{Book Review} มูซาชิ (ฉบับท่าพระจันทร์)

คุณรู้จักมิยาโมโต้ มูซาชิ ไหมครับ?

ใช่ครับ เค้าคือนักดาบอันดับหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ผู้มีชีวิตโลดแล่นเมื่อราว 400 ปีก่อน (ค.ศ. 1586 – 1645)

ผมรู้จักมิยาโมโต้ มูซาชิ ครั้งแรกจากการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่องที่ทำให้รู้จักจริงจังน่าจะเป็น ‘ไยบะ’ แม้ว่ามูซาชิในไยบะจะเป็นตัวละครล้อเลียนจนแทบกลายเป็นตัวตลก แต่ก็ทำให้รับรู้เรื่องราวของมูซาชิไม่น้อย

พอเห็นหนังสือเล่มนี้วางขาย แถมพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โปรดคือ Openbooks ก็เลยซื้อแบบไม่ต้องคิด

อันที่จริง ก่อนซื้อผมไม่ได้พลิกอ่านด้วยซ้ำ เหตุผลเพราะพลิกอ่านไม่ได้ เนื่องจากหนังสือของสำนักพิมพ์ Openbooks มักหุ้มพลาสติกทั้งเล่ม ด้วยความเชื่อใจสำนักพิมพ์ และอยากรู้ประวัติของมูซาชิก็เลยตัดสินใจซื้อ

ตอนแรกคิดว่าเป็นชีวประวัติ แต่ข้างในกลับเป็นนิยาย ด้วยความที่เนื้อหาผิดจากที่คาด แถมหนาถึง 700 หน้า ก็เลยถูก “ดอง” โดยปริยาย

พอดีช่วงนี้ผมเบื่ออ่านหนังสือฮาวทู ก็เลยหยิบหนังสือที่ดองไว้มาอ่าน ไม่งั้นจะ “เค็ม” เกินไป ค้นไปค้นมาเจอเล่มนี้

ตอนแรกคิดว่าเป็นหนังสือน่าเบื่อ เอาเข้าจริงสนุกทีเดียว

สนุกแค่ไหนน่ะหรือครับ?
เอาง่ายๆว่าหนังสือหนา 700 หน้า ผมใช้เวลาอ่านแค่ 5-6 วัน คุณว่าสนุกไหมล่ะ ^_^

พออ่านจบรู้สึกประทับใจ คิดว่าถ้าไม่บันทึกไว้ก็จะเป็นอีกเล่มที่ “จำได้ว่าเคยอ่าน” งั้นก็ขอเขียนอะไรเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้หน่อยละกัน

มูซาชิ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ประพันธ์โดยคุณโยชิคาว่า เอญิ เรื่องราวในหนังสือเป็นช่วงชีวิตของมูซาชิในวัยหนุ่ม ใช้ชื่อไทยว่า “มูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์” แปลและเรียบเรียงโดยคุณสุวินัย ภรณวลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1995 พอครบรอบ 20 ปี สำนักพิมพ์ Openbooks จึงเรียบเรียงและตีพิมพ์ใหม่ (กระดาษดี ขนาดฟอนต์กำลังดี ภาพประกอบสวยงาม ให้ประสบการณ์อ่านดีมาก)

เรื่องราวเริ่มต้นในช่วงสงครามที่ทุ่งเซกิงาฮาร่า ถ้าใครพอรู้ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นคงพอคุ้นชื่อนี้บ้าง เพราะเป็นสงครามที่พลิกประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ผู้ชนะคือ โตกุงาว่า อิเอยาสุ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับมูซาชิ

มิยาโมโต้ มูซาชิ เดิมชื่อ ชินเม็ง ทาเกโซ เป็นซามูไรแพ้สงคราม อันที่จริงคงเรียกว่าซามูไรได้ไม่เต็มคำ เพราะหน้าที่ของทาเกโซวัย 17 ปีในกองทัพคือ งานขนแบกและเกี่ยวหญ้าให้ม้ากิน ช่วงเวลาที่ถือดาบสั้นกว่าช่วงเวลาที่ถือเคียวเกี่ยวหญ้าอีก เวลารบก็เป็นทหารเดินเท้า
ใช่! เจ้าตัวไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรเลย แถมอยู่ฝั่งผู้แพ้ด้วย

ช่วงชีวิตในวัยเด็กของทาเกโซนั้นไม่น่าพิสมัยเลย เพราะแม่ทิ้งไปแต่งงานกับผู้ชายอื่นตั้งแต่ยังเล็ก แถมพ่อก็เข้มงวดและเย็นชา ทาเกโซจึงกลายเป็นเด็กเกเร

