{Book Review} มูซาชิ: ปัจฉิมบรรพ ลำดับ ๑ ภาคดิน

หลังจากอ่าน มูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ จบ พอรู้ว่ามีภาคต่อ ผมจึงกดสั่งซื้อแบบไม่ต้องคิด

กดแล้วก็รออย่างใจจดใจจ่อ พอหนังสือมาส่งก็แกะอ่านทันที

ภาคนี้ชื่อ มูซาชิ: ปัจฉิมบรรพ ลำดับ ๑ ภาคดิน (ขอเรียกสั้น ๆ ว่า “ภาคดิน”) มีความหนา 500 หน้า แต่พออ่านได้ 200 หน้า ผมกลับรู้สึกเฉย ๆ แฮะ คือมันแทบเป็นคนละเรื่องกับภาคเดิมเลยก็ว่าได้ แต่คุณ ‘รุตม์’ เพื่อนน้ำหมึกคนหนึ่งบอกว่าสนุก เค้าบอกว่าชอบมากกว่าฉบับท่าพระจันทร์อีก

“ไหนๆก็ซื้อมาแล้ว อ่านให้จบละกัน” ผมคิดแบบนี้

โชคดีที่ผมเชื่อคุณรุตม์

อาจเป็นเพราะอ่านฉบับท่าพระจันทร์แล้วชอบมาก (อ่านรีวิวได้จาก ที่นี่) จึงเกิดความคาดหวังว่าต้องสนุกระดับเดียวกัน หรือสนุกกว่า แต่ถ้าว่ากันตามจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุผล 2 ข้อ

  1. มูซาชิชนะโคยิโร่แล้ว แทบจะกลายเป็นนักดาบที่เก่งที่สุด จะใช้พล็อตเรื่องแบบค่อยๆทำให้พระเอกเก่งขึ้น หรือหาบอสตัวใหม่ที่เก่งกว่ามาก ๆ ไม่ได้ เพราะนี่คือนิยายอิงประวัติศาสตร์
  2. ผู้เขียนหรือคุณโยชิคาว่า เอจิ เขียนถึงแค่ตอนชนะโคยิโร่ ไม่ได้เขียนต่อจากนั้น และผู้เขียนก็เสียชีวิตไปแล้ว

ดังนั้นมันจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากว่าจะเขียนยังไง และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมภาคดินถึงห่างจากฉบับท่าพระจันทร์ถึง 24 ปี

โชคดีที่คุณสุวินัย ภรณวลัย ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงมูซาชิฉบับท่าพระจันทร์ตีโจทย์แตก โดยอาจารย์สุวินัยได้อ่านภาคต่อของมูซาชิ ซึ่งเขียนโดยนักเขียนคนละคน หรือครั้งนี้เขียนโดยคุณสะสะซาว่า สะโฮะ แล้วชอบ จึงหยิบมา “แปลง”

ใช้คำว่า “แปลง” เพราะอาจารย์สุวินัยไม่ได้แปลตามตัว กล่าวคือคุณสะโฮะเขียนเป็น 8 เล่มจบ แต่อาจารย์สุวินัยเรียบเรียงออกมาเป็น 5 ภาค เพื่อให้สัมพันธ์กับ ‘คัมภีร์ห้าห่วง’

จริงๆแล้วที่ญี่ปุ่นเคยมีคนเขียนภาคต่อของมูซาชิ 2 คน คนแรกคือคุณโคยาม่า คัตสึคิโยะ อีกคนคือคุณสะโฮะ แต่อาจารย์สุวินัยชอบแบบที่คุณสะโฮะเขียน เพราะสอดคล้องกับเนื้อเรื่องเดิม เดินเรื่องกระชับ เขียนจบในตอนคล้ายซีรีส์ฝรั่ง แต่ผม(คิดเอาเอง)ว่าอาจารย์สุวินัยเพิ่ม “เชิงอรรถ” และเพิ่มเติมเนื้อเรื่องบางส่วนเข้าไปด้วย

