ทีแบ็ค กับ เรียนออนไลน์

“พ่อขา บ้านเรามีทีแบ็คไหมคะ?” ลูกสาวโพล่งถามขึ้นขณะเรียนออนไลน์ตอนแปดโมงเช้า
“อะไรนะลูก”
“บ้านเรามีทีแบ็คไหมคะ?”
“ทีแบ็คคืออะไรลูก?”
ในใจผมนึกถึงทีแบ็คที่เป็นตัวละครในเรื่อง Prison Break แต่เด็ก 7 ขวบไม่น่ารู้จักตัวละครนี้นะ

“ทีแบ็คคือถุงใส่ชา ที่เอาไปจุ่มน้ำร้อนน่ะค่ะ”
“อ้อ”
ผมเพิ่งรู้ว่าเจ้าถุงนั้นเรียกว่าทีแบ็ค
“จะเอาไปทำอะไรลูก”
“คุณครูบอกว่าจะเอาไปทำกิจกรรมสนุกๆตอนบ่าย แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรค่ะ”
“ไม่มีอ่ะลูก”
บทสนทนาจบตรงนั้น

“พ่อ แย่แล้ว ครูให้หาถุงชา” ภรรยาผมโพล่งขึ้นตอนแปดโมงครึ่ง
“เพิ่งไลน์มาบอกตอนทุ่มนึงเมื่อคืน”
“จะใช้ทำกิจกรรมตอนบ่าย”
“เค้าบอกว่า just for fun ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร”
“ถ้าเด็กคนอื่นมี แต่ลูกเราไม่มี เดี๋ยวลูกจะน้อยใจนะ”
“เราคงต้องหาให้ลูกแล้วล่ะ”

คำว่า “เรา” ของภรรยาผมไม่ได้เป็นพหูพจน์ แต่เป็นเอกพจน์ หมายถึงผมคนเดียว
ประโยคนี้จึงแปลว่า
“พ่อคงต้องหาให้ลูกแล้วล่ะ”

ณ ร้าน 7-11 ใกล้บ้าน ผมกำลังมองหาชาลิปตัน เพราะจำได้ว่าชายี่ห้อนี้เป็นทีแบ็ค พบว่ามีขายทุกยี่ห้อ ยกเว้นลิปตัน !
“ให้มันได้อย่างนี้สิ” ผมสบถในใจ
เหลือบไปเห็นชาตราสามม้า ไม่แน่ใจว่าข้างในเป็นทีแบ็คหรือเปล่า แต่กล่องซีลไว้ เปิดดูไม่ได้
นึกภาพลางๆว่าเหมือนเคยเห็นชาสามม้าแบบซองที่ออฟฟิศเก่า ก็เลยซื้อมาทั้งกล่อง
“47 บาทค่ะ” สิ้นเสียงพนักงาน ผมก็แตะบัตร All-Member ลงบนเครื่องสแกนเพื่อจ่ายเงิน

พอกลับถึงบ้าน พบว่าไม่มีทีแบ็คซักซอง !
คือมันเป็นใบชา แบบใบชาจริงๆ ใส่รวมกันในกล่อง
“ให้มันได้อย่างนี้สิ” ผมสบถในใจ
“ไม่ต้องใช้ก็ได้มั๊ง แค่ just for fun เอง” ผมเริ่มหาเหตุผลเพราะไม่อยากออกไปซื้อใหม่
แต่ภาพลูกสาวนั่งหงอยมองดูเพื่อนๆทำกิจกรรมอย่างสนุกสนานก็ลอยมา
“เอาวะ ซื้อใหม่ก็ได้” แล้วผมก็ออกไป

ณ ร้าน 7-11 อีกแห่งที่ไกลออกไป
“ทำไมครูต้องเยอะด้วย เค้าไม่ได้มีทีแบ็คกันทุกบ้านนะ”
“ครูไม่รู้หรือไงว่าเวลาให้เด็ก 7 ขวบหาของ มันคือการให้พ่อแม่หาของ งานพ่อแม่ชัดๆ”
ผมบ่นๆๆ ขณะมองหาชาลิปตัน
“นั่นไง” ผมเห็นกล่องสีเหลืองที่กำลังมองหา
พลิกกล่องดู มีเขียนคำว่า Tea Bag คราวนี้ไม่พลาดชัวร์
“72 บาทค่ะ” สิ้นเสียงพนักงาน ผมก็แตะบัตร All-Member ลงบนเครื่องสแกน
แค่จะหาทีแบ็คซองเดียวซัดไป 119 บาท

