{Book Review} เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำ ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ

ผมเป็นคนขี้ลืมครับ

บ่อยครั้งที่นึกอะไรขึ้นได้ ผ่านไปแป๊ปเดียว ลืมแล้ว!

พอเห็นหนังสือชื่อ “เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำ ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ” รู้สึกสะดุดทันที

ยิ่งเห็นชื่อคนเขียน คะบะซะวะ ชิอง หยิบไปจ่ายเงินเลย

ทำไม?

เพราะนี่คือคนเขียนหนังสือชื่อ The Power of Output ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรด

แล้วก็ไม่ผิดหวังที่ซื้อ

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ อธิบายเทคนิคการจำด้วยหลักประสาทวิทยา (Neuroscience) ใช้ภาษาที่อ่านสนุก เข้าใจง่าย

หลายครั้งที่อ่านแล้วโพล่งกับตัวเองว่า
“อ้อ! มันแบบนี้นี่เอง”

ผู้เขียนอธิบายว่า การที่ความจำจะก่อตัวขึ้นจนติดแน่นทนนาน ต้องผ่าน 4 กระบวนการ

  1. ทำความเข้าใจ
  2. จัดระเบียบ
  3. จำ
  4. ทบทวน

ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ลองนึกถึงสมัยเรียน
ตอนฟังอาจารย์สอนให้ห้องคือ “ทำความเข้าใจ”
ตอนจดสิ่งที่อาจารย์สอนลงสมุดนั่นคือ “จัดระเบียบ
พอกลับมาอ่านสิ่งที่จดไว้ นั่นคือ “จำ”
และตอนกลับมาอ่านหนังสือก่อนสอบ นั่นคือ “ทบทวน”

เห็นภาพชัดเลยใช่ไหมครับ ^_^

“ทำความเข้าใจ และ “จัดระเบียบ” คือกระบวนที่สำคัญมาก แต่คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับ “จำ” และ “ทบทวน”

เด็กที่เรียนเก่งมักถูกมองว่ามีความจำดี แต่แท้จริงแล้วเค้ามีทักษะในการ “ทำความเข้าใจ” และ “จัดระเบียบ” สูงต่างหาก

ข้อมูลที่รับเข้ามาจะกลายเป็นความจำที่ยืนยาวต้องผ่านการนอนไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ดังนั้นการอ่านหนังสือโต้รุ่งจะจำอะไรในระยะยาวไม่ได้เลย

มิน่า หลังสอบแล้วผมจำอะไรไม่ได้เลย ^^

การลืมเป็นเรื่องปกติ เพราะสมองจะทิ้งข้อมูล 99% ที่ได้รับเข้ามาแต่ไม่มีการเรียกใช้ สมองมนุษย์จะเลือกจำข้อมูลสำคัญ และลืมข้อมูลไม่สำคัญ

เมื่อได้รับข้อมูล สมองจะส่งข้อมูลนั้นไปเก็บชั่วคราวในส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าระหว่างนั้นมีการเรียกใช้ข้อมูลนั้นบ่อย ๆ ฮิปโปแคมปัสจะตัดสินว่า นี่คือข้อมูลสำคัญ แล้วย้ายไปเก็บไว้ที่สมองกลีบขมับซึ่งเป็นคลังเก็บความทรงจำระยะยาว

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าอยากจำเรื่องไหน ต้องทำให้สมองคิดว่านี่คือ ข้อมูลสำคัญ

ทำยังไง?

เกณฑ์ที่สมองใช้ตัดสินว่าอะไรสำคัญมีเพียง 2 อย่างคือ เรียกใช้บ่อยแค่ไหน และ กระตุ้นความรู้สึกหรือไม่

กลยุทธ์การจำแบบไม่ต้องจำ มี 5 ข้อ คือ

  1. ไม่จำเป็นต้องจำ แค่ “ส่งออก” ก็พอ
  2. “รับเข้า” และ “ส่งออก” ซ้ำไปซ้ำมา
  3. “การจด” สำคัญกว่า “การจำ”
  4. ส่งออกผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก
  5. ปลดปล่อย “เมมโมรีสมอง”

1. ไม่จำเป็นต้องจำ แค่ “ส่งออก” ก็พอ

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าความจำเกิดจากการจำ หรือการ “รับเข้า” (Input) ซึ่งมักทำโดย “ยัด” ข้อมูลเข้าหัวเยอะ ๆ แต่วิธีนี้ไม่เวิร์ก

วิธีที่เวิร์กคือ “ส่งออก”

“ส่งออก” คืออะไร?

