7 สิ่งอย่างใน Excel ที่คุณควรหลีกเลี่ยง!

เอ็กเซลเป็นโปรแกรมที่ใช้ง่ายและทรงพลัง

แต่ลึกๆแล้วคือโปรแกรมที่ละเอียดอ่อน ละมุนนุ่มลึก…

คุณอาจยังไม่รู้ว่า ถ้าเราเลิกนิสัยอะไรบางอย่างในเอ็กเซล เราจะทำงานเร็วขึ้นแบบปรู๊ดปร๊าด โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเรียนเพิ่มเติมเลย

ว๊าว…

32425473_s

ผมขอเรียกนิสัยเหล่านั้นว่า 7 สิ่งอย่างในเอ็กเซลที่คุณควรหลีกเลี่ยง

[Don’t 1] Merge Cell

ในความคิดของผมนั้น

Merge cell เป็นสิ่งที่ไม่ควรมีในเอ็กเซลเลย 

มันมีข้อเสียเบ้อเร่อเฮิ่มแถมข้อดีกระจิดเดียว บางครั้งเราใช้ merge cell เพราะว่าข้อมูลนั้นแสดงค่าเดียวกัน ก็เลยกรุ๊ปเข้าด้วยกันซะ

เช่น merge เซลล์ A5 – A10 เข้าด้วยกันแล้วพิมพ์ลงไปว่า

“Customer A”

จากนั้นใส่ชื่อสินค้าที่เราขายให้กับลูกค้ารายนี้ลงไปในเซลล์ B5 – B10 เพื่อแสดงว่า Customer A ซื้อสินค้าอะไรไปบ้าง เหตุผลที่เราจัดฟอร์แมตในลักษณะนี้คือ

ข้อมูลเหมือนกัน ไม่อยากให้มันโชว์หลายเซลล์

โดยส่วนตัวแล้วผมกลับชอบที่จะเห็นข้อมูลซ้ำๆกันนะครับ อย่างน้อยก็เช็คได้ทันทีว่าข้อมูลนั้นคืออะไร ถ้าช่วงที่ถูก merge มันกว้างมากๆจนหลุดหน้าจอ เราก็ต้องมาหาว่าค่าที่หลุดหน้าจอไปคืออะไรหนอ เจอหลายครั้งอาจมีเซ็งจิตได้

หากเราต้องการรูปแบบการแสดงผลเช่นนั้นจริงๆ เราใช้

Pivot Table 

แทนดีไหมครับ เราสามารถจัดฟอร์แมตให้เหมือนกันแถมประยุกต์ใช้ได้หลากหลายกว่าด้วย

ถ้าสนใจเรื่อง Pivot Table ลองอ่านบทความเรื่อง5 เคล็ด(ไม่)ลับ(แล้ว กับ Pivot Table หรือ Pivot Table ด่านสกัดยอดฝีมือ

อีกกรณีนึงที่ผมพบการใช้งาน merge cell อยู่บ่อยๆ นั่นคือ

การ merge หัวตารางเข้าด้วยกัน

เช่น คอลัมน์ C2 – E2 แสดงข้อมูล Jan, Feb, Mar เราก็เลยอยากแสดงค่าว่า Month ในเซลล์ B1 – E1 แทนที่จะใช้ merge cell

ผมแนะนำให้เลือก Text Alignment แนว Horizontal เป็น Center Across Selection ครับ

Center Across Selection
Center Across Selection

จากภาพ เวลาใช้ให้พิมพ์คำว่า Month ลงไปที่เซลล์ C1 ก่อน

จากนั้นเลือกเซลล์ C1-E1 แล้วคลิกขวา เลือก Format Cell แล้วเลือกแท็ป Alignment นะครับ

ลองดูนะครับ แล้วคุณจะลืม Merge Cell ไปเลย ^_^

[Don’t 2] ใช้เอ็กเซลเพราะต้องการแสดงข้อมูลในรูปแบบของตาราง

หากเราต้องการใช้เอ็กเซลจัดการข้อมูล ลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองเล่นๆก่อนนะครับว่า

  1. ข้อมูลนั้นมีการคำนวณหรือไม่?
    2. ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลอ้างอิง (Master data, Reference data) สำหรับข้อมูลอื่นหรือไม่?
    3. ข้อมูลนั้นมีโอกาสถูกประมวลผล (เช่น สรุปการนับจำนวน หรือหาความถี่ หรือนำไปวิเคราะห์่ทางสถิติ) ในอนาคตหรือไม่?

