{Book Review} อาหารเช้าของหนู 14 ตัว

“พ่อขา ตัวนี้ต้องเป็นหนูเจ็ดแน่เลย” มิรันชี้
“ทำไมหนูคิดแบบนั้นล่ะ?” ผมถามกลับ
“พ่อดูหน้าแรกสิ มีหมวกสีเขียววางที่หัวเตียง แล้วหน้านี้เค้าใส่หมวกเขียว ต้องใช่แน่เลย”

ผมกำลังเลือกซื้อหนังสือให้ลูกชายวัยสองขวบ

เล่มล่าสุดไม่ประสบความสำเร็จ อ่านให้ฟังแล้วลูกไม่โปรด คงเป็นเพราะตัวหนังสือเยอะ ยังไม่เหมาะกับเด็กวัยนี้

กวาดตาบนชั้นหนังสือเด็ก แล้วสะดุดกับ “อาหารเช้าของหนู 14 ตัว”

ภาพปกน่ารัก

พลิกดูพบว่าภาพสวย ลงรายละเอียด หนึ่งหน้ามีตัวหนังสือแค่หนึ่งบรรทัด แบบนี้ตรงสเปก!

พลิกดูหน้าปกใหม่ “พิมพ์ครั้งที่ 1” รู้สึกแปลกใจ เพราะส่วนใหญ่หนังสือเด็กมักจะพิมพ์เป็นสิบครั้ง

“อาจเป็นหนังสือใหม่มั้ง” ผมคิดในใจ

พลิกดูข้างในอีกครั้ง ดูยังไงก็ชอบ เลยหยิบไปจ่ายเงิน

“มาวิน พ่อซื้อหนังสือเล่มใหม่มาให้ด้วยนะ” ผมอวดหนังสือให้ลูกชาย
“อ่าน อ่าน.. พ่ออ่านให้ฟังหน่อย” คือคำตอบของเด็กชายวัยสองขวบ
“มิรัน พ่อมีหนังสือเล่มใหม่ หนูมาฟังดัวยกันไหม?” ผมถามลูกสาววัยเจ็ดขวบ
“ฟังค่ะ”

แล้วพ่อลูกลูกก็นั่งล้อมวงอ่านหนังสือ โดยมีลูกชายนั่งบนตัก และลูกสาวนั่งด้านขวา

“อาหารเช้าของหนู 14 ตัว เรื่อง-ภาพ คะซุโอะ อิวะมุระผมเริ่ม
“อิวะมุระ” มาวินทวน
“ทำไมพ่อต้องอ่านชื่อคนเขียนให้น้องฟังด้วยล่ะคะ?” มิรันสงสัย
“เวลาอ่านหนังสือ เราต้องดูชื่อคนเขียนด้วยสิลูก ต้องดูชื่อคนแปลด้วยนะ นี่ไง แปลโดย พี่น้ำ

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของหนู 14 ตัว โดยมี คุณตา คุณยาย พ่อ แม่ และลูก ๆ อีก 10 ตัว

เรื่องเริ่มจากคุณตาตื่นเช้าเป็นคนแรก ถัดมาคือคุณยาย แม่ พ่อ แล้วเด็ก ๆ ก็ค่อย ๆ ทยอยตื่น

เด็ก ๆ ตื่นแล้วไปล้างหน้า แล้วก็แบ่งเป็นสามกลุ่มเพื่อทำอาหารเช้า

กลุ่มแรกไปเก็บสตรอว์เบอร์รี่ในป่า
กลุ่มที่สองช่วยแม่กับยายอบขนมปัง
กลุ่มที่สามช่วยพ่อกับตาทำซุป

พอกลุ่มแรกที่ไปเก็บสตรอว์เบอร์รี่ในป่ากลับมา ขมมปังและซุปก็เสร็จพอดี แล้วทุกคนก็ร่วมรับประทานอาหารเช้าที่ช่วยกันทำอย่างมีความสุข

เรื่องราวมีแค่นี้
(หนังสือเด็กมีเรื่องราวง่าย ๆ แบบนี้แหละ)

