมส์ เนสท์เตอร์ (James Nestor) บอกว่าต่างกันมาก หรือสรุปง่าย ๆ คือเราไม่ควรหายใจทางปาก

เค้าไม่ได้เขียนลอย ๆ แต่เค้าทดลองกับตัวเอง โดยนำซิลิโคนมาอุดจมูกและใช้ชีวิตโดยหายใจทางปากเพียงอย่างเดียว ทั้งกลางวันและกลางคืนตลอด 10 วัน

ใช่, เอาตัวเองเป็นหนูทดลอง ทดลองกับเพื่อนร่วมวิจัยอีกคนหนึ่ง ชื่อคุณออสัน

ผลการทดลองคือร่างกายแย่มาก ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลีย โมโหง่าย วิตกกังวล มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนกรน ถ้ายืดระยะเวลาทดลองอีกเพียงสองวัน คุณเจมส์จะเป็นไซนัสอักเสบขั้นรุนแรง

แต่เมื่อเสร็จสิ้นการทดลองและกลับมาหายใจทางจมูก อาการทั้งหมดแทบจะหายไปในเวลาเพียง 2-3 วัน

ผลของคุณออสันก็แทบไม่ต่างกัน

คุณเจมส์ลองค้นคว้าความเชื่อโบราณ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางจีน อินเดีย หรือชนพื้นเมืองอเมริกัน (อินเดียนแดง) ทั้งหมดก็พูดในทางเดียวกันว่า ไม่ควรหายใจทางปาก เราควรหายใจทางจมูกเท่านั้น

แม้กระทั่งการออกกำลังกาย ก็ควรหายใจทางจมูกเช่นกัน

มีการทดลองกับนักกีฬาจักรยาน พบว่าการหายใจทางจมูกขณะปั่นจักรยานให้ผลดีกว่าทางปากอย่างเห็นได้ชัด จนกลุ่มผู้ทดลองสาบานว่าจะไม่กลับไปหายใจทางปากอีก

ตอนนอนก็เช่นกัน เราควรหายใจทางจมูก ภาวะหยุดหายใจหรือการนอนกรน มีสาเหตุมาจากระบบทางเดินหายใจและการหายใจที่ผิดวิธี เราควรปิดปากให้สนิทตลอดการนอน หรือนำเทปกาวมาปิดปากเลยก็ได้

ผมอ่านตรงนี้แล้วสะดุดกึก เพราะตัวเองมีปัญหาเรื่องหยุดหายใจขณะหลับ เคยทดสอบการนอน (Sleep Test) จนคุณหมอแนะนำให้ใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP)

ผมทดลองใช้เครื่อง CPAP อยู่หลายยี่ห้อ พบว่าไม่มีเครื่องใดถูกใจเลย

คือผมเป็นนอนหลับยาก การใส่เครื่องซีแพพคือการใส่หน้ากากงวงช้างแล้วนอนทั้งอย่างนั้น ผมใส่แล้วนอนไม่หลับ แต่คุณหมอยืนยันว่าควรใส่ ผมจึงซื้อเครื่องซีแพพยี่ห้อนึง (ที่ทดลองแล้วดีที่สุด) ราคาประมาณ 30,000 บาท ด้วยความหวังที่ว่าร่างกายจะปรับตัวได้ในที่สุด

ทดลองใส่อยู่หลายเดือน พบว่านอนไม่ได้จริง ๆ ไม่มีคืนไหนที่นอนหลับเลย สุดท้ายก็เลิกใช้

หลักการของเครื่องซีแพพคือพ่นอากาศใส่ตลอดเวลา เมื่อถูกอากาศพ่นใส่ เราจะถูกบังคับให้ปิดปากและหายใจทางจมูกเพียงอย่างเดียว

มานั่งคิดดูก็พบว่าหลักการไม่ต่างกับเอาเทปกาวมาปิดปาก ทดลองดูสักคืนก็ไม่น่าเสียหาย

คุณเจมส์ไม่แนะนำให้เอาเทปกาวมาปิดปากแบบตัวประกันในหนัง เพราะเหนียวเกินไปแถมมีสารตกค้าง แนะนำให้ใช้เทปกาวปิดผ้าก๊อซ หรือเทปกาวทางการแพทย์