เกเรขนาดไหนน่ะหรือครับ?
ขนาดที่ฆ่าคนตายตอนอายุ 13 !
ช่วงนั้นมีซามูไรพเนจรมาท้าประลองในหมู่บ้าน ด้วยเรี่ยวแรงมหาศาลและอยู่ในวัยคะนอง ทาเกโซจึงฆ่าซามูไรคนนั้นอย่างง่ายดาย (ใช่ อายุ 13 นั่นแหละ)

พอฆ่าคน แทนที่จะสำนึกผิด กลับยิ่งผยอง ยิ่งเกเรไปใหญ่ พอพ่อตาย ยิ่งไม่มีใครฉุดอยู่ พอได้ข่าวว่ามีสงคราม ก็เลยเข้าร่วมเพื่อกะสร้างชื่อ สุดท้ายก็แพ้อย่างย่อยยับ ดีที่ยังมีชีวิตรอด

แม้รอดมาได้แต่นิสัยก็ไม่เปลี่ยน โชคดีที่เจอพระเซนคือท่านทากุอัน ท่านทากุอันใช้ลูกล่อลูกชนจนกำราบทาเกโซได้ เมื่อกำราบได้แล้วท่านทากุอันดัดนิสัยทาเกโซโดยให้อ่านหนังสืออยู่ในห้องผีสิงไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันสามปี (ช่วงอายุ 17-20)

ช่วงเวลาสามปีนั้นเองที่ขัดเกลาจิตใจทาเกโซจนเปลี่ยนเป็นคนละคน ท่านทากุอันมองว่าทาเกโซผ่านการเกิดใหม่ จึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น มิยาโมโต้ มูซาชิ (มิยาโมโต้เป็นชื่อหมู่บ้านที่ทาเกโซอาศัยอยู่สมัยเด็ก)

จากนั้นมูซาชิจึงกลายเป็นโรนิน (ซามูไรที่ไร้นาย) ออกท่องเที่ยวพเนจรเพื่อค้นหามรรคาแห่งดาบ พบเจอผู้คน ผ่านการต่อสู้มากมาย จนได้สู้กับนักดาบผู้ยิ่งใหญ่ ซาซากิ โคยิโร่

(ขอไม่เล่ารายละเอียดนะครับ ไม่งั้นบทความนี้คงยาวไม่ต่ำกว่า 50 หน้า)

ผมชอบวิธีการเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้มาก เพราะทั้งเล่มเล่าผ่านมูซาชิเพียงคนเดียว เล่าผ่านความรู้สึกนึกคิด บทสนทนา และเรื่องราวที่ได้รู้ได้ยินจากคนอื่น ทำให้ “อิน” คล้ายเราเป็นมูซาชิเอง

ถ้าถามว่าชอบอะไรในตัวมูซาชิ คงต้องตอบว่า บุคลิกภาพ

บุคลิกภาพของมูซาชินั้นยิ่งใหญ่มาก แม้เป็นนักดาบที่เก่งกาจแต่กลับถ่อมตัว พูดจาสุภาพกับทุกคน ทุกประโยคลงท้ายด้วยคำว่า ‘ครับ’ คำแทนตัวเวลาพูดกับคนไม่รู้จักคือ ‘กระผม’ ทุกอากัปกิริยาองอาจ ใบหน้าเรียบเฉยไม่แสดงอารมณ์

(ผมนึกถึงตอนอ่านนิยายจีนเรื่อง “ภูผา มหานที” ภาคสอง (แต่งโดยคุณเฟิ่งเกอ) ในเรื่องมีการพูดถึงว่าจอมยุทธ์ผู้ใหญ่ต้องมีบุคลิกภาพที่ยิ่งใหญ่ ตอนอ่านก็ไม่ค่อยเข้าใจประโยคนี้ แต่พออ่านเรื่องมูซาชิแล้วเข้าใจและเห็นด้วยมากๆ)

ฉากหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ตอนมูซาชิขอพร ในเรื่องมูซาชิขอพรทั้งหมด 2 ครั้ง

ขอพรครั้งแรกตอนอายุ 21 กำลังออกท่องเที่ยวเพื่อค้นหามรรคาแห่งดาบ เขาไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดคิโยมิซุเดระ ขอพรสองประการ

ประการแรก ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองพี่สาวให้พ้นจากผองภัยทั้งปวง
ประการที่สอง ขอฟ้าประทานอุปสรรคเพื่อทดสอบให้เขากลายเป็นนักดาบอับดับหนึ่งในแผ่นดิน หรือไม่ก็ให้เขาตายไปดีกว่า !!

