เหตุผลที่ผมไม่รับสอน Excel (ตามโจทย์ของผู้เรียน)

“อาจารย์รับสอน Excel ตามโจทย์ของผู้เรียนไหมคะ?”
“เกรงว่าไม่รับครับ”
“อ้าว! ทำไมล่ะคะ?”

ที่ไม่รับ เพราะเคยรับแล้วพบว่าไม่เวิร์ก ด้วยเหตุผล 4 ข้อ

[1. Level 8 vs Level 2]

โดยปกติแล้วโจทย์ของผู้เรียนคืองานที่ทำอยู่และมีปัญหา ซึ่งมักเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อน ถ้าเทียบความยากคงประมาณ Level 8

แต่พื้นฐานของผู้เรียนคือ Level 2

ประมาณว่าผู้เรียนถามโจทย์ที่ต้องแก้โดยใช้ฟังก์ชันซ้อนกัน 8 ชั้น แต่สิ่งที่ผู้เรียนทำได้ตอนนี้มีแค่ IF กับ VLOOKUP

ใช่, มันข้ามขั้นเกินไป

สุดท้าย ผู้เรียนจะรู้สึกว่ายาก ท้อ แล้วก็นั่งเรียนให้มันจบ ๆ ไป

[ 2. อย่างนี้มันเสียมะ ]

โจทย์ที่ผู้เรียนถามมักเป็นไฟล์ Excel ที่ใครคนนึงสร้างขึ้น เป็นไฟล์ที่มีปัญหาหรือตอบโจทย์บางอย่างไม่ได้

ตอนเรียน คนสร้างไฟล์นั้นก็จะเข้ามาเรียนด้วย

พอผมวิเคราะห์ไฟล์ พบว่าปัญหาเกิดจากการเก็บข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือพบว่าทำผิดตั้งแต่ขั้นตอนแรก ๆ ต้องรื้อโครงสร้างไฟล์ทั้งหมด

คนสร้างไฟล์ก็จะไม่พอใจ รู้สึกเสียหน้า (เพราะนอกจากเค้าแล้ว มีคนอื่นมาเรียนด้วย)

หรือถ้าคนสร้างไฟล์ไม่ได้เข้าอบรม (เพราะลาออกไปแล้ว) พอพบว่าผิดตั้งแต่ขั้นตอนแรก ๆ ก็จะเกิดการโบ้ยว่าปัญหาเกิดจากคนก่อน ชั้นไม่ผิด เถียงกันไปมา บลา ๆ ๆ

กลายเป็นผมต้องมานั่งฟังปัญหาภายในที่เกิดตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา บางครั้งเถียงกันถึงขั้นทุบโต๊ะ (เรื่องจริงนะ)

[ 3. รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ]

ร้อยละร้อยของปัญหาไฟล์ Excel เกิดจากการไม่มีฐานข้อมูล หรือการมีฐานข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

ซึ่งการจะมีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง จำเป็นต้องปรับกระบวนการ หรือเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงาน

ตรงส่วนนี้ผู้เรียนมักไม่ยินยอม เพราะกะจะเรียนเพื่อแก้ไขปัญหา แต่อาจารย์กลับให้เปลี่ยนสิ่งที่เคยทำ

สุดท้ายแล้ว ผู้เรียนก็เลือกกลับไปใช้วิธีเดิม แม้จะมีปัญหาแต่ก็พอถึก ๆ แก้แมนวลได้ เพราะรู้สึกดีกว่าการรื้อใหม่ทั้งหมด

[ 4. ชั้นมาทำอะไรที่นี่ ]

สมมติว่าผู้เรียนมี 15 คน

ปัญหาที่ยกมามักเกี่ยวข้องไม่เกิน 5 คน แปลว่าอีก 10 คนจะรู้สึกว่าไม่เกี่ยวกับชั้น หรือชั้นไม่ได้สนใจไฟล์ตัวอย่างนี้

10 คนนั้นก็จะเริ่มหยิบมือถือขึ้นมาดู ลุกเดินไปเดินมา หรือเปิดงานอื่นขึ้นมาทำ สิ่งที่สอนกลายเป็นตอบโจทย์แค่คนส่วนน้อย

นี่คือข้อเสียของโจทย์ที่จำเพาะเกินไป

[ แล้วจะทำยังไง? ]

ลองถามตัวเองก่อนว่า ที่อยากเรียน เพราะอยากแก้ปัญหาไฟล์นี้ หรืออยากเก่งขึ้นจริง ๆ

สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน และไม่เหมือนกันเลย

ถ้าอยากแก้ปัญหาไฟล์นี้ การจ้างบริษัทที่ปรึกษามาช่วยแก้ไขอาจเป็นทางที่ดีกว่าก็ได้ (ซึ่งมักจบด้วยการสร้างระบบฐานข้อมูล) และเราต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนะ

แต่ถ้าอยากเก่งขึ้นจริง ๆ ลองเปิดใจเรียนตามที่อาจารย์สอน เพราะอาจารย์ท่านนั้น ๆ ได้เรียบเรียงลำดับขั้นความยากง่ายที่เหมาะสมให้แล้ว

ถ้ามองว่าสิ่งที่อาจารย์สอนยังไม่ตอบโจทย์ ลองหยิบเคสขึ้นมาถาม ถ้าอาจารย์ท่านนั้นประเมินความยากของเคสกับความสามารถของผู้เรียนว่าสอดคล้องกัน อาจารย์ท่านนั้น (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผม) คงไม่ลังเลที่จะตอบ

ถ้าเรียนตามที่อาจารย์สอนก็แล้ว ยังไม่ตอบโจทย์ แสดงว่าเคสของคุณมีความจำเพาะ มีความท้าทาย กำลังรอให้คุณนำความรู้ที่เรียนไปใช้

และเมื่อคุณทำได้ คุณจะเก่งขึ้นแน่นอน พร้อมกับความภูมิใจที่ใส่มาเต็มเปี่ยม

ยูเรก้า! ข้าพบแล้ว

ความรู้สึกนั้นมันสุดยอดจริง ๆ นะ 😊

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.