คือเพิ่มรายละเอียดในส่วนของพุทธธรรม การเจริญลมปราณกรรมฐาน โยคะ และศาสตร์ที่เป็นความชำนาญของอาจารย์สุวินัย ผมไม่เคยอ่านมูซาชิในเวอร์ชันของคุณสะโฮะ (ถึงเคยก็อ่านไม่ออก) แต่เชื่อว่าคงไม่เหมือนกับเวอร์ชันของอาจารย์สุวินัยอย่างแน่นอน

มูซาชิในภาคนี้มีกลิ่นอายของ ‘ลี้คิมฮวง’ คือมีวิชามีดบิน ในเรื่องใช้คำว่า “ชูริเคน” ซึ่งคือดาวกระจายของนินจา แต่อาจารย์สุวินัย (น่าจะจงใจ) เขียนออกมาในสไตล์มีดบินของลี้คิมฮวง เพราะเจ้าตัวตั้งใจแต่งเรื่องนี้ให้มีความเป็นโกวเล้ง กิมย้ง และหวงอี้ เพื่อเป็นการไว้อาลัยยอดนักเขียนทั้งสาม

ภาคดินนี้แบ่งเป็น 14 บท แต่ละบทเป็นแบบจบในตอน เดินเรื่องในไทม์ไลน์เดียวกัน โดยบทแรกเป็นเรื่องราวในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1612 ซึ่งเป็นเวลาหลังการประลองกับโคยิโร่ (ประลองกับโคยิโร่วันที่ 13 เมษายน 1612 ผมจำวันได้แม่นเพราะเป็นวันสงกรานต์ ^^) และบทสุดท้ายเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 1613

สำหรับผมแล้ว บทที่ 1-6 ไม่ค่อยสนุกเลย คืออาจเป็นเพราะมูซาชิเป็นนักดาบไร้เทียมทานแล้ว เวลาสู้กับใครก็ฟันทีเดียว อีกฝ่ายก็ตาย สู้กับใครก็ชนะแบบขาดลอย นี่คือเหตุผลที่นิยายกำลังภายในส่วนใหญ่ พอพระเอกเก่งสุดก็จบทันที เพราะถ้าเขียนต่อก็จะตัน

บทที่พอจะสนุกหน่อยคือบทที่ 4 ที่กล่าวถึงปีศาจในปราสาทร้าง ในเรื่องมูซาชิถูกขอให้ไปปราบปีศาจ เพราะที่ผ่านมามีโรนินหลายคนอาสาไปปราบ แต่ไม่มีใครรอดกลับมาสักคน แน่นอนว่ามูซาชิปราบปีศาจได้ แต่เจตนาของผู้เขียนน่าจงใจสื่อถึงสองตัวละครที่ “เป็นคนในร่างปีศาจ” กับ “เป็นปีศาจในร่างคน” ในจุดนี้ทำได้น่าสนใจ

พออ่านถึงบทที่ 7 เริ่มสนุก เพราะเนื้อเรื่องเกี่ยวกับซามูไรลึกลับที่เร้นกายในป่าจนแทบกลายเป็นสัตว์ร้าย แถมยังบงการหมาป่าได้ด้วย พอสู้กับมูซาชิก็ส่งสัญญาณเรียกหมาป่าตัวใหญ่ให้มาช่วยอีก 3 ตัว กลายเป็น 4 รุม 1 มูซาชิโดนหมาป่าสามตัวล้อม ยืนตั้งท่าประจันหน้ากันนานหนึ่งชั่วโมง มูซาชิเริ่มหมดแรง ส่อแววแพ้ โชคดีที่ยังพลิกสถานการณ์เอาชนะมาได้แบบหวุดหวิด นี่คือฉากที่ตื่นเต้นที่สุด

บทที่ 8 เล่าเรื่องของอิโต อิตโตไซ ซึ่งเป็นนักดาบไร้พ่ายในยุคก่อนมูซาชิ ผู้มีท่าไม้ตาย “ไร้คิด” ร่างกายจะชักดาบฟันศัตรูได้เองโดยไม่ผ่านกระบวนการคิด คล้ายกับพอจับจิตสังหารก็ฟันศัตรูได้เอง แม้ว่าศัตรูซุ่มอยู่ด้านหลังก็ตาม

อิโต อิตโตไซ ไม่เคยแพ้ใคร แต่เลือกใช้ชีวิตนักดาบพเนจรจนวาระสุดท้ายของชีวิต ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจลาภยศ ไม่เคยอยู่ในสายตา เขามุ่งแสวงหาความเป็นเลิศในวิชาดาบด้วยจิตบริสุทธิ์เท่านั้น

