เมื่อวานนี้ผมมีนัดสัมภาษณ์เพื่ออัดพ็อคแคสครับ
หัวข้อคือ: เทคนิคการทำรีพอร์ต พร้อมแนะนำเครื่องมือสำหรับนักรีพอร์ต
แค่ชื่อหัวข้อก็น่าสนใจ
แวบแรกที่เห็นหัวข้อ ผมก็คิดว่าน่าสนใจ แต่ความท้าทายคือเป็นการสัมภาษณ์เพื่อทำพ็อดแคส
พ็อดแคสแปลว่ามีแต่เสียง ไม่มีภาพ
การอธิบายเรื่องพวกนี้ต้องใช้ภาพประกอบ ต้องให้ลองทำตาม หรือต้องทำตัวอย่างให้ดู แต่ข้อจำกัดคือสื่อสารได้แค่เสียง แล้วจะทำยังไง?
ผมคิดจะปฏิเสธ แต่มองอีกแง่ก็เป็นเรื่องท้าทาย บางทีผมก็อยากสอนแบบให้คนเรียนฟังสบาย ๆ ไม่ต้องจด ไม่ต้องเปิดคอม
ทางทีมงานลองส่งตัวอย่างคำถามให้ดู อ่านแล้วน่าสนุก ก็เลยตอบตกลง
นัดสัมภาษณ์ตอนบ่ายสอง (ผ่านโปรแกรม Zoom) ช่วงเช้าผมเลยร่างว่าจะพูดอะไรบ้าง
ตอนแรกคิดว่าจะแค่ร่างในหัว แต่ร่างไปร่างมาชักเยอะ เขียนออกมาเลยดีกว่า จะได้กันลืม

นอกจากพูดถึงเครื่องมือทำรีพอร์ตแล้ว ผมยังพูดถึงหนังสืออีก 3 เล่ม (ดังภาพที่สาม) นั่นคือ
1. Say it with Charts (Gene Zelazny)
2. Show me the Numbers (Stephen Few)
3. Storytelling with Data (Cole Nussbaumer Knaflic)

ไหน ๆ ก็จะพูดถึงหนังสือ เลยหยิบมาอ่านทวนสักหน่อย
เปิดไปเปิดมา ถึงได้รู้ว่าลืมหมดแล้ว (ฮา) ก็เลยอ่านอีกครั้งแบบเร็ว ๆ
อ่านรอบนี้ให้ความรู้สึกอีกแบบ อาจเป็นเพราะรอบแรกอ่านไว้นานมาก พอเวลาผ่านไป เจอคนมากขึ้น เจอประสบการณ์มากขึ้น มุมมองก็เริ่มเปลี่ยนไป อ่านไปก็เจอกับความรู้สึกที่ว่า
“ใช่เลยแฮะ”
“ทำไมตอนนั้นไม่เห็นเนี่ย”
“อุตส่าห์ค้นตั้งนาน ทุกอย่างอยู่ในเล่มนี้”
ดีใจที่ได้กลับมาอ่าน
แล้วการสัมภาษณ์ก็เริ่มขึ้น
แน่นอนว่าการสัมภาษณ์จริงไม่ได้ถามตามสคริปต์เป๊ะ ๆ จังหวะการพูดคุยไหลไปตามคำถามและคำตอบ
แต่พอเราได้ยินคำถาม เราได้คิด เราได้พูด และตอนพูดเราก็ได้สังเคราะห์ความคิดอะไรบางอย่าง
คำถามคล้ายสารส้ม ดึงความคิดต่าง ๆ ที่ฟุ้งกระจายให้ตกตะกอน
โดยรวมแล้วเป็นประสบการณ์ที่ดี ถ้าไม่มีการสัมภาษณ์ ผมคงไม่ได้กลับมาทบทวนหนังสือที่เคยอ่าน และไม่ได้ตกตะกอนทางความคิด
คุณพี (ผู้สัมภาษณ์) บอกว่าได้อะไรจากการพูดคุยครั้งนี้มาก ผมเองซึ่งเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ ก็ได้อะไรมากเช่นกัน
ขอบคุณสถาบันนวัตกรรมข้อมูลและธรรมาภิบาล (DIGI) ที่ให้โอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ
ถ้าทีมงานเผยแพร่พ็อคแคสนี้เมื่อใด จะนำมาแชร์ในบล็อก เผื่อเป็นประโยชน์กับทุกคนครับ ^_^