ส่งออก คือการถ่ายทอด เช่น นำข้อมูลดังกล่าวไปพูดคุย เขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ สอนคนอื่น หรือลงมือทำ

การส่งออกเป็นการเรียกข้อมูลที่เก็บไว้ในฮิปโปแคมปัสออกมาใช้ พอทำแบบนี้หลายครั้ง ฮิปโปแคมปัสจะประเมินว่าข้อมูลนี้สำคัญ และเปลี่ยนเป็นความทรงจำระยะยาว

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าอยากจำเรื่องไหนแม่น ต้องส่งออกข้อมูลนั้นบ่อย ๆ

บ่อยแค่ไหน?

3 ครั้งใน 1 สัปดาห์

โดยอาจใช้สูตร 1, 3, 7 นั่นคือ

ส่งออกทันทีที่ได้รับข้อมูลวันแรก
ส่งออกอีกครั้งเมื่อถึงวันที่ 3
และส่งออกอีกครั้งเมื่อถึงวันที่ 7

หลักการนี้ตรงกับหนังสือเรื่อง The Power of Output (คนเขียนเดียวกัน) หรือจะมองว่า The Power of Output เป็น “ภาพขยาย” ของส่วนนี้ก็ได้ ^_^

สำหรับผู้สนใจหนังสือเรื่อง The Power of Output อ่านรีวิวได้จากบทความนี้

2. “รับเข้า” และ “ส่งออก” ซ้ำไปซ้ำมา

ทำไมบางคนไปงานสัมมนาบ่อย แต่ไม่ค่อยพัฒนา?

คำตอบคือ รับเข้า และ ส่งออก ไม่สมดุลกัน

คนพวกนี้มักรับเข้า แต่แทบไม่ได้ส่งออก
เมื่อไม่ส่งออก ต่อให้เข้าร่วมเป็นร้อยงานก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

ในทางตรงข้าม ถ้ารับเข้าแล้วส่งออก ทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา จะเก่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การส่งออกเป็นประจำจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและนิสัย จนกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในที่สุด

สุดยอดเทคนิคการจำแบบยิงปืนนัดเดียวได้นก 4 ตัว คือ การสอน

การที่เราสอนคนอื่นได้ แปลว่าเราเข้าใจเรื่องนั้นเป็นอย่างดี และ “ย่อย” ข้อมูลในแบบฉบับของตัวเอง

จากกระบวนการจำ 4 ขั้นตอน “ทำความเข้าใจ” “จัดระเบียบ” “จำ” และ “ทบทวน”
แปลว่าก่อนถึงขั้น “จำ” ต้องทำความเข้าใจ และจัดระเบียบให้ได้ก่อน
พอจำได้แล้ว ก็ไปสอนคนอื่น
ระหว่างสอนยังเป็นการทบทวนไปในตัว

นี่แหละ ยิงปืนนัดเดียวได้นก 4 ตัว ^_^

หมายเหตุ: ผู้เขียนอธิบายเทคนิคการรับเข้าในหนังสือเรื่อง “เทคนิคอ่านให้ไม่ลืม ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ” ผมกำลังอ่านทวนเล่มนี้อีกรอบ เดี๋ยวจะมารีวิวให้ฟังครับ ^_^

3. “การจด” สำคัญกว่า “การจำ”

แม้การส่งออกจะทำให้ข้อมูลกลายเป็นความทรงจำระยะยาวง่ายขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์แบบ
วิธีป้องกันการลืมแบบได้ผล 100% คือ การจด

การจด หรือการเขียน เป็นการใช้เส้นประสาทสั่งการของกล้ามเนื้อมือและนิ้ว เป็นการกระตุ้นให้สมองตัดสินว่า “นี่คือข้อมูลสำคัญ”

ต่อให้จดแล้วไม่กลับมาอ่าน เราก็จำได้มากกว่าไม่จด
(ผมอ่านตรงนี้แล้วพยักหน้าหงึก ๆ)