ถ้ามีคำตอบว่า “ใช่” ในข้อใดข้อหนึ่ง เอ็กเซลก็เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่เหมาะสมแล้วล่ะครับ

แต่ถ้าไม่มีข้อใดถูกตอบว่า “ใช่” เลย

ลองมาใช้เครื่องมืออื่นในคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการกับข้อมูลชุดนั้นดีไหมครับ

ตัวอย่างง่ายๆที่พบกันบ่อยๆก็คือ

บันทึกการประชุม (Minute of Meeting)

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าคำตอบจากคำถามทั้งสามข้อไม่น่าจะมีคำว่า “ใช่” นะครับ บางคนอาจ(เคย)บันทึกการประชุมด้วยเอ็กเซลเพราะต้องการแสดงผลในรูปแบบของตาราง

ในกรณีนี้เรามาลองใช้ Microsoft Word แทนดีไหมครับ สะดวกกว่าในหลายๆแง่มุมนะครับ เช่น

  1. มีตัวช่วยตรวจสอบคำผิด
    2. พิมพ์ข้อความยาวๆได้โดยไม่ต้องเลือก Wrap Text หรือ Shrink To Fit เพื่อจัดฟอร์แมตให้สวยงาม
    3. ไม่ต้องกด Alt + Enter เพื่อขึ้นบรรทัดใหม่ในเซลล์เดียวกัน

เพื่อนของผมคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า เค้าไม่ชอบใช้ตารางในไมโครซอฟท์เวิร์ดเพราะ

“ถ้าตารางนั้นยาวกว่าหนึ่งหน้า มันวุ่นวายที่ต้องการก็อปปี้หัวตารางในหน้าต่อไปทุกครั้งร่ำไป”

หากประเด็นนี้คือหนึ่งในเหตุผล ลองมาใช้ฟีเจอร์หนึ่งของไมโครซอฟท์เวิร์ดที่ชื่อว่า

Repeat Headers Row

ดีไหมครับ แล้วปัญหาเหล่านั้นก็จะอันตรธานหายไป ไม่มาเยือนอีกเลย ^__^

[Don’t 3] คอลัมน์เดียวกันมีหลายสูตร

การออกแบบตารางการใช้งานในเอ็กเซลให้มีประสิทธิภาพนั้น ผมขอเน้นย้ำเลยว่า

1 คอลัมน์ต้องมี 1 สูตร

หรือ

สูตรในคอลัมน์เดียวกันมีได้เพียงหนึ่งสูตรเท่านั้น

เหตุผลนั้นง่ายมาก เพราะเราสามารถลากสูตรหรือดับเบิ้ลคลิกกล่องสี่เหลี่ยมเล็กๆมุมขวาล่างของเซลล์เพื่อก็อปปี้สูตรได้เลย

รวมถึงสะดวกต่อการตีความหมายสูตร (ในกรณีที่เราลืมว่าทำไมเขียนสูตรแบบนี้) และการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ผมเคยเห็นผู้ใช้งานบางคนเขียนสูตรสามสูตรลงไปคอลัมน์เดียวกัน เช่น

เซลล์ A5-A10 ใช้สูตรหนึ่ง

เซลล์ A11-A20 ใช้อีกสูตรหนึ่ง

เซลล์ A21-A35 ใช้อีกสูตรหนึ่ง

ความคิดแว่บแรกที่ได้เห็นการเขียนสูตรในลักษณะนี้คือ

ทำไมไม่ใช้ IF มาช่วยเขียนสูตรล่ะ?

ในกรณีนี้เราอาจใช้ IF สองเงื่อนไขมาช่วยได้ หากเราสามารถเขียน หนึ่งคอลัมน์หนึ่งสูตร ได้เมื่อไร การใช้งานเอ็กเซลของเราก็จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดครับ

[Don’t 4] ใช้ Pivot Table สรุปข้อมูลเพื่อเตรียมเป็นข้อมูลสำหรับอีกตารางหนึ่ง

การใช้งาน Pivot Table ที่ถูกต้องนั้น ข้อมูลที่แสดงใน Pivot Table ต้องเป็นข้อมูสรุปสุดท้าย

อย่าใช้ Pivot Table สรุปข้อมูลชุดนึง แล้วลิงค์ข้อมูลที่สรุปจาก Pivot Table นั้นมาอีกตารางนึงนะครับ มีโอกาสไม่น้อยที่จะเกิดความผิดพลาดที่ไม่คาดคิด ชาวต่างชาติบางประเทศก็ใช้แนวทางเช่นนี้ จริงๆแล้วแนวทางนี้มันมีข้อเสียมากกว่าข้อดีนะครับ

ทำไมล่ะ?