ผมเดินไปร้านขายยา เจอเทปกาว 3M Micropore ก็เลยคว้าไปจ่ายเงิน

ใช่, มันคือเทปกาวบนภาพปกของโพสต์นี้นั่นแหละ

ผมทดลองปิดปากคืนแรก พบว่าอึดอัดนิดหน่อย แต่สักพักก็ผล็อยหลับไป

ตื่นมาพบว่าหายใจโล่งขึ้น ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือหายใจอิ่มขึ้น

จนถึงวันนี้ ผมทดลองนอนโดยมีเทปปิดปากมาแล้ว 20 วัน รู้สึกดีกว่านอนแบบไม่ปิดปากเยอะมาก

อ้อ, ผมเอาเครื่องซีแพพเก็บเข้าตู้ไปแล้วนะ คิดว่าคงไม่ได้ใช้อีก (คนอื่นอาจใช้ได้ผลดี แต่ผมใช้แล้วนอนไม่ได้จริง ๆ )

[ เวลาปิดปาก คุณขบฟันยังไงครับ? ]

น่าจะขบฟันกรามเข้าด้วยกัน ฟันหน้าบนคร่อมฟันหน้าล่างใช่ไหมครับ นั่นคือท่าที่สบาย

แต่คุณเจมส์บอกว่า ท่าปิดปากที่ถูกต้องคือ จรดริมฝีปากเข้าหากัน ฟันสบกันเล็กน้อย และลิ้นอยู่ที่เพดานปาก

ผมทดลองทำ พบว่าฟันที่สบกันคือฟันหน้า (ไม่ใช่ฟันกราม) ท่านี้ทำให้เรารู้สึกตึง เกร็ง

ดูหน้ากระจก พบว่าคางคล้ายถูกยืดลงมา แม้จะรู้สึกเกร็ง แต่หายใจได้โล่งขึ้น

ลองปิดปากแบบนี้ขณะทำสมาธิ พบว่าหายใจได้ดีขึ้น

ลองปิดปากแบบนี้ขณะวิ่งเหยาะ ๆ พบว่าเหนื่อยน้อยลงนิดหน่อย

ผมทดลองปิดปากแบบนี้ 20 วัน พบว่าอาการตึง เกร็ง เริ่มลดลง อาจเพราะร่างกายเริ่มชิน แต่ที่แน่ ๆ คือหายใจโล่งขึ้น

[ หายใจเข้าให้น้อยลง หายใจออกให้ยาวขึ้น ]

คุณออสัน (เพื่อนร่วมวิจัยอุดจมูกของคุณเจมส์) แนะนำว่าเราควรเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด

อ่านไม่ผิดหรอก เราควรเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด

สิ่งนี้แย้งกับความเข้าใจของเราอย่างมาก เราเข้าใจมาตลอดว่าคาร์บอนไดออกไซด์คือก๊าซพิษ

แต่คุณออสัน (จริง ๆ แล้วเค้าเป็นนักวิจัย) บอกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่พอเหมาะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ในทางตรงข้าม ออกซิเจนที่มากเกินไปกลับเป็นโทษต่อร่างกาย!

วิธีเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดที่ง่ายที่สุดคือ หายใจเข้าให้น้อยลง หายใจออกให้ยาวขึ้น หรืออาจหายใจออกยาว ๆ ให้หมด กลั้นลมหายใจ กลั้นไว้จนกระทั่งทนไม่ไหว แล้วหายใจเข้า (ปริมาณน้อย) แบบนี้วนไปเรื่อย ๆ

คุณออสันไม่ได้กล่าวลอย ๆ แต่มีผลการวิจัยมายืนยัน และตัวคุณออสันเองก็ทำวิจัยเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์เช่นกัน

จังหวะการหายใจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ หายใจเข้า 5.5 วินาที หายใจออก 5.5 วินาที ซึ่งเทียบเท่ากับการหายใจ 5.5 ครั้งต่อนาที