นอกจากนี้ การจดถือเป็นการ “ส่งออก” แบบหนึ่ง

แปลว่า การจดบันทึกสั้น ๆ ก็ถือเป็นการส่งออก 1 ครั้งแล้ว

จากกระบวนการจำ 4 ขั้นตอน การจดก็คือการจัดระเบียบ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญไม่แพ้การทำความเข้าใจ

สมองของเราชอบจำอะไรเป็นก้อน ถ้าจัดระเบียบเป็นกลุ่มก้อนจะจำได้ดีขึ้น

หนังสือเรื่อง Brain Rules ของจอห์น เมดินา บอกว่ามนุษย์จะจำคำที่ถูกจัดระเบียบได้มากกว่าคำที่เรียงต่อ ๆ กันอย่างไม่เป็นระเบียบ 40%

อาจแปลได้ว่า ถ้าหมั่นจัดระเบียบข้อมูลที่เข้าสู่สมอง เราจะจำได้เพิ่มขึ้นถึง 40%!

ควรอ่านหนังสือแล้วขีดเส้นใต้ไหม?

ผู้เขียนแนะนำว่าควร ยิ่งถ้าฉุกคิดอะไรได้ก็ให้จดใส่หนังสือไปเลย

เมื่อเวลาผ่านไป พอกลับมาอ่านสิ่งที่จด จะนึกข้อคิดจากหนังสือเล่มนั้นได้อย่างง่ายดาย

จดแบบกระดาษหรือจดแบบดิจิตอลดีกว่า?

ผู้เขียนบอกว่าไม่ต่างกัน ขอให้ใช้งานสะดวกแบบเดินไปจดไปได้ก็พอ

แต่ถ้าใครชอบจดสิ่งที่ต้องทำ (To-do list) ใส่โพสต์อิต (Post-it) เมื่อทำเสร็จแล้วให้ขีดฆ่า แล้วทิ้งโพสต์อิทนั้นทันที

ทำไม?

เพราะถ้าไม่ทิ้ง เวลาผ่านไปโพสต์อิทก็พอกพูน รู้ตัวอีกทีก็เห็นแต่โพสต์อิทแปะเต็มโต๊ะไปหมด บั่นทอนประสิทธิภาพการทำงาน

4. ใช้ประโยชน์จากโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ถ้าส่งออกอย่างน้อย 3 ครั้งหลังรับข้อมูล จะจำเรื่องนั้นได้ แต่จะส่งออกยังไงล่ะ?

คำตอบคือ โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network)

เช่น การโพสต์ลงเฟซบุ๊กก็เหมือนส่งออก 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์

ทำไม?

ลองนึกภาพว่า เราโพสต์ประสบการณ์วันนี้ลงเฟซบุ๊ก
นั่นคือการ “ส่งออก” ครั้งที่ 1

สักพัก ก็จะมีเพื่อนมาเมนต์ เราก็เมนต์ตอบ
นั่นคือการส่งออกครั้งที่ 2

ผ่านไป 1 วัน มีเพื่อนเข้ามาเมนต์เพิ่มขึ้น เราเริ่มลืมไปแล้วว่าตอนแรกเขียนอะไร ก็เลยอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนใหม่ แล้วค่อยพิมพ์ตอบ
นั่นคือการส่งออกครั้งที่ 3

ใช่ครับ ยิ่งมีเพื่อนมาเมนต์เยอะ ๆ เราคงส่งออกนับสิบครั้ง และเมื่อส่งออกเยอะ เราจะจำประสบการณ์วันนั้นได้ไม่ลืม

การส่งออกมีเงื่อนไขว่า ต้องส่งออกอย่างต่อเนื่อง
คำว่า “ต่อเนื่อง” คือ ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี

“ทำไมต้องใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก จดใส่สมุดไม่ได้เหรอ?”

ได้ แต่การจดใส่สมุดไม่ค่อยจรรโลงใจ

ในทางปฏิบัติ ยากมากที่เราจะเขียนใส่สมุดเงียบ ๆ คนเดียวเป็นปี ต่อให้ทำได้ สักพักก็จะเบื่อ

แต่ถ้าโพสต์ลงเฟซบุ๊ก มีเพื่อนมากด Like กด Share เราจะมีกำลังใจและสนุกขึ้น

นอกจากนี้ การโพสต์ลงโซเชียลเน็ตเวิร์กแปลว่ามีคนอ่าน จึงเกิดความกดดันว่าจะเขียนห่วย ๆ ไม่ได้

พอเกิดความกดดัน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า นอร์อะดรีนาลิน (Noradrenaline) ทำให้มีสมาธิ จดจำ และเรียนรู้ได้ดีขึ้น

การรับเข้าข้อมูลโดยตั้งใจแต่แรกว่าจะส่งออก ทำให้จับประเด็นได้ดีขึ้น ยิ่งสร้างความกดดันว่าจะมีคนอ่านเยอะ ยิ่งกระตุ้นให้สมองหลั่งนอร์อะดรีนาลิน ผลก็คือยิ่งจำแม่น!