ข้อเสียข้อหนึ่งของ Pivot Table คือ

ไม่สามารถกำหนดการจัดเรียงของข้อมูลในแบบที่เราต้องการได้ 100% 

แม้ว่า Pivot Table เวอร์ชันใหม่จะมีออปชั่นให้เลือกแนวทางการจัดเรียงแบบ Ascending หรือ Descending ก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เช่น ถ้าข้อมูลมีค่า

(a, b, d, e) แต่เราต้องการจัดรูปแบบให้แสดงค่า

(a, b, c, d, e)

ถ้าค่า c ไม่มีในข้อมูล แต่เราต้องการให้แสดงค่า c ให้เป็นศูนย์ Pivot Table ไม่สามารถทำได้ครับ

มันจะแสดงผลเฉพาะค่าที่มีก็คือ (a, b, d, e) เท่านั้น

ถ้าเราใช้ข้อมูลตารางนี้เป็นตารางอ้างอิงสำหรับอีกตารางหนึ่ง ลำดับและขอบเขตของข้อมูลมีโอกาสผิดเพี้ยนสูง การเขียนสูตรหรือโค้ดในอีกตารางหนึ่งเพื่อดึงข้อมูลจากตารางนี้ก็จะยากขึ้น อาจถึงขั้นปวดตับได้

จริงๆแล้วอาจมีวิธีแก้ง่ายๆคือ

เพิ่มค่า c เข้าไปในชุดข้อมูลเลย ขยายขอบเขตชุดข้อมูลของ Pivot Table แล้ว Refresh Pivot Table อีกครั้ง

อ่านรายละเอียดได้จากบทความเรื่อง เคล็ดลับการลบข้อจำกัดของ Pivot Table

แต่..วิธีนี้เหมาะกับกรณีที่ตารางนี้ไม่มีการอัพเดตอีกเลยในอนาคต

ในความเป็นจริงแล้วข้อมูลมักอัพเดตอยู่เสมอ ถ้าเราใช้วิธีนี้ เราก็ต้องอัพเดตทุกครั้งซึงคงทำให้เราเซ็งจิตพอควร วันดีคืนดีลืม ข้อมูลสรุปก็จะผิดพลาด โดนด่าอีกต่างหาก

งั้นต้องทำยังไงล่ะ?

เราต้องสร้างตารางนึงขึ้นมาก่อนโดยกำหนดฟอร์แมตว่าต้องเรียงลำดับข้อมูลเป็น

(a, b, c, d, e)

แล้วใช้ SUMIFS หรือ SUM Array ดึงข้อมูลจากชุดข้อมูลครับ กรณีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการสรุปข้อมูลที่มีเงื่อนไขมากกว่าหนึ่ง ดังนั้นเราไม่สามารถใช้ SUMIF แบบธรรมดาได้ (สรุปข้อมูลได้เพียงเงื่อนไขเดียว) วิธีการก็คือ

SUMIFS Function
SUMIFS Function

จากภาพด้านบน เราใช้ SUMIFS สรุปข้อมูลจากชุดข้อมูลชื่อ “Data” (ภาพด้านล่าง) มาใส่ในตารางชื่อ “SUMIFS”

กรณีนี้เราต้องรวมข้อมูลโดยใช้สองเงื่อนไข นั้นคือ

Product (a, b, c, d, e) และ

Month (Jan, Feb, Mar, …)

การรวมข้อมูลด้วยวิธีนี้จะลบข้อด้อยของ Pivot Table ได้ในกรณีที่ชุดข้อมูล (Data) มีข้อมูลสินค้าไม่ครบทุกประเภท (เช่น ขาดสินค้า c ไป) และจะแสดงค่าศูนย์สำหรับสินค้าที่ขาดหายไป

Data SUMIFS
Data SUMIFS

หากใครถนัดการเขียนสูตรโดยใช้ SUM Array หรือ SUMPRODUCT ก็สามารถใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์นะครับ

จริงๆแล้ว SUMIFS, SUM Array และ SUMPRODUCT ต่างมีข้อดีและข้อด้อยในตัวเอง หากสนใจ คลิกอ่านรายละเอียดได้ ที่นี่ ครับ

