{Book Review} ต่อทางรถไฟ หนังสือ 100 รอบ

“พ่ออ่าน อ่าน..” ลูกชายวัยสองขวบรบเร้า
“อ่านอีกเหรอลูก วันนี้รอบที่สิบแล้วนะ”
“อ่าน อ่าน.. อ่านต่อทางรถไฟ” เด็กน้อยยืนกราน

ผมกำลังหาซื้อหนังสือเล่มใหม่ให้ลูก หยิบเล่มนั้น วางเล่มนี้ หยิบวางอยู่หลายเล่ม จนสะดุดกับหนังสือปกแข็งที่ชื่อ
“ต่อทางรถไฟ”

นึกในใจ “ลูกชอบรถ น่าจะชอบรถไฟ”

ลองหยิบขึ้นมาดู เล่มบาง ภาพเยอะ ตัวหนังสือน้อย สีสันสวยงาม ตรงสเปค

เนื้อหาเกี่ยวกับเด็ก ๆ ช่วยกันต่อทางรถไฟ น่ารักดี

พลิกดูปกหลัง 225 บาท ไม่น่ารักแล้ว…

ขณะที่กำลังจะวาง สะดุดตรงคำว่า “พิมพ์ครั้งที่ 8”

ปกติแล้วหนังสือเด็กมักพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง หนังสือดัง ๆ อย่างกุ๋งกิ๋ง ก็พิมพ์ซ้ำกว่า 30 ครั้ง

แต่เล่มนี้เป็นหนังสือแปล
ผู้เขียนคือ คุณฟูมิโกะ ทาเคชิตะ
ผู้วาดภาพคือ คุณมาโมรุ ซูซูกิ

หนังสือแปล ถ้าไม่เจ๋งจริง ไม่พิมพ์ถึง 8 ครั้ง
ราคาแพง แต่กระดาษดี กล้าขายราคานี้ น่าจะมีอะไร
ผมตัดสินใจไม่วาง แล้วเดินไปจ่ายตังค์

“มาวิน พ่อซื้อหนังสือเล่มใหม่มาให้ด้วย นี่ไง!” ผมยิ้มและโชว์หนังสือให้ลูกดู
“อ่าน อ่าน” คือคำตอบของเด็กน้อย

อ่านจบเล่มด้วยเวลาเพียง 2 นาที สังเกตปฏิกริยาลูก เหมือนดูเฉย ๆ คิดในใจ “ไม่น่าเลยกรู”

ขณะจะหยิบเล่มอื่นมาอ่าน มาวินก็พูดขึ้นว่า “พ่ออ่านอีก”

“อ่านอีกเหรอลูก จบแล้วนะ?” ผมแปลกใจ
“อ่านอีก อ่านอีก” มาวินยื่นหนังสือให้ผม

พออ่านรอบสองจบ มาวินก็พูดขึ้นว่า “พ่ออ่านอีก”
เฮ้ย! มันจะสนุกอะไรขนาดนั้น

คุณอาจสงสัยว่าในนั้นมีอะไร ผมขอเล่าให้ฟังย่อ ๆ ละกัน

เรื่องเปิดด้วยผู้หญิงคนหนึ่งถามเด็ก ๆ ว่า “กำลังทำอะไรกันอยู่หรือจ๊ะ”
“ต่อรางรถไฟครับ” เด็ก ๆ ตอบ
ซ้ายมือของผู้หญิงคือเด็กทารกที่กำลังหลับสบาย ขวามือคือแมวเหมียวที่กำลังนอนอุตุ

เด็ก ๆ ต่อทางรถไฟในทุ่งกว้าง ขณะที่ต่อก็มีกระต่ายน้อย กระรอก นกกางเขน และเจ้าแมวเหมียวที่ตื่นแล้วคอยวิ่งตามดู

ต่อ ต่อ ต่อ พบภูเขาขวางหน้า
ทำยังไดี?
ก็ขุดอุโมงค์ลอดไปสิ

พบแม่น้ำขวางหน้า
ทำยังไงดี?
ก็ทำสะพานข้ามไปสิ

พบถนนขวางหน้า
ทำยังไงดี?
ก็ทำที่กั้นถนนสิ

พบบึงใหญ่ขวางหน้า
ทำยังไงดี?
ก็ทำทางรถไฟอ้อมไปสิ

ต่อทางรถไฟจนบรรจบกันที่เดิม แล้วก็สร้างสถานีไฟตรงนั้น

รถไฟมาแล้ว แล้วทุกคนก็ขึ้นรถไฟ รถไฟก็แล่นไป

จบ!

หนังสือมีแค่นี้แหละครับ ไม่หวือหวา ไม่มีเสียง ไม่มีภาพแบบป็อปอัพ ไม่มีอะไรพิเศษเลย
แต่มาวินชอบมาก

ผมซื้อมาสองวัน อ่านไป 30 รอบ (ไม่นับรวมรอบที่แม่อ่านให้ลูกฟัง เพราะพ่ออ่านจนเบื่อ)
ลูกชอบมาก พ่ออ่านจนแปลกใจว่าทำไมชอบขนาดนี้

วิเคราะห์และนึกย้อน พบว่าหนังสือมีอะไรดีซ่อนอยู่เยอะมาก

ดียังไง?