ผมว่าอันนี้จริงเลยนะ ถ้าไม่ได้ทำเพจ ไม่ได้เขียนบล็อก ผมคงไม่มีแรงเขียนรีวิวหนังสือยาว ๆ แบบนี้แน่นอน ^_^

5. ปลดปล่อย “เมมโมรีสมอง”

สมองมนุษย์มีระบบที่ใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เรียกว่า “ความจำปฏิบัติการ (Working Memory)” หรือหนังสือเล่มนี้เรียกว่า “เมมโมรีสมอง”

เมมโมรีสมองมีบทบาทสำคัญต่อการคิด การจำ การตัดสินใจ และการเรียนรู้

พื้นที่ของเมมโมรีสมองเก็บข้อมูลได้สั้นมาก ไม่เกิน 30 วินาที เมื่อทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเสร็จก็จะถูกเขียนทับด้วยข้อมูลชุดถัดไป

ถ้าใช้งานเมมโมรีอย่างไม่เหมาะสม เมมโมรีสมองจะเต็มอย่างรวดเร็วจนมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง

บ่อยครั้งที่เราคิดว่าจะทำอันนี้ แต่พอผ่านไปแป๊ปเดียว กลับลืมว่าจะทำอะไร เป็นผลมาจากภาวะ “ข้อมูลล้น” ชั่วคราว หรือเมมโมรีสมองเต็มนั่นเอง
(ที่หลายคนชอบพูดว่า “เมมเต็ม” นั่นแหละ ^^)

เมมโมรีสมองประมวลผลข้อมูลพร้อม ๆ ได้น้อย ถ้าให้ดีไม่ควรเกิน 3
แปลว่า ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เราควรคิดหรือทำอะไรไม่เกิน 3 เรื่อง

แต่ในชีวิตจริง เรามีเรื่องที่ต้องทำเยอะแยะ เมมโมรีสมองจึงไม่พอ จึงเป็นเหตุให้เกิดภาวะขี้ลืม

อ้าว! แล้วจะทำยังไงล่ะ?

เทคนิคที่ผู้เขียนแนะนำก็คือ “เขียนแล้วลืม”

เขียนแล้วลืม?

คือการเขียนสิ่งที่ต้องทำออกมาทั้งหมด พอเขียนแล้วก็จะ “โล่ง” มีพื้นที่ในเมมโมรีสมองมากขึ้น

การลืมโดยตั้งใจแบบนี้ทำให้ซึมซับสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และทำงานต่อไปได้ดีขึ้น

เทคนิคนี้ผมก็ใช้เหมือนกัน บางวันมีเรื่องที่ต้องทำเยอะมาก แต่พอเขียนออกมาว่าต้องทำอะไรบ้าง ห้วก็โล่ง มีสมาธิกับงานตรงหน้า ^_^

การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multi-tasking) ดูเหมือนดี แท้จริงแล้วสมองไม่ได้ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เพียงแต่สลับไปมาอย่างรวดเร็ว
และการทำแบบนั้นเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานสมองมาก

นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยยืนยันว่าการทำอะไรทีละอย่าง มีประสิทธิภาพดีกว่าการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน

ทำไมบางคนทำ Multi-tasking ได้?

เพราะพวกเขามีเมมโมรีสมองมากเป็นพิเศษ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น

เสียงเพลงมีผลเสียต่อการทำงานหรือไม่?