เมื่อเราได้ตารางสรุปด้านบนแล้ว ถ้าเรานำข้อมูลในตารางนี้ไปใช้อ้างอิงกับตารางอื่นก็สามารถทำได้สบายบรื๋อ ฟอร์แมตก็กำหนดชัดเจนแล้วว่ามีทั้ง (a, b, c, d, e) หรือมีสินค้าครบทุกตัว สินค้าที่ไม่มีการเคลื่อนไหวก็แสดงค่าศูนย์ ซึ่งสามารถลบข้อด้อยของนำเจ้า Pivot Table มาใช้สรุปแทนได้

[Don’t 5] ปล่อยให้มีค่าว่าง (null) ในตาราง

หลายคนคงเคยมีประสบการณ์เรียนเอ็กเซลกับสถาบันสอนคอมพิวเตอร์ใช่ไหมครับ เคยสงสัยไหมครับว่าทุกสถาบันต้องเน้นย้ำว่า

ห้ามปล่อยให้มีเซลล์ว่างในตาราง!

35518009_s

ผมขอยืนยันอีกเสียงครับว่านี่คือสิ่งที่เราต้องระวังมากๆ

ทำไมล่ะ?

ขอสรุปด้วยเหตุผลดังนี้ครับ

  1. ความต่อเนื่องของข้อมูลมีมากขึ้น เช่น คุณสามารถใช้ Ctrl + Cursor (ซ้าย ขวา บน ล่าง) เพื่อเช็คขอบเขตตารางข้อมูลของเราได้อย่างง่ายดายในกรณีที่ข้อมูลของเรามีปัญหา ข้อมูลที่มีความต่อเนื่องสูงกว่าจะแก้ไขได้ง่ายกว่า
  2. สามารถกดดับเบิ้ลคลิกที่มุมขวาล่างของเซลล์เพื่อก็อปปี้สูตรไปยังเซลล์สุดท้ายของคอลัมน์นั้นได้เลย ถ้ามีเซลล์ว่างระหว่างคอลัมน์ เซลล์จะถูกก็อปปี้ไปถึงแค่เซลล์แถวสุดท้ายก่อนเซลล์ว่าง ไม่สามารถก็อปปี้สูตรทั้งคอลัมน์ด้วยวิธีนี้ได้
  3. มีโอกาสเกิดความผิดพลาดจากการนับจำนวนข้อมูลในคอลัมน์นั้นๆ เอ็กเซลจะมองว่าเซลล์ว่างไม่มีค่า สมมติว่าข้อมูลมี 30 แถว แต่ดันมีค่าว่างอยู่ในแถวที่ 20 ถ้าเราไม่สังเกต เราจะคิดว่าข้อมูลชุดนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 30 ค่า แต่ถ้าใช้ฟังก์ชันตระกูล COUNT เช่น COUNTA นับ ค่าที่ได้ออกมาจะมีเพียง 29 ค่า หากนำข้อมูลชุดนี้ไปใช้กับฟังก์ชัน MATCH หรือ OFFSET ต้องมีโอกาสผิดพลาดแน่นอน
  4. กรณีเขียนสูตรอาร์เรย์ มีโอกาสเกิด error สูงมาก

ไม่ได้กะปล่อยให้มันว่างนะ ก็มันไม่มีข้อมูลจะใส่น่ะ!

หากนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่เราปล่อยให้เซลล์ว่าง ผมมีเทคนิคง่ายๆที่อยากให้นำมาใช้กันครับ นั่นคือ

ใส่ค่าว่า “ไม่มี” ลงไปในเซลล์ที่เราไม่มีข้อมูลจะใส่

เช่น ใส่ค่าว่า

0                      สำหรับข้อมูลที่รูปแบบเป็นตัวเลข (Number) หรือเวลา (Time) หรือวันที่ (Date)

No data           สำหรับข้อมูลที่เป็นตัวอักษร (Text)

Not assigned   สำหรับข้อมูลที่เป็นตัวอักษรและเกี่ยวข้องกับการจัดกลุ่ม

เพียงเท่านี้ไฟล์ข้อมูลของคุณก็จะมีคุณภาพมากขึ้น และสะดวกต่อการนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้นครับ

[Don’t 6] อ้างอิงซ้อนกันทั้งๆที่ข้อมูลอ้างอิงคือตัวเดียวกัน

เคยเจอการเขียนสูตรทำนองนี้ไหมครับ

ฺB3 = 70

C25 = B3

D39 = C25

E113 = D39

F325 = E113

แล้วมันแปลกยังไง?

