อัฏฐสุตรา หนังสือแหวกชีวิต

“ไม่มีอะไร ‘ดำรงอยู่’ หากเราไม่ ‘สังเกต’ มัน พูดสั้นๆคือ ‘มัน’ มีตัวตน เพราะเราไปสังเกตมัน”

นี่คือสิ่งที่ผมสรุปจากการอ่านหนังสือเรื่อง “อัฏฐสุตรา” ซึ่งแต่งโดยคุณวินทร์ เลียววาริณ ผู้ซึ่งคนทั่วไปอาจมองเป็นนักเขียน แต่สำหรับผมเขาคือนักปราชญ์

IMG_2514.JPG

หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไรน่ะหรือครับ?

เป็นเรื่องยากที่จะให้คำจำกัดความหรือจัดหมวดหมู่หนังสือเล่มนี้ เพราะเกี่ยวกับหลายเรื่องมาก ไม่ว่าจะเป็น

  • คณิตศาสตร์
  • ฟิสิกส์
  • จักรวาลวิทยา
  • ศาสตร์อี้จิง
  • หลักธรรมของเต๋า
  • หลักธรรมของศาสนาพุทธ
  • หลักธรรมของเซน
  • ศิลปะ

ในอีกแง่มุม จะมองว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่อธิบายปรัชญาก็ได้

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้มา 7-8 ปีแล้ว คุ้นๆว่าเคยอ่านจบแบบเร็วๆรอบนึง ช่วงนี้รู้สึกอยากเปลี่ยนบรรยากาศ จึงหยิบหนังสือของคุณวินทร์มาอ่าน

(ถ้าใครเบื่ออ่านหนังสือแนวเดิมๆ แนะนำให้อ่านหนังสือของคุณวินทร์เล่มใดก็ได้ครับ แล้วคุณจะเปลี่ยนบรรยากาศแน่นอน ^^)

เคยมีคำกล่าวว่า หนังสือเล่มเดิม เมื่ออ่านในเวลาที่เปลี่ยนไป มุมมองที่ได้ก็จะไม่เหมือนเดิม…

ผมเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้เต็มๆ

หลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบอีกครั้ง ความรู้สึกหลังปิดหนังสือไม่เหมือนครั้งแรกเลย

ความทรงจำรางๆตอนอ่านครั้งแรก รู้สึกว่าอ่านยาก และค่อนข้างไกลตัว (น่าจะอ่านไม่จบด้วยซ้ำ)

แต่พออ่านอีกครั้ง รู้สึกว่าเข้าใจ “อะไรๆ” มากขึ้น เริ่มรู้สึกว่าเรื่องไกลตัวใกล้กว่าที่คิด เรื่องใกล้ตัวไกลกว่าที่คิด

หนังสือเล่มนี้แม้มีความหนาเพียง 233 หน้า แถมมีภาพประกอบเยอะ แต่ใช้เวลาอ่านนานทีเดียว

เพราะอ่านแล้วต้องลดมือวางหนังสือลง เอานิ้วชี้มือขวาคั่นไว้ แล้วคิดตาม

บางทีก็เอาที่คั่นหนังสือมากั้น แล้วใช้นิ้วชี้มือซ้ายจับคาง ทำความเข้าใจตัวหนังสือที่เพิ่งอ่าน…

ถ้าคุณชอบหนังสือเรื่อง A Brief History Of Time (แต่งโดยคุณ Stephen Hawking) คุณจะต้องชอบหนังสือเล่มนี้แน่นอน

ถ้าคุณชอบศาสตร์หยินหยาง คุณจะต้องชอบหนังสือเล่มนี้แน่นอน

ถ้าคุณชอบความงามของคณิตศาสตร์ คุณจะต้องชอบหนังสือเล่มนี้แน่นอน

ความงามของคณิตศาสตร์คืออะไรน่ะหรือครับ?

ผมขอยกตัวอย่างความงามของคณิตศาสตร์ จากหนังสือหน้า 59

19 = (1 x 9) + (1 + 9)

29 = (2 x 9) + (2 + 9)

39 = (3 x 9) + (3 + 9)

49 = (4 x 9) + (4 + 9)

………….

11 = 1 x 9 + 2

111 = 12 x 9 + 3

1,111 = 123 x 9 + 4

………….

111,111,111 x 111,111,111 = 12,345,678,987,654,321

เห็นความงามไหมครับ ^__^

ตอนอ่านมีความรู้สึกได้กลิ่นอายของ “The Da Vinci Code” (แต่งโดยคุณ Dan Brown) และ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” (แต่งโดยคุณวินทร์เช่นกัน)

ช่วงนี้ผมกำลังเครียดลึกๆ นอนหลับไม่ค่อยสนิท ตื่นกลางดึกทุกคืน

ส่วนนึงคงเป็นเพราะไม่พอใจตัวเองที่ทำงานล่าช้ากว่าแผนที่วางเอาไว้ หลายสิ่งควรต้องเสร็จแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มี “วุ้น” ออกมาให้เห็น

ส่วนนึงอาจเป็นเพราะปัญหาส่วนตัวหรือคนรอบข้างที่ประเดประดังเข้ามา

ส่วนนึงอาจเป็นเพราะรู้สึกว่าโลกทุกวันนี้หมุนเร็วเหลือเกิน ถ้าเราหมุนช้ากลายเป็นเดินถอยหลัง

แต่พออ่านประโยคในหนังสือหน้า 221

“ไม่มีอะไร ‘ดำรงอยู่’ หากเราไม่ไป ‘สังเกต’ มัน พูดสั้นๆคือ เรามีตัวตนอยู่เพราะเราไปสังเกตมัน!”

ผมอ่านประโยคนี้แล้วเหมือนโดนตีแสกหน้า จนต้องอ่าน “ระหว่างบรรทัด” หลายรอบ และตีความในมุมที่เหมาะกับตัวเองตอนนี้ได้เป็น

“ไม่มีอะไร ‘ดำรงอยู่’ หากเราไม่ ‘สังเกต’ มัน พูดสั้นๆคือ ‘มัน’ มีตัวตน เพราะเราไปสังเกตมัน”

คืนนี้ผมคงนอนหลับสนิทและไม่ตื่นกลางดึกแล้วล่ะ ^___^

.

ขออภัยหากไม่ได้เล่าอะไรเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้มากนัก เพราะผมอยากให้คุณอ่านด้วยตัวเอง ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงภาคผนวก

เชื่อว่า 10 คนอ่านจะได้ 10 มุมมอง

แล้วคุณล่ะ ได้มุมมองแบบใด?

 

ขอบคุณคุณวินทร์ เลียววาริณ ที่แต่งหนังสือทรงคุณค่าเล่มนี้ครับ ^/\^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.