จุดเด่นคือความเข้ากันอย่างลงตัวของภาพและตัวหนังสือ

หนังสือขนาดค่อนข้างใหญ่ ภาพด้านซ้ายและขวาต่อเนื่องกัน พอกางอ่านจึงเป็นภาพขนาดใหญ่
แม้ภาพใหญ่ แต่ตัวหนังสือน้อยมาก หน้านึง 2 บรรทัด (ตัวหนังสือมักอยู่ด้านขวา)

ด้วยความที่อ่านแบบหน้าคู่ แถมตัวหนังสือน้อย จึงมีที่โล่ง ๆ จุดนี้ผู้วาดภาพน่าจะจงใจ ให้เด็ก ๆ ใส่จินตนาการ

ภาพดูง่าย ๆ น่ารัก มีองค์ประกอบน้อย บางองค์ประกอบซ้ำกันหลายหน้า เช่น แมว กระต่าย นก
แต่บางองค์ประกอบก็ไม่ซ้ำ เช่น งู หมู เป็ด
เด็กจะถามว่า “งูไปไหน” หรือ “หน้านี้มีเป็ดด้วย” ผู้วาดน่าจะจงใจให้เด็กช่างสังเกต

ขอชื่นชมผู้แปล หรือคุณวาดดาว วิสาสะ ใช้คำได้ยอดเยี่ยมมาก
ผมไม่ทราบว่าต้นฉบับใช้คำยังไง แต่ทุกคำภาษาไทยที่ใช้มันช่างลงตัว คำง่าย ๆ ติดหู ปูให้คิดตาม เช่น

“เชื่อมอีก ต่ออีก เชื่อมอีก”

“รถไฟ แล่นไป แล่นไป แล่นไป”

“ปึงปึง ปังปัง ต่อทางรถไฟ”

ดูติ๊งต๊องใช่ไหม?
ใช่ แต่เด็ก ๆ ชอบมาก
คำติ๊งต๊องพวกนี้แหละนึกภาพตามได้ง่าย

นอกจากความเข้ากันได้ของภาพและตัวหนังสือแล้ว ยังมีแง่คิดดี ๆ แฝงไว้ไม่น้อย เช่น

สอนให้เด็กทำงานเป็นทีม

ในเรื่องมีเด็ก 6 คน ทุกคนใส่ชุดหมีสีต่างกัน เช่น สีฟ้า สีแดง สีเขียว
ทุกคนช่วยกันทำงาน และแบ่งงานกันทำ

สอนให้เด็กรู้จักแก้ปัญหา

ในเรื่องจะเจออุปสรรค 4 อย่าง คือ ภูเขา แม่น้ำ ถนน และบึงใหญ่
หน้าแรกจะอธิบายว่าอุปสรรคคืออะไร
หน้าต่อมาจะบอกว่าแก้ปัญหาอย่างไร
เด็ก ๆ คิดและแก้ปัญหาเองทั้งหมด ไม่มีผู้ใหญ่ช่วย

นอกจากสอนให้เด็กรู้จักวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาแล้ว ยังอาจสอนผู้ใหญ่ให้เฝ้าดูห่าง ๆ ไม่ต้องกำกับว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้

สอนให้เด็กเชื่อมต่อจุด

จุดที่เปิดเรื่อง หรือจุดที่ผู้หญิงถามเด็ก ๆ ว่ากำลังทำอะไร คือจุดสุดท้ายที่ทางรถไฟเวียนกลับมาบรรจบกัน

โดยส่วนตัวแล้วชอบจุดนี้มาก ๆ นิทานส่วนใหญ่มักสร้างจากจุดเอไปจุดบี แต่เรื่องนี้สร้างจากจุดเอแล้วเวียนกลับมาจุดเดิม สอนให้เด็กรู้จักเชื่อมต่อ มองภาพรวม

ผู้วาดภาพน่าจะจงใจให้แมวสะท้อนตัวเด็กที่กำลังอ่าน เพราะตอนแรกแมวนอนอุตุอยู่ข้างผู้หญิง คล้ายเด็กที่เพิ่งเปิดหนังสือ
สักพักก็วิ่งตามดูเด็ก ๆ ต่อทางรถไฟ เสมือนเด็กกำลังอ่านหนังสือ เป็นจิตวิทยาที่แยบคายมาก

ถ้าใครมีลูกเล็ก ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้เลย แม้ราคาค่อนข้างสูง แต่เชื่อเถอะว่าอ่านบ่อยจนเกินคุ้ม ^_^

การอ่านหนังสือให้ลูกฟังนอกจากเป็นการสอนเด็กแล้ว ยังสอนผู้ใหญ่ด้วย
คิดให้ง่าย ทำให้ง่าย สนุกกับสิ่งที่ทำ

เหมือนชีวิตเรา คิดให้ง่าย ใช้ให้ง่าย เจอปัญหาก็แก้

“ปึงปึง ปังปัง ต่อทางรถไฟ” ผมว่าจริงมาก ๆ เลยนะ

ป.ล. ผมไม่มีส่วนได้เสียกับหนังสือเล่มนี้ เพียงลูกชายชอบมากจึงอยากบันทึกความทรงจำ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.