จังหวะนี้สอดคล้องกับจังหวะของการเปล่งบทสวดที่ชื่อว่า โอม มณี ปัทเม ฮุม ซึ่งจะเปล่งเสียงคำว่า โอม 6 วินาที และหยุด 6 วินาทีเพื่อหายใจเข้า

ผมทดลองหายใจแบบนี้ พบว่าไม่ค่อยเหมาะกับตัวเอง อาจเพราะหายใจไม่ถูกหลัก หรือสรีระไม่สอดคล้องกับรูปแบบนี้ก็เป็นได้ ผมชอบหายใจเข้าประมาณ 4 วินาที แล้วปล่อยออกให้ยาวเท่าที่ยาวได้มากกว่า

[ มนุษย์ยุคก่อนไม่นอนกรน และไม่มีปัญหาเรื่องฟันเก ]

มนุษย์ยุคก่อนรูจมูกใหญ่ ปากกว้าง ขากรรไกรยื่น แม้ทำให้หน้าตาดูค่อนไปทางลิง แต่นั่นคือโครงสร้างระบบทางเดินหายใจที่สมบูรณ์แบบ

มนุษย์เราทุกวันนี้กินอาหารที่นุ่มขึ้น ผลคือเคี้ยวน้อยลง ปากจึงค่อย ๆ เล็กลง ทางเดินหายใจแคบลง ขากรรไกรสั้นลง ฟันจึงเบียดเสียดจนเก ส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจและนอนกรน

สิ่งเหล่านี้อาจแก้ได้ด้วยการเคี้ยว

ใช่, เคี้ยวอาหารให้นานขึ้นนั่นแหละ นานเป็นชั่วโมงได้ยิ่งดี

แน่นอนว่าเราคงเคี้ยวอาหารมื้อละชั่วโมงไม่ไหว ทางแก้ง่าย ๆ คือ หาอะไรมาเคี้ยว เช่น หมากฝรั่ง หรือน้ำตานางฟ้า (Mastic Gum, ยางของต้นไม้ชนิดหนึ่ง)

มีการทดลองพบว่ากระดูกใบหน้ามนุษย์ไม่หยุดเจริญเติบโต มันสามารถขยายตัวและปรับรูปได้จนถึงอายุ 70 ปี (หรืออาจนานกว่านั้น) แปลว่าถ้าเราเคี้ยวนานขึ้น กระดูกใบหน้าเราก็จะถูกปรับรูปให้ดีขึ้นได้

เรื่องเคี้ยวหมากฝรั่งนี่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไรแฮะ แต่จะเคี้ยวอาหารให้นานขึ้นละกันนะ 😊

[ สรุป ]

เป็นหนังสือที่ดีมาก และคิดว่าทุกคนควรอ่าน (ไม่ได้ค่าโฆษณา)

หนังสือยาวเกือบ 300 หน้า แต่เขียนได้สนุก มีสิ่งที่ไม่รู้ และสิ่งที่เคยเข้าใจผิดเต็มไปหมด

คุณเจมส์เล่าเรื่องได้ดีมาก ตัดฉากสลับไปมาระหว่างการทดลองที่กำลังเผชิญกับบทวิจัยที่เกี่ยวข้อง อธิบายเรื่องยาก ๆ ด้วยเทคนิคการเปรียบเปรยที่เห็นภาพ

ใช้เวลาค้นคว้าและทดลองด้วยตัวเองนานถึง 10 ปี

ท้ายเล่มยังมีเทคนิคการหายใจนับสิบวิธี ทั้งเทคนิคการหายใจแบบนาฑีโสธนะ บูเทโก ทุมโม สุดาจัน กริยา และวิธีการหายใจแบบโยคี

เรียกได้ว่าสังเคราะห์ทั้งศาสตร์โบราณและศาสตร์สมัยใหม่เข้าด้วยกันราวภูษาไร้ตะเข็บ

จำไม่ได้ว่าอ่านหนังสือแล้วได้ฟีลขนาดนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไร เล่มล่าสุดที่พอจะนึกออกคือ Why we sleep (เขียนโดยคุณ Matthew Walker) ประทับใจและชอบมาก ๆ

ตั้งแต่บทแรกที่เริ่มอ่าน การหายใจของผมก็เปลี่ยนไปแล้วล่ะ …

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.