ถ้าดูตามตรระกะการเขียนแล้ว การเขียนสูตรแบบนี้ไม่มีความผิดพลาดทางตรรกะแต่อย่างใดครับ แต่เป็นสิ่งที่ควรเปลี่ยนแนวคิดการเขียนสูตรด้วยคำถามง่ายๆคือ

ทำไมไม่เขียนสูตรว่า

D39 = $B$3

E113 = $B$3

F325 = $B$3

อาจเปลี่ยนแปลงการใส่ดอลลาร์ไซน์ ($) ตามความสะดวกนะครับ

การเขียนสูตรในลักษณะหลังจะให้ความเข้าใจที่ง่ายกว่ามากๆเมื่อเราต้องมารับงานต่อจากคนอื่น

ลองนึกภาพดูสิครับว่าหากเราต้องมาแกะสูตรไฟล์เอ็กเซลไฟล์หนึ่ง โดยคุณต้องการทราบว่า F325 มีค่าเท่ากับเท่าไร ถ้าสูตรถูกเขียนในแบบแรก พอมาที่เซลล์ F325 แล้วพบว่า

F325 = E113 จากนั้นคุณก็ต้องไปที่เซลล์ E113 เพื่อดูว่ามีค่าเท่ากับ

E113 = D39 คุณพบว่าค่า E113 ยังติดสูตรอยู่ คุณก็ต้องไปตามไปเช็คที่เซลล์ D39 แล้วพบว่า

D39 = C25 เหมือนเป็นปริศนาซ่อนในปริศนา คุณยังต้องไปตามล่าหาความจริงว่า

C25 = B3 คุณก็ถูกบังคับให้ต้องไปเช็คที่เซลล์ B3 ว่ามีสูตรหรือมีค่าเท่ากับเท่าไร แล้วคุณก็พบว่า

B3 = 70

เมื่อแกะถึงขั้นตอนนี้ คำถามจะผุดขึ้นในใจคุณว่า

ทำไมไม่เขียนว่า F325 = B3 ตั้งแต่ต้น (วะ)?

ในความเป็นจริงแล้วโจทย์อาจมีความซับซ้อนมากกว่านี้นะครับ

เหตุผลที่ไฟล์นั้นไม่เจาะจงว่าทุกเซลล์มีค่าเท่ากับ 70 คือ  เซลล์ B3 เป็นเซลล์ที่รับข้อมูลอินพุต ซึ่งข้อมูลอินพุตนี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ขึ้นกับว่าไฟล์ดังกล่าวจะถูกนำไปคำนวณกับสมมติฐานแบบใด

ผมเห็นด้วยที่จะไม่ระบุค่า 70 ลงไปในทุกเซลล์นะครับ ไม่งั้นเวลาแก้สมมติฐานทีคงแก้กันมึน ถ้าคุณไม่เห็นด้วยและไม่เคยเขียนสูตรในลักษณะเช่นนี้ คุณมาถูกทางแล้วครับ

[Don’t 7] ไม่มีโค้ดหรือตัวเชื่อมข้อมูล

หากคุณทำข้อมูลสักชุดนึงในเอ็กเซลและข้อมูลนั้นไม่ใช่ทำแค่ครั้งเดียวจบ หรือมีโอกาสต้องนำไปใช้ร่วมกับข้อมูลอื่นในอนาคต

ถ้าเป็นไปได้ พยายามหาโค้ด (Code) หรืออะไรก็ได้เป็นตัวเชื่อมข้อมูลเถิดครับ

เชื่อผมเถอะว่ามันทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นอีกมากๆๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การตั้งเป้ายอดขายของสินค้า

สมมติว่าคุณได้ตั้งเป้าให้กับสินค้ายี่สิบตัว ผมอยากให้ระบุรหัสสินค้าหรือโค้ดสินค้า (Code) ของทั้งยี่สิบตัวลงไปในไฟล์ด้วยนะครับ

ใช้ชื่อสินค้าเป็นโค้ดได้ไหม?