อ่านถึงตรงนี้ทำให้ผมชอบอิโต อิตโตไซ มากทีเดียว ยิ่งพอรู้ว่าเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ยิ่งชอบเป็นทวีคูณ

ในบทนี้ยังกล่าวถึง หนึ่งร้อยบทกวีพิชัยยุทธ์ ของยางิว เซกิซูไซ มุเนโทชิ นักดาบในตำนานอีกท่านที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยสรุปเป็น 10 ข้อ แต่ละข้อลึกล้ำแฝงปรัชญา โดยเฉพาะข้อ 7 ที่กล่าวว่า

การคุมใจที่ไม่นิ่งให้นิ่งได้เสมอ คือเคล็ดสุดยอดของวิชาดาบ

ลึกล้ำเพียงใด คงไม่ต้องอธิบาย

บทที่ผมชอบมากที่สุดคือบทที่ 9 กล่าวถึงนักดาบที่ชื่อ ฮาดะ โคะไซยิ ผู้สามารถปราบโจรห้าคนที่ยืนเรียงรายซ้ายขวา โดยวิ่งเข้าหาโจรด้วยความเร็วดุจลมกรด ชักดาบดังฟ้าแลบ พอเก็บดาบเข้าฝัก โจรทั้งห้าก็ล้มลง แต่ไม่มีเลือดสักหยด เพราะดาบที่ใช้คือ ดาบสลับคม !

บุคลิกของโคะไซยิเป็นคนสุขุม ถ่อมตัว พูดน้อย ใบหน้าของเขาไม่เคยขาดรอยยิ้ม

คาแรกเตอร์แบบนี้ทำให้ผมนึกถึง ฮิมูระ เคนชิน หรือมือพิฆาตบัตโตไซจากการ์ตูนเรื่องซามูไรพเนจร ไม่แน่ว่าผู้เขียนซามูไรพเนจรอาจได้แรงบันดาลใจจากตัวละครนี้จนสร้างเป็นการ์ตูนขึ้นมาก็ได้

ที่มันพีคมาก ๆ คือ มีวันนึงโคะไซยิเห็นชาวบ้านกำลังปาก้อนหินไล่อีกาดำที่กำลังบินเหนือศีรษะ ซามูไรคนหนึ่งกำลังง้างคันธนูเพื่อจะยิงอีกาลงมา

โคะไซยิบอกว่าอย่าเลย เพราะถ้ายิงอีกา เลือดและศพของอีกาก็ตกใส่หลังคาบ้าน กลายเป็นอัปมงคลของบ้านนั้น ขออาสาจัดการอีกาด้วยวิธีของตัวเอง

โคะไซยิทำยังไงน่ะหรือครับ?

โคะไซยิมองเพ่งไปที่อีกา ปรับลมหายใจ แล้วยกมือขวาขึ้นโดยนิ้วทั้งห้าประกบกันเป็นรูปมือดาบ จากนั้นใช้มือดาบฟันอากาศพร้อมกับเปล่งเสียง “ฮ่า”

อีกาดำสองตัวที่กำลังบินก็ร่วงผล็อยลงมาราวกับถูกตัดปีก ตกลงมาคอหักตายโดยไม่มีแผลใดๆ

“โคตรสุดยอด” ผมคิด

พอมูซาชิได้เจอโคะไซยิตัวจริงก็สำเหนียกว่าสู้ไม่ได้ รู้ตัวว่าต้องฝึกอีกอย่างน้อย 5 ปี ถึงกับงัดสุดยอดกลยุทธ์มาสู้กับโคะไซยิ นั่นคือ หนี!