มีงานวิจัยหนึ่งสรุปว่า การฟังเพลงส่งผลดีกับอารมณ์ ความเร็วในการลงมือทำ และการออกกำลังกาย
แต่ส่งผลเสียต่อการจำและการอ่านที่ต้องทำความเข้าใจ

พูดง่าย ๆ คือ มีทั้งผลดีและผลเสีย ขึ้นกับว่ากำลังทำงานแบบไหน

โดยส่วนตัวผมชอบฟังเพลงเวลาทำงาน แต่ต้องเป็นเพลงบรรเลง ยิ่งเป็นเพลงคลาสสิกแบบไม่มีเนื้อร้องยิ่งดี เพราะการฟังเพลงคล้ายตัดเสียงรบกวนจากภายนอก ทำให้มีสมาธิจดจ่อดีขึ้น

ยิ่งมีอารมณ์ร่วม ยิ่งจำได้

มาคุยเรื่องความจำบ้าง
ความจำที่เรานึกออกมาได้ หรือจำในจิตสำนึก เรียกว่า ความจำชัดแจ้ง (Explicit)

ความจำชัดแจ้งประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
1 ความจำอาศัยความหมาย (Semantic Memory)
2 ความจำอาศัยเหตุการณ์ (Episodic Memory)

ความจำอาศัยความหมาย เป็นความจำประเภทข้อเท็จจริง ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เมืองหลวงของประเทศไทยคือกรุงเทพฯ

ความจำอาศัยเหตุการณ์ เป็นข้อมูลที่บันทึกโดยอาศัยประสบการณ์เฉพาะตัว จึงมีอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวผสมอยู่ด้วย

ลองสังเกตว่า ถ้ามีอารมณ์หรือความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง เราจะจำเรื่องนั้นได้แม่น เพราะนั่นคือ ความจำอาศัยเหตุการณ์

สมองของเด็กใช้ความจำอาศัยความหมาย ได้อย่างยอดเยี่ยม พวกเขาจะจำได้ดีที่สุดในช่วงประถม หลังจากนั้นสมองจะเติบโตขึ้นจนความสามารถนี้เสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ

ในทางกลับกัน ความจำอาศัยเหตุการณ์จะไม่เสื่อมถอยง่าย ๆ แม้อายุมากขึ้นก็สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก

เด็กถนัดใช้ ความจำอาศัยความหมาย
แต่ ผู้ใหญ่ถนัดใช้ ความจำอาศัยเหตุการณ์

แปลว่า ถ้าเราไม่ใช่เด็ก ให้ใช้ ความจำอาศัยเหตุการณ์

ยังไง?

เวลาจะจำอะไร ต้องเชื่อมโยงความจำกับประสบการณ์ หรือผู้เขียนเรียกว่าให้ทำ ดรรชนีความจำ

ดรรชนีความจำ?

คือสิ่งที่เชื่อมโยงหรือ “จับคู่” เรื่องนั้น ๆ หรืออาจหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นมาจำคู่กัน

เช่น วันที่ 1 มีนาคม 2021 ไปกินข้าวกับคุณธิตินันทน์ เท่านี้ก็จำชื่อคุณธิตินันทน์ได้ ยิ่งถ่ายรูปคู่กันและโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ยิ่งลืมยาก

ผมอ่านถึงตรงนี้แล้วนึกถึงเทคนิคจำเบอร์โทรบ้านเพื่อน

คือสมัยก่อนไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีการเมมเบอร์ ถ้าอยากโทรหาใคร ต้องโทรไปที่บ้าน และต้องจำเบอร์บ้านเพื่อนคนนั้นให้ได้

เทคนิคการจำเบอร์โทรศัพท์ของผมก็คือ หาความสัมพันธ์ของตัวเลขในเบอร์โทร

เช่น เบอร์โทรบ้านเพื่อนคือ 02-222-6871

ผมก็จะจำว่า 2+2+2 =6
8-7=1
เท่านี้ก็จำได้ไม่ลืม ^_^

ทำไมเราถึงจำตอนทำอะไรครั้งแรกได้แม่น?

เพราะเวลาที่ลองทำอะไรใหม่ ๆ หรืออยู่ในสภาพ “อยากรู้อยากเห็น” ฮิปโปแคมปัสจะปล่อยคลื่นสมองที่เรียกว่าคลื่นทีตา (Theta Wave) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจำ เราจึงจำสิ่งต่าง ๆ ตอนอยากรู้อยากเห็นได้ดี

เวลาทำอะไร ให้ทำด้วยความสนุก แล้วจะจำแม่น

เพราะเมื่อสนุก สมองจะหลั่งฮอร์โมนชื่อโดปามีน (Dopamine) ฮอร์โมนนี้มีคุณสมบัติช่วยให้ความจำดีขึ้น