จากประสบการณ์แล้ว แนะนำว่า

อย่าเลยครับ

เพราะว่ามันมีโอกาสที่คุณจะสะกดชื่อสินค้านั้นผิดน่ะสิครับ หรือคุณอาจจะสะกดชื่อสินค้าในไฟล์ของคุณถูกก็ได้ แต่เพื่อนของคุณอาจสะกดชื่อสินค้าผิดในไฟล์แสดงข้อมูลยอดขายจริง

พอเอาตารางทั้งสองตารางมาเทียบกัน มันหากันไม่เจอนะครับ ยิ่งเป็นชื่อภาษาไทยยิ่งมีโอกาสผิดสูงเพราะมีทั้งสระและวรรณยุกต์

ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้น โค้ดที่ตั้งก็ควรเป็นภาษาอังกฤษหรือตัวเลขหรือการผสมกันของทั้งสองอย่างนะครับ เหตุผลก็คือเรื่องของสระและวรรณยุกต์ของภาษาไทยนั่นเองครับ

ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่หลายคนมองข้ามนะครับ สุดท้ายแล้วไม่สามารถหาทางเชื่อมตัวเลขเป้าของสินค้าเข้ากับยอดขายจริงได้แบบอัตโนมัติ (เพราะทำแบบอัตโนมือมาโดยตลอด) พอสินค้าเพิ่มขึ้นจากยี่สิบเป็นร้อยยี่สิบ คราวนี้มันอัตโนมือไม่ไหวน่ะสิครับ หวยก็ไปออกที่โปรแกรมเมอร์

ผมเห็นบางหน่วยงานต้องจ้างโปรแกรมเมอร์เขียนมาโคร หรือทำอะไรบางอย่างเพื่อเชื่อมข้อมูลทั้งสองเข้าด้วยกัน เสียเงินพอควร (แค่ทำในเอ็กเซลนะครับ ไม่ได้เขียนโปรแกรมอื่นมารองรับ)

พอมาดูโครงสร้างแล้ว เขาไม่ได้ทำอะไรมากมายเลยนะครับ แค่เชื่อมข้อมูลด้วยโค้ด หรือเพิ่มเงื่อนไขอื่นๆเข้าไปนิดหน่อย เช่น เดือนที่ขาย สาขาที่ขาย อะไรประมาณนี้

แต่สิ่งที่เขาเพิ่มเติมขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดคือเรื่องการคัดกรองข้อมูลหรือ Data Validation นั่นเอง

ผมว่าถ้าปรับข้อมูลใส่โค้ดสักนิดแล้วให้พนักงานที่พอมีทักษะเอ็กเซล ไม่เอาอะไรมากครับ เอาแค่ใช้ VLOOKUP กับ SUMIF เป็นก็พอมาจัดการ เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินเลยครับ

แถมสามารถปรับเปลี่ยนประยุกต์ในอนาคตได้ด้วย พนักงานของคุณคนนั้นก็จะมีทักษะเพิ่มขึ้นด้วย

.

.

สำหรับผมแล้ว ถ้าเราเข้าใจฟังก์ชั่นเกี่ยวกับการอ้างอิง (Reference) เช่น

INDEX, VLOOKUP, MATCH

และฟังก์ชันที่เกี่ยวกับการรวมข้อมูล เช่น

SUMIF, SUMIFS, SUM Arrary, COUNT, COUNTIFS

รวมถึงนำโค้ดมาเชื่อมข้อมูล และเข้าใจความสัมพันธ์ของดาต้าเบสเบื้องต้น (Database)

แค่นี้เราก็สามารถทำอะไรได้มากมายแล้วครับ หรืออีกนัยหนึ่งคือถ้าเรามีความรู้ถึงขั้นที่ห้า (หาอ่านรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง 5 สิ่งสรรค์ใน Excel ที่คุณควรชำนาญก่อนย้ายงาน!) 

เราก็สามารถออกท่องยุทธจักรได้แล้วครับ ^__^

.

หากคุณชอบบทความแนวนี้ สามารถอัพเดตบทความใหม่ๆโดยคลิก Like เฟสบุ๊คแฟนเพจ วิศวกรรีพอร์ต หรือคลิก ที่นี่

อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนอ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ ^_^

วิศวกรรีพอร์ต

คนธรรมดาผู้มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตำแหน่ง คลุกคลีกับการทำรีพอร์ตมาโดยตลอด สุดท้ายค้นพบแนวทางของตัวเอง จึงอยากแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์ให้กับผู้สนใจ

2 thoughts on “7 สิ่งอย่างใน Excel ที่คุณควรหลีกเลี่ยง!

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.