กลับถึงบ้าน เป็นทีแบ็คจริงๆ (โล่ง) ผมแกะออกมาซองนึงแล้วแช่น้ำ เพราะครูบอกว่าอยากให้แช่ทิ้งไว้ตั้งแต่เช้า ตอนบ่ายจะได้สีเข้มๆ

“มิรัน พ่อซื้อทีแบ็คมาให้แล้วนะลูก”
“เย้ ! ขอหนูดูหน่อย”
“หนูใช้เป็นหรือเปล่า”
“หนูใช้เป็น ขอหนูลองได้ไหม”
“เอาเลยลูก มีเป็นสิบซอง หนูใช้ได้เต็มที่เลย”

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า
“แล้วจะเอาทีแบ็คไปทำอะไร?”
เอาไปทากระดาษให้ดูเก่าครับ

เอาทีแบ็คแช่น้ำ (น้ำธรรมดา ไม่ต้องร้อน) แช่นานพอประมาณจนน้ำกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม จากนั้นก็เอาทิชชู่จุ่ม ทากระดาษ A4 ซ้ำไปซ้ำมา จนกระดาษกลายเป็นสีขาวอมน้ำตาล

ผมเห็นลูกสาวยืนหน้าอ่างล้างหน้า เอาทิชชู่จุ่มชา ละเลงกระดาษ หัวเราะเอิ๊กอ๊ากด้วยความสนุกสนาน
ผมดูไปยิ้มไป ในใจคิดว่า “เด็กหนอเด็ก”

“เสร็จแล้วทำไงต่อลูก” ผมถาม
“คุณครูบอกว่าตากให้แห้งก่อน เดี๋ยวเอามาโชว์กันพรุ่งนี้”

รุ่งเช้า มิรันก็อวด “กระดาษเก่า” ต่อหน้ากล้องด้วยความภาคภูมิใจ
หลังจบการอวดผลงานของแต่ละคนแล้ว ครูก็สอนเรื่องอารยธรรมอียิปต์โบราณ
ผมเลยถึงบางอ้อ !

ครูต้องการให้เด็กเข้าใจกระดาษพาไพรัส (Papyrus) หรือก็คือกระดาษที่ถูกคิดค้นโดยชาวอียิปต์ ซึ่งเป็นกระดาษชนิดแรกของโลก

นอกจากนั้นยังสอนเรื่องมัมมี่ อักษรเฮียโรกลิฟฟิก เรื่องราวของอารยธรรมอียิปต์โบราณ มิรันตั้งใจเรียนมากๆ

อาจเป็นเพราะเค้ามีส่วนร่วมกับการทำกระดาษพาไพรัส จึง “อิน” และสนุกกับสิ่งที่เรียน

ผมนึกถึงหนังสือเรื่อง Finding Sisu มีบทหนึ่งกล่าวถึงครูในฟินแลนด์ว่ามีอิสระในการสอน สามารถออกแบบการสอนได้ด้วยตัวเอง มันคือสิ่งนี้นี่เอง

ครูของลูกสาวผมมีจิตวิทยาดีมาก กล้าที่จะลองสิ่งใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ แถมเด็กๆก็ชอบ ผมรู้สึกทึ่งและชื่นชมครูมากๆ (แอบบ่นครูเยอะไปนิดนึง ไม่ว่ากันนะครับ ^^)

“พ่อขา หนูขอชาที่เหลือได้ไหมคะ?”
“จะเอาไปทำอะไรลูก”
“ครูบอกว่าชาใช้ทำยาได้ด้วย ถ้าพ่อป่วย หนูจะชงชาให้พ่อดื่ม พ่อจะได้หายป่วย”

คุณคงนึกภาพออกว่าผมยิ้มกว้างแค่ไหน ^_____^

ถ้าชอบบทความนี้ แชร์ได้นะครับ ยิ่งมีคนอ่าน คนเขียนยิ่งมีกำลังใจครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.