คุณอึ้งไหม
ผมอ่านแล้วอึ้งไปสามวิเลยนะ …

เวลาอธิษฐาน เรามักอธิษฐานขอให้ทุกอย่างราบรื่น แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง แต่มูซาชิกลับขอให้ฟ้าประทานอุปสรรค เพื่อให้เขาฟันฝ่าจนกลายกลายเป็นนักดาบอันดับหนึ่ง มูซาชิเลือกทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ไม่ใช่โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ตอนอธิษฐานให้พี่สาว ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครอง แต่ตัวเองกลับขอให้ประทานอุปสรรค นี่แสดงว่าเขาเข้มงวดกับตัวเองมากๆ และเชื่อในความพยายาม (ถ้าพูดตามหลักของหนังสือฮาวทูคือมี Growth Mindset)

ขอพรครั้งที่สองตอนอายุ 22 ตอนนั้นเป็นฉากสำคัญ มูซาชิกำลังไปประลองด้วยเงื่อนไขที่เสียเปรียบมากๆ นั่นคือประลองกับหลานเจ้าสำนักโยชิโอกะวัย 12 ปี แต่หลานเจ้าสำนักสามารถมีผู้ช่วยประลองกี่คนก็ได้ พูดง่ายๆคือมูซาชิจะโดนรุมกินโต๊ะจากคนสำนักโยชิโอกะซึ่งมีร่วมร้อยคน (เจ้าสำนักและรองเจ้าสำนักโยชิโอกะแพ้มูซาชิไปแล้ว คนในสำนักจึงเจ็บแค้นมาก)

สถานที่ประลองคือต้นสนใหญ่เชิงเขาวัดอิจิโยยิ ตอนมูซาชิเดินไปอีกครึ่งกิโลเมตรจะถึงต้นสนใหญ่ ก็เห็นศาลเจ้าเล็กๆอยู่ข้างทาง หลังจากเอาผ้าขาวโพกศีรษะและกำลังจะยกมือขอพร ความคิดที่ฉุกเข้ามาคือ

“โอ.. เจ้ามูซาชิเอ๋ย ช่างน่าละอายเหลือเกินที่เจ้ายังขอพึ่งพลังของเทพเจ้าในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ไม่ถูกต้องแล้ว เจ้าจะต้องพึ่งตัวเอง พึ่งความสามารถของตัวเจ้าเอง พระเจ้าคือสิ่งที่มีไว้สำหรับเคารพบูชา หาใช่มีไว้เพื่อขอพรไม่ !!”

ผมอ่านประโยคนี้แล้วขนลุกซู่เลย

อีกฉากหนึ่งที่ชอบมากคือ ตอนประลองชนะซาซากิ โคยิโร่

ก่อนการประลองนั้น ซาซากิ โคยิโร่ มีศักดิ์ฐานะที่ไม่ธรรมดา ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักดาบอัจฉริยะ แถมมีท่าไม้ตาย “สังหารนางแอ่น” เอาชนะนักดาบชื่อดังนับไม่ถ้วน การต่อสู้ที่สร้างชื่อคือการประลองชนะโคโน่ ทาดะอาคิ ผู้เป็นครูดาบของโชกุน!

แม้แต่มูซาชิยังบอกว่าโคยิโร่เป็นอัจฉริยะ ส่วนเขาเป็นคนมีความสามารถปานกลางที่มีความพยายามเท่านั้น (Growth Mindset อีกแล้ว)

ก่อนสู้ มูซาชิประเมินแล้วว่าตนสู้โคยิโร่ไม่ได้ ฝีมือสู้ไม่ได้ ความเร็วสู้ไม่ได้ แถมโคยิโร่ใช้ดาบยาว “โมโนโฮชิซาโอะ” ได้อย่างแคล่วคล่อง และดาบเล่มนี้ก็ยาวกว่าของมูซาชิ เค้าลองสู้กับโคยิโร่ในจินตนาการนับล้านครั้งก็พบว่าสู้ไม่ได้

การประลองจัดขึ้นที่เกาะฟุเนชิม่า เวลาประลองคือแปดโมงเช้า แต่มูซาชิจงใจไปถึงตอนสิบโมงเช้าเพื่อยั่วให้โคยิโร่โมโห โคยิโร่เดินมารอมูซาชิบนชายหาด ช่วงนั้นเป็นเวลาน้ำขึ้น เมื่อเรือพายของมูซาชิมาถึงจึงอยู่ในชัยภูมิที่ได้เปรียบ แถมระหว่างนั่งเรือ มูซาชิเปลี่ยนอาวุธจากดาบไปใช้เป็นใบพาย โดยเหลาใบพายเรือให้เป็นดาบที่มีความยาวมากกว่าโมโนโฮชิซาโอะ (ชื่อยาวจังฮู้)

พอมาถึงมูซาชิจงใจจุ่มดาบใบพายในน้ำเพื่อไม่ให้โคยิโร่เห็นความยาวของดาบ ก่อนเริ่มสู้ก็พูดยั่วเพื่อปั่นหัวโคยิโร่ สุดท้ายโคยิโร่ก็พ่ายแพ้