ใช่ครับ มูซาชิหนี หนีการต่อสู้กับโคะไซยิ เพราะรู้ว่าสู้ไปก็แพ้แน่นอน

นี่คือนักดาบคนแรกที่มูซาชิหนี น่าเสียดายที่ฮาดะ โคะไซยิ ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แม้ไม่มีตัวตนแต่เรื่องราวในบทนี้ก็ตราตรึงมาก

ฉากที่ชอบมากอยู่ในบทที่ 11 โดยในฉากนั้นฝนกำลังตก มูซาชินั่งสงบนิ่งอยู่ใต้หลังคาบ้านพัก จ้องดูน้ำฝนที่หยดจากปลายหลังคาจนถึงพื้น

ทันใดนั้น มูซาชิชักดาบฟันหยาดน้ำฝนที่หยดจากหลังคาด้วยความเร็วปานสายฟ้า แล้วเก็บดาบเข้าฝัก ชักดาบแล้วเก็บเข้าฝัก ชักดาบอีกครั้งแล้วเก็บเข้าฝัก รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง ฟันน้ำฝนหยาดเดียวกันที่หยดจากหลังคาจนตกถึงพื้น !

“เฮ้ย !!” ผมนึกคำอื่นไม่ออกแล้ว

บทที่ 12 คือบทที่มีเนื้อหาลึกล้ำที่สุด เพราะกล่าวถึงสัทธรรมปุณฑริกสูตร และคัมภีร์พิชัยยุทธ์มังกรฟ้า ที่มูซาชิได้จากนิกายนิจิเร็น

ผมอ่านบทนี้แล้วอึ้ง อาจเป็นเพราะผมรู้จักนิกายนิจิเร็นเป็นอย่างดี แต่ในเรื่องกล่าวถึงประวัติและหลักธรรมที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน บางเรื่องก็ลึกมากๆ ผมคิด(เอาเอง)ว่าอาจารย์สุวินัยน่าจะเพิ่มเติมเชิงอรรถตรงนี้ ร้อยเรียงได้งดงามมาก

ยิ่งพอกล่าวถึง คัมภีร์พิชัยยุทธ์มังกรฟ้า ยิ่งลึกล้ำ คล้ายกลยุทธ์ซุนจื่อแต่มีส่วนต่าง แถมยังกล่าวถึงวิธีทำลมปราณกรรมฐานแบบละเอียดด้วย ผมอ่านแล้วก็ลองทำตาม แม้จะไม่คุ้นที่ต้องจินตนาการให้จิตวิ่งไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย แต่ก็เป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่

เมื่ออ่านจบทั้ง 14 บทจะพบว่าบทที่ 1-6 นั้นไม่ได้ไม่สนุกเหมือนที่คิดในตอนแรก เพราะจงใจแฝงปรัชญาและปริศนาธรรมไว้มากมาย เพียงแต่ตอนแรกผมคาดหวังว่าเรื่องราวจะต้องเร้าใจเหมือนแบบฉบับท่าพระจันทร์

ยิ่งตอนเขียนรีวิวหนังสือ ทำให้ต้องพลิกอ่านทุกบทอีกครั้ง ก็ทำให้เข้าใจเรื่องราวมากขึ้น เห็น “อะไร” ที่ผู้เขียน “แอบ” ทิ้งเอาไว้

โดยสรุปแล้ว ถ้าถามว่าสนุกไหม ตอบตรง ๆ ว่าไม่ค่อยสนุกหรอก ถ้าคาดหวังความตื่นเต้นเร้าใจ เล่มนี้อาจไม่ตอบโจทย์ แต่ถ้าอยากหาความแปลกใหม่ อยากหา “อะไร” ให้ชีวิต นี่คือหนังสือที่น่าอ่าน

มูซาชิ: ปัจฉิมบรรพ ยังไม่จบเท่านี้นะครับ นี่คือภาคดิน หรือ ภาค ๑ เท่านั้น

ภาค ๒ หรือภาคไฟวางขายแล้ว และภาค ๓ ๔ ๕ ได้ยินว่ากำลังทยอยออกมาจนจบ

ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับผู้เขียนหรือกับหนังสือเล่มนี้ ตอนแรกกะว่าจะไม่เขียนรีวิว แต่ชอบตอนฮาดะ โคะไซยิ มาก ยิ่งฉากฟันหยาดน้ำฝนยิ่งชอบ รู้สึกว่าถ้าไม่เขียนอะไรเลย ก็จะเป็นอีกเล่มที่ “จำได้ว่าเคยอ่าน” งั้นก็ขอบันทึกไว้ตรงนี้ละกัน

ใครอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคิดยังไง เมนต์คุยกันได้นะครับ ^__^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.