ความเจ๋งของหนังสืออยู่ที่รายละเอียดภาพและการจำแนกหนู

คือจากขนาดและหน้าตา เราพอเดาได้ว่า ตัวไหนเป็นพ่อ แม่ ตา ยาย (ตากับยายใส่แว่น)

แต่ความยากมันอยู่ที่ลูกหนูอีก 10 ตัว เพราะหน้าตาเหมือนกันหมด

แถมในเรื่องก็ไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าหนูตัวนี้ชื่ออะไร

มีแค่บอกอ้อม ๆ สามตัว
โดยบอกว่า หนูที่นำหน้าคือหนูหนึ่งและหนูแปด ส่วนหนูเก้าแม้ยังเล็กแต่ก็ตามไปเก็บสตรอว์เบอร์รี่ในป่าด้วย

ที่เหลือไม่ได้บอกชื่อหนูตัวอื่นเลย
จึงเป็นที่มาของเกมนักสืบ

“พ่อว่าตัวนี้น่าจะเป็นหนูห้านะ”
“ทำไมพ่อคิดอย่างนั้นล่ะคะ?” มิรันถาม
“เพราะหนูตัวนี้นอนเตียงลำดับที่ห้า และตื่นช้าสุดไง”
“ใช่ ๆ” มิรันร้อง
“หนูห้า หนูห้า” มาวินร้องตาม

“พ่อขา ตัวนี้ต้องเป็นหนูเจ็ดแน่เลยค่ะ” มิรันชี้
ทำไมหนูคิดแบบนั้นล่ะ?” ผมถามกลับ
“พ่อดูหน้าแรกสิ มีหมวกสีเขียววางที่หัวเตียง แล้วหน้านี้เค้าใส่หมวกเขียว ต้องใช่แน่เลย”

แล้วพ่อกับลูกสาวก็ช่วยกันสืบว่าหนูตัวนี้น่าจะชื่ออะไร
ดูว่าตอนแรกใส่เสื้อสีอะไร มีของอะไรวางบนเตียง ใส่ในหน้าถัดไปไหม เปิดไปเปิดมาหลายครั้ง

แต่หลักฐานแค่นี้ไม่พอ จึงต้องเพิ่มสมมติฐานเข้าไปด้วย เช่น เดาว่าลำดับเตียงนอนคือชื่อของหนูตัวนั้น
แล้วพ่อกับลูกสาวก็ช่วยกันสืบจนได้ชื่อหนูครบทั้ง 10 ตัว

“เย้! ครบแล้ว” มิรันร้องพร้อมกับชูหนังสือขึ้น
“เฮ้ย!” ผมร้องเสียงหลง
“ทำไมคะพ่อ?”
บนหน้าปก มีบอกชื่อหนูทุกตัวเลย ทั้งปกหน้ากับปกหลัง”
“จริงด้วย!” มิรันร้อง

พ่อมองหน้าลูกสาว แล้วหัวเราะขึ้นพร้อมกัน
“เอิ๊ก เอิ๊ก เอิ๊ก” มาวินหัวเราะตามไปด้วย

“หัวเราะอะไรกันใหญ่น้า.. พ่อลูกลูก” แม่เข้ามาแจม

สรุป

โดยรวมแล้วเป็นหนังสือเด็กที่ผมชอบมาก ฝึกให้เด็กมีจินตนาการ สังเกต เชื่อมโยง และฝึกนับเลข

ภาพประกอบสวยงาม ลงรายละเอียดดีมาก เด็ก ๆ ชอบรายละเอียดมากกว่าเนื้อหาหลักเสียอีก เช่น

“พ่อเปิดหน้าที่มีตั๊กแตนให้หน่อย”
“นี่มันตัวด้วงนี่”
“ทำไมหนูตัวนี้ร้องไห้?”

หนังสือเล่มนี้กลายเป็นกิจกรรมที่ดีระหว่างพ่อ ลูกชาย และลูกสาว ตั้งแต่ซื้อมา ผม (ถูกลูกขอให้) อ่านทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

แม้จะอ่านจนเบื่อ แต่พ่อก็ยินดีอ่านให้ลูกฟังทุกวันนะ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.