เมื่อชนะแล้วมูซาชิก็พายเรือกลับทันที ทิ้งให้สักขีพยานบนเกาะอึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ถ้ามองกันตามเนื้อผ้าแล้ว ชัยชนะของมูซาชิไม่สวยงาม แต่สิ่งที่มูซาชิคิดก็คือ

“ข้าตระหนักดีว่าการต่อสู้ระหว่างข้ากับโคยิโร่ในวันนั้นคงจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หรือประณามหยามเหยียดคนรุ่นเดียวกับข้าและคนรุ่นหลังข้าแน่นอน โลกนี้เต็มไปด้วยคลื่นต่างๆนานา พวกปลาเล็กปลาน้อยจะปล่อยตัวไปตามกระแสเริงร่า ร้องเพลง ระริกระรี้ไปตามคลื่นที่มีขึ้นมีลง แต่มีใครบ้างที่รู้ซึ้งถึงหัวอกของน้ำที่อยู่ลึกหนึ่งร้อยเชียะ

คมคายเพียงใด คงไม่ต้องอธิบาย

นอกจากมูซาชิแล้ว ตัวละครที่ผมชอบคือ ชิชิโดะ ไบเก็น

ชิชิโดะ ไบเก็น เป็นตัวร้าย ใช้อาวุธแปลกประหลาด นั่นคือโซ่ที่มีปลายข้างหนึ่งเป็นเคียว ปลายอีกข้างหนึ่งเป็นลูกตุ้มเหล็ก เค้าใช้อาวุธนี้อย่างแคล่วคล่องจนมูซาชิเสียท่า โชคดีที่ค้นพบจุดอ่อนจึงเอาชนะมาได้อย่างหวุดหวิด

แม้ไบเก็นเป็นตัวร้าย แต่ผมว่าเท่มากเลยนะ ยิ่งฉากใช้อาวุธ มือซ้ายถือเคียว มือขวาควงลูกตุ้ม เท่สุดๆ ^^

(การเห็นไบเก็นใช้อาวุธนี้อย่างแคล่วคล่อง บวกกับการฟังเสียงกลอง มูซาชิจึงสามารถบัญญัติวิชาดาบสองมืออันลือลั่นขึ้นมาได้)

ตัวละครที่ไม่ชอบเลยคือ ป้าโอสุหงิ ผู้เป็นแม่ของมาตะฮาจิ (เพื่อนรักของมูซาชิ) ผมว่าตัวละครนี้ไม่สมเหตุสมผล หญิงชราตัวเล็กผู้ไม่มีฝีมือและไม่มีทรัพย์สินเงินทองกลับชักชวนผู้คนสร้างปัญหาให้กับมูซาชิมากขนาดนี้

อาจเป็นความจงใจของผู้เขียนที่ต้องการสื่อว่าหญิงชราตัวเล็กก็สร้างปัญหาให้มูซาชิผู้ยิ่งใหญ่ได้ แต่ผมว่ามันไม่อิน

หลายตัวละครก็ถูกสร้างและโยงหากันมากเกินไป เช่น เดิมทีมูซาชิกับโอโคร่วมมือกันฆ่าพี่ชายของไบเก็น ไบเก็นจึงเจ็บแค้นมูซาชิ โอโคก็มีเรื่องกับมูซาชิจึงเจ็บแค้นมูซาชิ แต่สุดท้ายไบเก็นกับโอโคมาจับมือร่วมกันฆ่ามูซาชิเฉยเลย (ทั้งที่โอโคร่วมฆ่าพี่ชายไบเก็น) ถ้าต้องการสื่อว่าศัตรูของศัตรูคือมิตร ตัวอย่างเรื่องนี้ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไรนัก

แม้ผมไม่ใช่นักปรัชญา แต่ก็พอจับได้ว่านวนิยายเรื่องนี้แฝงปรัชญาเซน คำพูดของท่านทากุอันและท่านกูโดแฝงความนัยไว้เยอะมาก

คำพูดหนึ่งที่ท่านกูโดกล่าวกับมูซาชิว่า

“เราไม่มีอะไรจะบอกเธอแม้แต่คำเดียว” ประโยคนี้ทรงพลังมากๆ

หลายจุดจับได้ว่ามีความนัย แต่ยังตีความไม่ออก ถ้าได้อ่านมูซาชิอีกครั้งตอนอายุมากขึ้นอาจตีความออกก็ได้

แต่วันนี้ขอบันทึกเรื่องมูซาชิไว้เท่านี้ก่อนละกัน

อ่านแล้วคิดยังไง พูดคุยกันได้นะครับ ^__^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.