ในทางตรงข้าม ถ้ารู้สึกอึดอัดหรือเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ถ้ามีคอร์ติซอลในปริมาณน้อยจะช่วยเสริมความจำ แต่ถ้ามีมากเกินไปจะสร้างความเสียหายกับฮิปโปแคมปัสและทำให้ความจำถดถอย

รู้ไหม! การปรับทุกข์บ่อย ๆ ไม่ได้ทำให้เครียดน้อยลง

เพราะการปรับทุกข์คือการส่งออกแบบหนึ่ง ยิ่งส่งออกหลายครั้ง ยิ่งจำแม่นทั้งที่ไม่อยากจำ

งั้นควรปรับทุกข์ยังไง?

ทางออกคือเล่าให้จบในรอบเดียว แล้วลืมมันซะ
ย้ำ! รอบเดียว

ทำไมบางคนชอบทำงานที่ร้านกาแฟ?

จริง ๆ แล้วการทำงานที่ร้านกาแฟไม่สะดวก แต่ทำไมหลายคน (รวมทั้งผมด้วย) ยังชอบไป?

คำตอบคือ การเปลี่ยนสถานที่ช่วยกระตุ้นฮิปโปแคมปัส

ในฮิปโปแคมปัสมีสิ่งที่เรียกว่า เซลล์ประสาทสถานที่ (Place Cell) แค่เปลี่ยนสถานที่ เซลล์ประสาทนี้ก็จะถูกกระตุ้นให้ปล่อยคลื่นทีตาออกมา ความจำและการทำงานของเราจึงเป็นไปอย่างราบรื่น

ยิ่งไปสถานที่ที่ต่างไปจากความเคยชินมากเท่าไร เซลล์ประสาทสถานที่ก็ยิ่งได้รับการกระตุ้นมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าเป็นไปได้ควรท่องเที่ยวไกล ๆ บ้าง เพราะฮิปโปแคมปัสเกลียดอะไรเดิม ๆ

สำหรับคนทำงานออฟฟิศ การทำงานที่ร้านกาแฟอาจเป็นไปได้ยาก แต่แค่เดินไปชงกาแฟที่ห้องครัว ลุกเดินไปเดินมา หรือขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ แบบนี้ก็ช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทสถานที่ได้เหมือนกัน

การค้นพบเซลล์ประสาทสถานที่เป็นการค้นพบที่สำคัญมาก จนทำให้ผู้ค้นพบ (ดร.จอห์น โอคีฟ) ได้รับรางวัลโนเบลปี 2014

สรุป

เป็นหนังสือที่ลำดับเรื่องราวได้ดีและอ่านสนุก คล้ายกำลังฟังผู้เขียนเล่าให้ฟังต่อหน้า (อ่านสนุกกว่า The Power of Output)

หลายครั้งที่อ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้น อารมณ์ประมาณ

“เฮ้ย! จริงเดะ”
“อ้าว! เรามาผิดทางนี่นา””
“เอ้อ ที่เราทำมามันก็ถูกแฮะ”

ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นจิตแพทย์ และนำหลักประสาทวิทยา (Neuroscience) มาช่วยอธิบาย หนังสือเล่มนี้จึงมีรายละเอียดที่น่าสนใจเต็มไปหมด

ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ผมไม่ได้เขียน เช่น ความจำกับการนอน ความเครียดกับความจำ เทคนิคการทำ To-do list การป้องกันโรคสมองเสื่อม แต่บทความนี้ยาวมากแล้ว เดี๋ยวเขียนเป็นบทความแยกเฉพาะเรื่องนั้น ๆ เลยดีกว่า ^_^

ความเจ๋งอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้คือ ทำสารบัญดีมาก เก็บรายละเอียดปลีกย่อยและคำสำคัญได้ครบ

แนะนำว่า ก่อนเริ่มอ่าน ให้อ่านสารบัญรอบนึงก่อน
จากนั้นค่อยอ่านทีละบทจนจบ
แล้วอ่านสารบัญอีกที
เท่านี้ก็เหมือนได้อ่าน 3 รอบแล้ว

ยิ่งถ้าได้อ่านรีวิวจากบทความนี้ ยิ่งจำได้แม่นแบบไม่ต้องจำครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

One thought on “{Book Review} เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำ ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.